15 ม.ค. 2021 เวลา 23:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรื่องของความหนืด
หน้าตาแบบนี้ เขาเรียก Bosswick Consistometer
ตอนมาเป็น Sales ใหม่ๆ ต้องมีการ อบรมผลิตภัณฑ์กันก่อน เพื่อให้มีความรู้ใส่สมอง เวลาออกไปพบลูกค้า หากถูกถามมาว่า คุณมีเครื่อง.....ขายหรือเปล่า เราจะต้องรีบตอบได้อย่างไม่ลังเลว่า “มีค่ะ” การเป็น Sales จึงต้องคอยอบรม ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่งั้นหากรู้น้อยกว่าลูกค้า คุณจะหมดคุณค่าในทันที
วันนี้จึงขอนำเสนอ อุปกรณ์วัดความหนืดอย่างง่ายให้รู้จักกันค่ะ อุปกรณ์นี้วัดของเหลวเท่านั้นค่ะ ไม่สามารถความขี้ตืด หรือความขี้เหนียว ตอนจะควักตังค์น๊ะค๊ะ แต่วัดได้เฉพาะ สารที่เป็นของเหลว ที่ต้องการควบคุมความหนืดให้สม่ำเสมอ ในการผลิตทุกๆครั้งนั่นเอง
ทำไมต้องวัดความหนืด หลายท่านอาจเข้าใจ แต่อีกหลายท่านอาจไม่ทราบ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ความหนืดมีตั้งแต่หนืดมาก หนืดน้อย เช่น น้ำเชื่อม ซ๊อสมะเขือเทศ ช๊อคโกแลต นมข้นหวาน ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว แม้กระทั่งปูนซีเมนต์ ทุกอย่างที่เอ่ยถึงนี้ มีความหนืดทั้งสิ้น หากโรงงานที่ผลิตสินค้า ออกมาจำหน่าย ไม่เช็คความหนืด ให้คงที่ ป่านฉะนี้พวกเราอาจจะได้ซ๊อสมะเขือเทศที่บางขวดเหลว บางขวดข้นจนเทไม่ออก หรือบางขวดพอดี ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องวัดและควบคุม ให้ทุกๆครั้ง มีความข้นหนืดเท่ากัน
ตอนนั่งอบรม พี่เขาจะเล่าให้ฟัง พร้อมมีอุปกรณ์ตัวนี้ มาทดลองกันจริงๆ ให้ดู เราจะถูกให้วิ่งไปหาวัตถุดิบในการทดสอบ ติดไม้ติดมือ มาก่อนอบรมเสมอ แน่นอนที่สุด ของที่เตรียม ใช้ตังค์บริษัท ดังนั้นของที่เตรียมมา ก็ต้องเป็นของที่กินได้ด้วย (ผลประโยชน์ทับซ้อน) หลังจากอบรมเสร็จ จะมีของเหลือ มีกาแฟเย็น ขนมปังราดช๊อคโกแลต กันอิ่มหน่ำ
อุปกรณ์การวัดตัวนี้เรียกว่าเครื่องไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ใช้ทั้งไฟฟ้า ไม่ใช้เบตเตอรี่ แต่มันใช้แรงโน้มถ่วงของโลก และอุปกรณ์ในรูปนี้มันเหมาะสำหรับลูกค้ากะตังค์น้อย และลูกค้าที่มีตัวอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถ ใช้เครื่องไฮโซได้ อย่างงัยเหรอ ขอเล่าให้ฟังง่ายๆอย่างงี้ค่ะ
อุปกรณ์นี้มีชื่อว่า Bosswick consistometer เป็นการวัดการไหล โดยใช้จับเวลา เทียบกับระยะทาง มักใช้กับตัวอย่างที่หนืดกลางๆ จะเห็นตัวอุปกรณ์ มีระนาบความลาดเท และจะมีขาตั้งสองขา ที่สามารถปรับให้ได้ระนาบ (ปุ่มสีดำๆ มี 2 อันซ้ายขวา)โดยจะมีลูกน้ำ(ปุ่มกลมๆด้านหน้าสุด)เป็นตัวปรับให้อยู่ในมุมที่เหมาะสม เพื่อความเที่ยงตรง และจะเห็นว่าด้านใน จะมีขีดๆเหมือนไม้บรรทัดอยู่ด้านใน อันนั้นคือตัววัดระยะทาง
