Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Real
•
ติดตาม
15 ม.ค. 2021 เวลา 08:43 • ปรัชญา
สุนทรียศาสตร์ของเฮเกล: เป้าหมายของศิลปะ
สำหรับคำถามที่ว่าเป้าหมายของงานศิลปะคืออะไร เฮเกลเริ่มต้นด้วยการพิจารณาหลักการที่ศิลปะคือการเลียนแบบ (imitation) ซึ่งหมายถึงการเลียนแบบธรรมชาติอย่างที่มันเป็น และถือว่าเป็นเป้าหมายของศิลปะที่ยังความพอใจให้เกิดขึ้นได้
เฮเกลเห็นว่าทัศนะนี้ถือว่าสิ่งที่อยู่ในโลกภายนอกและลักษณะที่มันดำรงอยู่ถูกถ่ายสำเนาอีกครั้งในงานศิลป์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตื้นเขิน เพราะภาพหรือละครที่เลียนแบบสัตว์ ฉากธรรมชาติ กิจต่างๆของมนุษย์นั้น สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วในสวนหรือในบ้านของเรา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเลียนแบบมันขึ้นมาอีก นอกจากนี้ หากมองว่าศิลปะคือการเลียนแบบก็เท่ากับว่าศิลปะคือการลวง มิหนำซ้ำยังไม่ใช่ความเป็นจริงของชีวิต แต่แสร้งว่าเป็นชีวิต เฮเกลยกตัวอย่างที่ค่อนข้างเสียดสี กล่าวคือชาวเติร์กที่รังเกียจการวาดภาพ Jame Bruce เดินทางไปอะบิสสิเนีย แล้วนำภาพวาดปลาให้ชาวเติร์กดู ทีแรกชาวเติร์กพิศวง ต่อมาจึงพูดว่า ปลาตัวนี้จะพูดกับท่านในวันพิพากษาว่า “ท่านให้แต่ตัว ไม่ได้ให้วิญญาณ” นอกจากนี้ เฮเกลยังยกตัวอย่างเรื่องราวศาสดามะหะหมัดที่มีบันทึกไว้ใน Sunna เรื่องว่ามีคนพูดถึงภาพในโบสถ์ของเอธิโอเปีย ศาสดามะหะหมัดกล่าวว่าคนที่วาดภาพนั้นจะต้องถูกลงโทษในวันพิพากษา (42)
นอกจากนี้ เฮเกลยังยกตัวอย่าง Zeuxis ที่วาดองุ่นจนนกพิราบมาจิก หรือนักสัตวศาสตร์และจิตรกรในศตวรรษที่ 18 อย่าง A.J. Rösel von Rosenhof วาดภาพแมลงเต่าทองจนลิงเข้าไปจับคว้า แต่เฮเกลเห็นว่าเมื่อเทียบกับธรรมชาติและชีวิตเองแล้ว งานศิลปะแบบนี้ยังนับว่าด้อยกว่าธรรมชาติด้วยซ้ำ ถ้าหากเราจะดูพรรณไม้ การไปดูสวนยังดีกว่าดูพรรณไม้ในห้องแสดงภาพ ในแง่นี้แสดงให้เห็นว่าตามทัศนะของเฮเกล ศิลปะไม่ได้มีบทบาทหน้าที่แค่เพียงเลียนแบบวัตถุให้เหมือนจริงเท่านั้น นอกจากนี้ หากศิลปินพยายามเลียนแบบให้เหมือนธรรมชาติโดยอาศัยทักษะต่างๆก็ยิ่งนำไปสู่ความเย็นชาไร้อารมณ์มากยิ่งขึ้น เฮเกลเห็นว่าภาพเหมือนบุคคล หากวาดได้เหมือนมากๆกลับจะทำให้ “เหมือนจนน่าเกลียด” (ภาษาอังกฤษใช้ว่า disgusting like) เฮเกลยกตัวอย่างของค้านท์เรื่องความพอใจจากการเลียนแบบ คือเราคงรำคาญคนที่พยายามเลียนแบบเสียงสั่นพลิ้วไหวของนกไนติงเกล พอรู้ว่าคนนั่นแหละที่ทำเสียงโน้ตนั้นขึ้นมา เราก็คงจะเบื่อเพลงนั้น เฮเกลเห้ฯว่าเทคนิคการเลียนแบบพวกนี้เป็นเพียงกลเม็ดเด็ดพราย (trick) เท่านั้น (43)
ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่า ถ้ามองว่าศิลปะมีเป้าหมายคือการเลียนแบบ ศิลปะก็จะกลายเป็นความลวงและเป็นสิ่งที่ไร้ชีวิตจิตใจ
