Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Wisdom ไดอารี่
•
ติดตาม
21 ม.ค. 2021 เวลา 23:30 • หนังสือ
สรุปหนังสือ "กุศโลบาย"
ผู้เขียน พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ
ขอสารภาพว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจจะซื้อหนังสือเล่มนี้ค่ะ แต่ที่กดสั่งออนไลน์เพราะเห็นยอดการสั่งซื้อติดชาร์ตในร้านและพิมพ์มาแล้วกว่า 8 ครั้ง ถือเป็นหนังสือเก่าที่อายุบทความเกิดมายาวนานถึง 15 ปี แต่ถึงจะนาน…บริบทในหนังสือก็ยังคงความเป็นอมตะ ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยค่ะ
"กุศโลบาย" หนังสือที่เขียนโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์และนักประพันธ์ที่ผลิตผลงานการเขียนมาแล้วหลายเรื่อง เช่น คลุมถุงชน เมื่อข้าพเจ้าหนีเมีย และ เพลงเก่ากรรมเก่า ซึ่งเป็นนวนิยายในอดีตที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสมัยนั้น พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ยังเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นต้นคิดในการเปลี่ยนแปลงชื่อ "ประเทศไทย" แทนการใช้ชื่อ "ประเทศสยาม" ที่มีมาแต่ก่อน ทำให้เรามีชื่อเรียกว่าประเทศไทยในทุกวันนี้ (อ้างอิงจากข้อมูลใน Wikipedia)
กุศโลบาย ไม่ใช่ อุบาย 2 คำนี้
อาจมีวิธีการคล้ายกัน แต่จุดประสงค์และผลลัพธ์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
" กุศโลบายไม่ได้นำมาเพื่อ…การหลอกใช้คน
แต่เป็นความต้องการเข้ามา…นั่งอยู่ในใจคน "
สำหรับเนื้อหาในหนังสือจะแบ่งหัวข้อตามชื่อของกุศโลบาย (แต่เราจะขอยกมาเป็นบางหัวข้อที่น่าสนใจ) พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ผู้เขียนได้มีการนำเรื่องราวของผู้นำในอดีต เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน นายเฮนรี ฟอร์ด และอีกหลายท่าน มาประกอบเป็นตัวอย่างให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ตัวอย่างส่วนใหญ่จะมาจากหนังสือฝรั่งชื่อ "Strategy in Handling People" แต่เพื่อให้ง่ายต่อการเรียก ผู้เขียนจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหนังสือ "อุบายใช้คน" เผื่อใครสนใจเพิ่มเติมค่ะ ลองหาอ่านดู
==========
# หนทางผูกมิตรกับผู้ใหญ่
เพื่อที่สร้างกุศโลบายข้อนี้ กฏสำคัญที่เราควรรู้คือ
กฏแห่งความเป็นมนุษย์ข้อที่ 1
" เราไม่ต้องการให้มีเทวดาเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ "
เป็นธรรมดาเลยค่ะ ที่เราไม่ชอบเห็นใครได้ดีกว่า หรืออยู่สูงกว่าเรา พอมีคนอวด ๆ หน่อยในสื่อโซเชียล ก็จะเห็นการแซะกันกลับ จนสุดท้ายกลายเป็นทะเลาะกันใหญ่โตไปอีก ดังนั้นใจความหลักของกุศโลบายเรื่องการผูกมิตร ก็คือการรู้วิธีเข้าหาคนโดยไม่ทำให้เค้ารู้สึกว่าตัวเค้าด้อยไปกว่าเรา
