17 ม.ค. 2021 เวลา 18:01 • ประวัติศาสตร์
ความ “วาจาสิทธิ์”
ของ “พ่อท่านคล้าย”
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือพ่อท่านคล้าย สกุลเดิม สีนิล โยมบิดาชื่อ อินทร์ โยมมารดาชื่อเนี่ยว ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ ปีชวด ณ บ้านโคกกะทือ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่สาวร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียวชื่อเพ็ง
.
เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี เรียนอักขรสมัยจากโยมบิดา สามารถอ่านได้ชำนาญ ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม
.
เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เรียนเลขจากสำนักของอาจารย์ขำ จนสามารถบวกลบคูณหารคิดเนื้อที่หน้าไม้ได้ชำนาญ
.
ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้บรรพชาอุปสมบท ณ อุทกสีมาวัดวังม่วง อำเภอฉวาง มีพระอาจารย์กลาย คงฺสุวณฺโณ เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์สังข์ สิริรตโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทอง สิริวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายา จนฺสุวณฺโณ
.
ครั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้อยู่จำพรรษา ณ วัดจันดี (เก่า) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดทุ่งปอน ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันออกของทางรถไฟ เยื้องไปทางทิศเหนือของวัดจันดีที่กำลังก่อสร้างเจดีย์ในปัจจุบัน (๒๕๑๔)
.
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เข้าศึกษาภาษาบาลี (มูลกัจจายนะ) ณ สำนักวัดหน้าพระบรมธาตุ มีพระครูกาแก้ว (ศรี) เป็นพระอาจารย์ และได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฏฐานจากสำนักวัดสามพัน อำเภอพระแสง มีพระอาจารย์หนูเป็นเจ้าสำนักสอนกัมมัฏฐาน
.
พ.ศ.๒๔๔๘ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ซึ่งเป็นวัดร้าง ท่านได้ทำนุบำรุงให้มีเสนาสนะ โบสถ์ วิหาร เจดีย์ เป็นวัดมีหลักฐานสมบูรณ์
.
พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร พระราชทานนามว่าพระครูพิศิษฐ์อรรถการ ชั้นตรี ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นพิเศษ (จปร.) ในนามเดิม
.
ภายหลังพ่อท่านได้ย้ายจากวัดสวนขัน มาอยู่ที่บริเวณป่าโคกไม้แดง ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ เพื่อก่อสร้างเจดีย์ แรกๆ ก็เพียงแต่มาอยู่ก่อสร้างนอกพรรษา ถึงวันเข้าพรรษาก็กลับไปจำพรรษาวัดสวนขัน ต่อมาภายหลังจึงอยู่จำพรรษา ณ สถานที่ก่อสร้างเจดีย์เสียเลย จนกระทั่งมรณภาพ
.
พ่อท่านป่วยด้วยโรคชราพาธหลายครั้งหลายอาการ ครั้งสุดท้ายพ่อท่านป่วยด้วยโรคหอบหืด มีอาการหนักมาก คณะศิษย์ได้นำท่านเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ และถึงมรณภาพเมื่อคืนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ เวลา ๒๓.๑๕ น. อาการอันสงบ ขณะมีอายุ ๙๖ ปี
.
พ่อท่านเป็นพระมหาเถระรัตตัญญู เคร่งครัดมั่นคงในสิกขาวินัย บำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างไพศาล มีพรหมวิหารธรรมขั้นอัปปัญญา ปราศจากความโลภในสักการามิส เป็นปูชนียบุคคลของชนทุกชั้นตั้งแต่สามัญชนจนถึงพระมหากษัตริย์ เป็นมิ่งขวัญของศิษยานุศิษย์ และศาสนิกชนทั่วไป ผู้เขียนขอนมัสการดวงวิญญาณของพ่อท่าน ขอประทานโอกาสเขียนถึงเกียรติประวัติเพื่อเป็นอนุสรณ์สัทธาของอนุชนสืบไป
.
การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
ชั่วชีวิตของพ่อท่าน ไม่มีช่วงอายุตอนใดที่จะว่างเว้นจากการบำเพ็ญประโยชน์เลย ถ้าจะระบุลงไปว่าพ่อท่านทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างครบถ้วน ข้อความนี้ก็จะเต็มเล่มสารนครศรีธรรมราช ไม่มีถนนสายใด ไม่มีโบสถ์วิหารหลังใด ไม่มีโรงเรียนใด ในอำเภอฉวางซึ่งพ่อท่านมิได้สร้างหรือมีส่วนสร้าง แม้ถนนสายฉวาง – ลานสกา ซึ่งตัดผ่านภูเขาธงพ่อท่านก็เริ่มบุกเบิก ท่านเคยขึ้นไปพักวันแรมคืนบนขุนเขา และมิใช่แต่เพียงอำเภอฉวางเท่านั้น แม้ในอำเภออื่น จังหวัดอื่น พ่อท่านก็ได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ตามโอกาส เช่นการบูรณะพระระเบียงรอบองค์พระบรมธาตุ การก่อสร้างศาสนวัตถุที่วัดขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จนกระทั่งในต่างประเทศ เช่นการสร้างพระในเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย
.
ในการสร้างถนนหนทางและสิ่งก่อสร้างต่างๆ พ่อท่านมิได้จับจอบจับเสียม อย่างครูบาศรีวิชัยแห่งลานนาไทย แต่ท่านสร้างด้วยกำลังภายในของท่านเอง เพียงแต่ปรารภว่า จะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร แล้วท่านไปนั่งอยู่บนศาลาน้อยเคลื่อนที่ได้ในบริเวณนั้นเท่านั้น ประชาชนก็จะไหลมาเทมาทุกสารทิศ ร่วมกันทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
.
วาจาสิทธิ์
ทั่วประเทศ รู้จักพ่อท่านว่าเป็นพระวาจาสิทธิ์ คือพูดอย่างไร จะต้องเป็นตามคำพูด อุทาหรณ์ในเรื่องนี้มีมากมายหลายเรื่อง ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างบางเรื่องที่เห็นมีหลักฐาน หรือประจักษ์พยานเชื่อถือได้ มาแสดงไว้เป็นอุทาหรณ์
.
ชายคนหนึ่ง อยู่บ้านหลักช้าง ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง เป็นคนลักเล็กขโมยน้อย จนเป็นที่เอือมระอารังเกียจของเพื่อนบ้าน ชาวบ้านจึงนำความเข้าฟ้องร้องต่อพ่อท่าน ในทำนองให้พ่อท่านห้ามปรามเสีย พ่อท่านเรียกชายคนนั้นเข้าพบแล้วถามว่า เป็นจริงหรือไม่ ชายคนนั้นรับว่าจริง พ่อท่านจึงว่า “การลักเขากินนั้นไม่ดี ทีหลังอย่าลักของเพื่อน ขอทานเสียดีกว่าลัก” ชายคนนั้นก็รับคำ และเขาก็กลายเป็นคนขอทาน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นคนมาจนกระทั่งบัดนี้ (๒๕๑๔) บางทีท่านผู้อ่านก็จะเคยเห็น เคยถูกขอ เคยให้ทานแก่ชายคนนั้นแล้วก็เป็นได้ แม้ชายขอทานนั้นก็ยังอ้างอยู่จนบัดนี้ว่า “พ่อท่านสั่งให้ขอทาน”
.
เมื่อป่วยหนักครั้งสุดท้าย คณะศิษย์นำเข้ากรุงเทพฯ มีผู้ใกล้ชิดออกส่งพ่อท่านด้วยความอาลัย มีคนหนึ่งพูดว่าขอให้พ่อท่านเดินทางไปให้สบาย พ่อท่านบอกว่า “ไปสบายดีและพ่อคุณ แต่เวลากลับจะลำบากมาก” ตรงกับวาจาของพ่อท่านทุกอย่าง เพราะพ่อท่านต้องกลับทางรถยนต์ แวะให้ประชาชนนมัสการตามรายทาง และถึงวัดจันดีในตอนเย็นวันที่ ๑๑ ธันวาคม แต่พ่อท่านก็หมดลำบากไปแล้ว
.
