17 ม.ค. 2021 เวลา 13:33 • สุขภาพ
ในวันที่เราไม่มีความสุข เครียด...เราอาจต้องการใครสักคนเพื่อก้าวผ่านไปไหม?
.
ความเครียดเป็นสภาวะที่เราต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ซ้ำร้ายหากต้องเจอกับสังคมที่มีการแข่งขันสูง ความกดดันที่ต้องประสบความสำเร็จตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคะแนนสอบ การเข้ามหาวิทยาลัย อาจต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไหนจะภาระหนี้สิน ความมั่นคง ความคาดหวัง นี่ยังไม่นับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอีก ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้เราเครียดมากจนเกินไปซึ่งมีแต่ผลเสียต่อร่างกายและสภาพจิตใจ แล้วทำไมคนสมัยนี้ถึงมีไม่มีความสุข และมีความเครียดมากยิ่งขึ้น?
.
คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของความมั่นคงในชีวิตทั้งการเงิน การงาน และสภาวะจิตใจ จากผลสำรวจของ The Deloitte Global Millennial Survey 2020 พบว่ากลุ่ม Millennial (อายุ 27-38 ปี) และกลุ่ม Gen Z (อายุ 19-26 ปี) เครียดกับเรื่องสถานะการเงินของครอบครัว ภาระทางการเงินในระยะยาว รวมถึงอาชีพที่เหมาะสมเป็นหลัก นอกจากนี้ในงานวิจัยของ Harvard Business Review พบว่าทั้งสองกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานด้วยเหตุผลทางด้านจิตใจสูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ พวกเขาเองมองว่าบริษัทควรมีวัฒนธรรมในการดูแลเอาใจใส่สุขภาพจิตของพนักงาน และมีพื้นที่ให้พนักงานรู้สึกสบายใจในการพูดถึงสภาพจิตใจของตนเองในที่ทำงาน
.
ซ้ำร้ายกว่านั้น กลุ่ม Millennial นั้นมีแนวโน้มที่จะเหงา หดหู่ และเครียด จากผลสำรวจของ YouGov พบว่าบางคนนั้นแทบจะไม่มีเพื่อน ไม่มีเพื่อนสนิท หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานเพียงคนเดียวด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่ม Millennial และ Gen Z ใช้เวลาไปกับการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าการพบเจอคนรู้จัก ซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในโลกความจริงอีกด้วย
.
บางทีในช่วงที่คุณมีความเครียด เศร้า และอ่อนแอที่สุดนั้น คุณอาจจะต้องการใครสักคนที่คอยอยู่เคียงข้างหรือรับฟังทุกเรื่องราวที่เข้ามาถาโถมในชีวิต คนที่คุณไว้ใจที่จะเล่าหรือระบายกับเขาแล้วช่วยให้ความเศร้าและความเครียดนั้นบรรเทาหรือหายไป สำหรับบางคนแล้วอาจจะเป็นพี่ น้อง พ่อ แม่ เพื่อน แฟน หรือจิตแพทย์ก็ตาม จากงานวิจัยของวารสาร Social Psychological and Personality Science พบว่าการระบายความเครียดหรือความวิตกกังวลกับคนที่กำลังเจอปัญหาเดียวกัน หรือคนที่เข้าใจอารมณ์และรู้วิธีการตอบสนองกับคุณเป็นอย่างดี จะช่วยลดความเครียดได้
.
แต่ทว่าในยุคที่ ”เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่ามากและหลายๆคนต้องหมดเวลาไปกับการทำงานหรือต้องจากบ้านเกิดมาทำงานในเมืองกรุง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพบปะ พูดคุยกับคนที่เรารักน้อยลง หาคนรับฟังเราอย่างเข้าใจและไม่ตัดสินได้ยากขึ้น รวมทั้งใครสักคนที่เรายินดีจะเล่าได้ทุกเรื่องอย่างสบายใจก็ตาม นอกจากนี้การไปพบจิตแพทย์ก็มีอุปสรรคมากมายในข้อจำกัดทางเวลา เงิน รวมถึงการตีตราจากสังคมที่ไม่สามารถให้พื้นที่ปลอดภัยให้กับคนที่กำลังเผชิญกับประเด็นทางจิตใจ
.
