23 ม.ค. 2021 เวลา 06:27 • ธุรกิจ
ธุรกิจไม่ใช้เงินทุน — Partnership
การเริ่มต้นธุรกิจใหม่โดยไม่ใช้เงินอีกวิธีหนึ่งก็คือ การหาคนที่มีแนวคิดเดียวกันมาร่วมเดินทางไปด้วยกัน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Partnership
Partnership
คือการที่คน 2 คนขึ้นไปหรือบริษัท 2 บริษัทขึ้นไป นำคุณค่าที่ตนเองมีอยู่มาร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรคุณค่าใหม่ๆ สร้างธุรกิจใหม่ๆร่วมกัน โดยแต่ละคนหรือแต่ละบริษัทจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ กิจกรรมที่ต้องทำ โดยมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของการแบ่งผลประโยชน์ ได้แก่ ส่วนแบ่งรายได้ (revenue sharing) เงินปันผล (dividend) หรือ ผลประโยชน์จากการขายหุ้น (capital gain) นั่นเอง
แผนภาพ partnership
Partnership หรือความร่วมมือทางธุรกิจเป็นวิธีการดำเนินธุรกิจที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เป็นการใช้คุณค่าและทรัพยากรที่มีอยู่ในการสร้างสรรธุรกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้น มีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลาย โดยระดับความร่วมมือทางธุรกิจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเริ่มต้นจากความร่วมมือทางธุรกิจ Cooperation ไปจนถึงการลงทุนเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมกัน (Co-Ownership)
แผนภาพ ระดับความสัมพันธ์
การร่วมมือในลักษณะของ Cooperation นั้นมักจะเป็นมุมมองระยะสั้น (short term) เพื่อทดลองตลาดหรือเพื่อทดลองการทำงานร่วมกัน หากว่าทุกอย่างเป็นไปได้อย่างดีแล้ว การร่วมมือจะมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นโดยเป็นลักษณะของ equity sharing เช่นการร่วมทุน เป็นต้น
Cooperation
Cooperation หรือ ความร่วมมือทางธุรกิจ เป็นลักษณะการร่วมมือกันในมุมมองระยะสั้น (short term) โดยที่ทั้งสองฝ่ายจะนำคุณค่าที่ตนเองมีอยู่มาทำงานร่วมกันในระยะเวลาหนึ่งภายใต้ขอบเขตการทำงานที่ชัดเจนแต่ต่างฝ่ายต่างแยกกันบริหารจัดการองค์กรของตนเอง
ในแต่ละกิจกรรมทางธุรกิจนั้นมักจะมีการร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรอยู่เสมอ เพราะบางครั้งการใช้ประโยชน์จากพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญย่อมดีกว่าการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยความความสัมพันธ์และการใช้ประโยชน์จากพันธมิตรนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเสมอไป แต่เป็นการเข้าใจว่าประโยชน์ที่ทุกคนได้คืออะไร อะไรคือ win-win formula ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้น มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ชื่อเสียง รายได้เพิ่ม ข้อมูลลูกค้า ฯลฯ ซึ่งบางครั้งดีกว่าการได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินเสียอีก
หากพิจารณา business model canvas ในทุกๆองค์ประกอบจะสามารถร่วมมือกับพันธมิตรได้ทั้งนั้น
Value Proposition
คุณค่าที่นำเสนอ ในแต่ละธุรกิจจะมีการออกแบบคุณค่าที่นำเสนอแก่ลูกค้าอยู่แล้ว แต่บางครั้งเพื่อสร้างความแตกต่างหรือการสร้างคุณค่าที่มากขึ้น ตัวธุรกิจเองอาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอ จำเป็นต้องได้รับหรืออ้างอิงคุณค่าจากพันธมิตรเพิ่มเติม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท SI ผู้ให้บริการวางระบบไอทีกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ โดยบริษัท SI ติดตั้งและขายสินค้าให้แก่ลูกค้าแต่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะรับประกันและให้การช่วยเหลือลูกค้าตลอดการใช้งาน บริษัท SI สามารถใช้ใบ certificate ที่ได้รับจากเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าได้ด้วย
Customer segment
หรือฐานลูกค้าเป็นสิ่งที่ธุรกิจใหม่ต้องการเป็นอย่างมาก บางครั้งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้สำหรับบางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ B to B (business to business) อย่าง ธุรกิจซื้อมาขายไป ในขณะที่ธุรกิจ B to C (business to consumer) ความสำคัญอาจจะลดน้อยลงไปเพราะสามารถหากลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆได้จากการทำการตลาดอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างที่เห็นมากขึ้น ได้แก่ การร่วมมือระหว่าง startup กับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Food Story ผู้ให้บริการระบบจัดการร้านอาหาร ร่วมมือกับ Flow Account ผู้ให้บริการระบบบัญชี
