19 ม.ค. 2021 เวลา 12:50 • ประวัติศาสตร์
“พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”
แสตมป์ชุด เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
แสตมป์ชุด เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
วันแรกจำหน่าย 4 สิงหาคม 2526
พิมพ์ที่ Harrison & Sons (High Wycombe) Ltd., England
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคา (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
1.25 บาท 4,000,000 25 บาท 5 บาท
หากพูดถึงบุคคลผู้มีบทบาทในการพัฒนาแผ่นดินสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์หนึ่งที่มีสำคัญคือ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อ วันพุธ เดือนยี่ แรม 4 ค่ำ ปีมะแม เอกศก จุลศักราช 1221 ตรงกับวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2402 ณ พระตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระศรีสลาไลย ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์”
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ ถวายงานสนองเบื้องพระยุคคลบาทหลาด้าน ทั้งในกิจการทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการไปรษณีย์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรกของประเทศ โดยทรงปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ของสยามให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย พระองค์จึงได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณเป็น “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”
ทรงเป็นบุคคลแรกในการริเริ่มกิจการด้านสื่อสารไปรษณีย์ให้เกิดขึ้นในสยามประเทศ เริ่มที่กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2418 ทรงร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์อีก 10 พระองค์ จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “COURT” ก่อนเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่า “ข่าวราชการ” เพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อราชการและความเป็นไปในราชสำนัก ข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองเฉพาะในหมู่เจ้านายเป็นสำคัญ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ หอนิเพทพิทยา ในพระบรมมหาราชวัง
หนังสือพิมพ์ “COURT” ออกฉบับแรกเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2418 ในชั้นต้นองค์คณะผู้ดำเนินการตั้งพระทัยจะทูลเกล้าฯ ถวายและแจกกันในหมู่เจ้านาย โดยในช่วงแรกนั้นผู้รับหนังสือต้องไปรับที่สำนักงาน ณ หอนิเพทพิทยา ในพระบรมมหาราชวัง แต่ต่อมาเกิดภาระในการจัดเก็บมากขึ้น จึงโปรดให้มีบุรุษหนังสือ หรือ “โปศตแมน” (Postman) เพื่อนำส่งให้สมาชิกในตอนเช้าทุกวัน โดยคิดค่าบอกรับหนังสือปีละ 10 บาท ค่านำส่งปีละ 2 บาท พร้อมกันนั้นทรงจัดพิมพ์ “ตั๋วแสตมป์” เพื่อใช้เป็นค่าบริการส่งหนังสือที่จะจำหน่ายแก่สมาชิกผู้รับหนังสือข่าวราชการ
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อชาติบ้านเมืองอย่างมาก ทั้งในฐานะที่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และดำรงตำแหน่งราชการสำคัญ ๆ ของชาติในสมัยนั้น จึงได้รับพระสมัญญาว่า “ทรงเป็นหลักเมืองหรือหลักแผ่นดินของชาติ”
อนุสาวรีย์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ตั้งอยู่หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ขณะพระชันษา 69 พรรษา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ที่มาของข้อมูล
ขอบคุณที่ติดตามครับ
โฆษณา