14 ม.ค. 2021 เวลา 03:35 • ศิลปะ & ออกแบบ
CONCEPT หรือ แนวคิดในการออกแบบ คืออะไร สำคัญอย่างไร
เวลาที่เราทำงานสถาปนิกหรือผู้ออกแบบงานสาขาอื่นๆ นั้น เรามักจะได้ยินคำว่าภาษาอังกฤษว่า "Concept" หรือภาษาไทยคือ "แนวคิดในการออกแบบ"
เราอาจจะเข้าใจคำๆนี้โดยความหมายของมันตามตัวอักษร แต่ในการทำงานมันมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีกนิดหน่อย
Concept นั้น เป็นแนวความคิดรวบยอดในการที่ผู้ออกแบบจะนำเสนอโครงการนั้น มักจะเป็นแนวคิดหลักที่เป็นศูนย์กลางในการคิดวางแปลน กำหนดรูปทรงอาคาร กำหนดการใช้วัสดุ กำหนดการวางตำแหน่ง Fucntions ต่างๆในโครงการ
การบอกว่าต้องการออกแบบบ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ให้โล่งโปร่งสบาย อันนี้ไ่ม่ถือเป็น concept ในการออกแบบเพราะบ้านหลังไหนๆก็ควรจะมีความโล่งโปรงสบายเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
แต่ถ้าบอกว่า จะออกแบบบ้านด้วยแนวคิด Tropical Architecture อันนี้ถือเป็น concept เพราะคำว่า Tropical Architecture นั้นกินความกว้างกว่ามากและใช้หลักการทางวิชาการมาก โดยในการออกแบบแนวทางนี้ จะต้องมีการคำนึงถึง ทิศทางแดด ลม ฝนที่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งแนวคิดนี้มักจะสะท้อนตั้งแต่การกำหนดรูปทรงอาคาร ตำแหน่งการวางอาคารในที่ดิน ตำแหน่งการวางห้องต่างๆที่สอดคล้องกับสภาพหรือข้อกำหนดต่างๆในเรื่องแดดหรือลม เช่นการวางห้องนอนให้รับลม เป็นต้น
ทำไมงานออกแบบต่างๆ ต้องมี concept
เพราะว่า Concept นั้น จะทำให้งานออกแบบนั้นมีทิศทางที่ชัดเจน มีแนวคิดที่เป็นพื้นฐานของงานออกแบบนั้นๆซ่อนอยู่ ไม่ใช่อย่างที่หลายๆท่านมักเข้าใจว่า "อาคารนั้นๆก็แค่สวยหรือไม่สวย" นอกจากนี้ยังสามารถสื่อสารตัวมันเองออกไปสู่สาธารณะชนได้ ทั้งยังเป็น Story ให้เจ้าของงานนั้นสามารถนำไปเล่าหรือถ่ายทอดต่อไปสู่ผู้อื่นได้โดยง่าย
ตัวอย่างที่ผมยกมาประกอบเรื่องนี้ มาจากเว็บเพจ Things Designed ซึ่งเป็นอีกเว็บเพจหนึ่งของผม แต่จะโฟกัสหนักไปทางงานออกแบบมากกกว่า Block นี้ ซึ่งจะเน้นเรืองที่คนทั่วไปจะพบเจอในการทำงานร่วมกับผู้ออกแบบในสาขาต่างๆหรือแม้กระทั่งผู้รับเหมา
แนวคิดเรื่อง "Blending in Nature"
ความกลมกลืนกับธรรมชาติ
แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่คลาสิคมากสำหรับสถาปนิกและนักเรียนสถาปัตย์ทั่วไป ต่างคนต่างมีวิธีการในการสื่อสารแนวคิดนี้ออกมาที่ไม่เหมือนกัน
วันนี้จะขอยกตัวอย่าง แนวคิดของสถาปนิก 2 ท่าน มาเป็นตัวอย่าง
Richard Mier (ริชาร์ด ไมเออร์) ครั้งหนึ่งเคยตอบคำถามเกี่ยวกับแนวคิดการใช้สีขาวเป็นหลักในอาคารของเขาว่า
"White is all colors. It’s everywhere. Everywhere you look. Whiteness, in a sense, reflects nature, it refracts light, it makes you more aware of the colors of nature because of the whiteness of the buildings." ซึ่งแปลความได้ว่า "สีขาวคือทุกสี สีขาวอยู่ในทุกๆที่ ที่คุณมอง ความขาวคือความรู้สึก มันสะท้อนธรรมชาติ แสง และทำให้คุณมองเห็นสีของธรรมชาติเพราะความขาวของอาคาร" (1)
House Design by Richard Mier
ซึ่ง Mier บอกเป็นนัยว่า สีขาวจะ blend in และ disappear ไปใน context หรือ ธรรมชาติที่แวดล้อมมัน
ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมหรือปรัชญาพอสมควร สำหรับบุคคลทั่วๆไป ที่อาจแย้งอยู่ในใจว่า ก็ยังเห็นเป็นตึกสีขาวที่เด้งออกมาจากสภาพแวดล้อมอยู่ดี....อันนี้คงต้องแล้วแต่บุคคลนั้นๆจะมองจะตีความ
หากแต่ว่ายังมีการตีความในอีกแนวหนึ่ง ที่เป็นการกลมกลืนกับธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมมากกว่าแนวคิดแรก เช่น งานออกแบบของ Kengo Kuma(เคนโกะ คูมะ) เช่นงานออกแบบ Birch Moss Chapel ที่ Nagano, Japan (2015) ซึ่งเป็นอาคารประเภทโบสถ์ขนาดเนื้อที่ 66 ตร.ม. โดยสถาปนิก ได้ออกแบบอาคารให้กลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อมซึ่งเป็นป่า Birch โดยการหุ้มเสาโครงสร้างเหล็กไว้ด้วยลำต้นของต้น Birch และทำหลังคาด้วยกระจกทั้งหมด นอกจากนี้ในส่วนพื้นนั้นยังทำให้เกิดการปกคลุมด้วย moss ทั้งภายนอกและภายในอาคาร นอกจากนี้ในส่วนของเก้าอี้นั่งก็ยังทำด้วยกระจกทั้งหมด
จากรูปเราคงปฎิเสธไม่ได้ว่ามองแล้วตัวอาคารนั้นกลืนหายไปกับสภาพแวดล้อมป่า Birch จริงๆ(2)
จาก 2 ตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าแนวคิด Blending in Nature นั้น อาจตีความแตกต่างกันไปได้ ตามแต่สถาปนิกจะตีความและนำเสนอแนวทางนั้นๆออกมา
ไว้พบกันใหม่ โพสหน้าครับ
Birch Moss Chapel by Kenko Kuma and Associates
reference
(1) Richard Meier, “white buildings make you more aware of the colors of nature”
By RICCARDO BIANCHINI - 2018-08-21
(2) Birch Moss Chapel / Kengo Kuma and Associates https://www.archdaily.com/.../birch-moss-chapel-kengo...
สนใจความรู้ในแนวเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบ กดติดตามเพจนี้ได้ตามลิงค์นี้นะครับ
โฆษณา