นำเสนอ Food Solution ระบบจัดการร้านอาหารครบวงจร ตั้งแต่บริการหน้าร้าน สั่งอาหาร ชำระเงิน จนถึงจัดการหลังร้าน เชื่อมต่อข้อมูลเข้าระบบบัญชีอัตโนมัติ และการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น โดยมีการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยและ AIS เพื่อนำเสนอบริการไปยังฐานลูกค้าของบริษัทเหล่านั้น
Customer relationship
วิธีการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตั้งแต่การได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ การรักษาลูกค้าเดิม และการเพิ่มคุณค่าและยอดขายกับลูกค้ากลุ่มเดิม การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าเรียกว่า customer relationship management (CRM) ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ผู้ช่วยส่วนบุคคล ระบบอัตโนมัติ รูปแบบ self-service เป็นต้น
กิจกรรมเหล่านี้สามารถร่วมมือกับพันธมิตรได้ เช่น การสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างค่ายโทรศัพท์มือถือกับร้านค้าผ่านระบบสะสมคะแนน โดยนำคะแนนมาแลกสินค้าในราคาพิเศษที่ร้านค้า โดยค่ายโทรศัพท์มือถือได้รับความพึงพอใจจากลูกค้ามากขึ้น ในขณะที่ร้านค้าก็ได้ลูกค้าเพิ่มเติมจากค่ายโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องทำการตลาดใดๆ
Channel
ช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นรูปแบบความร่วมมือที่เห็นบ่อยทั้งในระดับการค้าขายทั่วไปและในระดับการจัดจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า เช่น การวางขายขนมตามร้านกาแฟ โดยที่ร้านขนมเป็นคนส่งสินค้าไปวางและเก็บสินค้าคืนในกรณีที่ขายไม่หมด ร้านขนมได้ช่องทางการจัดจำหน่ายตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่เจ้าของร้านกาแฟก็มีรายได้เพิ่มและไม่มีความเสี่ยงในกรณีที่ขายสินค้าไม่หมด
เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
การขายสินค้าตามห้างสรรพสินค้าก็เช่นเดียวกัน มีรูปแบบการขายที่เรียกว่า consignment หรือเรียกว่า ฝากขาย โดยเจ้าของสินค้านำสินค้ามาวางและเก็บสินค้าคืนกรณีที่ขายไม่หมด เจ้าของห้างสรรพสินค้าก็จะชำระค่าสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าเฉพาะที่ขายได้เท่านั้น โดยห้างสรรพสินค้าไม่มีความเสี่ยงในกรณีที่สินค้าขายไม่ได้
Key activities
ถึงแม้ว่าบางกิจกรรมจะเป็นกิจกรรมหลักของธุรกิจ แต่ไม่จำเป็นที่บริษัทจะต้องทำทุกอย่างด้วยตนเอง สามารถที่จะให้คนอื่นทำได้ เช่น การจ้างโรงงานผลิตเครื่องสำอาง การจ้างบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการบริหารกระแสเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพหรือการแบ่งรายได้แล้วแต่ว่าจะสามารถต่อรองได้ขนาดไหน
Key resources
ทรัพยากรหลักที่ธุรกิจต้องการโดยการที่จะทราบว่า key resources ต้องการอะไรบ้างนั้น จะพิจารณาจาก key activities ว่าธุรกิจมีกิจกรรมหลักอะไรบ้าง อะไรที่ธุรกิจยังไม่มีและจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคนอื่น
เช่น ธุรกิจร้านอาหาร หากไม่มีสถานที่เปิดร้านแต่มีฝีมือทำอาหาร สามารถไปเจรจากับเจ้าของสถานที่เพื่อทำร้านอาหารร่วมกันได้ จากการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ เพราะสิ่งที่คนทำร้านอาหารกลัวที่สุดคือ ไม่มีแม่ครัว การได้แม่ครัวมาทำร่วมกัน มีการแบ่งรายได้และผลประโยชน์อย่างชัดเจน จะทำให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น
Cost structure
แต่ละธุรกิจจะมีโครงสร้างต้นทุนที่แตกต่างกันไป เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป ต้นทุนหลักคือค่าสินค้า ธุรกิจบริการต้นทุนหลักจะเป็นค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น
