16 ม.ค. 2021 เวลา 04:03 • ปรัชญา
ไม่มีเวลาจริงไหม
เราคงเคยได้ยินคำว่า "ไม่มีเวลา" บ่อยๆแม้แต่ตัวเราเองก็เคยรู้สึกว่าไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งที่เราอยากทำเช่นกัน คำนี้ใช้เหมือนการปฏิเสธทั้งกับตัวเองและคนอื่น หรืออีกความหมายคือคำอนุญาตให้ผลัดวันประกันพรุ่งอย่างมีเหตุผลในความคิดของเรานั่นเอง
ความจริงเรื่องเวลาคือ หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง หากเราใช้เพื่อการนอน 8 ชั่วโมง และใช้เพื่อทำงาน 8 ชั่วโมง รวม 16 ชั่วโมง เรายังเหลือเวลาอีก 8 ชั่วโมง (24-16=8)เวลานี้หายไปไหน
ลองนำกระดาษมาแผ่นนึง เขียนเลข 8 ตัวใหญ่ๆแล้วคิดต่อว่า เราใช้เวลาที่เหลือส่วนนี้ทำอะไรบ้าง และใช้เวลาในเรื่องนั้นกี่ชั่วโมง โยงออกมา เช่น เดินทางไปกลับที่ทำงาน 2 ชั่วโมง กินข้าว 0.5 ชั่วโมง เป็นต้น เขียนตามที่เราทำจริงในแต่ละวัน
เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เราจะเห็นชัดเจนขึ้นว่าเราใช้เวลาที่ไม่ได้นอนและไม่ได้ทำงานไปใช้กับเรื่องอะไรบ้างเป็นเวลาเท่าไหร่ เราอาจจะแปลกใจว่าทำไมเวลายังเหลือ แต่ถ้าเราใช้เวลาจนหมดไม่เหลือก็มาทำขั้นตอนต่อไป
นำกระดาษมาอีกแผ่นนึง เขียนเครื่องหมายบวกใหญ่ๆตรงกลางกระดาษ ให้หน้ากระดาษแบ่งเป็น 4 ส่วน และเขียนหัวข้อตามลำดับจากซ้ายไปขวาดังนี้
1.สำคัญมาก (เรื่องที่เราต้องทำทันทีหากไม่ทำผลกระทบกับตัวเรา)
2.สำคัญน้อย (เรื่องที่เราได้ประโยชน์ควรทำต่อมาจากข้อ1)
3.ไม่สำคัญ (เรื่องที่ควรทำโดยให้คนอื่นช่วยทำแทนได้)
4.ไม่จำเป็น (เรื่องที่ทำหรือไม่ทำก็ไม่มีผล กระทบกับเรา)
จากนั้น นำเอากิจกรรมที่เคยเขียนไว้ในกระดาษแผ่นแรกมาเขียนใส่ลงไปให้ตรงกับความหมายของแต่ละช่อง แล้วปรับเวลาใหม่ โดยโยกเอาเวลาของช่อง 3-4 มาเติมในช่อง 1-2
จะเห็นว่าเรามีเวลาเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นนำเอาเวลาที่ได้มาจัดจัดการใส่เป็นแผนตามเวลาจริงในแต่ละวัน
นี่คือการบริหารเวลาง่ายๆด้วยการนำเวลาที่มีมาใช้กับกิจกรรมที่สำคัญมากกับตัวเราก่อน เรียงลำดับไปตามความสำคัญ รวมถึงเพิ่มคุณภาพในการใช้เวลาในบางเรื่องด้วยการมอบหมายให้ผู้ชำนาญทำแทน
เรามักเห็นค่าของเงินมากกว่าค่าของเวลา แต่ที่จริงแล้วเวลาสำคัญกว่า เราซื้อเวลากลับมาไม่ได้ ดังนั้นเราควรฝึกบริหารเวลาให้เกิดประโยชน์
และเราใช้คำว่า "ไม่มีเวลา" กับเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ได้
โฆษณา