17 ม.ค. 2021 เวลา 10:38 • ประวัติศาสตร์
พระแก้วมรกต ไม่ทรงเครื่อง
ฐานข้อมูลภาพ :
( ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล )
:พระแก้วมรกต: เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิพระพักตร์อิ่มเอิบ ประกอบด้วย
พระอุณหิสระหว่างพระขนง พระเมาลีตูม
พระกรรณยาน
พระนาสิกโด่ง
ประทับนั่งซ้อนพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย
แล้ววางพระหัตถ์ขวาบนพระหัตถ์ซ้ายไว้บนหน้าตัก
จีวรแนบพระมังสะเปิดบ่าขวา ปิดบ่าซ้าย
สังฆาฏิพาดบน
พระอังสะซ้ายห้อยลงมาถึงระดับพระนาภี
1
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔๓ เซนติเมตร หรือ ๑๗ นิ้ว สูง ๕๔ เซนติเมตร หรือ ๒๑ นิ้ว
ใต้ฐานชุกชีขององค์พระ มีส่วนแก้วยื่นยาวออกไป มีความยาว ๒๘ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าช่างไม่ได้ตัดออก
เกรงว่าจะทำให้เนื้อแก้วแตกร้าวเป็นวงกว้างได้ จึงคงไว้ และยังใช้ประโยชน์ในการวางองค์พระให้มั่นคง
เพื่อมิให้องค์พระเคลื่อนจากที่ตั้ง ในกรณีเกิดแผ่นดินไหว
 
องค์พระแก้วมรกตนั้นเป็นสีเขียวมรกต สร้างด้วยหยกเนไฟรต์ทึบแสง เป็นแท่งเดียวกันตลอดองค์พระ เนื้อองค์พระ
เป็นแร่ระบบหนึ่งแกนเอียง (Monoclinic System) ในไพรอกซีนกรุ๊ป (Pyroxen group)
มีความแข็ง (Hardness) ระหว่าง ๖.๕ ถึง ๖.๗
ความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity) ระหว่าง ๓.๓๓ ถึง ๓.๓๕
ดังนั้น เมื่อรวมความยาวของแท่งหยก ที่นำมาสร้างพระแก้วมรกตองค์นี้ จะต้องมีขนาดเท่ากับ ๘๓ เซนติเมตร หรือ ๓๒ นิ้ว
บนพระอุณาโลมของพระแก้วมรกต เดิมมีเพชรเม็ดเล็กๆฝังอยู่ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งมีพระราชศรัทธาในองค์พระแก้วมรกตมาก ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์
ซื้อเพชรเม็ดใหญ่ขนาดเท่าเม็ดบัว น้ำบริสุทธิ์งดงามมาเปลี่ยนใหม่ เมื่อพ.ศ.๒๓๙๗
สำหรับพระพุทธลักษณะของพระแก้วมรกตนั้น มีนักศิลปโบราณคดี ตั้งข้อสังเกตว่า
ทรวดทรง พระพักตร์ของพระแก้วมรกต มีความละม้ายคล้าย กับพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนตอนปลาย
ที่เรียกกันว่า สิงห์สาม มาก จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในยุคนี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวของพระแก้วมรกตไว้ และยังทรงสันนิษฐานด้วยว่า
พระแก้วมรกตนี้ เป็นฝีมือช่างทางเมืองฝ่ายเหนือของไทย อันได้แก่เชียงแสนนั่นเอง
เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๕ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
นายช่างผู้เชี่ยวชาญศิลปะซึ่งเป็นชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ในประเทศไทย
เป็นผู้ศึกษารูปทรง ของพระแก้วมรกต อย่างละเอียดถี่ถ้วน
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อคอรราโด เฟโรจี ที่ตำบลซานยิโอวานนี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
เดินทางเข้ามารับราชการในประเทศไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๖
ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศิลป์ พีระศรี ในเวลาต่อมา ผลงานที่มีชื่อเสียงได้แก่
อนุสาวรีย์คุณหญิงโมอนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
อนุสาวรีย์พระมหาธีรราชเจ้า
อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช
อนุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช และอนุสาวรีย์อื่นๆ อีกมากมายหลายแห่ง
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สรุปความเห็นเกี่ยวกับ พุทธลักษณะของพระแก้วมรกตเอาไว้ว่า