การเปลี่ยนโมเดลการดำเนินธุรกิจ จะทำให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน แต่สามารถโอนภาระไปให้แก่คนอื่นได้ เช่น การขอเครดิตเทอมจาก supplier ให้เท่ากับเครดิตเทอมจากลูกค้า ถ้าลูกค้าจ่ายเงินหลังจากส่งมอบสินค้า 30 วัน หากบริษัทเจรจาต่อรองกับ Supplier เพื่อขอชำระเงินค่าสินค้า 30 วัน เช่นเดียวกัน บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องมีภาระในการหาเงินมาหมุน เป็นต้น
Revenue stream
เช่นเดียวกับโครงสร้างต้นทุน แต่ละธุรกิจจะมีรายได้หลักที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจ ธุรกิจมากมายจะยึดติดกับรายได้หลัก เช่น ธุรกิจให้คำปรึกษาจะมีรายได้หลักจากค่าให้คำปรึกษา ธุรกิจร้านขายยาจะมีรายได้หลักจากยา การหารายได้อื่นๆจากธุรกิจหลักที่ทำอยู่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะว่ามีรายได้หลายทางมาครอบคลุมกับรายจ่ายและต้นทุนที่เกิดขึ้น
ธุรกิจปั๊มน้ำมันเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่หารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด นอกจากรายได้จากการเติมน้ำมันแล้ว ยังปล่อยเช่าพื้นที่ให้กับร้านกาแฟ ร้านรับส่งพัสดุ ร้านอาหาร ซึ่งรายได้ค่าเช่าที่เป็นรายได้คงที่ในแต่ละเดือนเกือบจะครอบคลุมค่าเช่าที่ดินทั้งหมด ทำให้แรงกดดันในการหารายได้จากการขายน้ำมันลดลง ถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น ในขณะที่ร้านค้าต่างๆ ก็ได้ลูกค้า ที่จอดรถ จากการที่มีลูกค้ามาเติมน้ำมันนั่นเอง
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าในกิจกรรมต่างๆไม่ได้จำกัดอยู่ที่การใช้ทรัพยากรของตนเองหรือภายในองค์กรเท่านั้น แต่สามารถเป็นทรัพยากรของคนอื่นโดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงิน ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านั้นเรียกว่า
Key partners นั่นเอง
Co-Ownership
เงินทุนมักจะเป็นปัจจัยที่คิดถึงเป็นอันดับแรกในการดำเนินธุรกิจ
การกู้เงินธนาคารจึงเป็นการบริหารจัดการการเงินแบบทั่วไปที่ทุกองค์กรทำอยู่ เป็นการทำธุรกิจโดยใช้เงินของคนอื่นก็จริงแต่สร้างภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อเนื่องในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินในระยะแรกของการเริ่มต้นธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับธุรกิจใหม่ที่แนวโน้มธุรกิจยังไม่ชัดเจน เพราะมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ความสำเร็จของธุรกิจใหม่มักใช้เวลา ซึ่งส่วนมากเราจะรอได้ แต่เจ้าหนี้รอไม่ได้ ดังนั้นรูปแบบ Co-Ownership จึงเป็นแนวทางที่ยืดหยุ่น ความเสี่ยงต่ำและเริ่มต้นธุรกิจได้เร็วกว่า
Co-Ownership หรือ หุ้นส่วนธุรกิจ จะเป็นลักษณะทำธุรกิจร่วมกันโดยแต่ละฝ่ายจะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทโดยมีส่วนแบ่งผลตอบแทนตามแต่จะตกลง ซึ่งจะคล้ายๆกับการแบ่งรายได้ หรือ revenue sharing ต่างกันตรงที่ผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิ์ในการบริหาร กำหนดนโยบายของบริษัทและรับผิดชอบในกรณีที่บริษัทขาดทุน
วิธีการนี้จึงเหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและการเริ่มต้นธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่เพราะนอกจากจะได้ทรัพยากรจากหุ้นส่วนแล้วยังได้ความรู้ ความสามารถในสิ่งที่เราไม่ถนัดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การมีหุ้นส่วนทางธุรกิจก็เป็นดาบสองคม หากว่านโยบายหรือแนวคิดในการบริหารเหมือนกัน มีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างตรงไปตรงมา ธุรกิจก็จะดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น แต่หลายครั้งตอนช่วงเริ่มต้นธุรกิจก็ช่วยเหลือกันดีแต่พอบริษัทเริ่มมีกำไร มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เริ่มมีความขัดแข้ง สุดท้ายบริษัทต้องเลิกกิจการไปทั้งๆที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปได้อย่างดี
กลยุทธ์ Co-Ownership มีการใช้อย่างแพร่หลายไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทเริ่มต้นใหม่เท่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ใช้กลยุทธ์นี้เช่นเดียวกัน
