18 ม.ค. 2021 เวลา 03:52 • ธุรกิจ
รู้จัก “เศรษฐกิจโดนัท” แนวคิดใหม่ ของการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกือบทุกประเทศทั่วโลก
ให้ความสำคัญอย่างมากกับการนำ “GDP” มาใช้วัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ไม่ว่า GDP จะเติบโตเพียงใด มันก็ไม่ได้เป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จในทุกๆ ด้านของประเทศนั้น
และถึง GDP จะเติบโตได้ดี ก็ไม่ได้แปลว่าความเป็นอยู่ของคนในประเทศนั้นจะดีตามไปด้วยเสมอไป
วันนี้ เรามารู้จักกับอีกหนึ่งแนวคิดทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยให้แต่ละประเทศจะยังคงเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
ระบบที่ว่านี้ มีชื่อว่า “Doughnut Economics” หรือเศรษฐกิจโดนัท
แล้วเศรษฐกิจโดนัท มันมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
แนวคิดเศรษฐกิจโดนัทเกิดขึ้นมาจากนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากสหราชอาณาจักร ที่ชื่อว่า Kate Raworth
เธอคนนี้ได้นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจโดนัทขึ้นมา เพื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหาและวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่กลายมาเป็นภัยคุกคามต่อความก้าวหน้าทางสังคมของมนุษย์ ไปพร้อม ๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
1
และที่ชื่อว่าโดนัท ก็เพราะว่า เธอได้แบ่งแนวคิดตามรูปแบบของขนมโดนัท ออกมาเป็น 3 ส่วน นั่นก็คือ
- พื้นที่ส่วนรูตรงกลาง
- พื้นที่นอกเหนือจากเนื้อโดนัท
- พื้นที่ส่วนเนื้อโดนัท
ซึ่งพื้นที่ส่วนรูตรงกลาง ในที่นี้ เธอใช้สำหรับอธิบายถึง ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ด้าน
2
ได้แก่ สุขภาพ, อาหาร, น้ำ, พลังงาน, การศึกษา, รายได้, ความยุติธรรม, สิทธิในการแสดงความคิดเห็น, ความเป็นธรรมทางสังคม, ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ, ที่อยู่อาศัย และเครือข่ายทางสังคม
โดยความต้องการพื้นฐานของเราแต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน
บางคนอาจจะขาดแคลนน้ำ และอาหาร หรือบางคนก็อาจจะขาดโอกาสทางการศึกษา
1
ในขณะที่พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือจากเนื้อโดนัท หมายถึง ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ
เช่น วิกฤติโลกร้อน และมลพิษในบรรยากาศ
สำหรับพื้นที่ส่วนเนื้อโดนัท หมายถึง “จุดสมดุล”
ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของเศรษฐกิจแบบโดนัท
ที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล
โดยคนในสังคมนั้นจะสามารถกินดีอยู่ดี เศรษฐกิจเติบโต และสิ่งแวดล้อมไม่โดนทำลาย ไปพร้อมๆ กัน
แล้วแนวคิดระบบเศรษฐกิจโดนัท มันถูกนำมาใช้จริงๆ หรือ?
คำตอบคือ มันถูกนำมาใช้แล้วจริงๆ
โดยที่แรกที่นำแนวคิดระบบเศรษฐกิจโดนัทมาใช้
ก็คือ อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์
โดยเมืองแห่งนี้ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข การจ้างงาน รวมถึงที่อยู่อาศัยของคนในเมือง
1
ยกตัวอย่างก็เช่น ด้านของสาธารณสุข
พลเมืองทุกคนของอัมสเตอร์ดัม จะต้องเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
โดยมีการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ให้ประชากรมีน้ำสะอาดดื่ม
ดูแลความเป็นอยู่ของคนในเมืองให้มีอาหารในการบริโภคอย่างเพียงพอ
รวมถึงมีที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับพลเมืองในทุกระดับรายได้
ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม มีการใช้นโยบายส่งเสริมการนำกลับมาใช้ (Restore) และสร้างใหม่ (Regenerate) ที่ต้องทำไปควบคู่กัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มปฏิบัติการตามแนวคิดนี้ ภายในปี 2030 ประชาชนในอัมสเตอร์ดัมจะลดการใช้ทรัพยากรลงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
1
ในส่วนของพลังงาน อัมสเตอร์ดัมตั้งเป้าว่า
ในเมืองจะต้องเลิกการใช้ก๊าซธรรมชาติให้ได้ภายในปี 2040
ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าที่ว่านี้
อัมสเตอร์ดัม ก็จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความสมดุลในสังคมไปด้วยพร้อมๆ กัน หรือสามารถทำให้ทุกอย่างอยู่ในพื้นที่ “เนื้อโดนัท” ที่ถือเป็นจุดสมดุลของแนวคิดนี้ได้นั่นเอง
ถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปได้ว่าแนวคิดระบบเศรษฐกิจโดนัท ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ
ที่แต่ละเมือง แต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้และสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
บางครั้ง การที่เรามาคอยลุ้นว่าปีนี้เศรษฐกิจ หรือ GDP จะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์
อาจจะมีความสุขน้อยกว่า การรับรู้ว่าเมืองของเรา มีน้ำสะอาด มีอาหารพอเพียง
และมีสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ก็เป็นได้..
โฆษณา