21 ม.ค. 2021 เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์
จัดระเบียบชีวิต พิชิตเป้าหมายปีนี้
ด้วยการเขียน BuJo (Bullet Journal)
เคยไหมนะ ตั้งปณิธานปีใหม่ไว้เสียดิบดี เช่น อยากจะลดน้ำหนัก อยากจะกินของที่มีประโยชน์ อยากเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น แต่ไม่ทันพ้นสัปดาห์ ก็หลงลืมหรือไม่ได้ทำตามแผนที่วางเอาไว้เสียแล้ว
หากพี่ๆ เป็นคนหนึ่งที่มักจะเจอปัญหาลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ ก็อย่าเพิ่งท้อใจไปนะคะ เพราะวันนี้ยังแฮปปี้มีของวิเศษที่จะมาช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการพิชิตเป้าหมายในปีนี้ มาแนะนำให้ทุกคนรู้จัก ซึ่งของวิเศษที่ว่านี้ก็คือ ‘สมุดบันทึก’ นั่นเอง
ลองมาดูกันว่า การใช้สมุดบันทึกและการจดบันทึก ด้วยการเขียน BuJo (Bullet Journal) จะช่วยให้วัยเก๋าพิชิตเป้าหมายได้อย่างไร ไปติดตามกันได้เลย
BuJo สารพัดประโยชน์ในเล่มเดียว
BuJo (Bullet Journal) หรือ บูโจ คือวิธีการจดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างลงในสมุด 1 เล่มอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ระบบที่ว่าถูกคิดค้นขึ้นมาโดย Ryder Carroll นักออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัลชาวออสเตรีย ซึ่งแนวคิดบูโจนี้ ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ bulletjournal.com ตั้งแต่ปี 2013 และเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วโลก ว่าวิธีการบันทึกนี้ ช่วยให้พวกเขาจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น สามารถตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิตได้ และรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้เวลาอย่างเต็มที่เพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต
สำหรับสมุดที่ใช้ในการบันทึกแบบบูโจ ขอแนะนำให้ใช้สมุดปกแข็ง เพราะเป็นสมุดที่ต้องอยู่กับเราทั้งปี จึงต้องทนไม้ทนมือสักหน่อย จะเป็นแบบมีเส้นหรือไม่มีเส้นก็ได้ ตามความชอบของเราได้เลย
หลักการเบื้องต้นในการเขียนบูโจ
การจดบันทึกแบบบูโจไม่ยาก แต่ช่วงแรกๆ เราอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจระบบและหลักการเขียน 5 องค์ประกอบหลักๆ ดังต่อไปนี้
1.สารบัญ (Index)
สร้างหน้าสารบัญขึ้นมาในหน้าแรกๆ ของสมุด ใส่หัวข้อและเลขหน้า เพื่อความง่ายในการสืบค้นบันทึกภายในสมุด
2.เป้าหมายในอนาคต (Future Log)
เขียนเป้าหมายและภาพรวมของปีนี้ หากรู้งานใหญ่ๆ ที่ต้องทำหรือกิจกรรมใหญ่ๆ ที่ต้องเข้าร่วมล่วงหน้า ก็จดลงไปได้เลย เพื่อที่จะวางแผนอื่นๆ เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเราได้
3.สิ่งที่ต้องทำประจำเดือน (Monthly Log)
ลงรายละเอียดในแต่ละวันว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม นัดกินข้าวกับครอบครัว หรือนัดไปเที่ยวกับเพื่อน
4.สิ่งที่ต้องทำและไอเดียต่างๆ (Weekly/ Daily Log)
รายละเอียดของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละสัปดาห์และแต่ละวัน โดยตรงจุดนี้จะมีการใช้สัญลักษณ์ (Key) ในการกำกับความสำคัญ หรือสถานะของกิจกรรมนั้นๆ ได้แก่
• คือ สิ่งที่ต้องทำในวันนั้น
O คือ กิจกรรมหรือเหตุการณ์
– คือ จดโน้ตช่วยจำสั้นๆ
* คือ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
! คือ แรงบันดาลใจหรือไอเดียต่างๆ
5.หมวดหมู่ (Collection)
พื้นที่รวบรวมไอเดียที่กระจัดกระจายอยู่ในสมุด นำมารวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการทบทวน ย้ำเตือนและจดจำ
ทำไมจึงควรจดบันทึกด้วยมือ
จริงๆ แล้ว การจดบันทึกแบบบูโจไม่ได้บังคับว่าต้องจดลงสมุดเท่านั้น เราสามารถทำใส่ในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือก็ได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอด จะไม่ปล่อยให้เราจดจ่อกับเรื่องตรงหน้าได้เต็มที่ แต่กับหน้าสมุดเปล่าๆ จะไม่มีสิ่งรบกวนที่ทำให้เราเสียสมาธิ สมองของเราจะได้พักทบทวนเรื่องต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น
 
สุดท้าย การจดบันทึกแบบบูโจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้พี่ๆ สามารถวางแผน ตรวจสอบ และทบทวนผลลัพธ์ของสิ่งที่อยากทำ ว่ายังอยู่บนเส้นทางที่มุ่งสู่เป้าหมายของตัวเองหรือไม่ ส่วนเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ คือการที่เราใช้เวลาในการวางแผนให้ตรงจุดและกระชับที่สุด พยายามทำตามแผนที่วางไว้ให้ครบ ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาเพื่อนำมาปรับปรุงปัจจุบันให้ดีขึ้น ไม่กดดันตัวเอง และมีความสุขกับทุกย่างก้าวที่ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในทุกๆ วัน
 
สุดท้ายนี้ ยังแฮปปี้ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่ๆ ผู้สูงอายุทุกคนในการพิชิตเป้าหมายในปีนี้นะจ๊ะ
 
อ้างอิง
#YoungHappy #ยังแฮปปี้ #สังคมความสุขของคนวัยเก๋า #ผู้สูงอายุ #สูงวัย
ดาวน์โหลดแอปฯ YoungHappy ได้ที่
.
ติดต่อเรา
CALL CENTER: 06-5506-2889
โฆษณา