14 ม.ค. 2021 เวลา 02:14 • ไอที & แก็ดเจ็ต
เปรียบเทียบ Exynos 2100 vs Snapdragon 888 vs Apple A14 Bionic vs Kirin 9000 ชิปเซ็ต 5nm ตัวแรงจากทั้ง 4 ค่าย ต่างกันตรงไหน
เปรียบเทียบสเปกในเบื้องต้นระหว่าง Exynos 2100 vs Snapdragon 888 vs Kirin 9000 vs A14 Bionic
จากตารางด้านต้นจะเห็นได้ว่ามีเพียง Apple A14 Bionic รุ่นเดียวที่ใช้โครงสร้าง CPU แบบ 6 คอร์ แบ่งเป็น 2 แกนประสิทธิภาพ และ 4 แกนประหยัดพลังงาน ซึ่งจะต่างกับ Exynos 2100, Snapdragon 888 และ Kirin 9000 ต่างเลือกใช้ CPU แบบ 8 คอร์ พร้อมโครงสร้างแบบ 1+3+4 (1 แกนประมวลผลระดับสูงสูด, 3 แกนประมวลผลประสิทธิภาพ และ 4 แกนประหยัดพลังงาน) แต่จะมีความแตกต่างกันในสถาปัตยกรรมของคอร์ CPU
โดย Exynos 2100 และ Snapdragon 888 เลือกใช้ Cortex-X1 ตัวใหม่ล่าสุด เป็นแกนประมวลผลหลัก ซึ่งน่าจะช่วยให้เร่งประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟน เมื่อต้องการพลังประมวลผลอย่างหนักหน่วง เช่น การเล่นเกม หรือการเรนเดอร์ไฟล์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนคอร์ CPU ตัวอื่นๆ แม้ Exynos 2100, Snapdragon 888 และ Kirin 9000 จะเลือกใช้เป็น Cortex-A78 และ Cortex-A55 เหมือนกัน แต่เป็นทางฝั่งของ Exynos 2100 ที่มีความเร็วในการประมวลผลสูงสุด (Clock Speed) ที่สูงกว่า Snapdragon 888 ซึ่งอาจส่งผลไปถึงความเร็วด้านการใช้งานที่มากกว่า แต่ก็อาจแลกมาด้วยกับการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ในส่วนของ GPU ของชิปเซ็ตทั้งสี่รุ่นมีความแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง โดย Exynos 2100 เลือกใช้การ์ดจอ Mali-G78 แบบ 14 คอร์ ซึ่งทาง Samsung ระบุว่า จะช่วยให้ประสิทธิภาพแรงขึ้นกว่าเดิม 40% เมื่อเทียบกับการ์ดจอ Mali-G77 แบบ 11 คอร์ที่ใช้กับ Exynos 990 รุ่นที่ผ่านมา โดยแม้ว่า Exynos 2100 จะใช้การ์ดจอ Mali-G78 แบบเดียวกับ Kirin 9000 ก็จริง แต่จำนวนคอร์จะน้อยกว่า ซึ่งทาง Huawei ระบุว่า การ์ดจอ Mali-G78 แบบ 24 คอร์ที่ใช้อยู่ใน Kirin 9000 จะช่วยให้กราฟิกแรงกว่า Snapdragon 865+ ถึง 52% เลยทเดียว
ส่วนทางฝั่ง Snapdragon 888 เลือกใช้กราฟิกแบบ Adreno 660 ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพความแรงมาจาก Snapdragon 865 ราว 35% ซึ่งแม้ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แต่ทางสื่อต่างประเทศอย่าง Android Authority มองว่า การเล่นเกมบน Snapdragon 888 น่าจะทำได้ดีกว่า Exynos 2100 และ Kirin 9000
ขณะที่ Apple A14 Bionic มีการปรับปรุงด้านกราฟิกให้แรงกว่ารุ่นเดิมราว 8% เมื่อเทียบกับ Apple A13 แต่หากพูดถึงประสิทธิภาพการเล่นเกมของทางฝั่ง iPhone แล้ว ก็ถือว่าทำได้อย่างลื่นไหลไม่แพ้กับทางฝั่งมือถือ Android แต่จะติดตรงที่ทาง Apple ไม่ได้ใส่ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว หรือแผ่นทองแดงเหมือนกับฝั่ง Android มาให้ด้วย จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิก หรือ CPU อาจดร็อปลงเมื่อเกิดความร้อนสูงภายในตัวเครื่อง เนื่องจากระบบจำเป็นต้องปรับค่า Clock Speed ของ CPU และ GPU ลง เพื่อป้องกันอาการ Overheat
