18 ม.ค. 2021 เวลา 00:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
AirVisual วัดค่าฝุ่นแม่นแค่ไหน? ทำไมค่ามันสูงจัง มาจะเหลาให้ฟัง
1
ช่วงนี้ PM2.5 กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ค่อยได้ยินคนพูดถึงอยู่หลายเดือน
ช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ค่าPM2.5 เกินมาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง คนที่แพ้ฝุ่นก็แสบคอกันไป (ผมนี่แหละ)
ใครที่กดเข้ามาอ่าน อย่างน้อยก็คงจะเคยผ่านหูผ่านตาแอพพลิเคชั่นตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า AirVisual กันมาบ้าง
หน้าตาแอพก็จะเป็นประมาณนี้
คนที่ยังงงๆ ก็จะเริ่มอ๋อ จำได้ละ แอพที่หลายๆ คนชอบแคปหน้าจอไปโพสในเฟสบุ๊ค เพื่อบอกคุณภาพอากาศนั่นเอง
ซึ่งเจ้าของแอพตัวนี้เป็นบริษัทที่มีชื่อว่า IQAir จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ก่อตั้งเมื่อปี 1963 หรือประมาณ 58 ปีมาแล้ว
ถ้ากดเข้าไปดูหน้าเว็บของ IQAir นั้นจะเห็นว่ามีเครื่องวัดฝุ่นละอองขายด้วย
เจ้าเครื่องนี้มีชื่อว่า AirVisual Pro ราคา 269 usd หรือประมาณ 8,100 บาทไทย
โดยคนที่ซื้อมาก็สามารถเชื่อมต่อเครื่องวัดกับระบบของ IQAir แบ่งปันให้คนอื่นดูได้ด้วย!
มันก็เลยกลายเป็นแผนที่ฝุ่นที่ละเอียดมากๆ อย่างที่เห็นนี่ล่ะครับ
แต่มันจะวัดได้จริงๆ ใช่มั้ย..
วัดได้จริงนะ แต่เที่ยงตรงมั้ยไม่รู้.. (ไม่เอา ยังไม่สปอย)
เรื่องมีอยู่ว่า
AQ-SPEC หนึ่งในหน่วยงานรัฐของอเมริกา ที่มีหน้าที่ทดสอบคุณภาพเซนเซอร์ของเครื่องวัดคุณภาพอากาศยี่ห้อต่างๆ ได้เอาเครื่อง AirVisual Pro มาตรวจวัด
โดยวิธีตรวจวัดก็ไม่มีอะไรซับซ้อน
มีเครื่องตรวจวัดที่จะเอามาอ้างอิง 1 เครื่อง
ในรายงานใช้ชื่อว่า FEM GRIMM ซึ่ง FEM คือผ่านมาตรฐานที่หน่วยงานอเมริกากำหนด(กรมควบคุมมลพิษก็ใช้มาตรฐานนี้) และ GRIMM คือ ยี่ห้อเครื่อง
เอาง่ายๆ เรียกว่า น้องกริม ละกัน
ราคาเครื่องอยู่ที่ประมาณ 25,000 usd หรือราว 753,000 บาท
Time resolution อยู่ที่ 1 นาที
และเครื่องตรวจวัดที่จะเอามาเทียบ 3 เครื่อง
AirVisual Pro หรือน้องแอร์ของเรานั่นเองงงง
โดยมีทั้งหมด 3 เครื่อง รหัสรุ่น V4W9 WLL6 X44P
Time resolution อยู่ที่ 10 วินาที
ไม่ได้ผ่านการรับรอง FEM (แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะแย่นะ)
ทั้งคู่ใช้วิธีการวัดฝุ่นแบบ Opticle เหมือนกัน ซึ่งมันก็มีแยกไปอีกหลายแบบ ทั้งฉายแสงให้เกิดเงา ทั้งยิงเลเซอร์ ก็ว่ากันไป
มาดูผลกันเลยดีกว่าครับ
เส้นแดงคือ น้องกริม ที่เหลือคือ น้องแอร์
จากกราฟจะเห็นได้ว่าน้องแอร์วัดค่า PM2.5 เกินมาประมาณ 1 เท่าตัวในหลายๆ ความเข้มข้น
ตอนที่น้องกริมวัดได้ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร น้องแอร์ซัดไปเกือบ 200
เทียบความแม่นยำกับน้องกริมเต็ม 100% ได้คะแนนอยู่ที่เลขหลักเดียว แถมมีติดลบด้วยนะ
แต่ทว่า……….. (อย่าเพิ่งง้าง อ่านให้จบก่อนนน)
น้องแอร์สามารถอ่านค่าฝุ่นได้ในทิศทางเดียวกับน้องกริม
ค่าความเที่ยงตรงสูง 95% ขึ้นในทุกการทดสอบ และยังทนทานต่อการเปลี่ยนสภาพอากาศ(climate) ด้วยนะ ใครที่ซื้อไปก็ไม่ต้องกังวลว่าเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวแล้วเครื่องมันจะอ๊อง
แต่หลายคนยังคาใจใช่ไหมครับ ว่า “ความเที่ยงตรงสูงแต่ความแม่นยำต่ำ” มันแปลว่าอะไร
ดูภาพครับ
ในภาพด้านขวาคือความเที่ยงตรงสูงแต่ความแม่นยำต่ำ แปลง่ายๆ ก็คือ มือนิ่งแต่ยิงไม่ตรงเป้านั่นเอง
เริ่มอ๋อกันแล้วใช่มั้ยครับ..
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็พอจะสรุปได้ว่า เครื่องวัดราคาแปดพัน วัดได้ไม่เท่าเครื่องราคาเจ็ดแสนแน่นอน (ก็แหงล่ะ)
แต่……………………(อีกนิด)
รายงานนี้ออกเมื่อปี 2017
ผ่านมาสามสี่ปี บริษัทเค้าอาจจะอัพเดทซอฟแวร์ใหม่แล้วก็ได้
แถมในแผนที่ของแอพยังมีเครื่องตรวจวัดของทางกรุงเทพมหานครฯ ปนอยู่ด้วยนะ
ซึ่งถ้าลองกดดูเครื่องที่อยู่ใกล้ๆ กัน เครื่องของ IQAir ยังมีค่าสูงกว่าเครื่องของกทม.อยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สำคัญอะไร เพราะเครื่องของกทม.ใช้วิธีวัดคนละแบบ..
แต่ผมเองก็ใช้แอพนี้อยู่เช่นกัน โดยจะเน้นดูค่าที่เครื่องของกทม. มากกว่า (เพราะเครื่องที่ใช้ต้องผ่านมาตรฐาน FEM)
.
ใครที่ยังสงสัยว่า ที่ผ่านมา ทาง IQAir ได้อัพเดทซอฟแวร์บ้างหรือไม่
คำตอบก็คือ อัพเดทเรียบร้อยแล้วนะครับ
ในปี 2018 ทาง AQ-SPEC ได้นำมาทดสอบอีกรอบ ผลก็คือ ความแม่นยำดีขึ้นมาก ที่เฉลี่ย 80%++
แต่เครื่องจะเริ่มเป๋เมื่อเจอความเข้มข้นที่ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
ส่วนความเที่ยงตรงก็ยังดีเหมือนเดิมครับ
ก็ถือว่าทำได้ดีแล้วครับ กับเครื่องราคาเท่านี้..
อ้าว แล้วเราได้อะไรจากเรื่องนี้
ไม่ได้อะไรเลย..55
ได้สิครับ ได้รู้ว่าต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศแล้ว555 ส่วนใครอยากอ่านรายงานฉบับเต็ม ลิ้งค์อยู่ด้านล่างนะครับ
ภาพ : prachachat.net
หายไปนาน 1 ปีพอดิบพอดี พอกลับมาเขียนใหม่ blockditเปลี่ยนไปเยอะเลย55
กราบสวัสดีท่านผู้อ่าน ผู้ติดตามทุกท่านด้วยครับ
เคยบอกจะเขียนบทความซีรี่ย์ คนรอก็รอเก้อเลย555
เจอกันใหม่โพสต์หน้านะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ
Reference
รายงานฉบับเต็ม http://www.aqmd.gov/aq-spec/evaluations/summary-pm
โฆษณา