18 ม.ค. 2021 เวลา 09:23 • ไลฟ์สไตล์
รถไฟฟ้าสายสีเขียวค่าโดยสารสูงสุด 65 หรือ 158 บาท?
แพงไปหรือไม่? ถ้าคุณเลือกได้คุณจะเลือกแบบไหน?
ถึงจะหมดกระแสไปบ้างแต่เรื่องนี้ยังไม่จบและยังมีหลายคนไม่ค่อยเข้าใจ แอดเอฟจึงอยากจะมาอธิบายแบบคร่าวๆให้ฟังถึงทางเลือกที่เป็นไปได้ในขณะนี้ครับ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่าค่าโดยสาร 65 หรือ 158 บาทในที่นี้ ไม่ใช่ราคาตลอดสายแบบที่สื่อหลายสำนักใช้คำผิดๆและอาจทำให้ตีความไปว่านั่งแค่สถานีเดียวก็ต้องจ่ายราคานี้ คำที่ถูกต้องจริงๆควรจะเป็น ค่าโดยสาร"สูงสุด"ต่อเที่ยว 65 หรือ 158 บาทมากกว่า
อีกประเด็นที่ควรเข้าใจคือไม่ว่าจะ 65 หรือ 158 บาท หลายคนอาจจะมองว่าทั้ง 2 เลขนี้แพงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประเทศไทย แต่มีเหตุผลต่างๆที่สามารถอธิบายประเด็นนี้ได้คือ
1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่แรก สร้างโดยเอกชน 100% รัฐไม่ได้ออกเงินสร้าง แต่ให้สัมปทานเอกชนเก็บค่าโดยสารได้ 30 ปี โดยสัญญาจะหมดอายุในปี 2572 ทำให้เอกชนต้องเก็บค่าโดยสารให้คุ้มทุนกับค่าก่อสร้างรถไฟฟ้า ค่าซื้อขบวนรถ และค่าบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน รวมทั้งต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนจากที่จะเห็นได้ว่าช่วง 10 ปีแรกที่ BTS เปิดให้บริการ แทบจะล้มละลายเพราะไม่มีคนใช้ แต่สุดท้ายก็มาได้รับความนิยมได้ในภายหลัง
2. ต้นทุนของระบบรถไฟฟ้า ไม่ได้ขึ้นกับรายได้ขั้นต่ำของคนในประเทศ ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีนี้เป็นของตนเอง และเวลาไปซื้อรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ ก็คงไม่มีผู้ผลิตเจ้าไหนลดราคารถไฟฟ้าให้กับประเทศที่มีรายได้ขั้นต่ำต่ำกว่าประเทศอื่น
3. ระยะทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ว่าเก็บค่าโดยสารสูงสุด 65 หรือ 158 บาทนั้น เป็นรถไฟฟ้าที่มีความยาวถึง 66.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมากสำหรับรถไฟฟ้าแบบ metro หรือ heavy rail มีรถไฟฟ้ารูปแบบนี้ไม่กี่สายบนโลกที่มีระยะทางในสายเดียวยาวขนาดนี้ ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับบางประเทศ รถไฟฟ้าสายหนึ่งอาจจะมีระยะทางสั้นกว่านี้มาก ทำให้ค่าโดยสารสูงสุดถูกกว่าทั้งที่ค่าโดยสารคิดเป็นราคาต่อกิโลเมตรอาจจะไม่ต่างกัน
4. หลายประเทศรัฐบาลเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเองและมีนโยบายอุดหนุนราคารถไฟฟ้า ทำให้สามารถลดราคาค่าโดยสารให้ถูกกว่าต้นทุนที่แท้จริงได้โดยใช้เงินภาษีไปอุ้มราคา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในประเทศไทย เพราะต้นทุนรถไฟฟ้าแต่ละสายค่อนข้างสูง มูลค่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพทุกสายรวมกันอาจมีมูลค่าพอๆกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้งประเทศ และการจัดเก็บภาษีของไทยที่ค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 15% ของ GDP ในขณะที่หลายประเทศเช่นในยุโรปสามารถเก็บภาษีได้ถึง 40-60% ของ GDP ดังนั้นหากรัฐจะเป็นเจ้าของรถไฟฟ้า 100% งบประมาณอย่างเดียวคงไม่พอและต้องไปกู้ทำให้หนี้สาธารณะของไทยสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน หรือไม่ก็ต้องรออีกนานกว่าจะสร้างรถไฟฟ้าได้แต่ละสาย นอกจากนี้การที่รัฐทำเองทั้งหมดอาจทำให้มีประสิทธิภาพในการบริหารโครงการด้อยกว่าเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดในแทบทุกประเทศ อย่างในเวียดนามที่รถไฟฟ้าเริ่มสร้างมาสิบปีแล้วก็ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้
สรุปแล้วค่าโดยสาร 65 หรือ 158 บาทต่างกันอย่างไร?
กรณีค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท: เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นหลังจากต่อรองให้ BTS ออกเงินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่สร้างเพิ่มขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งมีมูลค่าก่อสร้างกว่าแสนล้านบาท โดยเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดต่อเที่ยวที่ 65 บาท แลกกับการต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่หมดอายุปี 2572 ไปเป็น 2602
กรณีค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท: เป็นตัวเลขกรณี BTS ไม่ได้ต่ออายุสัมปทานและต้องเดินรถในส่วนต่อขยายที่ BTS ไม่ได้สร้างตั้งแต่แรก รวมทั้งรัฐจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายกว่าแสนล้านบาทเอง ส่วนสัญญาสัมปทานเดิมที่ BTS จะหมดอายุในปี 2572 หลังหมดสัมปทานแล้วโครงการจะกลับไปเป็นของรัฐ ซึ่งรัฐอาจเดินรถเอง จ้างเอกชนมาเดินรถ หรือประมูลสัมปทานใหม่ก็ได้
แล้วคุณคิดว่าทางเลือกไหนดีกว่ากัน มาลองโหวตกันดู หรือคิดว่ามีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้และน่าสนใจมากกว่านี้ก็ลองแสดงความคิดเห็นในคอมเม้นกันได้ครับ
วิเคราะห์และรวบรวมโดย #แอดเอฟ
Thailand Development Report
ติดตาม TDR เพิ่มเติมได้ที่ : thdevelopmentreport.blogspot.com
อ่านโพสนี้ พร้อมรูปที่ชัดขึ้น : https://thdevelopmentreport.blogspot.com/2020/12/65-158.html
โฆษณา