เมื่อพ่อท่านสร้างเจดีย์ที่บ้านควรสวรรค์ ตำบลกระเปียด อำเภอฉวาง มีผู้เล่าไว้ว่ามีคนไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง จำเป็นจะต้องตัดโค่น แต่เป็นไม้ติดประเภทหลวง ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ่อท่านห้ามว่าอย่างโค่น เพราะเป็นการผิดกฎหมาย ศิษย์คนหนึ่งรับอาสาว่าจะไปขออนุญาตต่อทางราชการอำเภอ พ่อท่านก็ห้ามว่า “อย่างไปเหลยพ่อเหอ ไม่ต้องไปขอ” คืนหนึ่งดึกสงัด ไม้ต้นนั้นก็หักโค่นลงเองโดยไม่มีลมพัดเลย
.
ชาวฉวางและศิษยานุศิษย์ของพ่อท่านกลัวนักกลัวหนาก็คือกลัวคำตำหนิติเตียนของพ่อท่าน และหวังนักหวังหนาก็คือหวังคำพรมงคลจากพ่อท่าน เพราะพ่อท่านเป็นพระวาจาศักดิ์สิทธิ์ จนขนานนามท่านว่า “ปากพระร่วง”
เมตตาวิหารี
.
พ่อท่านไม่เคยมีทรัพย์สมบัติอื่นใดนอกจากไตรจีวร แม้จะมีผู้ศรัทธาถวายข้าวของเงินทองนับจำนวนล้านๆ แต่พ่อท่านไม่เคยสนใจไต่ถาม ในทางทรัพย์สมบัติ พ่อท่านจึงเป็นพระยากจน ตรงกันข้าม พ่อท่านกลับร่ำรวยคุณธรรมอริยทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเมตตาธรรม พ่อท่านมีมากมายจนแจกจ่ายชนทุกชั้นไม่รู้จักจบสิ้น
.
ด้วยอานิสงส์แห่งเมตตาธรรมนี้เอง พ่อท่านจึงมีลักษณะพิเศษ คือผิวพรรณผ่องใส ใบหน้าอิ่มเอิบฉาบไว้ด้วยรอยยิ้มตลอดเวลา วาจาไพเราะอ่อนหวาน คำพรจะไหลหลั่งออกจากปากของพ่อท่านตลอดเวลาที่มีผู้เข้ากราบไหว้ “สุขิโต โหตุ เป็นสุขๆ เถิดพ่อ” “เป็นสุขๆ เถิดแม่” “จำเริญๆ เถิดพ่อคุณแม่คุณ”
.
เคยมีผู้เข้าหาพ่อท่านขอของดีแบบเมตตามหานิยมเป็นเวทมนตร์คาถา พ่อท่านก็บอกให้ว่าดังนี้ “นะ เมตตา, โม กรุณา, พุทธ ปราณี, ธา ยินดี, ยะ เอ็นดู” ใครจะนำไปใช้บ้างก็เชิญเถิด แต่ถ้าจะกรุณาพิจารณาคาถาพ่อท่านให้เข้าใจถ่องแท้ด้วยก็จะขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นอีกร้อยเท่าทวีคูณ
.
“สมิงพ่อเพชร” เคยเขียนสดุดีพ่อท่านไว้ในหนังสือพิมพ์เมืองใต้ว่า งูจงอางยังยอมรับความเมตตาพ่อท่าน หลีกทางให้ศิษย์ทำถนนได้โดยสะดวก ผู้เขียนเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยเลย เพราะในครั้งพุทธกาล พระอานนท์พุทธอนุชา ก็เคยใช้เมตตาออกขวางหน้าช้างสารเมามัน ที่ถูกปล่อยมาทำร้ายพระพุทธองค์ครั้งหนึ่งแล้ว
.
