20 ม.ค. 2021 เวลา 04:00 • ปรัชญา
จูดิธ บัทเลอร์กับสันติวิธีแบบก้าวร้าว
เป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่านจบในปีนี้ สนุกดี อ่านแล้วติด วางไม่ค่อยลง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือจูดิธ บัทเลอร์ นักปรัชญาสายวิพากษ์ชื่อดังชาวอเมริกัน ข้อเสนอหลักของบัทเลอร์ในหนังสือคือการพิจารณาสันติวิธีในฐานะปฏิบัติการทางการเมืองที่ก้าวร้าว (non-violence is an aggressive act of politics) หรือก็คือ การเสนอว่าสันติวิธีไม่ควรเป็นการเคลื่อนไหวเชิงรับที่อาศัยความอดกลั้นและสงบใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามและใช้กำลังของอีกฝ่าย แต่ควรเป็นการเคลื่อนไหวแบบก้าวร้าวที่ไม่ลังเลหากต้องใช้กำลังกวาดล้างอุปสรรคภายใต้เป้าหมายสำคัญคือพิทักษ์ปกป้องทุกชีวิตอย่างเสมอหน้าไม่แบ่งแยก ในแง่นี้ สันติวิธีสำหรับบัทเลอร์จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับปฏิบัติการทางการเมืองที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคอย่างสุดขั้ว นั่นก็คือความเสมอภาคที่ทุกชีวิตต่างก็มีค่าอย่างเท่าเทียมกัน และดังนั้น สันติวิธีจึงเป็นปกปักษ์โดยตรงกับความไม่เสมอภาคในสังคม โดยเฉพาะความไม่เสมอภาคในการให้คุณค่าที่กดทับบางชีวิตว่าต่ำต้อยด้อยค่ากว่าชีวิตอื่นๆ คู่ตรงข้ามกับสันติวิธีอย่างความรุนแรง--ในสายตาของบัทเลอร์-- จึงไม่ใช่แค่การกระทำที่มุ่งทำร้ายร่างกายและชีวิตของอีกฝ่าย หากแต่ยังรวมไปถึงระบบความคิด/ความรู้ที่กำกับความรู้สึกของผู้คนในสังคมให้สามารถลดทอนคุณค่าของบางชีวิตว่าต้อยต่ำกว่าชีวิตอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ หากสันติวิธีคือปฏิบัติการที่มุ่งปกป้องทุกชีวิตอย่างเสมอภาคเท่าเทียม อุปสรรคที่สันติวิธีจำเป็นต้องทำลายก็คงเป็นอย่างอื่นไปเสียไม่ได้นอกจากแบบแผนความคิด/ความรู้ที่ส่งเสริมความไม่เท่าเทียมในการประเมินคุณค่าของชีวิต แบบแผนความคิด/ความรู้ซึ่งบัทเลอร์เรียกว่าชีวการเมือง หรือ biopolitics
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมืองมาบ้าง อาจพอทราบว่าชีวการเมืองเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญของมิเชล ฟูโกต์ นักปรัชญาและประวัติศาสตร์ระบบคิดผู้โด่งดัง ซึ่งเสนอว่าชีวการเมืองคือรูปแบบการทำงานของอำนาจการเมืองที่ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้าโดยถือเป็นอำนาจที่แตกต่างจากอำนาจขององค์อธิปัตย์ในศตวรรษก่อนหน้า กล่าวคือในขณะที่อำนาจขององค์อธิปัตย์จะเป็นอำนาจที่ตั้งอยู่บนการพรากหรือไว้ชีวิต (take life or let live) ซึ่งก็คืออำนาจที่ให้ความสำคัญกับการฆ่าหรือมอบความตายให้กับอีกฝ่าย (เพื่อแลกกับการสวามิภักดิ์ต่อตัวองค์อธิปัตย์) ชีวการเมืองกลับเป็นอำนาจที่วางอยู่บนพัฒนาการทางการแพทย์และองค์ความรู้ด้านชีววิทยาซึ่งให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะและส่งเสริมการใช้ชีวิตของประชากรผู้ถูกปกครอง จึงเป็นอำนาจที่มุ่งฟูมฟักและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากร ชีวิตจึงเป็นหัวใจของชีวการเมือง ชีวิต (ภายใต้กลไกการทำงานของชีวการเมือง) คือช่องทางที่เปิดให้อำนาจสามารถแทรกเข้ามากำกับพฤติกรรม/ความคิด/ความรู้ของประชากรเพื่อทำให้ประชากรยอมตนเป็นวัตถุใต้บงการของอำนาจในสังคมการเมืองต่อไป กระนั้น เนื่องจากชีวิตอันเป็นเป้าหมายของชีวการเมืองนี้—สำหรับฟูโกต์—คือชีวิตของประชากรในสังคมการเมืองหนึ่งๆ การฟูมฟักและส่งเสริมชีวิตภายใต้กลไกของชีวการเมืองจึงเป็นการฟูมฟักและส่งเสริมชีวิตของผู้ที่ถูกนับเป็นประชากรเท่านั้น ไม่มีชีวิตก่อนประชากร ชีวิตที่ถูกนับว่าเป็น “ชีวิต” คือชีวิตของผู้เป็นประชากร ซึ่งย่อมหมายความในทางกลับกันว่าผู้ที่ไม่ถูกนับเป็นประชากรย่อมจะไม่ถูกถือว่ามี “ชีวิต” ชีวอำนาจ (ตามที่ฟูโกต์บรรยาย) จึงเป็นอำนาจที่ตั้งอยู่บนการส่งเสริมชีวิตให้กับผู้ที่ถูกนับเป็นประชากรควบคู่ไปกับการทอดทิ้ง เมินเฉย กระทั่งทำลาย ผู้ที่ไม่ถูกนับเป็นประชากร (หรือผู้ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อชีวิตของประชากร) ดังนั้น ถ้าอำนาจขององค์อธิปัตย์คืออำนาจของการพรากหรือไว้ชีวิต ชีวการเมืองก็คืออำนาจในการสร้างชีวิตหรือปล่อยให้ตาย (make live or let die) นั่นก็คืออำนาจแห่งการฟูมฟักชีวิตของประชากรที่มาพร้อมๆกับการทอดทิ้งชีวิตของผู้ที่ไม่ถูกนับเป็นประชากร
การเน้นลักษณะเด่นของชีวการเมืองว่าเป็นอำนาจในการสร้างชีวิตหรือปล่อยให้ตายข้างต้น ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับทำความเข้าใจทัศนะเรื่องความรุนแรงของบัทเลอร์ เพราะดังที่ได้อธิบายไปตั้งแต่ต้นว่าความรุนแรงสำหรับบัทเลอร์นั้น หาใช่แค่เรื่องของการกระทำที่มุ่งทำร้ายร่างกายและชีวิตของอีกฝ่าย หากแต่ยังรวมไปถึงระบบความคิด/ความรู้ที่กำกับให้ผู้คนในสังคมรู้สึกว่าชีวิตบางชีวิตด้อยค่ากว่าชีวิตอื่นๆ ในแง่นี้ ถ้าชีวการเมืองคือเงื่อนไขของอำนาจที่ทำงานในสังคมการเมืองร่วมสมัย เงื่อนไขดังกล่าวก็คือต้นตอสำคัญของความรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งก็คือความรุนแรงอันเกิดมาจากการแบ่งแยกให้บางชีวิตเป็นชีวิตที่ด้อยค่ากระทั่งไม่ถูกนับว่าเป็นชีวิต จนตัวมันเองตกเป็นเป้าของความรุนแรงทางกายภาพโดยที่ไม่มีใครตะขิดตะขวงใจ เพราะเมื่อไม่ถูกนับว่ามีชีวิตความรุนแรงที่เกิดขึ้นกระทั่งความตายต่อชีวิตนั้นๆก็ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอโดยที่ความตายหรือการสูญเสียชีวิตดังกล่าวอาจไม่สามารถนับว่าเป็น “ความตาย” หรือการ “สูญเสีย” ได้ด้วยซ้ำ นั่นจึงไม่แปลก ที่นอกจากจะเป็นอำนาจซึ่งขับเคลื่อนผ่านการแบ่งแยกว่าชีวิตของใครที่ต้องดูแลฟูมฟักและชีวิตของใครที่อาจถูกละทิ้งหรือทำลายได้แล้ว ชีวการเมือง—ในสายตาของบัทเลอร์—ยังเป็นอำนาจที่ทำงานผ่านการกำหนดความรู้สึกว่าชีวิตของใครคือชีวิตที่ควรโศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสีย และการสูญเสียชีวิตของใครที่ไม่จำเป็นต้องเศร้าโศกด้วยถือว่าชีวิตดังกล่าวไม่ได้ถูกนับว่าเป็นชีวิตตั้งแต่ต้น สำหรับบัทเลอร์ คงไม่มีอะไรที่รุนแรงมากไปกว่าการทำให้ความตายไม่อาจถูกนับได้ว่าเป็นความตาย หรือก็คือการทำให้ความสูญเสียไม่สามารถเรียกได้ว่าความสูญเสีย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนสัมพันธ์โดยตรงกับความไม่เสมอภาคของการกำหนดความโศกเศร้าในสังคมการเมือง (the unequal attribution of grievability) อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ถึงตรงนี้ บัทเลอร์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าชีวการเมืองซึ่งทำงานผ่านการจัดวางความโศกเศร้า (ต่อการสูญเสียชีวิต) อย่างไม่เสมอภาคนั้น คือรูปธรรมของวิธีคิดแบบปัจเจกนิยม (logics of individualism) ที่มองตัวตนหรือ self ของบุคคลหนึ่งๆว่าเป็นสิ่งที่แยกขาดอย่างเป็นเอกเทศต่อการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งหรือตัวตนของบุคคลอื่นๆ การให้ความสำคัญกับตัวตนส่วนบุคคลโดยแยกออกจากสรรพสิ่งรายล้อมรอบข้างนี้ถือเป็นหัวใจหลักที่นำมาสู่การแบ่งแยกคุณค่าของชีวิต เนื่องจากวิธีคิดดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตของปัจเจกผู้เป็นเจ้าของตัวตนเหนือกว่าการปกป้องความสัมพันธ์ที่ร้อยรัดชีวิตดังกล่าวกับสรรพสิ่งอื่นๆ ทำให้การปกป้องชีวิตของตัวตนส่วนบุคคลกลายเป็นข้อยกเว้นจากการใช้สันติวิธี โดยเฉพาะวิธีคิดเรื่องการป้องกันตนเองหรือ self-defense ซึ่งบัทเลอร์มองว่าเป็นรูปธรรมของวิธีคิดที่ปิดกั้นปฏิบัติการของสันติวิธีในแง่ที่ว่า แม้ความรุนแรงอาจเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำต้องห้ามที่ทุกคนไม่ควรกระทำต่ออีกฝ่าย แต่การกระทำต้องห้ามดังกล่าวก็อาจถูกยกเว้นได้ทันทีหากผลของการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องชีวิตของผู้กระทำเอง แน่นอน หากพิจารณาเพียงผิวเผิน ข้อยกเว้นต่อสันติวิธีโดยตั้งอยู่บนการป้องกันตนเองนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ (เพราะทุกคนย่อมรักในชีวิตของตนเองและดังนั้นจึงไม่แปลกหากความรุนแรงจะถูกใช้เพื่อปกป้องชีวิตดังกล่าว) แต่บัทเลอร์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าตัวตนส่วนบุคคลสามารถเป็นข้อยกเว้นต่อสันติวิธีได้ ทุกๆสรรพสิ่งที่ถูกถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างตัวตนส่วนบุคคลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง พรรคพวก เผ่าพันธุ์หรือชาติ ก็ย่อมเป็นข้อยกเว้นต่อสันติวิธีได้เช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าการป้องกันตนเองคือข้อยกเว้นต่อการใช้สันติวิธี สิ่งที่เรียกว่าตัวตนของตนเองก็อาจสามารถขยายขอบเขตกินความไปถึงพรรคพวก พี่น้อง หรือชาติพันธ์ที่ตัวตนดังกล่าวพิจารณาว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการดำรงอยู่ของตัวมันเองตามไปด้วย แน่นอน นี่ย่อมไม่ได้หมายความว่าบัทเลอร์กำลังเสนอให้นักสันติวิธีงอมืองอเท้าเมื่อเผชิญหน้ากับการใช้กำลังของอีกฝ่าย เพราะประเด็นจริงๆของบัทเลอร์ตรงนี้ คือการชี้ให้เห็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สันติวิธีขาดการยอมรับหรือไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ อุปสรรคซึ่งก็คือระเบียบวิธีคิดของสังคมที่ให้ความสำคัญกับการแยกขาดตัวตนของปัจเจกคนหนึ่งจากสรรพสิ่งและตัวตนของปัจเจกคนอื่นๆ จนเปิดช่องกลายเป็นที่ทางความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง (ในนามของการปกป้องตัวตนของปัจเจกผู้นั้น)
นั่นจึงไม่แปลก ที่บัทเลอร์จะปฏิเสธวิธีคิดแบบปัจเจกนิยม ตลอดไปจนถึงการพิจารณาตัวตนเชิงปัจเจก เพราะนอกจากจะเป็นอริกับสันติวิธีที่ตัวบัทเลอร์ต้องการนำเสนอแล้ว วิธีคิดดังกล่าวยังปฏิเสธความเป็นจริงทางกายภาพว่ามนุษย์ล้วนมีร่างกายที่เปราะบางและดังนั้นจึงต้องพึ่งพาอาศัยสรรพสิ่งและตัวตนอื่นๆอยู่เสมอ สำหรับบัทเลอร์ สิ่งสำคัญไม่ใช่ตัวตนหรือจิตที่ปัจเจกคนหนึ่งสามารถสำนึกรู้ได้ด้วยตนเอง หากแต่คือกายหยาบ (body) อันเป็นภาชนะรองรับตัวตนหรือจิตสำนึกดังกล่าว กายหยาบที่แม้อาจเป็นวัตถุซึ่งหยิบยื่นองคาพยพรูปธรรมให้กับตัวตน แต่ก็เปราะบาง มีอายุขัยเสียหายได้ง่าย จนต้องอาศัยพึ่งพิงชีวิตของสรรพสิ่งอื่นๆเพื่อประทังการมีอยู่ของตัวมันเอง (ไม่ว่าจะเป็นอากาศสำหรับหายใจ อาหารเพื่อสร้างพลังงาน เครื่องแต่งกายเพื่อป้องกันผิวหนัง ฯลฯ) ในแง่นี้ สันติวิธีของบัทเลอร์จึงเป็นสันติวิธีที่พัฒนาจากข้อเท็จจริงในชีวิตของมนุษย์ซึ่งตั้งอยู่บนการตระหนักรู้ว่ากายหยาบของบุคคลหนึ่งจำเป็นต้องอาศัยสรรพสิ่งต่างๆกระทั่งกายหยาบของบุคคลอื่นๆเพื่อประกันการดำรงอยู่ของตัวมันเอง การปกป้องตนเองจึงต้องมาพร้อมๆกับการปกป้องชีวิตของบุคคลอื่นๆ/สรรพสิ่งอื่นๆตามไปด้วย เพราะชีวิตของปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ (บนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับกายหยาบเหนือจิต) ไม่เคยเป็นชีวิตที่แยกขาดจากชีวิตของปัจเจกคนอื่นๆ/สิ่งอื่นๆ ไม่มีชีวิตของใครหรืออะไรที่มาก่อนหรือทรงค่ากว่าชีวิตอื่นๆที่เหลือ เพราะทุกชีวิตล้วนตั้งอยู่บนสายสัมพันธ์ที่พันผูกกายหยาบของตนเข้ากับกายหยาบในวัตถุ/สรรพสิ่ง/บุคคลอื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ในบทสุดท้ายของหนังสือ บัทเลอร์จึงให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ตอกย้ำพลังของชีวิตภายใต้กำกับของกายหยาบ(ไม่ใช่ตัวตนหรือจิต) นั่นก็คือแนวคิดเรื่องความรักตามทฤษฎีของซิกมันดิ์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ โดยแตกต่างจากนักปรัชญาคนอื่นๆ ฟรอยด์ไม่ได้พิจารณาความรักว่าเป็นแรงขับที่เกิดขึ้นจากจิตหรือตัวตนของมนุษย์ เพราะความรัก—สำหรับฟรอยด์—คือแรงขับที่ถูกกำกับจากความปรารถนาของกายหยาบในการสืบพันธ์และผลิตซ้ำชีวิตเพื่อสานต่อการดำรงอยู่ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ความรักจึงมิเพียงแต่เป็นพลังสรรสร้างชีวิตและกายหยาบ หากยังฉุดดึงให้ชีวิตที่แยกขาดของแต่ละปัจเจกได้หลอมรวมเป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อประสานกัน ที่สำคัญ เนื่องจากความรักดังกล่าวเป็นแรงขับบนความปรารถนาของกายหยาบที่มุ่งสืบเผ่าพันธุ์ตามความต้องการของตัวมันเอง ความรักจึงเป็นพลังที่ปนเปื้อนไปกับความเกลียดและการทำลายล้าง โดยเฉพาะเมื่อกายหยาบเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ขวางกั้นการบรรลุแรงขับและความปรารถนาของตัวมัน ในแง่นี้ ถ้าสันติวิธีของบัทเลอร์คือสันติวิธีที่ให้ความสำคัญกับพลังของกายหยาบที่มุ่งเสริมสร้างชีวิต สันติวิธีดังกล่าวก็คือสันติวิธีบนความรักและความเกลียด นั่นก็คือความรักต่อชีวิตและการผลิตซ้ำชีวิต (ตลอดจนสายสัมพันธ์ของสรรพสิ่งต่างๆที่รองรับชีวิต) ควบคู่ไปกับความเกลียดต่ออุปสรรคที่ขวางกั้นการเบ่งบานของชีวิต สันติวิธีของบัทเลอร์—สันติวิธีที่วางตนเองในฐานะปกปักษ์ต่อความไม่เสมอภาคของการประเมินค่าชีวิต—จึงเป็นสันติวิธีของความรักและเกลียด เป็นสันติวิธีที่ (โดยอาศัยและความรักและเกลียด) มีกำลังพร้อมทำลายล้างอุปสรรคอย่างความรุนแรงต่างๆ อย่ากลัวที่จะเกลียดและใช้กำลังทำลายล้างสิ่งที่เกลียด เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความเกลียดและการใช้กำลังหากแต่อยู่ที่เป้าของความเกลียดและการใช้กำลังนั้นๆต่างหาก เป้าซึ่งจะไม่ใช่ชีวิตและการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งต่างๆ แต่คือความรุนแรงและไม่เสมอภาคในการแบ่งแยกคุณค่าของชีวิต ถ้าสันติวิธีของบัทเลอร์คือสันติวิธีที่มาพร้อมๆกับความเสมอภาคในการประเมินค่าชีวิต สันติวิธีดังกล่าวก็คือสันติวิธีที่รักในชีวิตอย่างไม่แบ่งแยก ขณะที่เกลียดจนสามารถใช้กำลังหยุดยั้ง กระทั่งทำลายล้างความรุนแรงที่มาพร้อมกับความไม่เสมอภาคของการประเมินค่าชีวิตได้เสมอ สันติวิธีที่—หากกล่าวอย่างถึงที่สุด—ทำให้ความตายได้ถูกยอมรับว่าเป็น “ความตาย” และการสูญเสียชีวิตคือการสูญเสีย “ชีวิต” จริงๆ
โฆษณา