17 ม.ค. 2021 เวลา 04:22
DAY14: ไม่มีปัญหาการเงินใด ที่แก้ไขไม่ได้
1
ทำงานเรื่องการเงินมาหลายปี ต้องบอกว่าเรื่องการเงินใดๆ ที่ว่ากันว่า ถ้าจัดการไม่ดี เตรียมตัวไม่ดี แล้วชีวิตจะลำบาก เอาเข้าจริงมีอภินิหารเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องหนี้ บางคนที่เจออาการร่อแร่มาก เงินเดือนได้มาเท่าไหร่ต้องหักจ่ายหนี้จนหมด เงินกินต้องหยิบต้องยืมเขาตั้งแต่วันที่เงินเดือนออก ทำแบบนี้วนกันไปทุกเดือน ดูยังไงก็ไม่น่ารอด
แต่สุดท้าย ... ก็มีหลายคนที่รอดมาได้
ผู้ช่วยพยาบาลที่เหลือเงินหลังหักหน้าซอง 17 บาท อาหารบางมื้ออาศัยกินอาหารผู้ป่วย นั่งดูตัวเลขการเงินยังไงก็ลดรายจ่ายไม่ได้ หมดหวังกับตัวเอง สูญเสียความมั่นใจในชีวิตไปจนหมด จนไม่อยากขยับจับทำอะไร
สุดท้ายทนความจนไม่ไหว เริ่มทำอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองทีละน้อย นั่งดู YouTube หารายการอาหารที่พอทำได้ รวมพลังฮึดสู้อีกครั้ง หยิบยืมเงินเพื่อน 500 บาท เป็นทุนตั้งต้น ทำเต้าฮวยนมสดขาย โดยขออนุญาตทางโรงพยาบาลตั้งโต๊ะขายริมทางเดินระหว่างตึก ทั้งในช่วงออกเวร และขายตามตลาดนัด รวมถึงในกลุ่มไลน์
พอเริ่มมีรายได้พอได้กิน ก็หารายได้เพิ่มอีกด้วยการทำข้าวกล่องขายในวันเสาร์อาทิตย์​ ถึงวันนี้แม้จะยังไม่หมดหนี้ แต่การเงินไม่ติดลบแล้ว ชีวิตกลับมามีความสุขได้เป็นปกติ
2
หรืออย่างน้องอีกคนที่เป็นหนี้นอกระบบมานาน 4 ปี ช่วงโควิดระบาดปีที่แล้ว ตัดสินใจฝึกเย็บหน้ากากผ้า แล้วลองโพสขายในเฟซบุ๊ก แค่ 3 เดือน ปลดหนี้นอกระบบที่กดดันชีวิตมาตลอดได้ นี่แหละวิกฤต คือ โอกาสของจริง
1
หรืออย่างเรื่องของเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ที่บอกและสอนกันตลอดว่าให้สะสมไว้ เตรียมพร้อมไว้ แต่หลายคนก็ไม่เตรียม จนวันที่วิกฤตมา ถูกลดรายได้หรือให้ออกจากงาน ทีนี้พังเลย การเงินครอบครัวเละตุ้มเป๊ะ
1
แต่ก็นั่นแหละ คนเราใช่ว่าพลาดแล้วต้องพังกันหมด
น้องคนหนึ่งเป็นครูสอนดนตรี เปิดสอนดนตรีให้กับเด็กๆ กิจการไปได้ดี ไปได้สวย แต่ไม่มีเงินเก็บเลย เงินที่หาก็กินใช้วนไป จนเมื่อโควิดแวะมาเยี่ยม โรงเรียนเปิดสอนไม่ได้ จึงเริ่มเข้าใจความสำคัญ
หลังอดทนอยู่กับการกินอยู่ผ่านบัตรกดเงินสดได้สักพัก น้องคนนี้ก็ตัดสินใจเริ่มเปิดคอร์สสอนดนตรีออนไลน์ แรกๆ ก็ไม่มีใครสนใจ ผู้ปกครองก็มองว่าไม่ได้ประโยชน์ แต่ก็ทู่ซี้อดทนทำไปสักพัก ด้วยความที่โควิดอยู่กับเรานานพอ จึงเริ่มมีคนลองเรียน
1
สุดท้ายก็ไปได้ มีรายได้กลับมา แม้จะไม่เท่าเดิม อาศัยบีบลดค่าใช้จ่ายลง ก็พออยู่ได้ และที่สำคัญเจ้าตัวเริ่มเก็บสะสมเงินสำรองให้ตัวเอง ไม่ว่าจะมากจะน้อย น้องเค้าบอกว่า “ไม่เอาอีกแล้ว หาได้แค่ไหนผมก็จะออม จะมากจะน้อย ผมก็จะเก็บเงินทุกเดือน”
หรืออย่างเรื่องเกษียณ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญไม่เร่งด่วน ก็มีอภินิหารให้เราเห็นกันไม่น้อย
1
เรื่องหนึ่งที่ผมชอบคือเรื่องของลุงติ๊ก สเกล อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้อง Early Retire เพื่อนำเงินมาใช้หนี้จนเหลือแค่ 1,500 บาท เกษียณก่อนเวลา แต่ไม่มีเงิน ดูยังไงก็ไม่รอด
1
(ผมเล่าเรื่องของลุงติ๊ก สเกล ไว้ใน The Money Case Podcast เผื่อใครอยากฟัง https://themoneycase.podbean.com/e/97/)
สุดท้ายงัดทักษะและวิชาที่มีติดตัวจากวิทยาลัยเพาะช่าง สร้างรายได้จากการทำโมเดล ค่อย ๆ เริ่ม ค่อย ๆ สร้างชื่อเสียง จนวันนี้มีรายได้เลี้ยงตัวในวัยเกษียณหลักหลายหมื่นได้สบาย แถมปัจจุบันลุงติ๊กยังเปิดสอนให้ความรู้กับคนที่ต้องทำโมเดลเป็นอาชีพอีกด้วย (ติดตามเรื่องราวของลุงได้จากเพจ https://www.facebook.com/tikscale/)
1
เล่าเรื่องอภินิหารให้ฟัง ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องบริหารเงิน ไม่ต้องจัดการหนี้ ไม่ต้องมีเงินสำรอง หรือไม่ต้องเก็บเงินเกษียณ เพราะไม่ว่าอย่างไรการจัดการเงินเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหา ยังไงก็ย่อมดีกว่าและเหนื่อยน้อยกว่าการแก้ปัญหาอยู่แล้ว
แต่ที่อยากจะบอกก็คือ ถ้าวันนี้ชีวิตการเงินของเราเกิดพลั้งพลาดอะไรไป ขอให้มีสติ มีกำลังใจ และเชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถแก้ปัญหาและพาชีวิตกลับมาสู่จุดที่ดีได้เสมอ
1
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานเรื่องการเงินมา 15 ปี คนกลุ่มเดียวที่ผมเห็นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการเงินได้ ก็คือ คนที่ยอมแพ้ไปแล้ว กลุ่มนี้กลุ่มเดียวจริง ๆ ครับ
1
“ไม่มีปัญหาการเงินใด ที่แก้ไขไม่ได้” เว้นแต่เจ้าของปัญหาจะยอมแพ้กับมันไปเสียก่อน ... นี่คือบทสรุปตลอดระยะการทำงานในฐานะมันนีโค้ชของผม
1
เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังสู้กับปัญหาการเงินนะครับ
คุณผ่านมันไปได้ เชื่อผมสิ!
#โค้ชหนุ่ม
14-01-2021
โฆษณา