18 ม.ค. 2021 เวลา 06:27 • ปรัชญา
ประสาทสุนทรียศาสตร์ (Neuroesthetics): เมื่อสมองมองศิลปะ
ในบทความชื่อ “Motion, Emotion and Experience in Esthetic Experience” ที่เขียนโดยเดวิด ฟรีดเบิร์ก (David Freedberg) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และวิตตอริโอ กัลลิส (Vittorio Gallese) นักประสาทวิทยา ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สุนทรียศาสตร์มีแขนงที่เรียกว่า “ประสาทสุนทรียศาสตร์” (Neuroesthetics) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของข้อถกเถียงทางสุนทรียศาสตร์เกี่ยวโยงกับตัวตนของมนุษย์ โดยศาสตร์แขนงนี้มีการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ทั้งฟรีดเบิร์กและกัลลีสเห็นว่าปฏิกิริยาตอบสนองเชิงสุนทรียะนั้นเกิดจากการทำงานของเส้นประสาทในสมอง โดยที่มิใช่ปัจจัยด้านความรู้ที่อิงกับบริบททางประวัติศาสตร์หรือมิติทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด ทำให้ประสบการณ์สุนทรียะในลักษณะนี้เป็นสากล นั่นคือทุกคนรับรู้ได้เหมือนกัน ทั้งสองอธิบายว่าเวลาดวงตาเห็นงานศิลปะ สมองจะเลียนแบบโดยนึกตามสิ่งที่เห็นก่อนที่จะเรียนรู้เชิงมโนทัศน์หรือผลกระทบจากกระบวนรู้สึกการนึกตามนั้นด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ เนื่องจากกิจกรรมในเส้นประสาทเป็นสากลและเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่เกี่ยวกับข้อมูลเชิงความรู้ ความสำคัญของข้อเสนอนี้ก็คือการเข้ามาเติมเต็มแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์สายรูปแบบนิยม (formalism) ของค้านท์ (Kant) และฟีดเลอร์ (Fiedler) ที่เห็นว่าการรับรู้ความรู้กับการตัดสินเชิงสุนรียะเป็นสองกระบวนการที่แยกกันในการทำงานของจิตมนุษย์ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาตอบโจทย์แนวคิดรูปแบบนิยมที่ไม่อิงเนื้อหาเชิงความรู้ เนื่องจากรูปแบบของงานศิลปะยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางในฐานะความเข้าใจของมนุษย์
ฟรีดเบอร์กและกัลลีส เสนอว่า ประสาทสุนทรียศาสตร์มุ่งตอบคำถามว่าอะไรคืองานศิลปะ? อะไรคือความพึงพอใจที่ได้รับในด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาในส่วนของการมองเห็น? ทั้งคู่สนใจศึกษากลไกทางประสาทที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกนึกตาม (empathy) ภาพที่เห็น และสนใจศึกษาผลกระทบของงานศิลปะ จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของทั้งคู่มุ่งศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผู้ชมมากกกว่าคุณลักษณะเชิงรูปแบบของงานศิลปะอย่างที่ Clive Bell เสนอ
ตัวอย่างที่ฟรีดเบิร์กและกัลลีสยกมาได้แก่ขณะที่เราชมภาพ Desastre de la Guerra ของโกยานั้น ร่างกายเราตอบสนองต่อภาพที่ไม่สมดุล ด้วยความรู้สึกไม่สมดุลไปด้วย รวมทั้งความรู้สึกน่าสะพรึงกลัวของร่างกายที่ฉีกขาด การนึกตามเชิงกายภาพจะส่งผลต่อความรู้สึกตามไปด้วย เช่น ความรู้สึกของร่างกายถูกทึ้งทำลาย แม้ว่าภาพจะไม่ได้แสดงองค์ประกอบของอารมณ์ที่ชัดเจนก็ตาม ภาพนามธรรมของแจ็คสัน พัลล็อค ทำให้ผู้ชมรู้สึกตามความเคลื่อนไหวของร่างกายของศิลปินที่ทิ้งร่องรอยไว้ในภาพ หรือภาพของ ลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana) ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกรับรู้ความเคลื่อนไหวของการกรีดเป็นริ้วๆ