หากถือว่าเป้าหมายของศิลปะคือการเลียนแบบ ความงามเชิงภววิสัย (objective beauty) ก็จะหายไป เพราะคำถามที่ว่า “อะไร” คือสิ่งที่เราเลียนแบบจะหายไปด้วย กลายเป็นแค่การเน้นความถูกต้องของการเลียนแบบ แม้ว่าเราจะพูดเรื่องความต่างระหว่างความงามกับความน่าเกลียดที่เกี่ยวกับสัตว์ ผู้คน สถานที่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะใช้ตัดสินรูปแบบของสิ่งต่างๆในธรรมชาติที่ไม่มีที่สิ้นสุด รสนิยมจึงไม่ใช่เรื่องของกฎเกณฑ์และไม่ใช่สิ่งที่จะมาเถียงกันได้ เพราะกลายเป็นเรื่องอัตวิสัย คนเราอาจจะชอบไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ คนแต่ละชาติก็มีรสนิยมแตกต่างกันไปด้วย (44)
นอกจากนี้ เฮเกลเห็นว่า ทัศนะที่ว่าศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาตินั้น ถึงที่สุดแล้วไม่สามารถปรับใช้กับศิลปะที่มีลักษณะแตกต่างหลากหลายได้ แม้จิตรกรรมกับประติมากรรมจะแสดงถึงวัตถุที่ปรากฏคล้ายธรรมชาติ หรือนำมาจากธรรมชาติ แต่สถาปัตยกรรมซึ่งถือเป็นวิจิตรศิลป์แขนงหนึ่งด้วยเหมือนกันนั้น แทบจะเรียกว่าไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติอย่างที่กวีนิพนธ์ทำได้ การที่เราจะสนับสนุนแนวคิดว่าด้วยศิลปะคือการเลียนแบบได้ก็อาจจะต้องวางเงื่อนไขเพิ่มเติมและลดระดับจาก “ความจริง” ไปเป็น” “ความน่าจะเป็นไปได้” แต่ก็เกิดปัญหาตามมาอยู่ดี เพราะเราไม่อาจวางกฎว่าอะไรเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ดังเช่นในกรณีของกวีนิพนธ์ (45)
ด้วยเหตุนี้ เฮเกลจึงเห็นว่าเป้าหมายของศิลปะน่าจะมากกว่าการเลียนแบบสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การสร้างกลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ หาใช่งานศิลปะ จริงอยู่ที่งานศิลปะจะต้องแสดงภาพรูปทรงของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพราะศิลปะแสดงออกผ่านรูปทรงภายนอก ตัวอย่างเช่นในงานจิตรกรรม จะต้องเข้าใจเรื่องสีอย่างถูกต้องว่าแต่ละสีสัมพันธ์กับสีอื่นๆอย่างไร ผลกระทบของแสง เงา ฯลฯ ตลอดจน รูปทรงและรูปร่างของวัตถุ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้หลักการที่ว่าศิลปะคือการเลียนแบบและแนวคิดธรรมชาตินิยมงอกเงยขึ้นมาอีกครั้ง กระนั้นเฮเกลยังเห็นว่า การเลียนแบบโลกภายนอกยังไม่ใช่เป้าหมายของศิลปะ ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามต่อไปก็คือ อะไรคือเนื้อหาของงานศิลปะ เฮเกลย้อนกับไปพิจารณาทัศนะที่ว่าศิลปะเป็นเรื่องของความรู้สึก ซึ่งเป็นธรรมชาติอีกด้านหนึ่ง ศิลปะทำให้คนรู้สึกได้ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีหรือไม่มีการศึกษาก็ตาม อย่างไรก็ตาม ถ้าหากถือว่างานศิลปะมุ่งเน้นการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก เป้าหมายของงานศิลปะก็ไม่ชัดเจน เพราะจะกลายเป็นแต่เพียงลักษณะเชิงรูปแบบที่ว่างเปล่า เพราะเนื้อหาของงานศิลปะความเป็นไปได้หลากหลาย บางครั้งบางทีก็กระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกที่ขัดแย้งกันเองก็มี เช่น รัก โกรธ เกลียด (46-47)
