14 ม.ค. 2021 เวลา 10:36 • หนังสือ
เล่มที่ 2: Atomic Habit เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น
.
‘Tiny Changes, Remarkable Results’ เปลี่ยนนิสัยของตัวเองเพียงวันละ 1% พอสะสมไปเรื่อยๆ ในหนึ่งปีเราก็จะดีกว่าเดิม 37 เท่าแล้ว
.
เป็นเหมือนการอ่านภาคต่อของหนังสือ The Power of Habit แต่เล่มนี้เน้นไปที่ howto เปลี่ยนนิสัยของตัวเอง สร้างนิสัยดีๆ กำจัดนิสัยแย่ๆ ค่อยๆเปลี่ยนในหลักวันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาว มีการระบุวิธีการเปลี่ยนและตัวช่วยต่างๆที่ชัดเจน ต่างกับเล่มแรกที่ดูจะเน้นไปที่หลักวิทยาศาสตร์เบื้องหลังการก่อตัวของนิสัยมากกว่า
.
Atomic Habit ก็คือนิสัยเล็กๆในแต่ละวัน ที่พอรวมเข้าด้วยกันหลายๆวันแล้ว จะกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แต่ความเป็นจริงก็คือมันตะต้องผ่านจุดเปลี่ยนผัน เหมือนเป็นจุดที่น้ำแข็งละลายก่อน นิสัยใหม่ถึงจะก่อตัวขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้คนมากมายล้มเลิกความตั้งใจจากการสร้างนิสัยใหม่ไปเสียก่อน
.
อะตอมเล็กๆเป็นเพียงส่วนประกอบของโมเลกุล นิสัยก็เป็นส่วนประกอบของสิ่งที่ใหญ่กว่า การจะสร้างนิสัยได้นั้นให้โฟกัสไปที่ กระบวนการการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน นี่แทบจะเป็นคัมภีร์สำคัญของหนังสือเล่มนี้เลย ‘เน้นกระบวนการสร้างนิสัยใหม่ในแต่ละวัน เพื่อรอดูผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลง’
.
คำถามสำคัญคือ นิสัยคืออะไร เล่มนี้อธิบายสั้นๆว่า นิสัยเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาซ้ำ นานพอจนกระทั่งเกิดขึ้เองโดยอัตโนมัติ เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำในทุกเช้า การกินอาหารที่ประโยชน์ การออมเงิน การชมคนอื่น การอ่านหนังสือ เป็นต้น วงจรของนิสัยก็มีอยู่ 4 ลำดับคือ ปัจจัยกระตุ้น ความปราถนา การตอบสนอง และรางวัล ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ว่านิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว เราก็จะอัดวิธีที่หนังสือนำเสนอเข้าไปเปลี่ยนแปลงนิสัยได้
.
หลังจากนั้นก็เป็นส่วนสำคัญของหนังสือคือ เรื่องกฎ 4 ข้อที่จะช่วยเปลี่ยนนิสัยในแต่ละวันของเราได้
.
กฎข้อที่ 1: ทำให้ชัดเจน
.
เป็นการกำหนดเวลาและสถานที่ในการทำนิสัยหนึ่งให้ชัดเจน อาจเอานิสัยใหม่ที่อยากให้เกิดมาต่อยอดกัยนิสัยที่ทำอยู่เดิม เช่นหลังจากกินข้าวเสร็จ ฉันจะอ่านหนังสือเป็นเวลา 10 นาทีบนโต๊ะทำงาน หรือถ้าเจอบันได ฉันจะเดินขึ้นแทนการขึ้นลิฟต์เพื่อเป็นการออกกำลังกาย หรือถ้าฉันอยากได้อะไร ฉันจะรอ 24 ชั่วโมงก่อนตัดสินใจกดสั่งซื้อ
.
นอกจากนี้ยังอาจใช้การจัดปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างนิสัยดี และไม่เอื้ออำนวยต่อนิสัยที่ไม่ดี เช่น การกำหนดพื้นที่ให้สามารถแยกแยะได้ง่าย เช่นพื้นที่ห้องนี้สำหรับการนอน อีกห้องสำหรับการทำงาน หรือการเอาโทรศัพท์ไปไว้ไกลๆเมื่อต้องการมีสมาธิในการเขียนงาน หรือถ้าเราใช้เวลากับ social media มากเกินไปก็กดยกเลิก Facebook ในมือถือซะเลย
.
.
กฎข้อที่ 2: ทำให้น่าดึงดูดใจ
.
เป็นการให้รางวัลกับตัวเองสั้นๆเพื่อสร้างแรงจูงใจ เวลาเราต้องทำสิ่งที่ต้องทำ (แต่อาจไม่อยากทำ) หรือต้องออกแรงพยายามได้สำเร็จ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สมองหลั่งดดปามีน ทำให้เรารู้สึกพอใจเป็นครั้งคราว เช่น หลังพักเที่ยง ฉันจะโทรหาลูกค้าสำคัญ 3 คน พอโทรหาลูกค้าครบ 3 คนแล้ว ฉันจะนั่งไถเฟสบุ๊คเช็คผลกีฬาที่อยากรู้ได้
.
นอกจากนี้เรายังอาจพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคมที่มีพฤติกรรมที่เราอยากทำเป็นบรรทัดฐานของกลุ่มอยู่ เพราะเรามักจะถูกหล่อหลอมโดยค่านิยมของคนรอบตัว ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง คนมีอำนาจ คนมีอิทธิพล เรื่องนี้ทำกันจนถึงการเปลี่ยนความเชื่อ ที่เราจะต้องปรับทัศนคติต่อพฤติกรรมหนึ่งๆด้วย เช่น เปลี่ยนจากการมองการออกกำลังกายว่าเป็นภาระ เป็นการสร้างโอกาสให้ร่างกายได้แข็งแรง สุขภาพได้รับการเยียวยา อารมณ์ได้สดชื่น เป็นต้น
.
.
กฎข้อที่ 3: ทำให้เป็นเรื่องง่าย
.
แน่นอนว่าคนเราไม่ชอบทำอะไรที่มันยุ่งยาก ต้องออกแรงมาก เราจึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างนิสัยของเราให้มากที่สุด เช่น ถ้าจะตื่นไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้า ก็สวมรองเท้าวิ่งไว้เลย ใส่ชุดวิ่งตอนนอนด้วย ตื่นมาจะได้ลุกขึ้นไปวิ่งได้ทันที หรือถ้าอยากวาดรูป ก็จัดปากกา ดินสอ กระดาษบนโต๊ะทำงานให้พร้อมสำหรับการลงมือทำ และอย่ามัวแต่ไปคิดแผนมาก ให้เริ่มทำไปเลย ยังไงกระบวนการเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำอยู่แล้ว
.
นอกจากนี้อาจแบ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นยาก หรือต้องใช้ความพยายามมากออกมาเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นง่ายๆก่อน แล้วค่อยเพิ่มระดับความยากทีหลัง เช่นถ้าจะวิ่งมาราทอน ก็เริ่มจากการเดินให้ครบ 10 นาทีก่อน แล้วค่อยเพิ่มระดับเป็น เดินให้ครบ 10,000 ก้าว วิ่งให้ครบ 10 กิโล และข้ามไปที่วิ่งมาราทอน เอากฎ 2 นาทีที่หนังสือเสนอมาลองใช้ดู คือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ให้เริ่มทำ 2 นาทีแรกก่อน เดี๋ยวเราก็จะค่อยๆสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมาเอง
.
.
กฎข้อที่ 4: ทำให้น่าพึงพอใจ
.
เป็นกฎที่เอาไว้ช่วยให้เราพัฒนานิสัยต่อไปได้ในระยะยาว เพราะหลายๆนิสัยให้รางวัลตอบแทนในระยะยาว แต่เป็นเหมือนการลงโทษในระยะสั้น เช่นการอ่านสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย การกินผัก การออกไปวิ่งออกกำลังกาย วิธีที่จะช่วยให้เราทำนิยัพวกนี้ได้ต่อเนื่องคือการติดตามวัดผล และพยายามให้ feedback กับตัวเอง เป็นการ track ดูว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายแค่ไหนแล้ว เราต้องพัฒนาปรับปรุงในจุดไหนอีก
.
รวมไปถึงการป่าวประกาศแผนการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เพื่อน หรือคนอื่นเป็นพยาน เพราะคนเรามักจะอับอายถ้ารู้ว่า เราทำตามแผนไม่สำเร็จ และมีคนอื่นที่รับรู้แผนเราอยู่ด้วย
.
.
สองสิ่งสุดท้ายที่หนังสือเน้นย้ำคือ การที่เราเลือกสนามแข่งให้เหมาะสมกับพันธุกรรมของเรา เพื่อจะเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ ตัวอย่างที่หนังสือยกมาอย่างสรีระที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของนักวิ่งระยะไกล และนักว่ายน้ำ ถ้าเราเลือกสนามแข่งที่ตรงกับสรีระร่างกายของเรา เราก็จะสร้างความได้เปรียบที่มากกว่า ทริคก็คือลองมองหาสนามการแข่งขันที่เราได้ใช้ศักยภาพของเราอย่างเต็มที่ ไม่ง่ายจนเกินไป และไม่โหดจนเกินไป
.
ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ การไม่ยึดติดกับตัวตนเดิมของเรา เพื่อให้เราได้สร้างนิสัยใหม่ พฤติกรรมใหม่ๆ ก้าวไปสู่ความเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องใช้สิ่งยึดติดเดิมๆอย่าง ฉันเป็น CEO ที่เก่งที่สุด ฉันเป็นนักกีฬาเหรียญทอง ฉันเป็นทหารที่ชนะสงคราม เพราะถ้าวันหนึ่ง เราสูญเสียตัวตนเปลือกนอกเหล่านี้ไป เราก็ยังมีคุณค่าในแบบอื่นๆได้
.
.
.
2
โฆษณา