27 ม.ค. 2021 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
บทบาทของเทคโนโลยี CCUS กับการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย
เทคโนโลยีทางเลือกลดการปล่อยก๊าซฯ สู่ชั้นบรรยากาศ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เทคโนโลยีการดักจับ นำไปใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS)” ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงนักวิชาการด้าน Climate change ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
ในต่างประเทศ เทคโนโลยี CCUS มีการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์มากพอสมควร ทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหภาพยุโรป ข้อมูลจากรายงาน IEA ในปี 2019 ระบุว่า การประยุกต์ใช้ระบบ CCUS ขนาดใหญ่ จำนวน 16 ระบบ สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ย (แอมโมเนีย) เหล็กกล้า และไฮโดรเจน รวมถึงกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้มากกว่า 30 ล้านตัน ในแต่ละปี โดยมีต้นทุนของการกำจัดคาร์บอนที่คุ้มค่ามากที่สุด อยู่ที่ 15 – 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน (คิดเป็นประมาณ 450 – 750 บาทต่อตันคาร์บอน)
ข้อมูลที่สอดคล้องกันจาก Zero Emission Platform ระบุว่าศักยภาพในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทคโนโลยี CCUS ได้รับการพิสูจน์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และรับรองโดยหน่วยงาน The European Taxonomy for Sustainable Finance และ The Clean Planet foe All Scenario โดยโครงการ CCUS เชิงพาณิชย์แบบเต็มรูปแบบได้มีการจัดเก็บและเก็บบันทึกข้อมูลมานานกว่า 40 ปี และในปัจจุบันสามารถกักเก็บคาร์บอนได้โดยรวมประมาณ 40 ล้านตัน ต่อปี
คาดการณ์ว่าเทคโนโลยี CCUS จะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการดำเนินงานลดก๊าซฯ ในอนาคต ถึงขนาดคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหราชอาณาจักร ได้กล่าวว่า “CCS is a necessity, not an option” กล่าวคือ “เทคโนโลยี CCUS ไม่ใช่เทคโนโลยีทางเลือกแต่เป็นสิ่งจำเป็น” ในการลดก๊าซฯ ของสหราชอาณาจักรให้ได้ตามเป้าหมายที่จะมุ่งสุ่ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2050”
ประเทศไทยนั้น คงไม่สามารถที่จะปฏิเสธทิศทางการพัฒนาของโลกที่มุ่งพัฒนาไปสู่ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” การนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี CCUS มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่ความพร้อมทางด้านนโยบายและกลไกภาครัฐเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่างหากที่ดูจะเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตลาดสำหรับส่งเสริมวัสดุคาร์บอนต่ำ หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการจัดเก็บร่วมกัน เพื่อเป็น CCUS Hubs ในพื้นที่อุตสาหกรรม ที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการดักจับคาร์บอนในกระบวนการผลิต
#ClimateChangeTalk #ThailandClimateChange #Mitigation #ClimateTechnology
#CCUS #ZeroEmission
โฆษณา