21 ม.ค. 2021 เวลา 17:25 • ความงาม
เรื่องสั้น อ่านเพลินๆ
กลางฝูงแพะหลังหัก’ โดย อุมมีสาลาม อุมาร
หลังจากที่เมื่อปีกลาย โรสนี นูรฟารีดา ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักเขียนหญิงมุสลิมคนแรกที่มีผลงานเขียนเล่มแรกผ่านเข้ามาชิงซีไรต์ในรอบสุดท้ายกับรวมบทกวีชื่อ ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา (๒๕๕๙) มาปีนี้นักเขียนหญิงมุสลิม อุมมีสาลาม อุมาร ย้อนรอยประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการนำผลงานเขียนเล่มแรก นั่นคือ กลางฝูงแพะหลังหัก ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้
สำหรับรวมเรื่องสั้น กลางฝูงแพะหลังหัก ก็เป็นดูจะเป็นงานที่อ่านแล้วชวนให้รู้สึกสะดุ้งสะเทือนไปกับชะตากรรมของเหล่าตัวละครได้มากที่สุดในบรรดาทั้งแปดเล่มที่เข้ารอบมาในปีนี้ กับเรื่องราวที่มักจะวนเวียนอยู่กับภาพชีวิตของสมาชิกครอบครัวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงจนกลายเป็นเรื่องปกติ สะท้อนทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวเดียวกันเองไปจนถึงกับผู้คนในสังคมผ่านมุมมองของตัวละครสตรีเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีทั้งเรื่องราวที่กล่าวถึงภาพความรุนแรงใน  พื้นที่ อาทิเรื่อง ‘ผู้ต้องสงสัย’ ที่ชวนให้ต้องตั้งคำถามว่าเราควรจะเลือกไว้วางใจใคร หรือไม่ไว้วางใจใคร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สติไม่ดีทั้งหลาย เรื่อง ‘ความตายในเดือนรอมฎอน’ ที่สะท้อนสำนึกในคุกของชายมือระเบิดที่ถูกจับได้ จนทำให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน เรื่อง ‘แพะหลังหัก’ ที่เล่าความสัมพันธ์น่ารัก ๆ ระหว่างเด็กหญิงมุสลิมกับเจ้าอาวาสวัดพุทธ ก่อนจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นเข่นฆ่า ซึ่งก็ล้วนเล่าออกมาได้อย่างสมจริงชนิดยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกสลด โดย อุมมีสาลาม อุมาร ก็ได้สะท้อนมูลเหตุแห่งความน่าหดหู่เหล่านี้ว่า อาจจะมาจากสถานการณ์ที่คนในครอบครัวเริ่มไม่สามารถเข้าอกเข้าใจหรือแม้แต่ไว้วางใจกัน กลายเป็นกำแพงขวางกั้นโดยเฉพาะระหว่างตัวละครหญิงชาย ทั้งในเรื่อง ‘ฝุ่น’ เกี่ยวกับสตรีที่พบว่าสามีแอบไปมีภรรยาคนที่สองโดยไม่ได้บอกเธอ เรื่อง ‘นิทานของพ่อ’ ที่ลูกสาวไม่อาจเข้าใจอุดมการณ์การใช้ชีวิตของผู้เป็นบิดา ทำให้เธอต้องคอยเป็นห่วงเป็นใยในยามชรา และเรื่อง ‘พี่ชาย’ ที่ตัวละครน้องสาวไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าพี่ชายแท้ ๆ ของเธอกำลังมีอุดมการณ์ด้านศาสนาและการเมืองเป็นอย่างไร และเขาแอบไปทำอะไรยามที่ไม่อยู่บ้านกระทั่งถึงวันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครสามารถเยียวยาอะไรได้อีกแล้ว ซึ่ง อุมมีสาลาม อุมาร ก็สามารถสะท้อนภาวะความแปลกหน้าในครัวเรือนเหล่านี้ออกมาได้อย่างชวนสะท้อนใจ เมื่อเราไม่อาจจะเข้าใจคนใกล้ชิดที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน สีสันอีกอย่างในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็คือ การนำเสนอภาพตัวละครหญิงมุสลิมผู้มีวิถีชีวิตแหวกขนบจนน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘นมเพื่อม’ หญิงชราที่กลับมาใช้ชีวิตตามลำพัง ณ กระท่อมริมทะเลเมื่อโดนฉ้อโกงมรดกจนหมดตัว และต้องเป็นฝ่ายถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลาในเรื่อง ‘กลางฝูงแพะ’ และประวัติศาสตร์ชีวิตของ ‘ซัลมา’ หญิงมุสลิมวัยห้าสิบปีที่เลือกจะเป็นผู้หญิงกลางคืนในเรื่อง ‘ไก่หลุดคอก’ เผยให้เห็นอีกด้านของการเป็นสตรีมุสลิมที่ท้าทายจารีตปฏิบัติทางสังคมอย่างไม่แยแส รวมถึงเรื่องราวของคุณแม่อาวุโสวัยชราทว่ารักลูกหลานไม่เท่ากันจนผันสถานการณ์ไปเป็นความบาดหมางในเรื่อง ‘ย่า’ ซึ่งก็ล้วนแสดงภาพของสตรีที่มาพร้อมความมั่นอกมั่นใจในตัวเองที่ดูจะกลายเป็น ‘แพะหลงฝูง’ ไปในวิสัยของสังคมมุสลิม แถมด้วยเรื่องสั้นอันว่าถึงความเชื่อในไสยศาสตร์และพิธีกรรมของชาวมุสลิมด้วยการกลายร่างเป็นงูเพื่อรักษาโรคจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาในแบบตะวันตกในเรื่อง ‘ลวง’ ซึ่งก็เผยมุมด้านแห่งความคิดอ่านของชาวมุสลิมที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรับรู้มาก่อนได้เช่นกัน แม้ว่าเนื้อหาเกือบทั้งหมดในรวมเรื่องสั้น จะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวมุสลิมร่วมสมัยที่อาศัยอยู่ ณ บริเวณชายแดนภาคใต้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อุมมีสาลาม อุมาร ได้ใช้ศิลปะด้านการประพันธ์ลงรายละเอียดให้สีสัน ขับประเด็นที่แตกต่างออกไปในแต่ละเรื่องราวจนเกิดเป็นความหลากหลายที่ยังให้เอกภาพเชิงพื้นที่และวัฒนธรรมได้อยู่ ซึ่งสำหรับผู้อ่านที่เป็นคนนอกพื้นที่แล้ว รวมเรื่องสั้นเล่มนี้นับเป็นการเปิดประตูสู่การรับรู้ภาพชีวิตของพี่น้องมุสลิมร่วมชาติที่ทั้งเฉียบขาดและลุ่มลึกให้ภาพที่ต่างออกไปจากผลงานของนักเขียนชายร่วมศาสนา โดดเด่นทั้งในเรื่องการใช้ภาษา การให้บรรยากาศเชิงวัฒนธรรม การลำดับโครงสร้างเหตุการณ์ รวมถึงความเข้มข้นในด้านพลังอารมณ์จากชะตากรรมของเหล่าตัวละครที่สมจริงจนกลายเป็นสิ่งชวนเศร้า
โฆษณา