เครื่องรางของขลัง
อันเนื่องมาจากเมตตาธรรมนั้น พ่อท่านจึงกลายเป็นคนตามใจคน ไม่เคยขัดใจใคร ใครจะเอาอะไรพ่อท่านให้ ใครจะพาไปไหนพ่อท่านไป ใครต่อใครจึงขออะไรๆ จากพ่อท่านอยู่เสมอ แม้แต่สิ่งที่พ่อท่านไม่มีจะให้ เช่นเครื่องรางของขลังเครื่องป้องกันตัวต่างๆ เมื่อมีผู้รบเร้าพ่อท่านก็อยากจะให้เขา ไม่มีอะไรจะให้ก็ให้ของที่ใกล้ตัวหรือมีอยู่ในตัวท่าน จึงบังเกิดของดีของพ่อท่านหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
.
ชานหมาก พ่อท่านจะคายให้ผู้ประสงค์จะเอา ชานหมากนี้ ใช้แก้พิษต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นพิษงู พิษตะขาบ นอกจากนั้นยังทำเป็นลูกกลมๆ เรียกว่า “ลูกอม” ผู้ได้รับมาจะใช้ด้านหรือไหมถักเป็นถุงบรรจุไว้ห้อยคอ
.
น้ำมนต์ หรือน้ำมนต์ผสมน้ำหมากใช้ได้สารพัด
ผ้ายันต์ ทีแรกมีผู้นำผ้าขาวไปให้ท่าน พ่อท่านก็เอาน้ำลายหรือน้ำหมากจิ้มๆ พอเป็นรอย มีผู้เก็บติดตัวหรือนำไปสักการบูชา หรือแขวนไว้หน้าบ้านป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ภายหลังมีผู้คิดเขียนยันต์ลงพิมพ์แล้วเอาไปให้พ่อท่านเสกเป่าให้ พ่อท่านก็ทำให้ตามความประสงค์
.
เหรียญ พระพิมพ์ และแหวน ทั้งสามอย่างนี้ ก็ไม่ได้เป็นการขวนขวายริเริ่มของพ่อท่าน เพราะพ่อท่านไม่ใช่พระผู้ประสงค์จะเป็นผู้วิเศษ แต่เกิดจากศิษยานุศิษย์คิดจัดทำขึ้นแล้วขอให้พ่อท่านเสกเป่าให้ เช่นกัน ท่านพระมหาพิศิษฐ์ สุทฺสีโล เจ้าอาวาสวัดวังตะวันออก ได้กรุณาเล่าประวัติเหรียญให้ฟังว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พระมหาเจริญ ไชยธวัช วัดมหาธาตุ (คุณศรีธวัช ไชยธวัช ห้างศรีธวัช ท่าพระจันทร์ พระนคร) ได้ขออนุญาตพ่อท่าน ทำเหรียญที่อำเภอเกาะสมุย พ่อท่านก็อนุญาต และนับว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกที่มีผู้ปรารถนาไว้บูชาอย่างยิ่ง
.
หลังจากนั้นก็มีผู้คิดทำเป็นรุ่นสอง รุ่นสาม และรุ่นต่อๆ มา รวมทั้งทำแหวนรูปหล่อพ่อท่านอีกหลายรูปหลายแบบ จนกระทั่งทำพระพิมพ์ เนื้อว่านก็หลายรุ่นหลายชนิดหลายขนาด นับว่าเป็นเรื่องของความศรัทธาเลื่อมใสทั้งสิ้น
สิ่งลี้ลับอัศจรรย์
.
มีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องลี้ลับอัศจรรย์ ไม่มีใครให้ความกระจ่างแจ้งได้ คือเรื่องกระบอกไม้ไผ่ ที่สวมเท้าพิการของพ่อท่าน ตั้งแต่หนึ่งจนกระทั่งชราภาพและวันมรณภาพพ่อท่านต้องเปลี่ยนกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งสึกหรอชำรุดหลายสิบครั้ง แต่ทุกครั้งที่เปลี่ยน ไม่มีใครเห็นไม่มีใครทราบว่า กระบอกเก่านั้นอยู่ที่ใด ทั้งๆ ที่มีผู้สอดส่องดูแลอยากจะได้บูชาอย่างยิ่ง นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ยิ่ง
.
