20 ม.ค. 2021 เวลา 00:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
พูดถึงจอมโจร อาร์แซน ลูแปง ต่ออีกนิด
นิยายที่ตัวเอกเป็นผู้ร้ายมีไม่น้อย แต่นักเขียนต้องสร้างเสน่ห์บางอย่างให้ตัวละคร จนผู้อ่านหลงรัก ถึงจะเป็นผู้ร้าย ก็ต้องมีนิสัยดี หรืออาจจะกลับใจแล้ว
9
ตอนผมเด็ก มีหนังสือชุดหนึ่งที่โด่งดังในเมืองไทย คือชุด ผู้ร้ายผู้ดี ตัวเอกชื่อ เฮนรี อาร์เธอร์ มิลตัน เจ้าของสมญาว่า ผู้ร้ายผู้ดี (The Ringer) เป็นผู้ร้ายที่ตามล่าเหล่าร้าย
เรื่องนี้เขียนโดย Edgar Wallace แปลโดย มาคสิร (สมัคร เสาวรส อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกรและพิมพ์ไทยในยุคก่อน) สนุกดี
นอกจากนี้ก็มีหนังสือชุด อาร์แซน ลูแปง ในห้องสมุดให้อ่านคู่กับชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์
บรรยากาศการอ่านหนังสือเวลานั้นดีกว่าสมัยนี้ร้อยเท่า ผู้คนสามารถอ่านนิยายยาวๆ ได้โดยไม่มีคำว่า "ช่วยย่อให้หน่อย"
เพราะอรรถรสของการอ่านนั้น ไม่มีอะไรมาแทนได้
เวลานั้นชุด อาร์แซน ลูแปง อาจไม่ดังเท่าชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ แต่ก็มีมากมายหลายเรื่อง เป็นผลงานของนักเขียนฝรั่งเศส มอริซ เลอบลองค์ (Maurice Leblanc)
เลอบลองค์เรียนหนังสือไม่จบ แล้วไปปักหลักที่ปารีส หากินกับการเขียนหนังสือ ทำท่าจะได้เป็นนักประพันธ์ไส้แห้ง จนกระทั่งแต่งเรื่อง อาร์แซน ลูแปง คราวนี้เขาได้เกิดเต็มตัว เพราะเรื่องนี้ดังระเบิด
เดิมทีตัวละครคนนี้ชื่อ อาร์แซน โลแปง แต่ชื่อไปตรงกับคนจริง จึงเปลี่ยน โลแปง เป็นลูแปง ตั้งใจให้เก่งแบบ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ของอังกฤษ แต่เป็นโจร
อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์ ที่เขียน เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ไม่กี่เรื่องแล้วขอเลิก เพราะอยากไปทำงานวรรณกรรมสายอื่นบ้าง ดอยล์ตัดสินใจหักปากกาให้ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ตกเขาตาย ปรากฏว่าผู้อ่านทั้งประเทศด่าอึง พากันยกเลิกการเป็นสมาชิกนิตยสาร และบังคับให้เขาเขียนต่อ ในที่สุดด้วยแรงกดดันจากสาธารณะ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ก็ฟื้นขึ้น
2
คนไม่ติดหรอกว่าตกเขาแล้วทำไมไม่ตาย ขอให้ไม่ตายก็แล้วกัน
2
ส่วนเลอบลองค์ขอไม่เจริญรอยตามท่านดอยล์ เขาเขียน อาร์แซน ลูแปง ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นบ่อทอง คนอ่านชอบอย่างยิ่ง ผลก็คือเขาใช้เวลาทั้งชีวิตเขียนนิยาย อาร์แซน ลูแปง เป็นนวนิยายยาว 17 เรื่อง นวนิยายขนาดสั้น 39 เรื่อง และรวมเรื่องสั้นอีก 24 เล่ม
หากินกับสุภาพบุรุษจอมโจรไปจนตาย
นอกจากนั้นยังเขียนลามไปถึง เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ด้วย ในเรื่องสั้นชื่อ Sherlock Holmes Arrives Too Late (1906) เลอบลองค์แต่งเรื่องให้ อาร์แซน ลูแปง เจอ เชอร์ล็อค โฮล์มส์
ผลก็คือถูกเจ้าของงาน Sherlock Holmes ประท้วง ตามมาด้วยเลอบลองค์ยอมแก้ไขงานเรื่องนี้ โดยเปลี่ยนชื่อสุภาพบุรุษนักสืบอังกฤษเป็น Herlock Sholmes
1
ถึง พ.ศ. นี้งานทั้งชุด อาร์แซน ลูแปง และ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ก็ไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป ใครจะนำตัวละครสองคนนี้ไปแต่งใหม่ ก็ไม่ผิดกฎหมาย
2
ปัญหาคือ 1 ฝีมือถึงหรือเปล่า และ 2 เขียนดีแค่ไหน เครดิตก็ยังตกเป็นของนักเขียนต้นแบบ
อย่างไรก็ตาม ก็มีคนทำ โดยเฉพาะ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ มีนักเขียนทั่วโลกนำไปเขียนต่อ เข้าใจว่ามีฉบับหนึ่งที่ใช้ฉากเมืองไทยด้วย
1
นักสืบ พุ่มรัก พานสิงห์ ก็อยากเจอ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ และ อาร์แซน ลูแปง นะ แต่เวลามันไม่ได้ ยกเว้นจะนั่งยานเวลาไปเจอกัน
2
แต่มันจะกลายเป็นนิยายไซไฟไป
(หมายเหตุ ทั้งชุด อาร์แซน ลูแปง อาจไม่ดังเท่าชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ฉบับภาษาไทยยังมีขาย ส่วนชุดผู้ร้ายผู้ดี มีเฉพาะในร้านหนังสือมือสอง)
โฆษณา