พูดง่าย ๆ คือ ไม่อวดภูมิ อวดรู้ แสดงว่าเราเก่งไปหมด รู้ไปหมด จนคนฟังรู้สึกต้อยต่ำลงไป แต่ก็ต้องระวังที่จะไม่แสดงว่า…ตัวเรานั้นอ่อนแอจนเกินไปด้วยค่ะ เช่น เราจะเจอว่าคนบางคนเข้าหาผู้ใหญ่ ซึ่งในที่นี้หมายถึงคนที่มีอำนาจสูงกว่าเรา แล้วใช้วิธีพูดจาให้ดูน่าสงสาร พูดถึงชีวิตที่อาภัพ และต้องการให้ผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยเหลือ ผลลัพธ์ในรูปแบบนี้ไม่ส่งผลดีเท่าไหร่ ถึงจะได้รับความช่วยเหลือ ก็เป็นในรูปของบุญคุณ ซึ่งบางครั้งอยู่ในรูปของการจำใจช่วยมากกว่าความรู้สึกเต็มใจที่จะช่วย
ดังนั้นถ้าเราอยากผูกมิตรกับผู้ใหญ่หรือกับใครก็ตาม ให้เราแสดงความเอาใจใส่ในความรู้ของเขา เข้าหาเพื่อสอบถามขอความรู้ และตั้งใจรับฟังโดยไม่แสดงความอวดรู้ อวดดีของตัวเรา ถ้าทำแบบนี้นอกจากจะผูกมิตรได้ ยังได้รับข้อคิดดี ๆ จากผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยค่ะ
==========
# การทำคุณให้เป็นคุณ
เราคงเคยได้ยินคนบ่นว่า "ทำคุณบูชาโทษชัด ๆ ทำดีแล้วไม่เห็นจะได้ดีเลย" จริง ๆ แล้วมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนบางอย่างเกี่ยวกับการทำดี เพราะ ดี-ร้าย กับ ถูก-ผิด เป็นคนละเรื่องกัน…ทำดีแต่อาจจะไม่ถูกที่ถูกคนก็ได้ค่ะ กฏสำคัญที่เราควรรู้คือ
กฏแห่งความเป็นมนุษย์ข้อที่ 2
" คำว่ามนุษย์ แปลว่าหัวใจสูง ย่อมไม่พอใจอะไรก็ตามที่กดให้หัวใจตกต่ำ"
ยกตัวอย่างเช่น เราช่วยเพื่อนคนนึงด้วยใจที่บริสุทธิ์ และไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร แต่กลายเป็นว่าเพื่อนเอาเราไปนินทา แถมระแวงว่าเรากำลังหวังอะไรจากการช่วยในครั้งนี้ ที่เป็นแบบนี้เพราะ…การช่วยเหลือของเราทำให้เพื่อนรู้สึกขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกต้อยต่ำ และมองว่าเป็นบุญเป็นคุณที่คงต้องตอบแทนซักวันในอนาคต ทั้ง ๆ ที่เราเองไม่เคยคิดหวังการตอบแทนอะไร
การทำคุณให้เป็นคุณในหนังสือเล่มนี้ และมองว่าจะไม่เป็นภัยกับเราในอนาคต จึงต้องเป็นการช่วยเหลือบนพื้นฐานความดีของเขา ให้เขาเกิดความภูมิใจในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เจ้านายช่วยเหลือลูกน้องและบอกกับเขาว่า "เธอเป็นคนฉลาด โครงการเธอดี เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง ฉันช่วยเพราะเห็นความดีอันนี้" คำพูดสุดท้ายในประโยคเป็นการย้ำว่า ที่ช่วยเหลือเพราะสิ่งดีงามที่ถูกมองเห็น
==========
# ศิลปะการฟัง
กุศโลบายที่ดีต้องให้ผลลัพธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่อุบายล่อลวงที่ทำให้ฝ่ายใดได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว สำหรับศิลปะการฟัง กฏสำคัญที่เราควรรู้คือ
กฏแห่งความเป็นมนุษย์ข้อที่ 3
" การพูดที่ดีที่สุด คือ การตั้งใจรับฟังความต้องการของ อีกฝ่าย และพูดเพื่อชักจูงให้เขาบอกสิ่งที่เขาถนัดที่สุดออกมา "