ฟรีดเบิร์กและกัลลีสเห็นว่าในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 นักวิชาการเยอรมันจำนวนมากเขียนถึงทัศนศิลป์โดยชี้ประเด็นเรื่องร่างกายผู้ชมที่มีต่อจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอย่างโมริซ แมร์โล-ปงตี (Maurice Merleau-Ponty) ก็ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางกายภาพที่จิตรกรรมและประติมากรรมกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ โดยผู้ชมเลียนแบบการกระทำของศิลปินที่ทิ้งร่องรอยไว้ในผลงาน ตัวอย่างเช่นผลงานจิตรกรรมของปอล เซซานน์ ส่วน David Roland ก็ให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไวในงานลายเส้นของศิลปินตั้งแต่ดาวินชีไปจนถึง Tiepolo และ Piranesi แต่ทฤษฎีเหล่านี้เป็นเชิงปรากฏการณ์วิทยาที่แม้จะได้รับการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทมากนักในประวัติศาสตร์ศิลปะ
ในศตวรรษที่ 20 ทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะและศิลปวิจารณ์ต่างก็ละเลยมิติด้านอารมณ์ โดยให้ความสำคัญกับมิติของความรู้มากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอารมณ์เป็นเรื่องที่เป็นเรื่องกว้างๆและจำแนกแจกแจงได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ละเลยข้อค้นพบในประสาทวิทยาที่จะเป็นหลักฐานในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะ ฟรีดเบิร์กและกัลลีสได้รับแรงกระตุ้นจากการค้นพบระบบประสาทกระจกเงา (mirror neuron system-MNS) ซึ่งมีอยู่ในสมองส่วน ventral premotor cortex และ posterior parieral cortex ประเด็นที่ทั้งสองสนใจคือ หนึ่ง ปฏิกิริยาของร่างกายของผู้ชมต่อเนื้อหาของงานศิลปะผ่านผัสสะ อารมณ์ เจตนา และสอง การกระทำต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกนึกตามของผู้ชมต่อคุณภาพของงานศิลปะที่ปรากฏร่องรอยที่ศิลปินทิ้งไว้ เช่น ทีแปรง ฝีมือการปั้น
การค้นพบเส้นประสาทกระจกเงาช่วยอธิบายปฏิกิริยาของความรู้สึกทางกายภาพ และปฏิกิริยาเลียนแบบการกระทำที่ปรากฏในตัวงาน เมื่อ MNS ถูกกระตุ้นจากการสังเกตุการกระทำที่เกิดขึ้นในโครงข่ายเส้นประสาทเดียวกับที่ควบคุมการทำงานขณะเกิดการกระทำดังกล่าว คือสิ่งที่มาอธิบายว่าทำไมเราจึงรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ในงานศิลปะ (เช่น ความรู้สึกกรีดเป็นริ้วๆจากการชมงานของลูซิโอ ฟอนตานา ที่ได้กล่าวมาข้างต้น)
MNS กำกับการทำงานของการกระทำผ่านปาก มือและเท้า รวมทั้งการสื่อสารผ่านสีหน้า ยิ่งกว่านั้นยังทำให้เราเข้าใจเจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ ผลการวิจัยระบุว่าการมองภาพนิ่งที่แสดงการกระทำจะกระตุ้นการกระทำในสมองของผู้สังเกตได้ เช่น การสังเกตมือคว้าวัตถุสามารถกระตุ้นภาพการคว้าวัตถุในสมองของผู้สังเกต ไม่แต่เพียงภาพที่แสดงการกระทำเท่านั้น ภาพหุ่นนิ่ง (still life) ก็สามารถกระตุ้นการทำงานของประสาทในส่วนของการกระทำได้ จากการค้นพบเส้นประสาท canomical neurons แสดงให้เห็นว่าการมองภาพวัตถุที่จับคว้าได้ไม่ได้กระตุ้นแต่การทำงานเกี่ยวกับภาพเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นประสาทส่วนที่ทำงานควบคุมการกระทำที่โยงอยู่กับวัตถุ ภาพวัตถุอย่างเสื้อผ้า ผลไม้ อาหาร อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งอวัยวะเพศนั้นไปกระตุ้นสมองส่วน ventral premotor cortex ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการควบคุมการกระทำที่ไม่ใช่การนำเสนอภาพแทนในสมองได้เช่นกัน
