13 ม.ค. 2021 เวลา 05:29 • ท่องเที่ยว
กล่าวกันว่า เมืองโบราณเซียงหยาง 襄阳 หรือซงหยง-ในสามก๊ก หรือเซียงเอี๋ยง-ในมังกรหยกภาค ๒ และ ๓ เป็นเมืองที่แข็งแกร่ง ยากต่อการพิชิตยึดเมืองมากที่สุดเมืองหนึ่งของแผ่นดินจีนภาคกลาง เพราะมี "แม่น้ำเป็นคูเมือง มีคูเมืองเป็นแม่น้ำ!"
๑.
เซียงหยางเป็นเมืองฝาแฝดกับเมืองฝานเฉิง 樊城 บางครั้งเรียกรวมว่า เซียงฝาน 襄樊 ในสามก๊กเรียกซงหยงกับอ้วนเสีย เป็นเมืองใหญ่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย ติดต่อกับทางใต้ของมณฑลเหอหนาน โดยมีแม่น้ำฮั่นสุ่ย 汉水 หรือฮั่นซุย แบ่งกั้นเขตเมือง
แม่น้ำฮั่นสุ่ยบริเวณหน้าเมืองทั้งสอง จึงนับเป็นคูเมืองทางธรรมชาติที่กว้างที่สุดในบรรดาเมืองโบราณของจีน และเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ มีปริมาณมวลน้ำมากที่สุดของมาตุธารแยงซี
(...ทุกวันนี้ ชาวเมืองปักกิ่งและปริมณฑล ได้ดื่มใช้น้ำจากแม่น้ำฮั่นสุ่ย จากคลองขุดใต้ดินผันน้ำจากแผ่นดินจีนภาคกลางขึ้นเลี้ยงชาวจีนภาคเหนือแล้ว...)
๒.
ในสมัยสามก๊ก เป็นเมืองสำคัญทางตอนเหนือของแคว้นเกงจิ๋ว ที่ทั้งสามก๊กต่างประสงค์แย่งชิงกัน ตั้งอยู่ห่างจากเมืองจิงโจวหรือเกงจิ๋ว ขึ้นมาทางตอนเหนือประมาณ ๒๒๐ กม.
ในเรื่องสามก๊ก กล่าวถึงสองเมืองนี้อยู่ในหลายตอน และที่สำคัญรู้จักกันดีคือ ตอนที่ซัวมอ น้องภรรยาเล่าเปียวผู้ครองแคว้นเกงจิ๋ว เกลียดชังเล่าปี่ ซึ่งแตกทัพมาขอพึ่งเล่าเปียว จึงวางอุบายให้เชิญเล่าปี่มาเป็นประธานในพิธีพืชมงคล แล้วจะจับฆ่าเสีย แต่เล่าปี่รู้ตัว ขี่ม้าเต๊กเลาหนีข้ามแม่น้ำตันเขรอดอันตรายไปได้อย่างหวุดหวิด
และตอนที่เล่าปี่อพยพราษฎรหนีทัพโจโฉจากเมืองซินเอี๋ย ข้ามแม่น้ำอั่นซุยจากเมืองอ้วนเสียลงใต้ หมายจะตั้งมั่นที่เมืองซงหยงของเล่าจ๋อง บุตรเล่าเปียว ระหว่างทางเล่าปี่เห็นอาณาประชาราษฎร์ที่อพยพตามมาด้วยกับคตนอย่างลำบาก คิดสงสารแล้วร้องไห้ จะกระโดดแม่น้ำตาย ฉากในภาพยนตร์สามก๊ก 1994 ฉายให้เราเห็นแม่น้ำอันกว้างใหญ่ และแม่น้ำสายนั้นก็คือฮั่นสุ่ย ที่กว้างประหนึ่งทะเลโดยแท้จริง เป็นต้น
๓.
ด้วยแม่น้ำทั้งสายที่ถูกใช้เป็นคูเมืองนี้เอง ในมังกรหยกภาค ๒ ก๊วยเจ๋งและอึ้งย้งได้รวบรวมชาวยุทธ์และชาวเมือง ต้านยันทัพของมองโกลที่นำโดยเหมิงเก๋อข่าน มิให้ข้ามแม่น้ำฮั่นสุ่ย ป้องกันเมืองเซียงเอี๋ยง
เซียงเอี๋ยง-นับเป็นเมืองที่มีชัยภูมิสำคัญต่อความอยู่รอดของราชวงศ์ซ๋งใต้ ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองป้อมปราการอันแข็งแกร่ง แล้วยังเป็นเมืองหน้าด่านทางน้ำของซ่งใต้ เพราะถ้าหากทัพมองโกลข้ามฮั่นสุ่ยมาทางตอนใต้ได้ ก็จะสามารถเข้าสู่แม่น้ำแยงซีและจีนภาคกลางได้ ดังนั้น หากมองโกลตีเซียงเอี๋ยงแตก ราชวงศ์ซ่งใต้ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไป อันเป็นตอนจบของมังกรหยกภาค ๒
๔.
หลังการเสียชีวิตของเหมิงเก๋อข่าน กุบไลชะลอการยึดครองจีนเอาไว้ระยะหนึ่ง ถอนทัพกลับสู่ภาคเหนือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเสียก่อน จนสามารถช่วงชิงอำนาจ ตั้งตนเป็น "กุบไลข่าน" และใช้เวลาอีก ๕ ปี สร้างฐานอำนาจของตนให้มั่นคง
เมื่อกุบไลข่านพร้อมแล้ว จึงกรีธาทัพใหญ่จากมองโกล เข้าโจมตีเมืองเซียงเอี๋ยงก่อนเป็นลำดับแรก ในปีค.ศ.๑๒๖๗ ตอนนี้บนหน้าประวัติศาสตร์เรียกว่า "ศึกมองโกลยึดเซียงเอี๋ยง" (ปีค.ศ.๑๒๖๗-๑๒๗๓) ชาวเมืองได้รวมพลังกันต่อต้านอย่างทรหดอีกครั้งหนึ่ง โดยสามารถยืนหยัดต่อสู้ทัพมองโกลได้ถึง ๖ ปี
แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้เพราะอาวุธที่กองทัพมองโกล ได้มาจากวิศวกรชาวเปอร์เซีย เรียกว่า "หุยหุยเผา" ้回回炮 หรือ "เครื่องยิงก้อนหิน" อันทรงอานุภาพร้ายกาจ สามารถโยนข้ามคูเมืองแม่น้ำ ทำลายกำแพงเมืองและป้อมค่ายอันแข็งแกร่งอย่างยับเยิน โดยที่ราชสำนักซ่งใต้ไม่สามารถช่วยอะไรได้แม้แต่้น้อย
เมื่อเซียงเอี๋ยงแตก ราชสำนักซ่งใต้จึงรู้ว่า จุดจบของพวกตนมาถึงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะปราการอันกล้าแกร่งถูกทำลายลง หลังจากนั้นอีก ๖ ปี ราชวงศ์ซ่งใต้ก็จบบทบาททางประวัติศาสตร์ของตน แผ่นดินจีนอันกว้างไพศาล ก็ตกอยู่้ใต้การปกครองของมองโกลหรือราชวงศ์หยวนในที่สุด
๕.
ทุกวันนี้ เมืองเซียงหยางยังคงรักษากำแพงเมืองด้านประชิดแม่น้ำฮั่นสุ่ยไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อเราขึ้นมายืนอยู่บนกำแพงเมืองอันสูงตระหง่าน ทอดแลเห็นคูเมืองที่กว้างประหนึ่งทะเลแล้ว จึงรู้ว่าเซียงหยางหรือซงหยงหรือเซียงเอี๋ยงมิใช่เมืองธรรมดาจริง ๆ ...
โฆษณา