เวลาจะใช้งานทำงัย ง่ายๆเลยค่ะ มองดูตรงด้านท้ายของอุปกรณ์ จะมีช่องว่างสี่เหลี่ยม สำหรับเติมผลิตภัณฑ์ที่เราจะวัด เข้าไปให้เต็ม ตามขีดที่มีระบุส่วนบริเวณช่องบรรจุตัวอย่าง ด้านหน้าช่องนั้นจะมีประตู เปิดขึ้นลงได้ เหมือนเขื่อนกั้นน้ำ พอใส่ตัวอย่างเสร็จแล้ว เราต้องมีนาฬิกาจับเวลา มาเริ่มจับ และนับหนึ่ง พร้อมปลดล๊อค เปิดประตูเขื่อนที่ว่าให้ตัวอย่างไหลออกมา โดยกำหนดเวลาไว้ประมาณ 5 นาที เมื่อครบ 5 นาที ให้ผู้วัดสังเกตุ ตัวที่เหมือนไม้บรรทัดด้านใน ว่าตัวอย่างไหลไปถึงจุดไหน เป็นระยะทางกี่เซนติเมตรแล้ว ให้จดข้อมูลเวลา กับระยะทางไว้
และเวลาจะวัดตัวอย่างต่อไปก็ทำแบบเดิม ก็จะเทียบได้ว่า ตัวอย่างแต่ละตัวที่วัด มันไหลเร็ว ไหลช้า สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้เลย แต่ในการวัดซ้ำ อย่าลืมเอาอุปกรณ์นี้ไปล้างทำความสะอาดก่อน หากจะทดสอบกับตัวอย่างถัดไป ค่าที่วัดจึงจะถูกต้อง เพราะตัวอย่างจะไม่ปนกันนั่นเอง
จะเห็นว่าวิธีการมันบ้านๆ ดูเหมือนน่าจะผลิตเองได้ ไม่เห็นต้องมาสั่งซื้อกันเลย เราเองเคยคิดจะผลิตขาย 😁 แต่มันไม่ง่าย เพราะอุปกรณ์นี้มันขายมาพร้อมกับใบรับรองมาตราฐานที่ในโลกนี้กำหนดมาให้เฉพาะวงการการวัดความหนืดมาด้วย ดังนั้นหากมีแต่ตัวอุปกรณ์ แต่ไม่มีใบรับรอง พอเอามาวัดค่า และพอจะเอาค่าไปบอกใครๆ จะขาดความน่าเชื่อถือ และไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงทำให้เจ้าอุปกรณ์ที่ดูบ้านๆตัวนี้ ราคาไม่น้อยกว่า 26,000 บาททีเดียวเชียว เห็นดูจะเป็นแท่งสแตนเลสๆแค่นี้น๊ะ คนผลิตและทดสอบมาตราฐาน มันอยู่ที่อเมริกา ราคาแท่งสแตนเลสนี้มันจึงแพงหูฉี่ เพราะมันต้องขึ้นเครื่องบินมาไกลนั่นเอง
ปล. เครื่องนี้ไม่เหมาะกับตัวอย่างทีใสเกิน เพราะถ้าใสมาก พอเปิดประตูเขื่อนปุ๊บ มันจะไหลพรวด จนมองระยะไม่ทัน
📌 มีอีกหลายแบบ หลายวัตถุประสงค์ จะค่อยๆมาโม้ให้ฟัง😁
📌 เราเป็นเจ้าแม่ เครื่องวัดความหนืดเพราะขายในโรงงานอาหารและเครื่องสำอางค์ เป็นส่วนใหญ่
📌 ไม่ได้มาขายของ แต่มาเล่าให้สู่กันฟัง เพราะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ จะได้ร้องอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง😊😊
📌 หากใครฐานะดี จะซื้อไปวัดขนมเต้าส่วน หรือวัดความหนืดของน้ำราดหน้า ให้หนืดสม่ำเสมอ ก็สามารถซื้อไปใช้ได้น๊ะ😂😂
โฆษณา