วาทะพ่อท่าน
เมื่อเข้าใกล้พ่อท่าน ทุกคนก็พยายามตั้งใจฟังว่าพ่อท่านพูดถึงใคร ถึงเรื่องอะไร ว่าอย่างไร ผู้ที่ไม่ได้ไปก็มักจะสอบถามว่าพ่อท่านพูดอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เพราะถือกันว่าคำพูดของพ่อท่านเป็นคำพยากรณ์ที่แม่นยำหนักหนาทั้งเหตุร้ายและเรื่องมงคล
.
ผู้เขียนเองเห็นว่า พ่อท่านเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ มีปฏิภาณปัญญาอย่างเยี่ยม ท่านพิจารณาถ่องแท้แล้วจึงพูด คำพูดของท่านจึงเป็นสัจจวาจาไม่ผิดพลาดเลย
.
ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๖ – ๘๗ ขณะสงครามโลกครั้งที่สองดำเนินอยู่ ขณะนั้นทางราชการประกาศให้ประชาชนช่วยทำถนนยุทธศาสตร์ พ่อท่านยังอยู่วัดสวนขัน วันนั้นเวลาบ่าย พ่อท่านนั่งอยู่บนศาลาหน้าหอไตร มีผู้นั่งอยู่ด้วยมากคน ชายคนหนึ่งเข้ามานั่งยองๆ ยกมือไหว้ พ่อท่านถามว่า “หนีราชการมาทำไมพ่อ” ชายคนนั้นตอบว่า “ผมไม่สบาย อยู่ก็ทำไม่ไหว” แล้วพ่อท่านจึงถามว่าอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร มาหาใคร
.
ในช่วงสงครามนั้นเอง ชาวบ้านคุยกันเรื่องทหารญี่ปุ่น ทหารฝรั่ง ว่าเป็นนายพัน เป็นนายพล มีดาวบนบ่า พ่อท่านพูดว่า “ดาวนั้น เขาทำกับเหล็กไม่ใช่ดาวบนฟ้าพ่อเหอ” เมื่อพูดถึงเรือบินว่า บินเป็นฝูงยี่สิบสามสิบลำ ทั้งกลางวันกลางคืน พ่อท่านก็พูดว่า “เรือบินนั้นมันขึ้นไปจากบนดินนะพ่อนะ” ผู้เขียนเห็นว่าอันนี้แหละเป็นวาจาสิทธิ์เพราะเป็นคำพูดให้สำนึกให้มานะบากบั่นในการทำความดี เป็นคำพูดที่แหลมคมอย่างยิ่ง
.
พระพิเศษ
เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓ อันครบกำหนดสัตตมวาร (๗ วัน) นับตั้งแต่วันมรณภาพของพ่อท่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้พล.ต.ต. ชุมพล โลหชาละ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำผ้าไตรจำนวน ๒๕ ไตรมาบำเพ็ญกุศลสัตตมวาร อุทิศถวายพ่อท่าน เป็นการบำเพ็ญราชานุเคราะห์ส่วนพระองค์
.
