18 ม.ค. 2021 เวลา 00:30 • ท่องเที่ยว
ชวนเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศิลปะในโตเกียว โลกใบใหญ่ที่เราอาจไม่เคยสัมผัส (ตอนที่ 1/4)
หากกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น สถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของใครหลายๆคน เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหลที่แตกต่างไปจากฟากฝั่งยุโรป อเมริกา หรือแม้กระทั่งประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียด้วยกันก็ตาม เอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต บริบททางสังคมต่างๆได้สร้างความแตกต่างให้กับดินแดนแห่งนี้อย่างยากที่จะหาสถานที่ใดๆมาทดแทน ความงดงามในวิถีการดำเนินชีวิต ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรือแหล่งท่องเที่ยว ได้ขับเน้นให้ญี่ปุ่นได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งสถานที่ในดวงใจอย่างไม่ยากเย็นนัก
ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสในปัจจุบัน (ค.ศ.2020 - 2021) ไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ รัฐบาลของแต่ละประเทศส่วนใหญ่ต่างออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปิดประเทศเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างเข้มงวด ทำให้เหล่าแฟนพันธ์แท้ดินแดนญี่ปุ่นรู้สึกโหยหาการเดินทางไปเยือนมากเป็นพิเศษกว่าช่วงเวลาอื่นๆ อยากให้คุณผู้อ่านถือซะว่าบทความชิ้นนี้เป็นบทความคั่นเวลาเพื่อดับกระหายอาการโหยหาการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในมุมมองที่แตกต่างออกไป
cr.Bordee Budda
เนื้อหาในบทความชุดนี้ตัวผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าจะจำกัดความภาพรวมของมันว่าอย่างไร จะเป็นบทความ การรีวิว หรือการให้ข้อมูลเชื้อชวนการเดินทางไปเยือนมหานครโตเกียว เมืองหลวงสำคัญของประเทศญี่ปุ่นและของโลกครั้งนี้ในด้านที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ (ค.ศ.2018) มีเป้าประสงค์แห่งการเดินทางเพื่อ “ดูงานศิลปะ” โดยเฉพาะ เรียกได้ว่าเป็น “Tokyo Museum Trip” เพื่อไปเสพงานศิลปะหรือวัตถุทางศิลปะที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอลีซึ่งตั้งอยู่ภายในกรุงโตเกียวเป็นหลัก
ด้วยเพราะอาการโหยหาอดีตของผู้เขียนจนต้องย้อนกลับไปดูภาพถ่ายเก่าๆที่บันทึกเก็บเอาไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเล่าเรื่องครั้งนี้ ซึ่งกว่าจะได้ริเริ่มร่างบทความชุดนี้ขึ้นมาเวลาก็ล่วงเลยผ่านไปกว่าสามปี อย่างไรก็ตามผู้เขียนไตร่ตรองแล้วว่าเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งต่างๆก็ยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญเท่าใดนัก “อาจเพราะโลกศิลปะนั้นเชื่องช้าเกินกว่าที่ใครจะเข้าใจ” ข้อมูลต่างๆคงยังพอจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เนื้อหาอาจมีรายละเอียดที่ยืดยาวน่าเบื่อสำหรับหลายๆท่านจนเกินไป จึงทำให้บทความชุดนี้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ตอน กับระยะเวลาการดำรงชีวิตอย่างเชื่องช้า 7 วัน ในเมืองโตเกียวสุดแสนวุ่นวายสับสน การใช้ชีวิตแบบตื่น กิน เข้าพิพิธภัณฑ์ กิน นอน ตื่น กิน เข้าพิพิธภัณฑ์ นอน ตื่น วนไปวนมาอยู่เช่นนี้ ชีวิตช่างสวนทางกับสภาพสังคมเมืองรอบตัวที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเสียนี่กระไร
1
อย่ากระนั้นเลยผู้เขียนขอนิยามบทความชุดนี้ว่า “บันทึกความทรงจำ เพื่อการกลับไปเยือนอีกครั้ง” ของการดูงานศิลปะในโตเกียวก็แล้วกัน คุณจะได้ไม่ต้องคาดหวังกับสิ่งที่จะได้รับมากเกินไป ด้วยเป็นความทรงจำที่ค่อนข้างส่วนตัวและอาจไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครได้มากมายนัก อ่านผ่านๆไปก็แล้วกัน แต่สุดท้ายผู้เขียนยังเชื่อเสมอว่า ประสบการณ์สวยงามเสมอ ผู้เขียนจะพยายามสอดแทรกเนื้อหาข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์กับผู้อื่น กับผู้ที่สนใจให้ครอบคลุมและไม่ยืดยาวยืดเยื้อเกินไป
Tokyo, Japan, 2018, cr.Bordee Budda
ประเด็นสำคัญที่แตกต่างคือเป็นการไล่เรียงการเดินทางของผู้เขียนในแต่ละวัน ตลอดระยะเวลา 7 วัน ทั้งการเดินทาง การใช้ชีวิต หรือสถานที่จุดหมายปลายทาง ซึ่งคงไม่ใช่การใช้ชีวิตหรือสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปนัก สำหรับการเดินทางไปกรุงโตเกียวที่เต็มไปด้วยแสงสีเสียงอันน่าอภิรมย์ หวังว่า “บันทึกความทรงจำ” ทั้งหมด 4 ตอนนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สนใจในงานศิลปะ และผู้คนทั่วไป ในการเริ่มต้นออกเดินทางไปเยือนสถานที่แห่งนี้เพื่อเปิดรับประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม หากผิดพลาดประการใดผู้เขียนยินดีรับคำติชม เสมอ อาจน่าเบื่อจำเจไปบ้าง “โลกศิลปะเดินเคียงข้างไปกับสังคม แต่ไม่ค่อยมาบรรจบกันเท่าไรนัก” ความสวยงามแห่งความแปลกแยกจะถูกถ่ายทอดผ่านบทความอย่างค่อยเป็นค่อยไป
05.02.2018
ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ ผู้เขียนเดินทางโดยสายการบินราคาประหยัดนกสกู๊ต (NokScoot) เที่ยวบิน TR 868 ตามกำหนดการเดินทางคือ 00:30 น. ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างคืนวันที่ 5 กับเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 งบประมาณราคาตั๋วเครื่องบินไป-กลับประมาณ 14,000 บาท โดยจองผ่านเว็บไซต์เอ็กซ์พีเดีย (Expedia) ล่วงหน้าก่อนเดินทางประมาณ 3 เดือน ซึ่งราคานี้เป็นราคาปกติทั่วๆไป ไม่ถูกไม่แพง จองโดยไม่ได้รอโปรโมชั่นใดๆ จุดหมายปลายทางคือท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ (Narita International Airport)
เดินทางออกจากบ้านมานั่งแกร่วรอที่สนามบินตั้งแต่ทุ่มครึ่งเพราะกลัวรถติด (มารอดีกว่ามาไม่ทันนะ) แกร่วอยู่นานเมื่อใกล้เวลาเข้าไปทุกทีจึงเดินมาเช็คอินที่เคาน์เตอร์ ปรากฏว่าผู้คนล้นหลามซะเหลือเกิน ซึ่งคงเป็นสถานการณ์ปกติสำหรับเที่ยวบินราคาไม่แพงและจุดหมายปลายทางยอดนิยมซะขนาดนี้ ก็ยืนรอให้เมื่อยขาเล่นกันต่อไป
(การใช้งาน Internet ที่ญี่ปุ่น ผู้เขียนใช้ Sim to Fly ค่าย AIS / Non-Stop นาน 10 วัน ครอบคลุมระยะเวลาการเดินทางทั้งหมดแบบเหลือๆ ราคา 399 บาท ความเร็วถือว่าใช้ได้ดีไม่มีปัญหา จะซื้อที่สนามบินเลยก็ได้ครับ สำหรับดอนเมืองจะมี Shop AIS เล็กๆตั้งอยู่ตรงทางเชื่อมระหว่างอาคาร 1-2 ภายในชั้นที่ G ใกล้ประตูทางออกไปขึ้นรถบัส A1-A3)
cr.Bordee Budda, 2018
และแล้วก็ไม่ผิดหวังสมดั่งใจปอง ระหว่างนั่งรอขึ้นเครื่องมาสักพักใหญ่ๆ สายการบินประกาศแจ้งว่าเครื่องจะออกล่าช้า จากกำหนดการเดิมคือเที่ยงคืนครึ่ง กลายเป็นตีหนึ่งครึ่งซะอย่างนั้น ผู้โดยสารก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้มากไปกว่าการนั่งรออย่างมึนๆต่อไป ท่ามกลางความง่วงหงาวหาวนอนที่เริ่มปกคลุมไปทั่วบริเวณ
สนามบินดอนเมืองช่วงเวลาใกล้ตีหนึ่งเข้าไปทุกที cr.Bordee Budda