น่าจะเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น ในอาณาจักรล้านนาไทยหรือเป็นฝีมือช่างทางเมืองเหนือของไทย
ถ้าจะจัดยุคสมัยทางโบราณคดี พระแก้วมรกตน่าจะสร้างขึ้น ในสมัยเชียงแสนรุ่นหลัง
ไม่ใช่ฝีมือช่างชาวต่างประเทศ ดังเข้าใจมาแต่เดิม
อย่างไรก็ตาม ตำนานพระแก้วมรกตนั้น ดูเหมือนมีอยู่ในเมืองไทยเท่านั้น
ไม่มีตำนานหรือพงศาวดารและประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา หรือพม่าเลย
ส่วนตำนานพระแก้วมรกตในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ก็อ้างหนังสือรัตนพิมพวงศ์
นำไปเขียนขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนโรดม (พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๗๗)
ส่วนในทัศนะทางศิลปะและโบราณคดี กล่าวไว้ว่า พระพุทธรูปเก่าที่สุดนั้น
นักสำรวจโบราณวัตถุพบที่เมืองคันธาระในประเทศปากีสถาน พระพุทธรูปเหล่านั้นเป็นศิลปะกรีก
พระพักตร์คล้ายเทวรูปกรีก มีพระเกศาเป็นเส้นและเป็นมวยมุ่นอยู่กลางพระเศียร มีจีวรเป็นริ้ว
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรก สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๖ (ราว พ.ศ. ๖๐๐)
แต่นักโบราณคดีอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าพระพุทธรูปรุ่นแรกนั้น เป็นศิลปะอินเดีย
สร้างที่เมืองมถุรา ณ ประเทศอินเดีย ในพุทธศตวรรษเดียวกัน
กรณีการอัญเชิญของพระแก้วมรกตในเส้นทางต่างๆ แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงพระแก้วมรกตนั้นมีผู้พบครั้งแรกที่จังหวัดเชียงราย
ในประเทศไทยภายหลังจึงตกไปอยู่ที่ประเทศลาว จนกระทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงอัญเชิญกลับคืนมาสู่ประเทศไทยตามเดิม พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพมหานคร จนปัจจุบนนี้
และเป็นประเพณีสืบมาว่าเมื่อมีการสมโภชพระนครคราวใดจะมีการสมโภชพระอารามด้วย
พระราชพิธีใดที่เป็นสิริมคลและสำคัญของบ้านเมืองจะจัดขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน (พ.ศ.๑๖๐๐-๒๐๙๑)
พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นของฝีมือช่างไทยซึ่งได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้ตั้งแต่โบราณ
มีพบทั่วไปในมณฑลพายัพ แต่ที่พบในเมืองเชียงแสนเก่าเป็นชนิดฝีมือช่างดีงามกว่าที่พบในจังหวัดอื่นๆ
ทางโบราณคดีจึงใช้คำนี้เป็นชื่อของพระพุทธรูปสมัยหนึ่ง แบ่งออกเป็น ๒ รุ่น คือ
๑) สมัยเชียงแสนยุคแรก ทำตามแบบอย่างพระพุทธรูปอินเดีย สมัยราชวงศ์ปาละ เช่น
มีพระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลมคล้ายผลมะตูม พระขนงโก่ง พระนาสิกโค้งงุ้ม พระโอษฐ์แคบเล็ก
พระหนุเป็นปม พระรัศมีเหนือพระเกตุมาลาเป็นต่อมกลม ไม่มีไรพระศก เส้นพระเกศาขมวด และเป็นเส้นใหญ่
พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้น ตรงปลายสังฆาฏิ มีลักษณะคล้ายธงม้วนเข้าหากันเหมือนเขี้ยวตะขาบ
๒) สมัยเชียงแสนยุคหลัง การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้ ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปแบบสุโขทัย
พระพุทธรูป จึงมีลักษณะพระวรกายสะโอดสะอง พระพักตร์ยาวเป็นรูปไข่ พระรัศมีทำเป็นรูปเปลวเพลิง
พระศกเป็นเส้นเล็กละเอียด และมีไรพระศกเป็นเส้นบาง ๆ สังฆาฏิยาวลงมาจนจดพระนาภี
พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยเชียงแสนมี ๖ ปาง คือ ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางอุ้มบาตร ปางประทับรอยพระพุทธบาท
ปางไสยาสน์ และ ปางนั่งห้อยพระบาท
ภาพต้นฉบับ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
แต่งสี : กัปป์ กัลป์
ขนาดภาพ : 12x15 นิ้ว
โฆษณา