ในวันนั้น มีประกอบพิธีแบบราชพิธีทุกประการ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ใช้พัดยศถวายพระธรรมเทศนา ถวายอดิเรก
ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ประธานสงฆ์ ถวายพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ ในปูชากถา พรรณนาถึงบุคคลที่ควรบูชา องค์ธรรมกถึกได้กล่าวปรารภถึงพ่อท่านว่าเป็น “พระพิเศษ” มีคุณสมบัติตามพระพุทธภาษิตว่า
สีลทสฺสนสมฺปันฺนํ
ธมฺมฏฺฐํ สจฺจวาทินํ
อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ
ตํ ช โน กุรุเต ปิยํ
แปลว่า ควรทำบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและทิษฐิ, ผู้มั่นอยู่ในธรรม, ผู้ตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้เป็นที่รัก ดังนี้
ท่านเจ้าคณะใหญ่หนใต้บรรยายว่า พ่อท่านเป็นพระพิเศษ เคร่งครัดในสิกขาวินัยดำรงอยู่ในธรรมคือพรหมวิหาร โดยเฉพาะคือเมตตากรุณา กล่าววาจาสัตย์ และบำเพ็ญหน้าที่อย่างเคร่งครัด ในความเห็นส่วนตัวของท่านั้น เห็นว่า พ่อท่านเป็นพระแก่กัมมัฏฐาน ชนทุกชั้นเคารพนับถือท่าน จะหาพระแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว เมื่อมรณะภาพแล้วนำศพมาสรงน้ำที่วัดพระเชตุพนนั้น น้ำรดศพสักหยดก็ไม่เหลือ ดอกไม้บูชาศพกลีบก็ไม่เหลือ เพราะมีผู้รองรับนำไปสักการะจนหมดสิ้น
.
องค์ธรรมกถึกบรรยายว่า พระมหากษัตริย์จะพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ศพของพระสงฆ์รูปใด ย่อมเป็นไปตามพระราชประเพณีนิยมที่มีเกณฑ์กำหนดเอาไว้ แต่สำหรับพ่อท่านนี้ ทรงศรัทธาเลื่อมใสเป็นพิเศษและพระราชทานผ้าไตรจีวรจำนวนมากถึง ๒๕ ไตร นับว่าเป็นพิเศษไม่เคยมีมาก่อนเลย
.
อนุสรณ์พ่อท่าน
ผู้เขียนเขียนข้อความนี้ด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐที่ได้เป็นศิษย์พ่อท่าน และใคร่เชิญชวนใก้ทุกท่านที่เป็นศิษย์และเคารพนับถือพ่อท่านได้ภาคภูมิใจว่า ในสมัยสุโขทัยราชธานี พ่อขุนรามคำแหงทรงศิลาจารึกไว้ว่าอาราธนาพระสงฆ์ทรงพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชไปสั่งสอนศาสนาและเป็นที่สักการะบูชา ถึงจะเป็นความหวังอันเลือนราง แต่ก็จะหวังว่า “สงฆ์พิเศษ” จากนครศรีธรรมราชคงจะมีต่อไปในอนาคตกาล
.
ในส่วนของอนุสรณ์ของพ่อท่านนั้น นอกจากถนนหนทาง โบสถ์วิหาร โรงเรียน เจดีย์พระธาตุน้อยที่ยังสร้างไม่เสร็จ และเหรียญรูปพ่อท่าน ตลอดจนแหวน พระพิมพ์ และสิ่งอนุสรณ์อื่นใด อันเป็นของภายนอกแล้ว ผู้เขียนอยากจะขอร้องให้ศิษย์ร่วมอาจารย์และท่านที่เคารพนับถือทั้งหลาย ได้โปรดบรรจุอนุสรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของพ่อท่านไว้ในใจ นั่นคือคุณธรรมของพ่อท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความเมตตากรุณา ไม่เบียดเบียนกันและกัน หากเราทั้งหลายมั่นอยู่ในคุณธรรม เจริญรอยตามพ่อท่านแล้ว ก็เชื่อว่า พ่อท่านจะสถิตอยู่กับเรา อยู่ใกล้เรา และคุ้มครองเรา ครอบครัวเรา สังคมของเรา ตลอดจนบ้านเมืองของเราอยู่ตลอดไป เมื่อนั้นสันติสุขก็จะบังเกิดขึ้นทุกอย่อมหญ้า พ่อท่านจะไม่มีวันทอดทิ้งพวกเราให้ได้รับอันตรายแม้แต่น้อย
(ขอบพระคุณภาพจากเสกสรร บัวจันทร์)
จากสารนครศรีธรรมราช
ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๔
โฆษณา