เฮเกลเสนอให้พิจารณาเป้าหมายของศิลปะในแง่ของการบรรเทาด้านลบของแรงปรารถนา (desire) เพราะแรงปรารถนาทำให้มนุษย์ไม่มีอิสรภาพ ศิลปะทำให้เรามีมโนภาพในสิ่งที่เรารู้สึก จริงอยู่ เราอาจะกล่าวได้ว่าศิลปะคือการนำเสนอภาพแทน (representation) แต่ขณะเดียวกันศิลปะก็ปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากพลังอำนาจของผัสสะ (49) ดังที่เฮเกลกล่าวว่า “ศิลปะคือมืออันอ่อนโยนที่โอบอุ้มมนุษย์ออกมาเสียจากการจำขังอยู่กับธรรมชาติ” การครุ่นคิดเกี่ยวกับวัตถุทางศิลปะมีลักษณะบริสุทธิ์ ซึ่งแสดงถึงมิติของการศึกษา และเป็นการโต้แย้งแนวคิดของพวกโรแมนติกในเรื่องความเป็นเอกภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
1
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถถอยห่างออกมาพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกได้ก็คือ พิธีกรรมในงานศพเก่าแก่ที่มีการมอบหมายให้ผู้หญิงมาร้องไห้ ทำให้ความโศกเศร้าเป็นสิ่งที่เราคุร่นคิด (contemplate) กับมันได้ การแสดงความเสียใจต่อผู้เคราะห์ร้ายจึงปรากฏเบื้องหน้าจิตของเรา ซึ่งผลก็คือการบรรเทาความโศกเศร้าจากการสูญเสียได้
เฮเกลเห็นว่าข้อพิจารณาว่าเป้าหมายของศิลปะคือการบรรเทาความหยาบกระด้างหรือมิติของการศึกษา ก็ยังมีลักษณะกว้างๆและนามธรรม ผลที่ตามมาในเชิงตรรกะคือการระบุว่าศิลปะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศีลธรรมในตน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของศิลปะเพื่อให้การศึกษา อบรมบ่มเพาะ การขัดเกลาให้บริสุทธิ์ การพัฒนาศีลธรรม การพยายามสร้างรายได้หรือไขว่คว้าหาชื่อเสียง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของศิลปะ และไม่ใช่การระบุถึงธรรมชาติของศิลปะแต่อย่างใด เฮเกลเห็นว่าการมองเช่นนี้ทำให้ศิลปะไม่มีเป้าหมายในตัวเอง หากแต่เป็นวิถีที่นำไปสู่สิ่งอื่น อันที่จริงแล้วเป้าหมายของศิลปะก็คือการเผยความจริง (truth) ในงานศิลปะที่สัมผัสรับรู้ได้ ความงามของศิลปะเป็นวิถีที่ทำให้เกิดเอกภาพระหว่างสิ่งที่ขัดแย้งกัน ในก็คือจิตวิญญาณ (spirit) กับธรรมชาติ (nature) ซึ่งกินความถึงธรรมชาติภายนอก อย่างเช่นท้องฟ้า อากาศ ดอกไม้ และธรรมชาติภายใน อันได้แก่ อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ
แม้ว่าเฮเกลจะไม่เห็นด้วยกับพวกโรแมนติกหลายด้านในเรื่องสุนทรียศาสตร์ แต่เขายังยังถือว่าศิลปะมีสถานะเชิงความรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจสิ่งสัมบูรณ์ (the absolute) ได้ โดยทั่วไปแล้วแนวโน้มของสุนทรียศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 มุ่งเน้นความเป็นอัตวิสัย ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินผ่านงานศิลปะหรือการทำให้ผู้เสพรับงานศิลปะเกิดความพึงพอใจ ตัวอย่างที่น่าจะเป็นตัวแทนของแนวโน้มนี้ได้แก่ค้านท์ในงาน Critique of Judgment ซึ่งระบุว่าการตัดสินค่าทางสุนทรียศาสตร์มีความสมเหตุสมผลแค่เพียงในระดับอัตวิสัยที่มีต่อวัตถุที่ยังความพึงพอใจให้แก่ผู้มองหรือผู้สังเกต แม้การตัดสินที่ว่านี้จะมีความเป็นสากล แต่ก็มุ่งเน้นเพียงความรู้สึกพึงพอใจโดยไม่ได้อ้างอิงถึงวัตถุนั้นเอง กระนั้นการท้าทายสถานะทางความรู้ของงานศิลปะมีมาตั้งแต่ยุคโบราณมาแล้ว ดังปรากฏในข้อเขียนของเพลโตที่ผลักไสศิลปินของออกไปเสียจากรัฐในอุดมคติตามทัศนะของเขา เพียงเพราะว่างานศิลปะเป็นแต่เพียงมายา
Frederick Beiser (2005) เห็นว่า เฮเกลจัดการกับปัญหาดังกล่าวในงาน Aesthetics ของเขา ด้วยการปกป้องสถานะเชิงความรู้ในงานศิลปะ ดังปรากฏในนิยามคำว่า “ความงาม” ของเขา ซึ่งหมายถึง “การปรากฏที่สัมผัสรับรู้ได้ของมโนภาพ” สิ่งที่อยู่เบื้องหลังข้อความนี้ก็คือการประเมินมโนทัศน์เรื่องการปรากฏ (appearance) เสียใหม่ โลกของสิ่งที่ปรากฏเป็นแต่มายาภาพ ซึ่งสัจจะถูกซ่อนเร้นหรือปกปิดเอาไว้ แต่โลกของสิ่งที่ปรากฏก็ยังสามารถเปิดเผยให้เห็นสัจจะได้อีกด้วย เพลโตเห็นว่าโลกปรากฏเป็นแต่เพียงมายาภาพซึ่งเป็นความหมายแรก นั่นคือเหตุผลว่าเหตุใดเขาจึงผลักไสศิลปะออกไปจากรัฐในอุดมคติ ทั้งนี้เพราะเขาแยกชัดเจนระหว่างโลกของปัญญากับโลกของผัสสะ และเนื่องจากศิลปินเป็นแต่เพียงผู้เลียนแบบโลกของผัสสะ งานศิลปะจึงเป็นแต่เพียงการถ่ายทอดสิ่งที่ปรากฏอีกทอดหนึ่ง ซึ่งถอยห่างออกจากสัจจะถึงสองช่วงก้าว เฮเกลโต้แย้งความเห็นของเพลโตในบทนำของ Aesthetics ด้วยการระบุถึงนิยามของโลกปรากฏที่ตรงข้ามกับเพลโต นั่นคือ การปรากฏเป็นสิ่งสำคัญของสารัตถะ สัจจะไม่อาจจะเป็นสัจจะได้หากมันไม่เผยตัว เขาเห็นด้วยกับเพลโตที่ว่าเราไม่อาจถือวัตถุที่เรารับรู้สัมผัสว่าเป็นความเป็นจริงได้ และศิลปะก็ไม่จำเป็นแต่อย่างใดถ้าทำหน้าที่แค่เพียงเลียนแบบวัตถุ อย่างไรก็ตาม ศิลปะมีความสำคัญเพราะรูปแบบที่สัมผัสรับรู้ได้ของงานศิลป์ระบุถึงความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังงานศิลปะเอง
สถานะของความรู้ของงานศิลปะในสุนทรียศาสตร์ของเฮเกลควรพิจารณาในบริบทของความคิดเรื่องการเลียนแบบ (imitation) ซึ่งถือเป็นทฤษฎีหลักที่ว่าด้วยสถานะเชิงภววิสัยของงานศิลปะมานานนับศตวรรษ หากพิจารณาว่าเฮเกลพยายามปกป้องสถานะเชิงภววิสัยของงานศิลปะแล้ว เราอาจจะคิดได้ว่าเขาย่อมต้องเห็นใจมโนทัศน์ว่าด้วยการเลียนแบบ แต่กลับกลายเป็นว่าเขาทำในสิ่งที่ตรงข้าม บางทีเขาเขียนถึงมโนทัศน์ดังกล่าวราวกับว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย เช่นเดียวกับความคิดสมัยใหม่ที่ยกย่องสถานะของการสร้างสรรค์งานของศิลปิน เฮเกลปฏิเสธแนวคิดเรื่องการเลียนแบบในแง่ของการเลียนแบบรูปแบบของธรรมชาติที่ที่ปรากฏให้เราเห็น ราวกับศิลปินก็แค่เลียนแบบสิ่งที่ตนรับรู้สัมผัส การทำเช่นนี้ทำให้ศิลปะเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น เนื่องจากเพียงแค่การเลียนแบบสิ่งที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัสอยู่แล้ว อีกทั้งของยังมองว่ามันเป็นความทะเยอทะยานที่ป่วยการเปล่าเพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปเลียนแบบธรรมชาติที่มีความรุ่มรวยและเป็นสิ่งเฉพาะ เฮเกลเห็นว่าการเลียนแบบเป็นการลดทอนงานศิลปะไปเป็นสิ่งที่มีลักษณะเชิงรูปแบบนามธรรม เนื่องจากไปมุ่งเน้นประเด็นว่าสิ่งต่างๆถูกเลียนแบบอย่างไร ไม่ใช่อะไรที่ถูกเลียนแบบ แม้แต่ของที่เล็กน้อยและน่าเกลียดก็ยังเป็นสิ่งนำมาสร้างเป็นงานศิลป์ได้ นอกจากนี้ เฮเกลยังมองว่าการเลียนแบบไม่สามารถใช้ได้กับศิลปะทุกแขนง อย่างเช่นสถาปัตยกรรมและกวีนิพนธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากการเลียนแบบได้ยากยิ่ง
ทัศนะของเฮเกลต่อมโนทัศน์เรื่องการเลียนแบบเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เราอาจจะพิจารณาประเด็นที่เขาถกเถียงในยุคนั้น นั่นคือ ศิลปะควรจะทำให้โลกธรรมชาติเป็นลักษณะเชิงอุดมคติเรื่อว่าแค่เลียนแบบ Beiser เห็นว่าดูเหมือนเฮเกลจะถือตามทฤษฎีสมัยใหม่ที่เห็นว่าศิลปะควรทำให้ธรรมชาติมีลักษณะเชิงอุดมคติ แต่จากการอ่านละเอียดของ Beiser เอง เขาตีความว่าการมองเช่นนั้นเป็นการอ่านเฮเกลแค่ด้านเดียว เพราะอันที่จริงแล้วเฮเกลพยายามจะเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย มิหนำซ้ำยังเห็นด้วยกับการเลียนแบบในบางลักษณะ ในด้านหนึ่ง ดูเหมือนเฮเกลจะเห็นด้วยกับฝ่ายที่ถือว่าศิลปะควรทำให้ธรรมชาติมีลักษณะเชิงอุดมคติ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นการเน้นการสร้างสรรค์ของศิลปิน และการยืนยันว่ารูปแบบของงานศิลป์ยังความพึงพอใจแก่เราก็เพราะศิลปินทำให้เข้าใจความเป็นสากลของสิ่งที่กำลังถูกนำมาถ่ายทอด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงเพราะศิลปินไปลอกแบบลักษณะภายนอกของสิ่งนั้น แต่เกิดจากกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปินเอง ในการอธิบายเรื่องศิลปะ เฮเกลแยกความแตกต่างความจริงของวัตถุที่ถูกนำเสนอในงานศิลป์ นั่นคือ ความจริงในความหมายของความถูกต้อง (ภาษาเยอรมันว่า Richtigkeit) ซึ่งเกิดจากการที่ตัวงานศิลป์ถ่ายทอดวัตถุที่ปรากฏผ่านผัสสะได้อย่างถูกต้อง และความจริงในแง่ของความสอดคล้อง (correspondence) กับมโนทัศน์ของตัววัตถุ ในกรณีหลังนี้เท่านั้นที่เฮเกลเห็นว่าศิลปะจะอ้างว่านำเสนอความจริงได้ และเขายอมรับการเลียนแบบในความหมายนี้เท่านั้น หมายความว่าศิลปินเป็นผู้สร้างงานศิลป์จากจินตนาการและนำเสนอนัยความหมายทางอภิปรัชญาผ่านงานศิลปะ
Beiser เห็นว่า การจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ต้องมองจากความคิดทางอภิปรัชญาของเขา เฮเกลเห็นว่าศิลปินเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมของธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นองค์รวมที่ไม่อาจแยกจากส่วนย่อยได้ และจะเผยตัวผ่านส่วนย่อยแต่ละส่วน ยิ่งกว่านั้น ศิลปินยังเป็นตัวกลางสื่อความตระหนักรู้ตน (self-awareness) ของมนุษย์ นั่นหมายความว่า ศิลปินเป็นผู้ที่นำเสนอการเปิดเผยและการพัฒนาของพลังองค์อินทรีย์ในธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์ ดังนั้น สิ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์ก็คือสิ่งที่ธรรมชาติและประวัติศาสตร์รังสรรค์ผ่านตัวเขา นั่นหมายความด้วยว่าผลงานของศิลปินถือเป็นขั้นตอนของการตระหนักรู้ตนของจิตวิญญาณ (spirit) ไม่ใช่เพียงแต่ศิลปินเท่านั้นที่ตระหนักรู้ตนผ่านงานสร้างสรรค์ของเขา หากแต่รวมถึงจิตวิญญาณของประวัติศาสตร์และธรรมชาติด้วยที่ตระหนักรู้ตนผ่านศิลปิน กล่าวโดยสรุปก็คือ สิ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ผ่านศิลปิน ดังนั้น การที่ศิลปินนำเสนอภาพแทนของธรรมชาติก็คือการที่ธรรมชาตินำเสนอภาพแทนของตัวเองผ่านงานศิลปะนั่นเอง
บันทึก
1
6
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย