22 ม.ค. 2021 เวลา 09:59 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
หนังสั้น คนเดียวก็ทำได้
ถ้าคุณไม่มีทีมงานไม่ต้องท้อใจ ขอให้มี “ความตั้งใจ” ก่อน ตอนที่เราทำหนังสั้นเรื่องแรกอย่างจริงจังเพื่อส่งประกวด โครงการ E-san creative short film ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นหนังที่มีคนประกวดไม่มากนัก เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะต้องเป็นเรื่องของคนอีสาน หรือไม่ผู้ผลิตก็ต้องเป็นคนอีสาน เกิดในอีสาน อยู่ในอีสาน หรือทำงานในอีสาน และต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับคนพิการจะเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงก็ได้ ตอนนั้นเราก็มาแบบตัวคนเดียว!
ในเมื่อเราไม่มีทีมงาน แน่นอนว่าเราต้องเลือกทำ “เรื่องจริง” หรือหนังสารคดี ด้วยเหตุผลว่า เรามีคนต้นเรื่องที่พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว คือ “ตี๋ ชิงชัย อุดมเจริญกิจ” ศิลปินผู้สูญเสียมือขวาจากเหตุการณ์ทางการเมือง มือขวาที่ใช้สร้างสรรค์งานศิลปะมาครึ่งค่อนชีวิต ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยธรรมะเขาไม่ยอมเสียเวลาคร่ำครวญกับการสูญเสียอวัยวะสำคัญ และไม่พิรี้พิไรกับชะตากรรม แต่กลับใช้เป็นแรงผลักดันให้เขาขยันฝึกฝนใช้มือข้างซ้ายที่เหลืออยู่อย่างมุ่งมั่น และสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะอีกครั้งภายในเวลาสามเดือนได้อย่างน่าอัศจรรย์ เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นไอเดียหรือความคิดในการเขียนบทหนังสารคดีสั้นเรื่องแรกของเรา ในชื่อ “ภาพที่ฟ้าประทาน” คำว่า ฟ้า ของเรา สื่อถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้า หรือโชคชะตา เป็นผู้กำหนดให้เขายังทำหน้าที่ถ่ายทอดงานศิลปะในฐานะศิลปินต่อไป โดยเขียนบทภายใต้แนวคิด “มองมุมใหม่ เติมให้ส่วนที่ขาด” ที่ทางโครงการกำหนด
การเขียนบทสารคดีเรื่องนี้ เราเริ่มวางโครงเรื่องก่อนว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรให้ตรงกับแนวคิด แทนที่จะเล่าแบบสารคดีบุคคลทั่วไป เช่น แนะนำชื่อเสียงเรียงนาม อาชีพ อายุ ประวัติความเป็นมา ความสามารถ การเผชิญหน้ากับความพิการ ฯลฯ อาจจะทำได้ถ้าเรามีพื้นที่มากพอ แต่สำหรับหนังสั้นที่มีเวลาจำกัด เราไม่สามารถใส่ทุกอย่างที่คิดได้ ต้องเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุดก่อน และที่สำคัญเราต้องทำให้คนดูอยากติดตามหนังสารคดีตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายด้วย นั่นคือ ต้องมีเรื่องของอารมณ์ร่วมเข้าไปด้วย
เราเปิดเรื่องโดยให้เห็นผลงานของเขา พร้อมกับชื่อเจ้าของผลงาน ตามด้วยคำถามของลูกชายที่ถามภรรยาของเขาว่า “พ่อจะกลับมาวาดรูปได้เหมือนเดิมหรือไม่” เป็นการจุดประเด็นคำถามให้คนดูสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นจึงเฉลยเลยว่าเขาใช้มือซ้ายวาดรูปขณะที่มือขวาพิการ แล้วค่อยๆ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาสูญเสีย โชคดีที่เราได้ภาพเหตุการณ์จริงมาร่วมด้วย จึงไม่ต้องเสียเวลาคิดบทว่าจะทำอย่างไรให้ได้ภาพนั้นมาประกอบการเล่าเรื่อง
 
เราไม่ได้เขียนบทละเอียดยิบ แต่อาศัยโครงเรื่องคร่าวๆ ส่งให้คนต้นเรื่องอ่านก่อนเพื่อให้เขาเข้าใจอารมณ์ของเรื่อง และปล่อยให้คนต้นเรื่องเล่าตามความจริงและความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างอิสระ ซึ่งจะช่วยให้เรื่องไหลลื่นและมีความต่อเนื่องของอารมณ์ ไม่ใช่การถามตอบประโยคต่อประโยค
เรามีงบประมาณไม่มาก เต็มที่ก็ใช้ไปกับการเดินทางจากมหาสารคามไปกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องถ่ายทำให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เราใช้กล้อง Handy Cam สมัยนั้นมี memory card ที่มีหน่วยความจำไม่มากนัก ถ่ายได้ไม่นานก็เต็ม ต้องกลับมาโอนถ่ายลงคอมพิวเตอร์ ภาพก็ไม่ได้มีความละเอียดถึงขั้น full HD อย่างปัจจุบัน
ข้อดีของการเขียนบท กำกับเอง และถ่ายเอง คือ เราทำให้เรารู้ว่าเราต้องถ่ายภาพมากน้อยเพียงใด และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยการตัดสินใจของตัวเองทันที เช่น การเปลี่ยนแปลงบท ตัดทอนบทเพื่อความเหมาะสม สถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้ถ่ายได้ตามบท ถ่ายทำนอกเหนือบท และรู้ว่าจะเอาภาพไปใช้เสริมในเรื่องตรงไหนอย่างไรได้บ้าง
หลังจากถ่ายทำเสร็จแล้ว ต้องตัดต่อ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เราตัดต่อลำดับภาพเองเช่นกัน บอกเลยว่าเราไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ ทั้งการใช้กล้องและตัดต่อจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรามาก เราเรียนรู้การตัดต่อไม่ถึงครึ่งชั่วโมงจากเพื่อนร่วมงานที่เขาทำหนังมาก่อนแล้ว จากนั้นก็มะงุมมะงาหราอยู่พักหนึ่ง จนเข้าที่เข้าทางมากขึ้น หมกมุ่นกับการตัดต่ออยู่หลายวัน ดีๆ ร้ายๆ ก็เสร็จจนได้ อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือ เรื่องเสียง เนื่องจากกล่องเสียงของคนต้นเรื่องถูกทำลายไปแล้ว เขาจึงออกเสียงได้ไม่ชัดเจน เราจึงต้องแก้ปัญหาโดยใช้คำบรรยายใต้ภาพ หรือ subtitle
เราไม่ได้คาดหวังว่างานชิ้นนี้จะได้รางวัลหรือไม่ แต่พอใจที่ทำสำเร็จออกมาเป็นหนังสารคดีสั้นเรื่องแรกในชีวิต ความยาว 14.50 นาที แล้วใครจะเชื่อว่า หนังสั้นของมือสมัครเล่นที่ลงมือทำเองทุกขั้นตอน ภาพก็ไม่ได้สมบูรณ์ เสียงก็แย่ แต่ได้อารมณ์ของหนัง ทำให้คนดูเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของหนังสารคดีเรื่องนี้ และ “ภาพที่ฟ้าประทาน” ก็ได้รับรางวัลชมเชยโครงการประกวดหนังสั้นเพื่อคนพิการ E-san creative short film Workshop & Contest 2009 ครั้งที่ 6
เราเล่าอย่างไม่อายเลยว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงของตี๋ ชิงชัย อุดมเจริญกิจ เราคงไม่ได้รางวัลแน่ ให้แต่งเรื่องเองแล้วมีคนอื่นแสดงเป็นคนพิการ อาจจะพัง!! ต้องขอบคุณชีวิตจริงของเขาคนนี้จริงๆ ที่ทำให้คนดูและเรามีกำลังใจทำงานต่อไป
ดังนั้นหากต้องการทำหนังสั้นเรื่องแรก ถ้าธีม (Theme) หรือบทไม่แข็งแรง เราแนะนำให้ทำหนังสารคดีที่คนต้นเรื่องหรือเรื่องราวนั้นแข็งแรงอยู่แล้ว ถ้าเส้นเรื่องดี ทำคนเดียวได้สบาย บอกเลยว่าสารคดีที่ดี ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพสวย แต่ขอให้ภาพสื่อสารได้เล่าเรื่องได้ให้คนดูเข้าใจก็พอ
อีกสองปีถัดมา เราเอาหนังสารคดีเรื่องเดิมมาตัดต่อใหม่ และทำดนตรีใหม่ รวมทั้งแปล subtitle เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เรื่องมีความน่าสนใจและเป็นสากลมากขึ้น โดยความร่วมมือของอาจารย์ ดร.วิทยา วรมิตร จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ช่วยประพันธ์ดนตรีประกอบให้เป็นแบบออเคสตร้า และตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Portrait from grace” เพื่อส่งประกวดในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยามากาตะ (Yamagata Film Festival) 2011 แม้ไม่ได้รางวัลใดๆ แต่หนังสารคดีเรื่องนี้ได้รับการบรรจุอยู่ในห้องสมุดหนังของเทศกาลนี้ที่ญี่ปุ่นไปแล้ว
โฆษณา