นั่งๆนอนๆพลิกไปพลิกมาอึดอัดเล็กน้อยตามสไตส์สายการบิน Economy เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง ฝ่าเท้าก็ได้มาสัมผัสสนามบินนานาชาตินาริตะสักที เวลา 09:30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น เร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) นอนไม่ค่อยเต็มที่สักเท่าไร ก่อน Landing สัก 1 ชั่วโมง แอร์โฮสเตสสาวจะมาแจกใบตรวจคนเข้าเมือง และใบศุลกากร (Customs Declaration & Disembarkation Card for Foreigner) เราก็มีหน้าที่กรอกๆไปเพื่อเตรียมรอไว้ยื่นเอกสารพร้อมพาสปอร์ต (Passport) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองก่อนที่จะเดินทะลุเข้าไปเหยียบดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่างเป็นทางการ
เมื่อเราผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมาได้อย่างพลิ้วไหวดุจสายน้ำ เพื่อมายืนรอรับกระเป๋าเดินทางตรงสายพานเลื่อน ณ จุดที่เรายืนอยู่ของสนามบินนาริตะก็คือ Terminal 2 ชั้น 1F ตรงออกมาจะเจอบูธ Keisei Electric Railway ก็ตรงเข้าไปซื้อตั๋วแบบแพ็คเกจ Keisei Skyliner & Tokyo Subway Ticket 72 hr. ราคา 5,480 เยน (ประมาณ 1,580 บาท) แพ็คเกจนี้ประกอบด้วยตั๋วรถไฟด่วนพิเศษ Keisei Skyliner เพื่อไปกลับระหว่างสนามบินนาริตะ นิปโปริ (Nippori) และอุเอโนะ (Ueno) และตั๋วรถไฟใต้ดิน Tokyo Metro ใช้ได้ภายในระยะเวลา 3 วัน หลังจากแตะใช้บัตรครั้งแรก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการเดินทางภายในเขตเมืองโตเกียว (วันที่เหลือก็เน้นเดินอย่างเดียวเพื่อกล้ามขาที่แข็งแรง ฮ่าๆ) ซื้อเป็นเพ็คเกจพร้อมกันจะได้ราคาถูกกว่าการซื้อแยก
Cr.Bordee Budda
เก็บตั๋วเอาไว้ให้ดีระวังหาย เพราะต้องใช้นั่ง Skyliner ในวันเดินทางกลับมาสนามบินด้วย (ได้ยินมาว่าคนทำหายกันเยอะมาก ต้องมาเสียเงินซื้อใหม่อีก) หลังจากซื้อตั๋วรถไฟเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินตามป้ายที่เขียนว่า "Train" ไปเรื่อยๆ ป้ายจะนำทางพาเราลงไปที่ชั้น B1F เพื่อผ่านประตูตรวจบัตรรถไฟฟ้า Skyliner จากนั้นเดินต่อ ลงไปอีกชั้น ที่ชั้น B2F มายืนรอรถไฟตรงชานชาลาที่ 1 อย่าลืมสังเกตป้ายตรงเหนือหัวเราจะเขียนว่า "Narita Sky Access Line to Oshiage-Ueno" นั่งๆนอนๆบนรถไฟต่อไปอีกประมาณ 45 นาที เพื่อไปลงที่สถานี Keisei Ueno อันเป็นจุดหมายปลายทางของผู้เขียนในการเดินทางมาเหยียบกรุงโตเกียวอย่างเป็นทางการ
Cr.Bordee Budda
ฮาวทูการเดินทางจนมาถึงโตเกียวของผู้เขียนก็มีเพียงเท่านี้ ไม่ได้ยากจนเกินไป เหตุที่อธิบายมาซะยืดยาวก็คิดเผื่อไว้ว่าอาจมีผู้สนใจมือใหม่ที่ยังไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปนั้นได้หลงเข้ามาอ่าน ก็จะได้เสพข้อมูลพวกนี้ไว้ประกอบการเดินทางด้วย เวลาเดินทางกลับเราก็ใช้วิธีการเดียวกันนี่แหล่ะ เดินงงๆหลงๆหน่อยก็ไม่ได้รู้สึกแย่อะไร สนุกไปอีกแบบ
อย่ากระนั้นเลย ผู้เขียนขอจบบทความพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศิลปะในโตเกียว ตอนที่ 1 นี้ไปแบบไม่มีศิลปะเข้ามาเจือปนเลยสักนิด ฮ่าๆ (อ้าว!!!) ลากันไปดื้อๆเลยก็แล้วกันนะครับ ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนที่ 2 เราจะได้มาเริ่มต้นกันที่เมืองโตเกียวสักที จะได้ไม่ขาดช่วงขาดตอน ฝากติดตามบทความชุด "ชวนเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศิลปะในโตเกียว โลกใบใหญ่ที่เราอาจไม่เคยสัมผัส" ในตอนต่อไปด้วยนะครับ สัญญาว่าจะไม่พาออกนอกเรื่องไปไกลอีก
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและติดตามกัน ฝากบทความในตอนต่อไปด้วยนะครับ :)
Tokyo, Japan, 2018, cr.Bordee Budda
โฆษณา