15 ม.ค. 2021 เวลา 11:18 • นิยาย เรื่องสั้น
พลังอำนาจที่เปลี่ยนแปลงโลก...?
สมัยทำงานอยู่ภาครัฐ เคยมีรุ่นพี่พูดติดตลกว่า หน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงมีอยู่ 3 อย่าง... คือ
รับแขก... แจกของ... และ ร้องเพลง...
ฟังดูเป็นงานที่ไม่ค่อยต้องใช้สติปัญญาเท่าไหร่... แต่ถ้าย้อนกลับไปมองผู้นำระดับโลก อย่าง...
จอห์น เอฟ เคเนดี (ประธานาธิบดีสหรับผู้ประกาศว่าจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษ)...
อดอฟ ฮิตเลอร์ (ผู้นำพาคนเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2)
วินสตัน เชอร์ชิล (ผู้นำอังกฤษที่พาให้ชาติรอดพ้นจากการพ่ายแพ้สงครามกับเยอรมัน)...
ท่านดาไลลามะ (ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบต)...
มหาตมะคานที (ผู้นำให้ชาวอินเดียประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิ์อังกฤษ)
เหมาเจ๋อตง (ผู้นำให้ชาวจีนกลับมาเข้มแข็งและสร้างชาติขึ้นมาใหม่)...
ฯลฯ
ถามว่า ผู้นำเหล่านี้ ทำอะไรเป็นหลัก...?
ตอบกันง่ายๆ ก็คือ... พูด...
พูดสร้างแรงบันดาลใจ...
พูดให้คนเข้าใจ คล้อยตาม เกิดพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง...
พูดให้ผู้คนกลับมามีพลังใจที่จะต่อสู้อุปสรรคใหญ่อย่างไม่ท้อถอย...
ฯลฯ
ลำพังผู้นำตัวคนเดียวก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก... แต่เมื่อสามารถเข้าถึงใจมวลชน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เข้าถึงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น hard power หรือ soft power... ก็สามารถก่อให้เกิดพลังมหาศาลในการทำให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น... ไม่ว่าในทางบวกและทางลบ...
ประธานาธิบดี เคเนดี พูดให้ชาวอเมริกันร่วมแรงร่วมใจแซงหน้ารัสเซียไปเหยียบดวงจันทร์ได้ ทั้งๆ ที่ยังตามหลังรัสเซียทางด้านเทคโนโลยีอวกาศอยู่ในขณะนั้น...
ฮิตเลอร์ สามารถพูดโน้มน้าวคนเยอรมันซึ่งนับเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่ฉลาดที่สุด เข้ากรีธาทัพทำสงครามกับมหาอำนาจโลกในขณะนั้นคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย (ช่วงหลังยังประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา...)
เชอร์ชิล สามารถพูดสร้างพลังใจให้ชาวอังกฤษต่อสู้และอดทนต่อการโจมตีของเยอรมันทั้งๆ ที่เป็นรองกว่ามากในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์... รอจนอเมริการ่วมเข้าสู่สงคราม และกลายเป็นฝ่ายชนะในที่สุด...
ท่านดาไลลามะ ต้องลี้ภัยมาอยู่อินเดีย แต่ก็ยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวธิเบตและของทั้งโลกตะวันออกและตะวันตกที่มีผู้ติดตามทั้งการพูดและงานเขียนเพื่อเป็นหลักนำในการดำรงชีวิต...
มหาตมะคานธี สามารถพูดโน้มน้าวให้ชาวอินเดียลุกขึ้นทวงอิสรภาพจากอังกฤษด้วยหลักอหิงสา ทั้งๆ ที่ด้อยกว่ามากทั้งด้านทรัพยากร อาวุธและเทคโนโลยี จนอังกฤษต้องยอมถอนตัวไปในที่สุด...
เหมาเจ๋อตง พาชาวจีนเดินหมื่นลี้ จากจุดเริ่มต้นเดินทางด้วยผู้คนเรือนแสนเหลือเพียงหลักพันเพื่อหนีการไล่ล่าของกองทหารเจียงไคเช็ก แล้วกลับมาใช้กลยุทธป่าล้อมเมืองจนปฏิวัติสำเร็จ นำพาศักดิ์ศรีของชาวจีนให้กลับมาผงาดยิ่งใหญ่ในยุคสี่จิ้นผิง...
อะไรคือสิ่งที่ผู้นำเหล่านี้ใช้ในการปลุกพลังให้มวลชนลุกขึ้นพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่น่าจะเป็นไปได้...