ในส่วนของ AI ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของมือถือยุคปัจจุบัน ชิปเซ็ตทั้ง 4 รุ่น ถือว่ามีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก โดย Apple A14 มาพร้อมกับแกนประมวลผล AI แบบ 16 คอร์ สามารถประมวลผลได้ทั้งหมด 11 เทราฟลอปต่อวินาที ขณะที่ Exynos 2100 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล AI แบบ 3 คอร์ สามารถประมวลผลได้ 26 เทราฟลอปต่อวินาที ส่วนทางด้าน Snapdragon 888 สามารถประมวลผล AI ได้ทั้งหมด 26 เทราฟลอปต่อวินาทีเช่นกัน ส่วนทางด้าน Huawei เคลมว่า สามารถประมวลผล AI ได้มากกว่า Snapdragon 865 ราว 2.4 เท่า ซึ่งก็ต้องติดตามผลทดสอบจริงต่อไปว่า ในด้านการใช้งานจริงมีผลมากน้อยเพียงใด แต่ส่วนที่น่าจะส่งผลต่อการใช้งานจริงนั่นก็คือ ISP (หน่วยประมวลผลสัญญาณภาพ) และชิปโมเด็มของชิปเซ็ตทั้ง 4 รุ่น
โดยทางฝั่ง Exynos 2100 และ Snadpragon 888 ต่างก็มาพร้อมกับ ISP ที่รองรับเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงสุด 200 ล้านพิกเซล ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีเซ็นเซอร์ความละเอียด 200 ล้านพิกเซลเปิดตัวออกมาให้เห็น แต่ก็ทำให้พอจะมั่นใจได้ว่า การประมวลผลภาพความละเอียดสูงจากชิปเซ็ตทั้งสองรุ่นจะเป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ชิปเซ็ตทั้งสองรุ่นยังรองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 8K แบบ 30fps อีกด้วย
ส่วนทางด้าน Apple A14 Bionic และ Kirin 9000 แม้ว่าจะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ ISP ออกมาให้ทราบ แต่จากการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ๆ ของทั้งสองค่าย จะเห็นได้ว่า ทั้ง Apple และ Huawei ต่างจำเป็นต้องมี ISP สำหรับประมวลผลภาพถ่ายที่มีความซับซ้อนไม่แพ้กับทางฝั่ง Samsung และ Qualcomm
โดยในรุ่น HUAWEI Mate40 Series มีการนำพลังการประมวลผลของ ISP และ NPU สำหรับปรับจูนสีให้กับเซ็นเซอร์กล้องแบบ RYYB ไปจนถึงช่วยประมวลผลระบบ XD Fusion สำหรับปรับแต่งภาพหลายๆ เฟรมที่มีความแตกต่างด้านแสง ให้ออกมาเป็นภาพเดียวกัน ใช้ได้ทั้งวิดีโอ และภาพนิ่ง รวมทั้งยังใช้พลังของ ISP และ NPU ในการถ่ายภาพ และวิดีโอแบบหน้าชัดหลังเบลอแบบ Real-time อีกด้วย ส่วนทางด้าน iPhone 12 รุ่นใหม่ล่าสุด ก็มีการใช้เทคโนโลยี Deep Fusion สำหรับรวมภาพถ่ายหลายๆ ใบเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย รวมทั้งยังมีการใช้พลังของ ISP ในเรื่องของการทำ HDR, การซูมภาพด้วยซอฟท์แวร์ ไปจนถึงการถ่ายภาพแบบ Apple ProRaw
ในส่วนของโมเด็ม ทั้งสี่รุ่นรองรับการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 4G, 5G Sub 6GHz, mmWave รวมทั้งมีความเร็วในการดาวน์ลิงก์สูงสุดที่ 7.5Gbps เหมือนกันทั้งหมด แต่จะมีเพียง Apple A14 Bionic รายเดียว ที่เลือกใช้ชิปโมเด็มแยก ไม่ได้มีการฝังรวมชิปโมเด็ม 5G เข้าไปใน SoC เหมือนกับชิปเซ็ตรุ่นอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ใช้พลังงานแบตเตอรี่มากกว่าเมื่อเทียบกับมือถือรุ่นอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานแบตเตอรี่ เช่น ความละเอียดของหน้าจอแสดงผล, ขนาดของหน้าจอแสดงผล, ค่า Refresh Rate, RAM, ROM ไปจนถึงซอฟท์แวร์ของระบบปฏิบัติการ
โฆษณา