Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โลกหลากสี
•
ติดตาม
13 ก.พ. 2021 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม
แม้ว่าความรักจะมีให้กันได้ทุกวัน
แต่ 13 กุมภาพันธ์ เป็น "วันรักนกเงือก"
สัตว์ที่หลายคนยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้
1
นกเงือกตัวผู้จีบตัวเมียด้วยการป้อนอาหารให้ (ภาพ : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ)
โลกของเรามีนกเงือกอยู่ทั้งหมด 54 ชนิด โดยพบในประเทศไทยถึง 13 ชนิด ได้แก่ นกกก, นกเงือกหัวแรด, นกชนหิน, นกแก๊ก, นกเงือกกรามช้าง, นกเงือกกรามช้างปากเรียบ, นกเงือกคอแดง, นกเงือกดำ, นกเงือกปากดำ, นกเงือกปากย่น, นกเงือกสีน้ำตาล, นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกเงือกหัวหงอก
1
นกเงือกดำตัวผู้ (ซ้าย) และตัวเมีย (ขวา) (ภาพ : รณยุทธ ศรีบุญยานนท์)
นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนักปลูกป่า เพราะว่ามันจะเลือกกินผลไม้สุกไม่น้อยกว่า 200 ชนิด ซึ่งหลายชนิดมีเมล็ดที่ใหญ่เกินกว่าที่นกชนิดอื่นจะสามารถกินได้
หลังจากกินเนื้อของผลไม้สุกหมดแล้ว มันจะขย้อนเมล็ดออกมาทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ ในป่าขณะบิน โดยนกเงือก 1 ตัวจะบินทิ้งเมล็ดพืชประมาณวันละ 100 เมล็ด ซึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 5% ที่สามารถงอกและเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ ทำให้ใน 1 ปีนกเงือกแต่ละตัวจะช่วยเพิ่มปริมาณต้นไม้ในป่าได้ไม่น้อยกว่า 1,800 ต้น และตลอดอายุขัยประมาณ 25 ปีของมัน จะช่วยปลูกป่าได้มากกว่า 45,000 ต้นเลยทีเดียว
1
นกเงือกช่วยกระจายพันธุ์พืช (ภาพ : Dhanu Paran)
นกเงือกเป็นสัตว์ที่หลายคนยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้ โดยชีวิตรักของพวกมันจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่นกตัวผู้บินไปหานกตัวเมียที่ถูกใจ แล้วเข้าไปเกี้ยวพาราสีด้วยการพยายามหาอาหารที่หลากหลายมาป้อน ซึ่งถ้าเมื่อใดที่นกตัวเมียรับอาหารนั้น ก็หมายความว่ามันเริ่มมีใจให้แล้ว
1
แต่เส้นทางรักของนกเงือกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมันจะต้องหาโพรงรังที่เหมาะสมให้ได้ก่อนจะเริ่มชีวิตครอบครัว โดยนกตัวผู้จะเป็นฝ่ายที่บินไปหาโพรงรังตามต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นโพรงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทำทิ้งเอาไว้
นกเงือกตัวเมียจะบินติดสอยห้อยตามนกตัวผู้เพื่อไปดูโพรงรังด้วย โดยมันจะตัดสินใจเลือกดูอย่างดี เพราะจะต้องอยู่ในนั้นอีกนานหลายเดือน
เมื่อได้โพรงรังที่ถูกใจแล้ว คู่รักข้าวใหม่ปลามันจะผสมพันธุ์กัน หลังจากนั้นนกเงือกตัวเมียจะเริ่มทำความสะอาดภายในโพรงรัง เพื่อให้พร้อมสำหรับการวางไข่และเลี้ยงดูลูกน้อยของมันที่จะลืมตาขึ้นมาดูโลก
1
นกเงือกตัวเมียจะหาวัสดุต่าง ๆ มาผสมกับมูลของตัวเองและอาหารที่ขย้อนออกมา ก่อนนำไปพอกไว้ที่ปากโพรง โดยจะเหลือช่องว่างเล็ก ๆ เอาไว้
ปากโพรงรังของนกเงือก (ภาพ : Seema Suresh Neelambari Mohan)
หลังจากนกตัวเมียขังตัวเองไว้ในโพรงรังเรียบร้อยแล้ว มันจะเริ่มวางไข่ และเมื่อเวลาผ่านไป 5-7 สัปดาห์ ลูกนกจะฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งทุกช่วงเวลาเหล่านี้นกตัวผู้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนไรเดอร์ที่บินเอาอาหารมาค่อย ๆ ป้อนให้กับนกตัวเมียถึงปากโพรง
แต่ไม่ใช่ว่าพ่อนกเงือกทุกชนิดจะหาอาหารมาเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง เพราะจากงานวิจัยซึ่งมีการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนกเงือกในธรรมชาติ พบว่ามันจะมีรูปแบบการเลี้ยงลูก 3 แบบ ดังนี้
แบบแรก คือ พ่อนกทำงานนอกบ้านและหาเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง โดยมันจะบินไปหาอาหารมาป้อนให้กับแม่นกและลูกนก ตั้งแต่แม่นกปิดปากโพรง วางไข่ ลูกนกฟักเป็นตัว จนกระทั่งเติบโตออกจากโพรงได้ โดยนกเงือกที่มีรูปแบบการเลี้ยงลูกแบบนี้ ได้แก่ นกแก๊ก นกเงือกคอแดง นกเงือกดำ นกชนหิน นกเงือกปากย่น นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกกรามช้างปากเรียบ
แบบที่สอง คือ พ่อแม่นกช่วยกันดูแลลูก โดยพ่อนกจะหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวจนกระทั่งลูกนกมีอายุได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ แม่นกก็จะออกมาจากโพรงรัง แล้วช่วยพ่อนกหาอาหารเลี้ยงดูลูกต่อไปจนกว่าลูกนกจะออกจากโพรงได้ ซึ่งนกเงือกในกลุ่มนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ นกกก และนกเงือกหัวแรด
แบบที่สาม คือ พ่อนกมีผู้ช่วยเลี้ยง โดยจะมีนกเงือกตัวผู้ตัวอื่นมาช่วยพ่อนกหาอาหาร (อาจมีผู้ช่วยเลี้ยงตั้งแต่ 1-5 ตัว) ซึ่งนกเงือกที่เลี้ยงลูกในลักษณะนี้ ได้แก่ นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกสีน้ำตาล และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว โดยเฉพาะนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวที่จำเป็นจะต้องมีผู้ช่วยเลี้ยง เพื่อให้ลูกนกมีโอกาสรอดตายมากขึ้น
1
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกผู้ช่วยเลี้ยง ซึ่งเป็นนกตัวผู้ที่ยังไม่มีคู่ (ภาพ : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ)
นกเงือกเป็นสัตว์ที่อ่อนโยนมาก สังเกตได้จากวิธีป้อนอาหารของมัน โดยพ่อนกจะค่อย ๆ ขย้อนผลไม้สุกออกมาทีละลูก แล้วป้อนให้กับแม่นกถึงปากอย่างทะนุถนอม โดยจะไม่มีการขย้อนทิ้งไว้ในโพรงรัง แล้วให้แม่นกจิกกินเองเป็นอันขาด
พ่อนกเงือกจะค่อย ๆ ป้อนอาหารให้กับแม่นกที่อยู่ในโพรง (ภาพ : Nisha Purushothaman)
ส่วนถ้าเป็นอาหารพวกสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น แมลง งู กิ้งก่า ปลา ปู กบ เขียด กิ้งกือ ไส้เดือน นก หนู กระรอก ค้างคาว มันก็จะฆ่าให้ตายก่อนจะนำมาป้อน
ปัจจุบันนกเงือกหลายชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากยังคงมีการล่าเพื่อนำไปขาย รวมทั้งมีการตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ในป่าหลายแห่งจนทำให้นกเงือกขาดแคลนโพรงรัง
แม้ว่าสถานการณ์จะน่าเป็นห่วง แต่ความพยายามในการอนุรักษ์ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมี "มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก" เป็นแกนนำสำคัญที่ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่มานานนับสิบปี เพื่อให้นกที่แสนน่ารักชนิดนี้ยังคงอยู่คู่กับป่าของเมืองไทยต่อไป
1
หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรืออยากมีส่วนช่วยอนุรักษ์นกเงือกด้วยการอุปการะครอบครัวนกเงือก สามารถติดต่อผ่านทาง facebook ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
https://th-th.facebook.com/pages/category/Educational-Research-Center/THAILAND-HORNBILL-PROJECT-123945877628621/
ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
http://www.pttreforestation.com/Storyview.cshtml?Id=25
https://bit.ly/2Z7D0UT
http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=40&chap=3&page=t40-3-infodetail05.html
https://web.facebook.com/THAILAND-HORNBILL-PROJECT-123945877628621/?hc_ref=ARSZC1230ISexK6ZQjNatycEw__QzrU5QFPye4e1Ihws-Z1BWJoe0VuZj7sZ-uv29zk&fref=nf&__tn__=kC-R
http://www.pawstrails.com/magazine/the-great-hornbill-remarkable-birds-in-need-of-habitat-protection/
4 บันทึก
27
16
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โลกของสัตว์
4
27
16
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย