21 ม.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“Paul Gruninger” วีรบุรุษผู้ถูกลืมในสงครามโลกครั้งที่ 2
“Paul Gruninger” คือหนึ่งในวีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่น้อยคนที่จะรู้จักและเอ่ยถึงเขา
ความเสียสละของเขานั้นทำให้ชาวยิวจำนวนมากรอดชีวิต และถึงแม้ความเสียสละนี้จะทำให้เขาต้องเดือดร้อน แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลือชาวยิว
Gruninger เกิดที่สวิตเซอร์แลนด์ในปีค.ศ.1891 (พ.ศ.2434) และได้เข้าร่วมกับกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยในขณะนั้น สวิตเซอร์แลนด์วางตัวเป็นกลาง แต่ก็ส่งทหารไปป้องกันยังแนวชายแดน
ภายหลังสงครามจบลง Gruninger ก็ได้เข้าทำงานเป็นตำรวจ ประจำอยู่ที่บ้านเกิด และได้ยศร้อยตำรวจเอกในปีค.ศ.1925 (พ.ศ.2468)
ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) นาซีเยอรมนีต้องการจะเข้ายึดครองออสเตรีย โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรียก็ได้พยายามจะเจรจากับ “Adolf Hitler” ผู้นำพรรคนาซี แต่ก็ไม่เป็นผล ก่อนที่ทัพนาซีจะเดินทัพเข้ามาในออสเตรียท่ามกลางการต้อนรับจากชาวออสเตรีย
1
สวิตเซอร์แลนด์นั้นเป็นกังวลมาก และในเวลานั้น ชาวยิวในออสเตรียก็ไม่ปลอดภัยและหาทางหลบหนีเข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์
ทางการสวิตเซอร์แลนด์ไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัยชาวออสเตรียเข้ามาให้เกิดปัญหา จึงได้มีการร้องขอไปยังเยอรมนี ให้ทำการปั๊มตัวอักษร “J” ลงบนพาสปอร์ตของชาวยิว เพื่อไม่ให้เข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์ได้
กองทัพนาซีขณะเข้ามาในออสเตรีย
ชาวยิวในออสเตรียนับแสนรีบหนีออกนอกประเทศ โดยหนึ่งในเส้นทางหลบหนีคือเข้ามาผ่านเทือกเขาบริเวณชายแดนสวิสและออสเตรีย ซึ่งเป็นจุดที่ Gruninger ประจำการอยู่ และเป็นหน้าที่ของ Gruninger ในการหยุดยั้ง ไม่ให้เหล่าผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ
1
ในปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ได้มีหนังสือคำสั่งส่งมา ออกคำสั่งให้ตำรวจสวิสส่งผู้อพยพกลับไปให้หมด ห้ามรับเข้ามา
แต่ Gruninger ก็ไม่สนใจคำสั่ง ตลอดระยะเวลาแปดเดือน ตั้งแต่สิงหาคม ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ถึง เมษายน ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) เขาก็ได้ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวยิวเข้าประเทศ
1
Gruninger ได้ปลอมแปลงเอกสาร ทำให้ดูเหมือนว่าเหล่าผู้ลี้ภัยชาวยิวได้เข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์ก่อนที่คำสั่งห้ามเข้าจะออกมา อีกทั้งเขายังซื้อเสื้อกันหนาวแจกผู้ลี้ภัยอีกด้วย
นอกจากนั้น เขายังทำรายงานปลอม รายงานตัวเลขของผู้อพยพไม่ตรงตามความจริง และมีส่วนช่วยในการตั้งค่ายผู้อพยพ อีกทั้งยังสั่งตำรวจใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติต่อเหล่าผู้ลี้ภัยอย่างดี
เหล่าผู้ลี้ภัยที่ได้รับการช่วยเหลือจาก Gruninger ได้กล่าวในภายหลังว่า Gruninger ให้ความใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา และเขายังใจดีมาก ความใจดีของเขาก็เช่น เขาเคยซื้อรองเท้าคู่ใหม่ให้เด็กชายคนหนึ่ง อีกทั้งยังจ่ายค่าทำฟันให้เด็กหญิงอีกคน
1
แต่การกระทำของ Gruninger ก็นับว่าเสี่ยงมาก เพื่อนของเขาก็ได้เตือนเขาว่าตัวเขากำลังถูกเกสตาโปจับตามองอยู่ หากแต่ Gruninger ก็ไม่สนใจ
“ผมยอมทำผิดกฎ ดีกว่าต้องส่งคนที่น่าสงสารพวกนี้กลับเยอรมนี”
คือคำกล่าวของเขา
เหล่าผู้ลี้ภัยชาวยิวต่างจดจำนายตำรวจผู้เงียบขรึมหากแต่ใจดีได้เป็นอย่างดี
Gruninger ยังคงช่วยเหลือเหล่าผู้อพยพชาวยิวต่อไป จนในที่สุด ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) Gruninger ก็ถูกจับได้และถูกให้ออกจากงาน
Gruninger ต้องขึ้นศาล และถูกตั้งข้อหาช่วยเหลือชาวยิวกว่า 3,600 คนเข้าประเทศ และยังปลอมแปลงเอกสาร
โทษที่เขาได้รับ นอกจากต้องออกจากงานแล้ว เขายังต้องจ่ายค่าปรับและต้องเสียสิทธิในการได้รับเงินบำเหน็จ
ภายหลังจากขึ้นศาล Gruninge ก็มีประวัติอาชญากรรมติดตัว ทำให้หางานยาก โดยต่อมา เขาก็ได้งานเป็นคนงาน พ่อค้าผ้า พนักงานขายพรม อาจารย์สอนขับรถ และผู้จัดการร้านขายชุดกันฝน
Gruninger เสียชีวิตในปีค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) และเรื่องราวของเขา ก็มีไม่กี่คนที่ทราบ
1
หากแต่หลังการเสียชีวิตของเขา ก็ได้มีการกล่าวสดุดีและยกย่องเขามากมาย รัฐบาลสวิสก็ออกมากล่าวขอโทษเขาในเวลาต่อมา รวมทั้งข้อกล่าวหาทั้งหมด ก็ถูกถอน ทำให้เขาพ้นมลทิน
1
ถึงแม้จะมีไม่กี่คนที่ทราบเรื่องของเขา แต่เชื่อแน่ว่าเหล่าชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คงต้องจดจำ “ตำรวจผู้เงียบขรึมแต่ใจดี” คนนี้ได้แน่ๆ
โฆษณา