18 ม.ค. 2021 เวลา 13:46 • การศึกษา
ตำนานลูกมังกรในมรดกวัฒนธรรมจีน (๑)
มังกรหรือหลง 龙 เป็นสัตว์มงคล ๑ ใน ๔ ของวัฒนธรรมโบราณของจีน เพราะชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่าตนเป็นลูกหลานของมังกร ในสมัยราชวงศ์ถัง ลายมังกรใช้ได้เฉพาะบนเสื้อผ้าหรือของใช้ของจักรพรรดิเท่านั้น เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงของพละกำลังอำนาจขององค์จักรพรรดิที่บุคคลอื่นไม่สามารถใช้ได้
1
ตามตำนานมังกรให้กำเนิดลูก ๙ ตัว แต่ละตัวมีข้อดีแตกต่างกัน 龙生九子不成龙,各有所好。 ลูกมังกรทั้งเก้า (หรือสิบ) มีชื่อเรียกแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ต่างล้วนปรากฎอยู่ในมรดกทางวัฒนธรรมของจีน ทั้งในงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ ที่ปรากฎอยู่ทั้งในประเทศจีนและบ้านเรา บางตัวดูคล้ายเต่า บางตัวคล้ายปลา บางตัวเหมือนสิงโต บางตัวเหมือนเสือ ฯลฯ ทว่าลูกมังกรทั้งเก้านี้ต่างมีดีที่แตกต่างกัน และเราควรรู้จักกัน เพื่อจะได้เรียนรู้จักองค์ชายทั้งเก้านี้ด้วยกัน
ผู้เขียนจะแบ่งเรื่องราวของตำนานลูกมังกรนี้เป็น ๔ ตอน ในตอนแรกจะกล่าวถึงปี้ซี่ องค์ชายใหญ่ ซือเหวิ่น องค์ชายรอง และผูเหลา องค์ชายสาม
ปี้ซี่ องค์ชายใหญ่ ผู้เปี่ยมพละกำลัง
เชื่อว่า หลายท่านคงเคยเห็นรูปศิลาสลักเป็นรูปเต่าขนาดใหญ่ แบกแผ่นศิลาจารึกขนาดมหึมาอยู่บนแผ่นหลัง หลายท่าน ได้เห็นแล้ว เคยนึกสงสัยไหมครับว่า ไฉนเต่ามีฟันตัวนี้ จึงต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งถึงปานฉะนี้ไว้ด้วย? ปี้ซี่ 赑屃 Bi4 Xi4 คือนามกรของลูกมังกรตัวแรก หรือองค์ชายใหญ่ มีลักษณะห้าวหาญ ทรงพลัง รูปลักษณ์ภายนอกคล้ายเต่า มีความสามารถแบกรับน้ำหนักได้ดี
ปี้ซี่ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สือกุยหลง 石龟龙" ลักษณะลำตัวเป็นเต่า หัวเป็นมังกร (บางครั้ง ก็มีหัวเป็นเต่า แต่มีฟันและเขี้ยว) ตามความเชื่อของชาวจีนแล้ว “เต่า” เป็นสัตว์สิริมงคล สัญลักษณ์แห่งการมีอายุยืน ปี้ซี่ จึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอายุยืนและเป็นสัญลักษณ์แห่งความสิริมงคล เช่นเดียวกัน ในทางสถาปัตยกรรม นิยมนำรูปแบบของปี้ซี่มาเป็นฐานรองแผ่นป้ายศิลาจารึกพระบรมราชโอการหรือสดุดีเทิดพระเกียรติบุคคล หรือสถานที่ ซึ่งเขียนขึ้นโดยองค์จักรพรรดิ โดยจะมีขนาดใหญ่โต ตั้งไว้อยู่ในศาลาหรือกลางแจ้ง
