19 ม.ค. 2021 เวลา 11:11 • สุขภาพ
NEW YEAR SAME COVID-19: ปีนี้ เราจะติดกันรึยัง?!
.
จบปี 2020 แล้ว ทำไมโควิดก็ยังไม่ไปจากเราสักที...เรายังกังวลไม่ว่าจะไปที่ไหน จะมีล็อกดาวน์อีกไหม จะติดโรคนี้หรือเปล่า คนรอบตัวเราจะเป็นอย่างไร จะได้เจอครอบครัวที่บ้านไหม ผลกระทบของโรค มีมากมาย ตั้งแต่ชีวิตของประชาชน ไปจนถึงระดับประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นเราต่างป้องกันสุดวิธี การ์ดก็ไม่เคยตก ล้างมือ ใส่หน้ากากกันตลอด แต่ทำไมอุตส่าห์ทน “เจ็บ” แต่ โควิด “ไม่จบ” สักที แล้วเราจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าไม่ได้รับการร่วมมือที่จากทางภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
.
CONNEXTER ขอนำเสนอบทเรียนการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ทั้งมาตรการ วิธีการรับมือ การป้องกัน และการจัดการในปีที่ผ่านและในปีนี้ด้วยเช่นกัน
---------[วัคซีน]---------
ปีที่ผ่านมา ไทยได้มีการสั่งจองซื้อวัคซีนจาก บริษัท AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส แต่วัคซีนเพียงพอแค่ 13 ล้านคนเท่านั้น แล้วประชาชนอีก 53 ล้านคนนี่จะไม่ให้พวกเขาฉีด ล่าสุดในต้นปีก็พึ่งจะมีการประกาศจะนำเข้าวัคซีนจากบริษัท SinoVac ของจีน ซึ่งหลังจากนั้นกลุ่มซีพีได้ลงทุน 515 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้น 15% ของบริษัท SinoVac...ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงค์โปร์ได้รับวัคซีนจากบริษัท Pfizer และ BioNTech ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชีย และจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนและผู้พำนักระยะยาวฟรีทุกคน หรือ มาเลเซียที่สั่งซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนทุกคนฟรี ล่าสุดที่ลาวนั้นได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครแล้ว 200 คน อย่างไรก็ตามไทยเองได้มีมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์พัฒนา “วัคซีนเพื่อคนไทย” โดยเปิดรับบริจาคทุนวิจัย 500 บาทจากประชาชนคนไทย1ล้านคน และคาดว่าจะได้ใช้ปลายปี 2021…
---------[หน่วยงานรับมือโควิด-19]---------
ประเทศไทยเรามีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับมือเฉพาะโรคโควิด-19 คือ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีหน้าที่ในการทั้งการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งการ ประสานงานกับผู้ว่าราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงจัดการข้อมูลรวมถึงแจ้งถึงยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน...แต่หากลองดูประเทศในแถบเอเชียที่ไหวตัวรับมือตั้งแต่โควิด-19 ยังไม่ระบาดในต้นปี 2020 นั่นก็คือ “ไต้หวัน” ซึ่งเป็นประเทศที่เตรียมรับมือป้องกันเป็นประเทศแรกๆ โดยมีหน่วยงานเพื่อรับมือกับโรคระบาดและโควิด-19 ก็คือ Central Epidemic Command Center (CECC) ที่ดำเนินนโยบายทั้งการรับมือเที่ยวบินจากอู่ฮั่น การติดตามข้อมูลของผู้เดินทางเข้าประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง การปิดพรมแดนกับจีน รวมทั้งการปิดประเทศอย่างรวดเร็ว
---------[มาตรการหน้ากากอนามัย]---------
ในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมานั้นหลายๆคนต่างเดือดร้อนที่ไม่สามารถหาหน้ากากอนามัย หรือเจอแต่หน้ากากที่ขายในราคาแพงมาก ถึงแม้ว่าทางการมีประกาศไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนหน้ากากมีเพียงพอ รวมถึงมีการลงโทษหากขายแพงกว่าราคาที่กำหนด...แต่หน้ากากอนามัยก็กลับหายไป และหน้ากากก็ยังมีราคาแพงอยู่? สำหรับประเทศไทยเองก็มีนโยบายการแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชน 3 ชิ้นต่อคน แจกวันละ 100,000 ชิ้นต่อวัน โดยรับได้ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลา 2 วัน ในขณะที่รัฐบาลไต้หวันมีการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในทางการแพทย์ และการจัดสรรทรัพยากร เช่น การจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการกักตุนและการโก่งราคาของหน้ากากอนามัย โดยเพียงนำบัตรประกันสังคมไปเสียบกับเครื่องมือที่ร้านขายยา ร้านขายยาจะเห็นข้อมูลในระบบ เช่น ซื้อไปกี่ชิ้น ซื้อได้อีกเท่าไหรในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือ เดือน อีกทั้งยังเป็นการช่วยในเรื่องของการวางแผนการผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัยในแต่ละพื้นที่ของผู้ประกอบการอีกด้วย
------[มาตรการการล็อกดาวน์ และแอปพลิเคชั่นสำหรับโควิด-19]---------
ประเทศไทย ทางภาครัฐเองก็มีมาตรการทั้งการปิดประเทศ ล็อกดาวน์ งดการนั่งในร้านอาหาร เพื่อให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด และการจัดทำแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ที่ใช้สแกนเวลาไปที่ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ประกอบกับแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ที่พัฒนาโดยทีมงานอาสาพัฒนาซึ่งภายหลังถูกควบคุมโดยรัฐบาลทั้งหมด โดยแอปนี้ใช้บันทึกว่าผู้ใช้งานไปที่ไหนมาบ้าง ซึ่งก็มีประเด็นเกี่ยวกับการใช้งานโดยเฉพาะการประเมินว่าผู้ใช้งานมีระดับความเสี่ยงเป็นโรคหรือไม่ อีกทั้งยังมีประเด็นของการสื่อสารว่าถ้าหากไม่โหลด “หมอชนะ” จะผิดกฎหมายถึงขั้นติดคุกเลยทีเดียว รวมถึงโครงการช่วยเหลือในการใช้จ่าย สำหรับผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้ทันเวลาในจำนวนจำกัดทั้ง “เราไม่ทิ้งกัน” และ “คนละครึ่ง” ซึ่งนั่นเป็นการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่!?...
ในขณะที่ประเทศทางฝั่งยุโรปมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก จนถึงขั้นต้องมีการล็อกดาวน์ในช่วงปีใหม่ ทั้งสหราชอาณาจักร และ เยอรมัน แต่ก็มีประเทศที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคได้ดี ประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิต “ฟินแลนด์”
แล้วทำไมฟินแลนด์ถึงรับมือได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรป?
.
เนื่องจากการรับมือที่รวดเร็วของทางภาครัฐ มีมาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลา 2 เดือน งดการเดินทางจากเมืองหลวงไปยังพื้นที่ต่างๆ ร้านอาหารถูกปิด โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปิดและมีการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ ภาครัฐเองมีมาตรการรองรับจากการล็อกดาวน์ สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลจากการแพร่ระบาด ทั้งการช่วยสนับสนุนในเรื่องของต้นทุน รวมทั้งภาษี ส่วนนักเรียนนักศึกษาต้องเรียนหนังสือที่บ้านแทนแต่ด้วยความพร้อมในการเข้าถึงเทคโนโลยี เรื่องดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นอุปสรรคของชาวฟินแลนด์เท่าไหร ยิ่งไปกว่านั้นที่ฟินแลนด์นั้นยังมีแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “Koronavikku (Corona Flash) จัดทำโดย The Finnish Institue for Health and Welfare (THL) เพื่อใช้ในการติดตามและช่วยให้ผู้ใช้งานรับรู้ว่าเคยไปสถานที่ที่ใกล้เคียงกับการระบาดของโรคหรือไม่ รวมถึงสามารถระบุว่าตัวเรานั้นมีอาการเจ็บป่วย หรือติดโควิด-19 อยู่หรือไม่ ซึ่งการใช้งานเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยหลักการทำงานของแอปพลิเคชั่นคือ การสร้างรหัสแบบสุ่มผ่านโทรศัพท์ของคุณและจะส่งรหัสไปหาคนที่อยู่ใบริเวณใกล้เคียง ถ้าหากคุณอยู่ใกล้กับคนที่เคยรายงานว่ามีอาการป่วย คุณจะได้รับการแจ้งเตือนว่าเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคุณถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 จะมีระบบบริการสุขภาพส่งรหัสมาหาคุณ เมื่อคุณกดรหัสดังกล่าวจะมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานคนอื่นๆที่เคยอยู่ใกล้เคียงกับคุณว่ามีโอกาสสุ่มเสี่ยงอยู่ในที่แพร่ระบาด
ในการระบาดรอบใหม่นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด? เราจะเป็นอย่างไรต่อไป ภาครัฐจะมีนโยบายอะไรที่จะสามารถช่วยให้ประชาชนได้รอดจากการแพร่ระบาด รวมถึง การอยู่รอดทางเศรษฐกิจได้บ้าง ตอนนี้คงได้แต่ขอพรวันปีใหม่หรือรอโชคชะตาให้ถูกรางวัลที่หนึ่งเท่านั้นใช่ไหม ยังหรอกผู้เขียนยังมีความหวังกับสังคมและบ้านเราที่มีศักยภาพ ทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างกับการแพร่ระบาดและการรับมือครั้งนี้……..
แหล่งที่มา:
โฆษณา