27 ม.ค. 2021 เวลา 13:14 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิเคราะห์การแปลงร่างใน"ผ่าพิภพไททัน" ด้วยวิทยาศาสตร์
(#เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
 
" คนที่ไม่สามารถเสียสละได้ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้"
เป็นคำกล่าวของผู้บัญชาการทหารในเรื่อง ผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan) ที่หลายคนน่าจะจดจำได้
ผมเพิ่งได้ดูแอนนิเมชันเรื่องนี้ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
ต้องบอกแอนนิเมชันเรื่องนี้มีเนื้อหาเข้มข้นและซับซ้อน ตัวละครมีสเน่ห์ การเคลื่อนไหวของเหล่าตัวเอก รวมทั้งการเคลื่อนไหวของไททันทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม สรุปได้ว่าเป็นแอนนิเมชันที่ผมชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
3
บทความนี้จะเป็นการวิเคราะห์ไททันด้วยวิทยาศาสตร์จากความคิดเห็นของผมแบบสนุกๆครับ
หากใครเคยดูหนังประเภทขบวนการห้าสีที่ออกฉายทางทีวีในสมัยก่อน จะพบว่าตอนใกล้จบที่เหล่าพระเอกรุมตัวร้ายจนน่วมแล้ว ตัวร้ายมักจะแปลงกายเป็นสัตว์ประหลาดตัวใหญ่ที่มีพลังทำลายมหาศาล ส่วนเหล่าพระเอกจะตอบโต้ด้วยการเรียกหุ่นยนต์ยักษ์มาต่อสู้ปิดฉาก โดยห้องควบคุมหุ่นยนต์จะอยู่ที่ส่วนหัว
ถ้ามองในแง่ความเป็นจริง ส่วนหัวของหุ่นที่มีขนาดใหญ่ระดับนี้น่าจะมีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็วจนคนที่อยู่ในนั้นถูกเหวี่ยงกระแทกไปมาจนสลบ แต่มนุษย์ที่แปลงเป็นไททันนั้นแตกต่างออกไป เพราะคนๆนั้นจะฝังตัวอยู่ที่ท้ายทอยของไททันซึ่งน่าจะโคลงน้อยกว่าหัว นอกจากนี้ยังถูกกล้ามเนื้อของไททันยึดร่างกายไว้อย่างแนบแน่นอีกด้วย
คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ แล้วร่างกายของไททันเป็นสสารแบบใด?
นักฟิสิกส์รู้มานานแล้วว่า การสร้างวัตถุที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากๆ ด้วยสสารเดิม และรูปร่างแบบเดิมนั้น เสี่ยงต่อการแตกหักของโครงสร้าง เพราะพื้นที่รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่าน้ำหนักที่กดทับลงมา ดังนั้นหากกล้ามเนื้อและกระดูกของไททันเป็นสสารแบบเดียวกับร่างกายของมนุษย์ก็เสี่ยงที่มันจะรับน้ำหนักตัวเองไม่ไหว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไททันยักษ์ที่มีขนาดใหญ่มโหฬาร) หรือต่อให้รับน้ำหนักไหวก็น่าจะเทอะทะมาก การเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่วขนาดนี้อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้
2
การขยายแบบสเกลจะคงสัดส่วนเดิมไว้ ซึ่งในความเป็นจริงเสี่ยงต่อการแตกหัก
แต่ถ้าร่างกายของไททันเป็นวัสดุความหนาแน่นสูงอย่างเหล็กก็น่าจะทำให้โครงสร้างโดยรวมมีน้ำหนักมากจนเคลื่อนไหวได้ยากเช่นกัน
สสารที่เป็นร่างกายของไททันจึงน่าจะเป็นสารอินทรีย์ที่มีความยืดหยุ่นสูง กล่าวคือเป็นสารประกอบคาร์บอนเช่นเดียวกับร่างกายมนุษย์ แต่มีโครงสร้างที่แตกต่างออกไปทำให้เหนียวและทนมาก สมมติฐานของผมคือ กล้ามเนื้อของไททันอาจเป็นสารประกอบคาร์บอนนาโนบิวบ์ ซึ่งเป็นคาร์บอนที่เรียงเป็นท่อยาวและถักทอขึ้นเป็นใยกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และทนทาน (เคยมีการวิเคราะห์ว่าคาร์บอนนาโนบิวบ์ที่เหมาะสมอาจใช้สร้างเป็นทาวเวอร์ของลิฟท์อวกาศได้)
เมื่อไททันบางประเภทต่อสู้ อาจมีการเปลี่ยนบางส่วนของร่างกายให้มีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก โดยคาร์บอนในร่างกายถูกกระบวนการบางอย่างจัดเรียงโครงสร้างใหม่จนกลายเป็นวัสดุประเภทเพชร ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งมากจนไม่มีสิ่งใดตัดเข้า ในเรื่องจะเห็นว่าเป็นผลึกที่มีความใสและประกายสวยงามด้วย
คาร์บอนนาโนบิวบ์
แล้วสสารที่เป็นร่างกายของไททันมาจากไหน?
ทุกครั้งที่มีการแปลงเป็นไททันจะเกิดฟ้าผ่าขึ้นอย่างรุนแรง โดยนักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าพลังงานจากการเกิดฟ้าผ่านั้นสูงมาก จึงเป็นไปได้ที่อาจมีกลไกบางอย่างตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาเป็นกล้ามเนื้อคาร์บอนนาโนทิวบ์ ส่วนออกซิเจนส่วนเกินอาจถูกเก็บไว้ในร่างกายไททันเพื่อเร่งการเผาผลาญ (metabolism) จนเลือดของไททันมีอุณหภูมิสูงกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมปกติอย่างมาก
6
กลไกการตรึงคาร์บอนนี้ จะว่าไปก็คล้ายกับกระบวนการสังเคราะห์แสงในพืช เพียงแต่การสังเคราะห์แสงนั้นค่อยๆใช้พลังงานแสงอาทิตย์ตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ มาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอย่างช้าๆ แต่ไททันเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งพลังงานจากฟ้าผ่าบางส่วนอาจกลายมาเป็นความร้อนในเลือดของไททันด้วย
ท่านใดที่ดูแล้วมีความเห็นอย่างไร มาพูดคุยกันครับ
โฆษณา