การกระตุ้นปฏิกิริยาร่างกายทั้งภาพที่แสดงการเคลื่อนไหวและภาพนิ่งช่วยให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ได้มากขึ้นเมื่องพิจารณาร่วมกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ความรู้สึกที่แสดงในงานศิลปะสามารถกระตุ้นความรู้สึกในตัวผู้ชมได้เช่นเดียวกับที่เราเข้าใจความรู้สึกสัมผัสหรือเจ็บปวดของผู้อื่น ตัวอย่างเช่นเวลาเราเห็นบางส่วนของร่างกายถูกสัมผัสหรือวัตถุสองชิ้นสัมผัสกัน สมองก็จะถูกกระตุ้นให้รู้สึกนึกตาม ดังเช่นภาพ Desastre ของโกยา ซึ่งเป็นภาพร่างกายถูกฉีกทึ้ง อาจกระตุ้นความเจ็บปวด หรือความรู้สึกสัมผัสที่เกิดขึ้นในตัวผู้ชมขณะชมภาพ Incredulity of Saint Thomas ของ Caravaggio
ไม่แต่เพียงภาพจิตรกรรมหรือประติมากรรมเท่านั้น แม้แต่ลายเส้นหรือตัวอักษรก็สามารถกระตุ้นความรู้สึกเคลื่อนไหวได้เช่นกัน จากงานศึกษาของ Kuoblich และคณะได้ชี้เห็นว่าลายเส้นหรือตัวอักษรก็สามารถกระตุ้นประสาทส่วนที่กำกับการเขียนลายเส้นหรืออักษรนั้นได้เช่นกัน แต่ตัวอักษรที่เกิดจากการเขียนด้วยลายมือจะกระตุ้นความรู้สึกเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ความก้าวหน้าด้านประสาทวิทยาได้รับการสนใจอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนรู้ รวมทั้งประเด็นทางสุนทรียศาสตร์ จากตัวอย่างข้อเสนอของฟรีดเบิร์กและกัลลีส เราจะเห็นการให้ความสำคัญต่อการรับรู้งานศิลปะของผู้ชม แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะมีผู้เห็นด้วยไปทั้งหมด ตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงข้อวิจารณ์ของนักสุนทรียศาสตร์อย่าง Alva Noë วิจารณ์ประสาทสุนทรียศาสตร์ว่าไม่ได้เริ่มอธิบายความเข้าใจเชิงสุนทรียศาสตร์เลยด้วยซ้ำ
Alva Noë ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ได้วิจารณ์ประสาทสุนทรียศาสตร์ไว้หนังสือเล่มใหม่ของเขาชื่อ Strange Tools: Art and Human Nature เอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาเห็นว่าประสาทสุนทรีศาสตร์ลดทอนประสบการณ์สุนทรียะเป็นกลไกทางสมอง ซึ่งเขาเห็นว่าวิธีการเช่นนี้จัดเป็นแนวคิดแบบคาร์ทีเชียน (Cartesianism) ซึ่งมีต้นเค้ามาจากเรอเน เดส์คาร์ตส์ บิดาแห่งปรัชญาสมัยใหม่ ที่เห็นว่ามนุษย์ประกอบไปด้วยจิตกับกาย โดยจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว สมองหรือจิตมนุษย์ทำหน้าที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เราอาจจะลองนึกภาพจิตอยู่ในกล่องลอยเท้งเต้งไปในทะเลของโลกประสบการณ์ก็ได้
ปัญหาที่ตามมาก็คือภาพศิลปะที่เรารับรู้เป็นภาพแทนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการของสมอง มิใช่ตัวงานศิลปะหรือประสบการณ์ที่เรามีต่อศิลปะจริงๆ ดังที่เดวิด มาร์ (David Marr) นักประสาทวิทยากล่าวว่าความสำนึกรู้ด้านการมองเห็นก็คือเส้นโครงที่สมองสร้างขึ้นมาตามการรับรู้วัตถุ เช่น เวลาสมองเราเห็นถ้วยกาแฟก็จะวาดภาพจำลองทรงกระบอกของถ้วยกาแฟขึ้นมาในสมอง นักประสาทวิทยาอย่าง Patrick Cavanagh ถึงกับกล่าวว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วศิลปินก็ทำงานอย่างนักประสาทวิทยานั่นเอง