ในปัจจุบันได้มีทางเลือกอื่นในการเพิ่มความสุขและบำบัดความเครียดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI therapy) เช่น แอปพลิเคชั่น Youper ที่ออกแบบมาเพื่อลดความเครียด ความวิตกกังวล ก้าวข้ามความหดหู่ เพิ่มความสุข คุณค่าในตัวเอง รวมถึงประสิทธิภาพการทำงาน ในรูปแบบการพูดคุยผ่านแชทกับ AI พร้อมคำแนะนำเป็นหลัก พร้อมกับการฟังไฟล์เสียง เพื่อช่วยเหลือคุณทั้งวิธีระบายความรู้สึกและความคิด รวมถึงการปรับกระบวนความคิด เป็นต้น ในต่างประเทศเองนั้นมีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการบำบัดความเครียดด้วยปัญญาประดิษฐ์อื่นๆ เช่น Woebot, Moodkit and Moodnotes, Pacifica
.
ในซีรี่ส์เกาหลีที่ได้รับความนิยมเรื่อง Start up ที่ฉายทาง Netflix มีตัวละครที่ชื่อว่า “ฮันจีพยอง” แต่เดิมนั้นฮันจีพยองเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีครอบครัว และเพื่อน เขาเองได้มีโอกาสเป็นเพื่อนทางจดหมาย กับ "ซอดัลมี" ทั้งสองต่างแบ่งปันและรับฟังเรื่องราวสุขและทุกข์กัน ในภายหลังก็ได้ขาดการติดต่อกันไป ซึ่งฮันจีพยอง เขาทำแต่งาน จนแทบจะไม่มีใครพูดคุยและรับฟังอย่างลึกซึ้งเลย ยกเว้น AI ที่บ้านของเขา ”ยองชิล” ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับ AI therapy ที่คอยพูดคุยและรับฟังเรื่องราวต่างๆของฮันจีพยองเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง ช่วยให้เขาก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆมาได้
.
ถ้าหากการบำบัดด้วยปัญญาประดิษฐ์วิธีดังกล่าวนั้นประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จะนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม แต่ก็เป็นความท้าทายต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเราไม่สามารถลดความเครียด จากคนรอบตัวรวมถึงกิจกรรมที่เราชอบได้เลยใช่ไหม หรือสภาวะแวดล้อมรอบตัวเรามันแย่จริงๆ?! อย่างไรก็ตามการบำบัดความเครียดด้วยปัญญาประดิษฐ์นี้จะช่วยให้เราหายเครียดจริงหรือไม่นั่นก็ต้องทดลองใช้แล้วดูผลลัพธ์ว่าเป็นอย่างไร
.
สำหรับการรับมือความเครียดของแต่ละคนนั่นมีความแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะหากิจกรรม ฟังเพลง ดูซีรีส์ เล่นเกม ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เพื่อทำให้ผ่อนคลาย ลืมเรื่องราวแย่ๆที่ผ่านมา ส่วนบางคนอาจจะหาคนปรับทุกข์เพื่อระบายปัญหาต่างๆที่เข้ามาในชีวิตกับคนสำคัญในชีวิตของเขา รวมถึงการพบจิตแพทย์ก็เป็นวิธีที่ช่วยในการบำบัดความเครียดหรือช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยเช่นกัน
.
แต่สุดท้ายแล้ว คนเราเองก็คงต้องการใครสักคน หรือ บางสิ่งเพื่อมาคอยรับฟัง พูดคุย หรือระบายเพื่อบรรเทาความเครียด แล้วคุณล่ะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับเรื่องนี้
.
*หมายเหตุ ช่วงอายุของกลุ่ม Millennial และ Gen Z ของแต่ละทฤษฎีและสำนักแนวคิดนั้นมีความแตกต่างกันออกไป
แหล่งที่มาของข้อมูล:
โฆษณา