สิ่งที่ทุกท่านที่กล่าวมามีร่วมกันคือ 'พลังอำนาจในการสื่อสาร' แม้เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีพลังมหาศาลที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง... ไม่ว่าในแง่สร้างสรรค์หรือทำลายล้าง... (ลองเปรียบเทียบประธานาธิบดีสหรัฐ คนก่อนๆ มาถึงปัจจุบัน ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนถึง... power of speech)
หลายคนเวลาไปซื้อของตามห้างต่างๆ การตัดสินใจจะซื้อหรือไม่ซื้อในขั้นสุดท้าย ขึ้นกับการพูดจาของคนขายหน้างาน... บางทีก็ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อ แต่พูดแล้วอยากซื้อ... บางคนตั้งใจจะไปซื้อ พออ้าปากก็ทำให้อารมณ์เสียเปลี่ยนใจ...
มันขึ้นกับนิสัยคน... บางคนมีความสามารถพิเศษ สามารถพูดให้ทุกอย่างเป็นเรื่องลบเรื่องร้าย ทำให้เสียอารมณ์ เสียความรู้สึก... เหมาะจะอยู่แผนกส่งแขกมากกว่ารับแขก...
ตลอดชีวิตการศึกษาของเรามักเน้นในเรื่องของการฝึกวิชาชีพ แต่ให้ความสำคัญกับการฝึกการสื่อสารไม่มากนักทั้งๆ ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต อาชีพ หรือเปลี่ยนโลกได้เลยทีเดียว...
เมื่อไม่ได้ถูกสอนมาเป็นเรื่องเป็นราวให้มีสามัญสำนึกในการสื่อสาร... แล้วจะฝึกฝนตนเองยังไงดี (บางคนโชคไม่ดี คนใกล้ตัวก็เป็นนักพูดให้วงแตก ก็เลียนแบบมาโดยไม่รู้ตัว...)
ก็ต้องทำตัวเป็นพหูสูตร... คือ สนใจเรียนรู้ทั้งจากหนังสือชีวิตประวัติผู้นำทั้งหลายทั้งทางโลกและทางธรรม หรือ จากการฟังการพูดของบุคคลที่เป็นหลักของสังคม... หรือเรียนรู้จากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน ซึ่งมีทั้งนักพูดและนักพล่าม... ที่สอนให้เราได้รู้ว่า แบบไหนควรทำ แบบไหนควรเลี่ยง...
สุดท้าย ต้องมีสามัญสำนึก... ที่ฝรั่งเรียกว่า common sense... ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมี common sense ในเรื่องนั้นๆ เช่น ทางธุรกิจ ด้านการศึกษา การปกครองหรือบริหาร...
แล้วจะมี common sense ได้ยังไง... วิธีหนึ่งก็ลอง put your feet in others' shoes... แปลเป็นไทยก็คือ ลองไปเป็นตัวเขาดู มองจากมุมของอีกฝ่าย ถ้าเป็นธุรกิจก็คือ เข้าไปนั่งในใจของลูกค้า... ถ้าเป็นหมอพยาบาลก็ลองคิดว่า ถ้าตัวเองเป็นคนไข้ เป็นแม่หรือลูกของคนไข้... แล้วอยากได้รับการปฏิบัติอย่างไร...
แล้วก็ต้องไว (responsive) ต่อความรู้สึกของผู้ที่เราสนทนาด้วย... ไวต่อสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง การตอบสนองของอีกฝ่าย... ฝึกบ่อยๆ ก็จะเหมือนมี sensor สามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า อีกฝ่ายรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เราสื่อสารออกไป เพื่อจะสามารถปรับการสื่อสารให้เหมาะสมและสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้น...
สุดท้ายมีคนบอกว่า...
ถ้าเราพูดอย่างมีเหตุมีผล มีหลักฐานอ้างอิง... คนจะฟัง
ถ้าเราพูดให้เข้าถึงจิตใจ ความรู้สึกที่สะเทือนอารมณ์... คนจะไม่ลืม และเกิดพลังขับเคลื่อน...
จงใช้มันเป็นพลังเปลี่ยนโลกในทางที่สร้างสรรค์ละกันนะ...
#ChillChatAtWork
อย่าลืมกด Like & กด Follow (และตั้งค่าเป็น see first) เพื่อจะไม่พลาดเรื่องราวดีๆที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
โฆษณา