Alva Noë เห็นว่าถ้าพูดเช่นนี้ก็เท่ากับว่าขณะที่มนุษย์รับรู้ตอบสนองต่องานศิลปะนั้น เราไม่ได้ตอบสนองต่อตัวตัวงาน แต่เป็นการตอบสนองต่อภาพที่สมองจำลองขึ้นมา จึงไม่น่าแปลกที่เวลานักประสาทวิทยาทดลองปฏิกิริยาของสมองต่อการรับรู้ศิลปะ จึงใช้ภาพถ่ายแทนงานจริง เช่น การทดลองของกาเบรียล สตาร์ (Gabrelle Starr) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูภาพดิจิตัลของประติมากรรมเพื่อทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองของสมอง นี่คือสาเหตุที่ Alva Noë วิจารณ์ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วประสาทสุนทรียศาสตร์นั้นยังไม่ได้เริ่มอธิบายความเข้าใจเชิงสุนทรียะที่มีต่อตัวงานศิลปะเลยด้วยซ้ำไป
Alva Noë เห็นว่า การทำความเข้าใจศิลปะ ไม่ใช่ความเข้าใจของสมองของเรา แต่เป็นความเข้าใจของเราในฐานะมนุษย์ที่มีประสบการณ์ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รายล้อมตัวเราจริงๆ ไม่ใช่แต่ในภาพแทนที่ถูกสร้างขึ้นในสมอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง สมองไม่ได้แค่ตั้งรับข้อมูล หากแต่ยังมีการตื่นตัวตอบสนอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความเข้าใจของเราต่องานศิลปะชิ้นหนึ่งๆ จะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับตัวงาน วัสดุที่ใช้ ผู้สร้างงาน หรือบริบทร้ายล้อมอื่นๆ
Alva Noë ย้อนกลับไปหาแนวคิดของค้านท์ที่ว่า การตัดสินเชิงสุนทรียะ เป็นอัตวิสัยที่มีความเป็นสากล และการจะได้ข้อสรุปนี้มาก็ต้องผ่านการถกเถียงอภิปราย แน่นอนว่าบางครั้งเราจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน แต่การตัดสินคุณค่าเชิงสุนทรียะเป็นจุดตั้งต้นของการสนทนา หาใช่ข้อสรุปไม่
ข้อวิจารณ์ของ Alva Noë นั้นน่ารับฟัง กระนั้นข้อวิจารณ์ที่ว่าประสาทวิทยาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าใจตัวงานศิลปะจริงๆ และสนใจแต่ภาพในสมองนั้น เราอาจจะมองว่าเป็นจุดแข็งของประสาทวิทยาด้วยซ้ำ หากย้อนกลับไปหาค้านท์ที่เห็นว่ากระบวนการการตัดสินเชิงสุนทรียะเป็นคนละกระบวนการกับความรู้ การตัดสินเชิงสุนทรียะเกิดขึ้นในจินตนาการโดยที่ไม่ขึ้นอยู่กับว่าตัวงานศิลปะนั้นจะดำรงอยู่หรือไม่ (ต่างจากความรู้ที่เราจะต้องรู้คุณลักษณะของวัตถุ ดังนั้น สิ่งที่เราศึกษาจึงต้องมีอยู่) รวมทั้งลักษณะเชิงรูปแบบนิยมที่เป็นข้อค้นพบในประสาทวิทยา เราก็อาจจะกล่าวได้ว่าประสาทสุนทรียศาสตร์มีคุณูปการในการทำความเข้าใจกระบวนการรับรู้งานศิลปะได้ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม
หากจะกล่าวถึงที่สุดแล้ว ประสาทสุนทรียศาสตร์ก็คือการต่อยอดข้อเสนอของอเล็กซานเดอร์ บอมสการ์เทนในศตวรรษที่ 18 ที่เสนอใช้คำว่า Aesthetics ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษากรีกที่แปลว่า การรับรู้ผ่านผัสสะ บอมการ์เทน พยายามพัฒนาศาสตร์ที่มาจากผัสสะ ซึ่งหากมองตามกรอบคิดของไลบ์นิซ นักปรัชญาเหตุผลนิยมชาวเยอรมันแล้วล่ะก็ ประสาทสัมผัสไม่ได้เป็นที่มาของความรู้ที่ชัดเจนแน่นอนเหมือนเหตุผล อย่างไรก็ตาม ประสาทสุนทรียศาสตร์ทำให้เห็นว่า ศาสตร์ที่มีฐานจากผัสสะของมนุษย์ซึ่งโยงกับการทำงานของสมองเป็นไปได้อย่างไร
โฆษณา