จากประสบการณ์การเดินทางของผู้เขียน เคยพบปี้ซี่มากที่สุด ทีศาลบูชาบรมครูขงจื่อ หรือ ข่งเมี่ยว 孔庙 เมืองชวีฟู่ มณฑลซานตง ภายในข่งเมี่ยว มีปี้ซี่นับรวมได้ถึง ๑๓ ตัว เก่าแก่ที่สุดสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ในปีค.ศ.๖๖๘ รัชกาลจักรพรรดิถังเกาจง และปีค.ศ.๗๑๙ รัชกาลจักรพรรดิถังเสวียนจง เพื่อสรรเสริญจอมปราชญ์ขงจื่อ อีกสถานที่หนึ่ง ที่มีปี้ซี่ และศาลาอวิ้เปยถิง 御碑亭 เป็นจำนวนมากไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ ขุนภูยุทธภพบู๊ตึ้ง 武当山 เมืองสือเอี้ยน ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย
บนบรรดาหมู่ตำหนักเพื่อบูชาองค์เสวียนหวู่ต้าตี้ (ตั่วเหล่าเอี้ย) ผู้ทรงเลือกสถิตบนขุนภูบู๊ตึ๊งแห่งนี้ มีปี้ซี่พร้อมศาลาขนาดใหญ่ถึง ๑๒ หลังด้วยกัน ตั้งกระจัดกระจายอยู่ในตำหนักสำคัญต่าง ๆ เพื่อบูชาแก่องค์เสวียนหวู่ต้าตี้ เช่น อวิ้ชวีกง จื่อเซียวกง หนานหยานกง จิ้งเล่อกง เป็นต้น ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นในรัชกาลเดียวคือ จักรพรรดิหย่งเล่อผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์หมิง การนำปี้ซี่ขนาดมหึมาหนักหลายสิบตัน รวมทั้งแผ่นศิลาจารึกขนาดใหญ่โต ขึ้นมาประดิษฐานบนขุนภูบู๊ตึ๊ง อันสูงชันกลางป่าเขาลำไนาไพรหลายสิบยอด นับเป็นงานสร้างระดับชาติ แม้กระทั่งในสมัยปัจจุบันที่มีวิทยาการอันทันสมัย ก็ยังไม่อาจสร้างได้ง่าย ๆ เพราะสิ่งหนึ่งที่องค์จักรพรรดิหย่งเล่อผู้ทรงสร้าง (ในสมัยราชวงศ์หมิง ทรงสร้างในปีค.ศ.๑๔๑๒-๑๔๒๒) ได้มีพระบรมราชโองการกำชับไว้คือ ห้ามดัดแปลงภูมิลักษณ์ของสถานที่โดยเด็ดขาด
1
ดังนั้น ปี้ซี่จึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่จักรพรรดิทรงมีพระบัญชาให้สร้างขึ้น แล้วยังให้ความหมายถึงความเป็นสิริมงคลและอายุยืน ทั้งหมดนี้ ยังคงยืนยงตั้งตระหง่านเพื่อสรรเสริญสดุดีเทพเจ้า จอมปราชญ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถืออย่างสูงยิ่ง มาตราบจนปัจจุบันและชั่วกาลนาน คราวนี้เมื่อเราเห็นเต่าหินแบกศิลาจารึกแผ่นใหญ่ไว้บนหลัง ก็คงรู้จักและเรียกชื่อกันถูกแล้วนะครับ
ซือเหวิ่น องค์ชายรอง ผู้พิสมัยในการกลืนกินไฟ
เวลาเราไปเที่ยวตามพระราชวัง พระวิหารขนาดใหญ่ ในประเทศจีน เรามักจะเห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เกาะอยู่มุมจั่วทั้งสองข้างของหลังคา สัตว์ชนิดนี้มีชื่อเรียกขานกันว่า "ซือเหวิ่น 鸱吻 Chi1 wen3"
1
ตามตำนานกล่าวกันว่า ซือเหวิ่นคือ ลูกมังกรตัวที่สอง หรือ ท่านชายรอง ซือเหวิ่นตัวที่ได้รับการยกย่องทั้งแผ่นดินจีนว่า มีความหล่อเหลาเอาการที่สุด เป็นพระเอกในพระราชวัง พระอารามหลวง สุสานหลวงของจีน คือ ซือเหวิ่นบนหลังคาของรัตนวิหารมหาชาตรี-ต้าสงเป่าเตี้ยน 大雄宝殿 ที่วัดซ่างฮวาเอี้ยนซื่อ 上华严寺 อันใหญ่โต กลางเมืองต้าถง 大同 ภาคเหนือของมณฑลซานซี ซือเหวิ่น คือ องค์ชายรอง มีลักษณะภายนอก หัวเป็นมังกร ปากกว้าง ลำตัวสั้นเป็นปลา มีลักษณะนิสัยชอบมองทิวทัศน์ และชอบกลืนกินสิ่งของต่าง ๆ มีความสามารถในการดับไฟ ชอบกลืนกินไฟ
ดังนั้น ในงานสถาปัตยกรรมในอดีต จึงนิยมนำมาประดับที่จั่วหลังคาทั้งสองด้านของพระราชวัง หรือพระอารามหลวง ไปจนถึงสุสานหลวง เพื่อเป็นเคล็ดในการป้องกันอัคคีภัย และภัยอื่น ๆ ดังเช่น ซือเหวิ่นตัวใหญ่ทีสุดของจีนบนหลังคาพระตำหนักไท่เหอเตี้ยน สถานที่ประทับว่าราชการพระโอรสแห่งสวรรค์ กลางพระราชวังกู้กง กรุงปักกิ่ง ที่มีขนาดความสูงกว่า ๖ เมตร หรือสูงกว่ามนุษย์ถึงสามเท่าครึ่ง และจากการจัดอันดับ ซือเหวิ่น-องค์ชายรอง ตัวที่หล่อเหลาเอาการที่สุด มีลายลายประดับกระเบื้องเคลือบ 琉璃鸱吻 ศีรษะใบหน้าตลอดจนทรวงทรวงองเอวดูเข้มแข็งฮึกหาญ อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีอายุการสร้างในสมัยราชวงศ์จิน 金 (กิมก๊ก) (เมื่อครั้งปกครองดินแดนจีนภาคอีสานและภาคเหนือ ในปีค.ศ.๑๑๔๐) มีขนาดความสูงถึง ๔.๕ เมตร สร้างด้วยกระเบื้องเคลือบ ที่มีลวดลายละเอียดอ่อน สมบูรณ์ในองค์ประกอบทุกประการ ได้สัดส่วนรับกับพระวิหารที่มีขนาดใหญ่โตถึง ๙ ห้อง ลึก ๕ ห้อง (เป็นหนึ่งในพระวิหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน) จึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นซือเหวิ่น ตัวที่หล่อเหลาเอาการที่สุดในปฐพีแดนมังกร ส่วนตัวด้านซ้าย สร้างขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์หมิง ทดแทนตัวเดิมสมัยจินที่ชำรุด อายุประมาณ ๕๐๐ ปี มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดถ้วนถี่แล้ว จะเห็นว่าหล่อเหลาสู้ตัวของราชวงศ์จินไม่ได้เลยจริง ๆ ใช่ไหมครับ...
1
ซือเหวิ่นบนสันหลังคาวิหารและซุ้มประตูในวัดและศาลเจ้าจีนบ้านเราก็มีสวยงามหลายแห่ง ล่าสุดผู้เขียนชื่นชอบซือเหวิ่นที่สันหลังคาซุ้มประตูทางเข้าโรงเจเสี่ยงเข่งตั๊ว ซอยโรงเจ ตลาดพลู ที่ปั้นขึ้นอย่างงดงามน่าชมทีเดียวครับ
 
ผูเหลา องค์ชายสาม ผู้ส่งเสียงดังกังวาน
หากเราสังเกตระฆังเหล็กหรือทองเหลืองหรือสัมฤทธิ์ ที่แขวนอยู่บนราวในพระอารามต่าง ๆ ให้ดี ว่าอาจจะมีสัตว์หน้าตาคล้ายมังกร ประดับอยู่บนหูระฆัง ทั้งที่สลักเสลาอย่างวิจิตรบรรจง ไปจนถึงเรียบง่ายธรรมดา สัตว์มงคลตัวนี้ มีนามกรว่า ผูเหลา 蒲牢 Pu2 Lao2 เป็นลูกมังกรตัวที่สาม หรือ องค์ชายสาม
