18 ม.ค. 2021 เวลา 11:37 • ประวัติศาสตร์
ประวัติ ถนนพาหุรัด
รัชกาลพระบาท สมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "ถนนพาหุรัด" ขึ้น โดยทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดาซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสิ้นพระชนม์ขณะพระชันษา 10 ปี
1
ทรงให้สร้างถนนขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลพระราชทาน และพระราชทานนามถนนว่า ถนนพาหุรัด ตามพระนามพระราชธิดา ปัจจุบันถนนพาหุรัดอยู่ในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ถนนบ้านหม้อ (สี่แยกบ้านหม้อ) ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับถนนตรีเพชร (สี่แยกพาหุรัด) จนถึงถนนจักรเพชร
ถนนพาหุรัดในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้การคมนาคมสะดวกสบายขึ้น จึงมีผู้คนมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย โดยเฉพาะชาวอินเดียซึ่งเดิมค้าขายผ้าอยู่แถบบ้านหม้อ วัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) ได้อพยพเข้ามาทำมาหากินในแถบพาหุรัดกันมากขึ้น
ที่ดินบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นของวัดเลียบ (วัดราชบุรณราช วรวิหาร) มีที่ดินเอกชนบ้างก็ไม่มากนัก ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดลงบริเวณสะพานพุทธ วัดเลียบและโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่บริเวณโดยรอบเป็นตึกแถวขายเสื้อผ้ายังคงอยู่
1
ในช่วงนี้มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาขายข้าวปลาอาหาร แต่ไม่มากนัก ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าตลาดปีระกาที่อยู่ในเวิ้งนาครเขษม และตลาดบ้านหม้อซึ่งเป็นตลาดใหญ่กว่าและเปิดมานานแล้ว ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอด ต้องเลิกไปโดยปริยาย แต่กิจการขายผ้าของชาวอินเดียเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ มีการสั่งผ้าจากต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา และอินเดียเข้ามาจำหน่าย ผ้าที่ได้รับความนิยมเป็นพวกผ้าชีฟองและผ้าลูกไม้ชั้นดีจากเมืองนอก
ช่วงหลังมีพ่อค้าชาวจีนในสำเพ็งขยับขยายออกมาสร้างตึกแถวขายสินค้าบนสองฟากถนนพาหุรัด เข้ามาแบ่งตลาดการค้าเสื้อผ้าจากกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดีย แต่กลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียก็ยังคงรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น รักษาวัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม อาหารการกิน การยึดมั่นในพิธีกรรมตามหลักศาสนา โดยมีคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภาเป็นศาสนสถานสำคัญของชาวซิกข์ มียอดโดมสีทองอร่ามสูงเด่นเป็นสง่า
แรกที่ชาวซิกข์จากอินเดียเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้เข้ามาค้าขายผ้า เริ่มตั้งแต่เดินเร่ขายไปตามบ้านเรือนต่างๆ กระทั่งตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่แถวบ้านหม้อ พาหุรัด ฝั่งพระนคร ก่อนกระจายไปอยู่ย่านสี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี รวมทั้งออกไปตามจังหวัดใหญ่ๆ เช่น อุดรธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต
นอกจากชาวซิกข์แล้ว ในย่านพาหุรัดยังมีชาวฮินดูและชาวมุสลิมตามตรอกซอกซอยระหว่างถนนจักรเพชรกับถนนตรีเพชรจะพบวิถีชีวิตผู้คนที่ยังคงรักษาความเป็นอินเดียไว้อย่างเหนียวแน่น มีร้านค้าขายเสื้อผ้า ส่าหรี อาหาร เครื่องเทศ ข้าวของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ของใช้จำเป็นของชาวอินเดีย และยังมีร้านขายเครื่องหอม ของชำร่วย ร้านขายเครื่องเขียน รวมทั้งร้านขายที่นอนหมอนมุ้งเก่าแก่
ทุกวันนี้ถนนพาหุรัดเป็นย่านที่มีสินค้าที่มีให้เลือกสรรอย่างมากมายและหลากหลาย ทั้งผ้าตัด อุปกรณ์ตัดเย็บ รวมไปถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปสารพัดชาติ ทั้งชุดไทย ชุดจีน โดยเฉพาะส่าหรี นอกจากนี้ พาหุรัดยังมีชุมชนเล็กๆ ที่ยังคงดำเนินวิถีแบบภารตะ เป็นที่มาของชื่อ "ลิตเติ้ล อินเดีย เมืองไทย" Cr.เจาะเวลาหาอดีต
โฆษณา