22 ม.ค. 2021 เวลา 14:50 • การศึกษา
พัทยา คลองตัน บางกะปิ ชื่อสถานที่ที่คุ้นเคย กับที่มาและความหมายสุดมหัศจรรย์
เราทุกคนต่างก็คุ้นเคยกับสถานที่ดังกล่าวเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น พัทยา คลองตัน บางกะปิ เพราะเป็นชื่อที่เราคุ้นเคย และเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่ใจกลางเมืองที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทำให้เชื่อได้ว่าหลายคนจะต้องเดินทางผ่านหรือคุ้นเคยกับสถานที่ดังกล่าวอย่างแน่นอน
สิ่งมหัศจรรย์ของชื่อสถานที่เหล่านี้ ซึ่งเป็นชื่อที่เราคุ้นเคย กลับไม่ใช่คำไทยและไม่ได้มีความหมายที่สอดคล้องกับภาษาไทยอย่างที่เราเข้าใจกัน อ้างอิงจากสื่อประกอบการบรรยายเรื่อง ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย : เขมร ชวา มลายู ของ ผศ.ดร.อุบล เทศทอง พบว่าชื่อสถานที่ดังกล่าวมีที่มาและความหมายจากภาษาชวา มลายู อิทธิพลของภาษาชวา มลายู รวมถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ส่งผลให้คนในพื้นที่เรียกชื่อสถานที่ตามเหตุการณ์ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ หรือผู้ใช้ภาษาในพื้นที่นั้นใช้เรียก จึงทำให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้เรียกชื่อสถานที่ดังกล่าว และใช้ภาษาชวา มลายูเป็นชื่อเรียกสถานที่นั้น แล้วต่อมาเรียกเพี้ยนกลายเป็นภาษาไทยในปัจจุบัน
"ทุ่งบางกะปิ" สถานที่แห่งตำนานรักสุดอมตะของ ขวัญเรียม ที่กล่าวขานในนิยายสุดอมตะ เรื่อง แผลเก่า จากชื่อสถานที่หลายคนอาจจะเข้าใจว่ามีที่มาจากเป็นแหล่งกะปิที่มีชื่อเสียงแน่เลย "กะปิ" ของ"บางกะปิ"น่าจะอร่อยแท้ แต่ทำไมไม่มีคนกล่าวขานเลย หลายคนอาจจะเข้าใจเป็นแน่ว่ามีที่มาจากแหล่งขายกะปิที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เพราะชื่อก็บ่งบอกชัดเจนว่า "บางกะปิ" ได้ยินเป็นคำไทยก็ไม่น่าสงสัยอะไร ผู้เขียนเองก็เคยเข้าใจความหมายดังกล่าวอย่างที่หลายคนเข้าใจเหมือนกัน
เมื่อศึกษาที่มาและความหมาย ทำให้เชื่อได้เลยว่าที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นแหล่งขายกะปิ เราเข้าใจผิดมาโดยตลอด เพราะ "กะปิ" ที่เป็นอาหารนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับชื่อสถานที่เลย "บางกะปิ" เป็นสถานที่ ที่แต่เดิมมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก การแต่งกายของชาวมุสลิมทุกคนสวมหมวกที่เรียกว่า "กะปิเยาห์" เป็นคำภาษาชวา มลายู คือ หมวกที่ชาวมุสลิมสวม และคนทั่วไปจึงเรียกพื้นที่ตามลักษณะการแต่งกายของชาวบ้านว่า "บางกะปิ" โดยการตัดพยางค์หลัง แล้วเติมคำไทยนำหน้าจนกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่ในปัจจุบัน
"คลองตัน" ชื่อสถานที่ในกรุงเทพ ที่ไม่ใช่พื้นที่เป็นคลองที่มีลักษณะอุดตัน หรือทางนำตันแต่อย่างใด ชื่อนี้มีที่มาที่ไปจากแขกชาวกลันตันได้ถูกกวาดต้อนและอาศัยพื้นที่แห่งนี้ คนในพื้นที่นี้จึงเรียกสถานที่ตามเหตุการณ์ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ว่าเป็นที่อยู่ของชาวกลันตัน ต่อมา "กลันตัน" จึงเพี้ยนกลายเป็นคำไทยว่า "คลองตัน" ที่ใช้เรียกกันในปัจจุบีน
สถานที่ท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติทางทะเลอันสวยงาม เป็นแหล่งเศรษฐกิจอันดับต้นๆของชลบุรีคงไม่มีใครไม่รู้จักเมืองพัทยา คำว่า "พัทยา" จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่มีที่มาจากการบอกเล่าว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ทหารของ พระยาวชิรปราการ (ต่อมาเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ได้เดินทัพและพักแรมที่ตำบลแห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกตำบลนี้ว่า "ทัพพระยา" ต่อมาจึงเรียกพื้นที่ใหม่ว่า "พัทธยา" เนื่องจากบริเวณที่พระยาตากตั้งทัพนั้นมีทำเลดี มีลมทะเลพัดผ่านที่เรียกว่า "ลมพัทธยา" คือ ลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน ต่อมาจึงเขียนใหม่โดยการตัดตัวอักษรให้สั้นลงเป็น "พัทยา"
อย่างไรก็ตาม คำว่า "พัทยา" อาจจะไม่ใช่คำไทยแท้เสมอไป อาจจะเป็นคำที่มาจากภาษาชวามลายูว่า "บารัต ดายา" แปลว่า ลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีความหมายที่สอดคล้องกับ "ลมพัทธยา"ในภาษาไทย จึงกล่าวได้ว่าคำว่า "พัทยา" มีที่มาจากคำในภาษาชวา มลายูอย่างแน่นอน
ชื่อสถานที่ใกล้ตัวที่รู้จักบางอย่างอาจจะมีความหมายที่เราอาจจะยังไม่รู้ก็ได้ เมื่อเราศึกษาทำให้เราได้รับความรู้มากมายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อได้ความรู้แล้วนั้น ทำให้รู้ว่าภาษาไทยเป็นเรื่องสนุก และไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
อ้างอิง :
file:///C:/Users/SONY/Downloads/chwa_.pdf
ที่มารูปภาพ :
โฆษณา