สมัยหนึ่งความสัมพันธ์ของเม็กซิโกกับอเมริกาไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าท่านทูตคนไหนมาพำนัก ก็มักเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่อยไป จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาส่งท่านทูตมอร์โรว์ มาประจำยังเม็กซิโก สถานการณ์ระหว่างอมริกาและเม็กซิโกก็เริ่มคลี่คลาย หลังจากที่ท่านทูตเข้าพบกับประธานาธิบดีกาเลสเพื่อรับประทานอาหาร ท่านกาเลสถึงกับชมนายมอร์โรว์ผู้นี้ว่า "ในที่สุดเราก็ได้พบเอกอัครราชทูตที่พูดกันรู้เรื่อง" ซึ่งจริง ๆ แล้วท่านทูตแทบไม่ได้พูดอะไรค่ะ ท่านเพียงไต่ถามเรื่องราวทั่ว ๆ ไปในประเทศเม็กซิโก และไม่อวดรู้ หรือเล่าเรื่องราวในอเมริกาที่จะเพิ่มความรู้สึกไม่ดีให้กับประธานธิบดีกาเลส
การฟังอย่างตั้งใจ และการถามเพื่อให้ผู้พูดรับรู้ถึงความเอาใจใส่ นอกจากจะช่วยสร้างการผูกมิตรได้ ยังทำให้ผู้พูดเกิดความรู้สึกภูมิใจ เพราะได้เล่าเรื่องราวของตนให้กับผู้อื่นฟัง นั่นคือหัวใจสูง…ที่เป็นกฏพื้นฐานของมนุษย์อีกข้อด้วยค่ะ
สำหรับเรื่องที่ควรนำมาคุยเพื่อการผูกมิตรไมตรี ก็ควรเป็นหัวข้อสบาย ๆ ที่เข้าถึงตัวตนของอีกฝ่าย ไม่ใช่บทบาทหน้าที่การงานที่เคร่งเครียดอยู่ทุกวัน เช่น อาจจะชวนคุยถึงงานอดิเรก ประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือ ทัศนคติในเรื่องที่เขาสนใจ
==========
# ความต้องการและความยินยอม
เพราะโลกนี้ไม่มี Zero-sum game การจะได้มาซึ่งของสิ่งหนึ่ง…ก็ต้องมีการสูญเสียหรือยินยอมจากอีกฝ่ายไม่มากก็น้อย
กฏแห่งความเป็นมนุษย์ข้อที่ 4
" อยากให้ใครยินยอมทำเพื่อเรา ต้องปลุกใจเขาให้เกิด ความต้องการที่จะทำ ไม่ใช่ต้องทำด้วยความจำใจ "
กุศโลบายข้อนี้พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ยกให้เป็นสุดยอดแห่งกุศโลบาย เพราะทำได้ยากและสิ่งที่จะสร้างความเต็มใจ…ไม่ใช่ความจำใจของคน จำเป็นต้องใช้กุศโลบายหลายข้อรวมกัน
กษัตริย์นโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ถือเป็นคนหนึ่งที่ใช้กุศโลบายข้อนี้ได้เก่งที่สุด เขารู้วิธีปลุกเร้าให้ทหารตัวเองยินยอมออกรบอย่างฮึกเหิม แม้ว่าสภาพร่างกายจะอ่อนล้าก็ตาม การประกาศบอกเหล่าทหารว่าจะนำพาทุกคนไปสู่ประเทศที่มีสเบียงอาหารมากมาย บ้านเมืองงดงาม และถ้ารบชนะ!! พวกเราทุกคนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คำพูดเหล่านี้สามารถปลุกความต้องการของเหล่าทหารให้รุกขึ้นสู้ได้ และทำให้นโปเลียนชนะสงครามอิตาลี่ในที่สุด
การรบที่อียิปต์ก็เช่นกัน นโปเลียนได้กล่าวกับทหารก่อนออกรบว่า "ทหารทั้งหลาย โบราณกาลสี่พันปีกำลังมองดูท่านด้วยอาการชมเชยและสรรเสริญ" กุศโลบายหัวใจสูงได้ถูกนำมาใช้เพื่อให้เหล่าทหารรับรู้ถึงชื่อเสียงเกียรติคุณที่รออยู่ข้างหน้า เกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่พร้อมจะสู้รบด้วยความเต็มใจ
สำคัญในกุศโลบายข้อนี้คือ…การค้นหาความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครยอมเปิดเผยออกมาตรง ๆ หรือที่หนักไปกว่านั้นคือ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร
ถึงขั้นที่นายเฮนรีฟอร์ด ได้เคยกล่าวไว้ว่า
"จากประสบการณ์ของเค้า และเท่าที่เฝ้าสังเกตมาตลอด เคล็ดลับของความสำเร็จอยู่ที่ความสามารถที่จะทราบความคิดของคนอื่น และพิจารณาจากแง่คืดของคนอื่นพร้อมกันกับความคืดของตน"
==========
# หลีกเลี่ยงการก่อศัตรู
ศัตรูจะเกิดขึ้น…เมื่อใดก็ตามที่เราได้ประทุษร้ายคน ๆ นั้น อาจจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
กฏแห่งความเป็นมนุษย์ข้อที่ 5
" การที่แสดงว่าเรานั้นเก่งกาจ เป็นการทำให้คนบางคนรู้สึกด้อยความสามารถหรือพ่ายแพ้ ซึ่งอาจทำให้มิตรที่ดีกลายเป็นศัตรูของเราได้"
จริงๆ ข้อนี้ก็คล้ายกฏหัวใจสูงที่พูดไว้ก่อนหน้าค่ะ ต่างกันตรงที่…กฏหัวใจสูงเกิดจากคำพูดของเราที่ส่งออกไป ทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นมา แต่การสร้างศัตรูเกิดจาก การเปรียบเทียบภายในใจของคนฟัง ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครคิดเห็นอย่างไร หลายครั้งถึงมีเหตุการณ์แสดงความไม่พอใจจากคนบางกลุ่ม เมื่อมีใครก็ตามทำความดีสู่สังคม เพราะเกิดการเปรียบเทียบกันจนนำไปสู่การอิจฉาริษยาในที่สุด
ทางที่ดีพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ แนะนำว่า "ให้ทำดี แต่อย่าทำเด่น จะเป็นภัย" ดั่งสุภาษิตที่ว่า "ปิดทองหลังพระ" ซึ่งเป็นการสร้างความดี…ที่ไม่ได้สร้างชื่อเสียงเพราะคนไม่อาจรับรู้ แต่อีกมุมก็ช่วยไม่ให้ก่อศัตรูได้ที่มองไม่เห็นได้
อย่าลืมว่า!!! ความอิจฉาและการเปรียบเทียบนั้นมีอยู่ทุกที่ทุกสังคม
==========
# การสรรเสริญคน
"ยอ" กับ "สรรเสริญ" มีความต่างกัน สรรเสริญจะมองที่ข้อเท็จจริงในตัวบุคคลและกล่าวชื่นชมต่อสิ่งนั้น แต่การเยินยอ คือการยกบุคคลขึ้นในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง การยอจะให้ผลร้ายเมื่อใช้กับคนที่ไม่ชอบการยอ และรับรู้ได้ถึงการพูดจาโกหก
กฏแห่งความเป็นมนุษย์ข้อที่ 6
" ความรู้สึกภูมิใจจากการสรรเสริญ จะเกิดเมื่อสิ่งที่ชื่นชม…เป็นความจริงที่แปลกใหม่ "
การสรรเสริญในสิ่งที่คนฟังไม่คิดว่าจะได้รับ…จะให้ผลดี แต่การพูดในสิ่งที่คนฟังแน่ใจอยู่แล้วว่าจะได้รับ นอกจากจะไม่ส่งผลอะไร อาจจะเพิ่มความเบื่อหน่ายมากขึ้นอีกด้วย
มีครั้งหนึ่งที่อธิบดีศาลท่านฟุลเลอร์ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม ทุกคนต่างกล่าวชื่นชมในน้ำเสียงและความดีงามทุกอย่างเกี่ยวกับตัวท่าน ซึ่งท่านฟุลเลอร์ไม่ได้แสดงอาการดีอกดีใจอะไร แต่หลังจากที่เฟรด เกลลีหนึ่งในผู้นั่งฟัง ได้เข้าไปหาท่านพร้อมกับกล่าวชื่นชมว่า "ข้าพเจ้าไม่คิดเลยว่าผู้พิพากษาจะมีความคิดในทางเมตตากรุณาถึงเพียงนี้" ท่านฟุลเลอร์ถึงกับยิ้มอย่างพอใจ เพราะคำสรรเสริญนั้นเป็นความจริงที่แปลก และยังแตกต่างจากที่เคยได้ยิน นี่ถือเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนฟังพึงพอใจอย่างมาก และทำให้การผูกมิตรง่ายขึ้นด้วย