กล่าวกันว่า ผูเหลา เป็นสัตว์อาศัยอยู่ริมทะเล เกรงกลัวปลาวาฬเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ผูเหลา เห็นปลาวาฬ ก็จะคำรามเสียงดังกังวาน เพื่อขับไล่ปลาวาฬ ดังนั้น จึงมีคตินิยมนำรูปแบบของผูเหลา มาทำเป็นหูระฆัง เพื่อให้เสียงของระฆังดังก้องกังวานไปไกล ดังปรากฎอยู่บนหูระฆังในประเทศจีน หรือ ในประเทศเรา และดินแดนที่มีวัฒนธรรมจีนเผยแพร่ไป ที่ยังจะได้เห็นเจ้าผูเหลาอวดโฉมงามอยู่บนหูระฆัง
โดยเฉพาะที่พิพิธภัณฑ์ต้าจงซื่อ 大钟寺 กรุงปักกิ่ง มีระฆังงาม ๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง หยวน หมิง ชิง นับร้อยใบจัดแสดงอยู่ หลาย ๆ ใบมีผูเหลาที่หล่อขึ้นอย่างประณีตน่าเกรงขามประดับอยู่ เสริมส่งให้ระฆังแต่ละใบดูสง่า สวยงามขึ้นเป็นอันมาก
ในเขตทัศนียภาพของซานชิงซาน 三清山 ขุนภูมรดกโลกของมณฑลเจียงซี มีหินแปลกโดดเด่นอยู่ยอดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า "ผูเหลาหมิงเทียน 蒲牢鸣天 “ ผู้ชมสามารถจินตนาหินแปลกยอดนี้ เป็นรูปผูเหลา องค์ชายสาม กำลังแหงนคอคำรามก้องขึ้นท้องนภา จึงได้รับการยกย่องว่า เป็น "ผูเหลาอันดับหนึ่งในใต้หล้า" 天下第一蒲牢 ตำนานชาวท้องถิ่นกล่าวขานเชิงอิงนิยายว่า ผูเหลาตัวนี้เคยมีชีวิตเมื่อหลายล้านปีก่อน เพราะบริเวณนี้เคยเป็นท้องทะเลมาก่อน ผูเหลาตัวนี้เกรงกลัวปลาวาฬ จึงแหงนคอส่งเสียงขึ้นฟ้า เพื่อขับไล่ปลาวาฬ กระทั่ง เมื่อน้ำทะเลลดลงไปหลายสิบล้านปีแล้ว แต่ผูเหลาตัวนี้ ก็ยังคงยืนยงเป็นหินแปลก อวดโฉมให้เราเห็นมาจวบจนถึงปัจจุบัน...
โปรดติดตาม องค์ชายสี่ ห้า และหกในตอนที่ ๒ ว่าจะชื่ออะไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และใช้ประโยชน์ทำอะไรในมรดกทางวัฒนธรรมของจีน
(อนึ่ง บทความและภาพถ่ายชุดนี้ ผู้เขียนเขียนขึ้นประสบการณ์เดินทางในประเทศจีนนับสิบครั้ง ถ้าท่านใดมีความเห็นแตกต่างกัน ยินดีแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันต่อไปครับ)
ซือเหวิ่นที่หล่อเหลาที่สุดในปฐพีที่วัดซ่างฮวาเอี้ยนซื่อ เมืองต้าถง มณฑลซานซี
ปี้ซี่ เต่ามังกร องค์ชายใหญ่ ผู้เปี่ยมพละกำลัง แบกแผ่นศิลาจารึกบนขุนภูบูตึ๊ง
ผูเหลา องค์ชายสามผู้ส่งเสียงดังกังวาน บนหูระฆัง ในพิพิธภัณฑ์วัดต้าจง กรุงปักกิ่ง
ซือเหวิ่น เง่าฮื๊อ ปลามังกร ที่สันหลังคาซุ้มประตูโรงเจเซี่ยงเข่งตั๊ว ตลาดพลู
ปี้ซี่ แบกแผ่นศิลาจารึกขององค์จักรพรรดิที่ข่งเมี่ยว เมืองชวีฟู่ มณฑลซานตง
โฆษณา