ปี 2017 บริษัทอีคอมเมิร์สยักษ์ใหญ่ของจีน JD.com ร่วมทุนกับห้างสรรพสินค้า Central ด้วยมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ ภายใต้ชื่อ JD Central เพื่อทำธุรกิจอีคอมเมิร์สในประเทศไทย การร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นการเสริมความแข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย โดย Central มีเครือข่าย supplier รวมถึงแบรนด์และฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ในขณะที่ JD.com เองก็มีเทคโนโลยี ระบบการชำระเงิน ระบบการขนส่ง ที่ประสบความสำเร็จในประเทศจีน เพื่อต่อสู้กับคู่แข็งขันอย่าง Lazada และ Shopee
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ Julius Baer ประกาศร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (weallth management) แก่กลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยจากฐานข้อมูลลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนำความเชี่ยวชาญของ Julius Baer ในการบริหารความมั่งคั่งและรวมไปถึงประสบการณ์ทั่วโลกในการเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยกลุ่มลูกค้าเหล่านี้
จะสังเกตได้ว่าวัตถุประสงค์ของการร่วมมือกันของบริษัทขนาดใหญ่จะแตกต่างจากการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจของบริษัทขนาดเล็ก โดยบริษัทขนาดใหญ่มักจะเป็นในเรื่องการการผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่ายร่วมกันเพื่อมุ่งสร้างคุณค่าในระยะยาว โดยไม่ได้มองในเรื่องของเงินทุนเพราะแต่ละฝ่ายมักจะมีแหล่งเงินทุนที่สามารถหาได้อยู่แล้ว นั่นคือ ตลาดหลักทรัพย์ นั่นเอง
การหาประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์
การนำเสนอขายหุ้นของบริษัทหรือที่เรียกว่า IPO (initial public offering) โดยใช้กลไกของตลาดหลักทรัพย์เป็นกลยุทธ์ Co-Ownership รูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมและเป็นหลักไมล์สำคัญสำหรับหลายบริษัทโดยเฉพาะ startup
ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของประเทศ บริษัทหลายแห่งเข้ามาระดมทุนเพราะประโยชน์มากมายที่ได้รับ มีนักลงทุนมากมาย รายย่อย สถาบัน และต่างชาติ เงินทุนหมุนเวียนมากมายมหาศาล
ในช่วงเศรษฐกิจดีๆ จะเห็นหลายบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การขายหุ้น การเพิ่มทุน การออกตราสารต่างๆ เป็นต้น
การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้บริษัทได้รับเงินทุนจากนักลงทุนมากมายมหาศาล โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย บริษัทที่ดีจึงควรดำเนินกิจการให้มีผลประกอบการที่ดี มีกำไรเติบโต เพื่อสร้างผลตอบแทนกลับคืนนักลงทุน ทั้งในรูปแบบของเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่ไม่ได้ผูกมัด
หมายความว่า หลังจากระดมทุนเรียบร้อยแล้ว ผลประกอบการของบริษัทอาจจะไม่ได้ดีขึ้นตามที่ได้บอกไว้ตามเอกสารชี้ชวน ทำให้ราคาหุ้นตกลง หรือ ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ นักลงทุนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงตรงนี้ไป
ถึงแม้ว่าวิธีการนี้จะเป็นวิธีการหาเงินทุนที่หลายๆบริษัทเลือกใช้ แต่บางบริษัทก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่เข้าใจ
วันดีคืนดีบริษัทมีข่าวดีออกมามากมาย กำไรมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โบรกเกอร์เชียร์สุดๆ หลังจากที่นักลงทุนเข้าไปซื้อหุ้น ราคากลับตกลงแบบถล่มทลาย
บริษัทได้เงินทุนจากส่วนเกินมูลค่าหุ้นในตอนระดมทุนเพื่อไปใช้ในธุรกิจ
“เจ้ามือ” นำผลกำไรที่ได้ไปจ่ายให้กับบริษัทคู่ค้าที่ช่วยสร้างผลประกอบการ นักประชาสัมพันธ์สร้างข่าว เจ้าของบริษัทและก๊วนที่ช่วยสร้างราคา
เจ้าของบริษัทไปช้อนซื้อหุ้นตอนราคาที่ตกลงมาแล้ว เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นให้เท่าเดิม
เหลือแต่นักลงทุนรายย่อยที่นั่งน้ำตาตกใน
กระบวนการนี้เป็นวิธีการ “หาเงิน” โดยใช้กลไกตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นประโยชน์จากกลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่างๆ ถึงแม้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ด้วยวิธีการเดิมๆ แต่ก็ยังมีนักลงทุนรายย่อยหลายรายติดกับอยู่ตลอดเวลา
เพราะความโลภไม่เคยเข้าใครออกใคร
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
โฆษณา