==========
# การให้เกียรติคุณแก่คนอื่น
วิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างความภาคภูมิใจกับคนอื่น คือ
"การกดตัวเองให้ดูต่ำลง"
ฟังดูโหดร้ายแต่จริง ๆไม่ใช่เลยค่ะ บางสถานการณ์เราเจอคู่สนทนาเป็นครั้งแรก ดังนั้นการจะไปค้นหาความต้องการที่แท้จริงเพื่อจะชื่นชมและผูกมิตรด้วย ถือเป็นเรื่องยากมาก นอกจากศิลปะการฟังที่ดีแล้ว "การเล่าเรื่องตลกขบขันของตัวเอง" ก็เป็นวิธีผูกมิตรที่น่าสนใจเช่นกัน นอกจากจะทลายความรู้สึกอิจฉาริษยาที่อาจจะบังเอิญเกิดขึ้นในระหว่างการพูดคุย การพูดเรื่องตลกของตัวเองยังเป็นการยกหัวใจของคนฟังให้สูงด้วยค่ะ
อย่าลืมว่า เมื่อเราฟังความน่าอับอายของคนอื่น ในใจเราจะเริ่มเปรียบเทียบ แล้วถ้าเราไม่บังเอิญโชคร้ายเท่าคนพูด เราจะเริ่มภาคภูมิใจชะตาชีวิตของตัวเอง และนั่นคือกุศโลบายการให้เกียรติคุณแก่คนอื่น
==========
# การให้คนยินดีทำงาน
งานจะออกมาดีที่สุดเมื่อคนทำ…ทำด้วยมือและมาด้วยใจ หลายคนเลือกทำงานยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่งานง่ายกว่าก็มีมากมาย บางคนได้เงินเดือนสูงลิ่ว แต่ก็เลือกลาออกเพราะความรู้สึกที่ว่าไม่มีความสุขกับสิ่งนี้แล้ว ผู้นำหรือหัวหน้างานต้องเรียนรู้ความรู้สึกของลูกน้อง และมีกุศโลบายที่จะทำให้คนรู้สึกยินดีในการทำงาน
การทำให้เกิดความรู้สึกว่า "งานที่ทำนั้นสำคัญ" เป็นตัวกำหนดความรู้สึกของคนทำงานได้ดี หัวหน้างานควรแสดงให้เห็นว่า เคารพต่อความสามารถพิเศษของบุคคลในการทำงานไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานใด บ่อยครั้งที่เราจะเห็นการใช้คำพูดดูถูก ตำหนิคนทำงาน เช่น งานง่าย ๆ แค่นี้ก็ทำพลาด หรือ แม้แต่การไม่ให้ความสำคัญกับบางตำแหน่งหน้าที่ ผู้จัดการบางคนชอบปล่อยให้เด็กส่งเอกสารยืนคอย โดยอ้างว่ายุ่ง !!!
ความจริงแล้ว
"เวลาของเด็กส่งเอกสาร ก็มีค่าเท่ากับของผู้จัดการและทุก ๆ คนในที่ทำงาน"
เมื่อการดูถูกเกิดขึ้นบ่อยเข้า ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและลาออกในที่สุด เรื่องความรู้สึกยินดีในการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้นำควรเรียนรู้และสร้างค่านิยมที่ดีในที่ทำงาน เพื่อให้คนรู้สึกอยากมาทำงาน
เพราะไม่ว่างานนั้นจะลำบากแค่ไหน ขอแค่ใจสู้ ใจรัก…งานก็จะผ่านไปได้ด้วยดี
==========
จบครบทุกกุศโลบายแล้วค่ะ
กับตำราอายุ 15 ปีของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ที่ยังคงใช้ได้ดีในยุคปัจจุบัน ลองเอาไปปรับใช้กันนะคะ
ด้วยความปรารถนาดี
The Wisdom Diary
References
ข้อมูลหนังสือ
กุศโลบาย เคล็ดลับ ผูกมิตร ชนะใจคนด้วยวิธีการอันแยบยล: พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ สำนักพิมพ์: สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำนวนหน้า: 112หน้า ปกอ่อน
5 บันทึก
9
7
5
9
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย