26 ม.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
สวัสดีครับ วันนี้เพจ เรื่องราวจากของเก็บ จะเล่าเรื่องของ ตู้ไปรษณีย์ อันมีความเป็นมายาวนานคู่ไปรษณีย์ไทยดังนี้ครับ
“ตู้แดง”ประวัติศาสตร์ 137 ปี ไปรษณีย์ไทย
ปัจจุบันในยุคที่การสื่อสารสะดวกสบายและรวดเร็วผ่านมือถือหรืออุปกรณ์สื่อสาร เพียงแค่พิมพ์แชทในแอปต่างๆหรือวิดีโอคอล ก็ช่วยให้การสื่อสารทางไกลเป็นเรื่องง่ายๆ
หากย้อนไป 137 ปี การสื่อสารระหว่างคนที่ห่างไกลกัน มีเพียงการส่งจดหมายหรือโปสการ์ดผ่าน “ตู้แดง” ของไปรษณีย์ และถึงแม้จะต้องใช้เวลาส่งต่อ แต่นั้นก็สร้างคุณค่าทางใจให้ผู้รับได้อย่างตราตรึง
หากกล่าวถึงตู้ไปรษณีย์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมาแล้ว 10 รุ่น มาดูกันว่ารูปร่างหน้าตาแต่ละรุ่นเป็นอย่างไรบ้าง
ปี 2426 ตู้ทิ้งหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของไทย กรมไปรษณีย์สยามได้รับมอบเป็นของขวัญจากประเทศเยอรมนี ในโอกาสที่เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม ลักษณะตู้เป็นทรงสี่เหลี่ยมและเป็นโลหะหล่อทั้งชิ้นในสไตล์วิกตอเรียน
พ.ศ.2426 ตู้ไปรษณีย์รุ่นแรก
ปี 2428 ตู้ไปรษณีย์แบบแขวน กรมไปรษณีย์ได้ผลิตตู้ไปรษณีย์ขึ้นใช้เอง เป็นแบบที่ทำด้วยไม้และโลหะแผ่น
พ.ศ.2428 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 2 จากพิพิธภัณฑ์ไปรษณียากร จ.เชียงใหม่
ปี 2454 ตู้เหล็กทรงกลม หล่อด้วยโลหะทั้งตู้ สั่งเข้ามาใช้งานในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 มี 2 รุ่น คือ รุ่นที่สั่งทำมาจากประเทศอังกฤษ และรุ่นที่สั่งทำมาจากประเทศสิงคโปร์
พ.ศ.2454 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 3
ปี 2469 ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 7 ผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ หล่อด้วยซีเมนต์หนาประมาณ 20 เซนติเมตร
พ.ศ.2469 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 4
ปี 2477 ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 8 ตู้หล่อซีเมนต์โดยใช้รูปทรงและขนาดเดียวกับตู้ในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่แตกต่างกันเล็กน้อยตรงบริเวณส่วนบนของตู้ และตราครุฑที่ปีกจะกางเหยียดตรง
พ.ศ.2477 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 5
ปี 2496 ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 9 ตู้หล่อซีเมนต์ทรงกรงนก มีขนาดเล็กและเสาสูง ใช้ในพื้นที่ที่มีปริมาณงานน้อยในส่วนภูมิภาค สร้างขึ้นเพื่อใช้งานในสมัยต้นรัชกาลที่ 9
พ.ศ.2496 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 6
ปี 2514 ตู้ไปรษณีย์แบบ ข. ตู้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ทำด้วยโลหะแผ่น ลักษณะเดียวกับตู้ไปรษณีย์แบบ ก. แต่ต่างกันที่มีช่องใส่ไปรษณียภัณฑ์เพียงช่องเดียว ใช้งานในพื้นที่ที่มีจำนวนไปรษณียภัณฑ์น้อย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค
พ.ศ.2514 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 7
ปี 2516 ตู้ไปรษณีย์แบบ ก. ตู้ทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะแผ่นขึ้นรูปฐานเป็นซีเมนต์หนา มีช่องใส่ไปรษณียภัณฑ์ 2 ช่องสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล กับปลายทางในภูมิภาคหรือต่างประเทศ ติดตั้งตามชุมชนที่มีปริมาณงานมาก
พ.ศ.2516 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 8
ปี 2520 ตู้ไปรษณีย์แบบ ค. ตู้โลหะขนาดเล็ก มีเสาสูง ส่วนบนของตู้จะมีลักษณะโค้งมน ตั้งบนฐานซีเมนต์หล่ออย่างหนา ใช้งานในพื้นที่ที่มีจำนวนไปรษณียภัณฑ์น้อยในภูมิภาค
พ.ศ.2520 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 9
ปี 2546-ปัจจุบัน ตู้ไปรษณีย์แบบ ก. ทรงเหมือนกันกับตู้แบบ ก. ที่เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2516 แตกต่างกันที่รายละเอียด ข้อความและตราสัญลักษณ์
พ.ศ.2546 ตู้ไปรษณีย์รุ่นที่ 10 ใช้งานจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้ปรับตัวให้ทันโลกยุคดิจิทัลด้วยการพัฒนาตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ “พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง” ให้บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร แหล่งของฝาก ผลิตภัณฑ์ในชุมชน และที่ทำการไปรษณีย์ในแต่ละพื้นที่ เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดที่แปะอยู่ที่ตู้ เป็นการยกระดับให้ตู้ไปรษณีย์เป็นศูนย์ข้อมูล และกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง แถมยังมีพอร์ตชาร์จโทรศัพท์ให้บริการด้วย ถูกใจมนุษย์ออนไลน์สุดๆ
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ไปรษณีย์ไทยได้ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงคนไทยและสังคมไทย มาเป็นเวลา 137 ปี และถึงแม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างไร ไปรษณีย์ไทยก็พร้อมจะอยู่เคียงข้างคนไทยตลอดไป
เกร็ดตวามรู้ ของตู้ไปรษณีย์
* ตู้ไปรษณีย์ถังไม้ของหมู่เกาะกาลาปาโกส เป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีประวัติมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 18 เกาะนี้เป็นเส้นทางผ่านของเรือ คนที่ผ่านมาสามารถหย่อนจดหมายลงในถังใบนี้โดยไม่ต้องติดแสตมป์ และค้นหาดูว่าในถังมีจดหมายของคนอื่นที่จ่าหน้าถึงสถานที่ที่ตัวเองจะเดินทางไปหรือไม่ ถ้ามีก็จะนำจดหมายดังกล่าวไปส่งด้วยตัวเอง
* สหราชอาณาจักร มีการนำตู้ไปรษณีย์มาใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2398 หลังจากมีแสตมป์ดวงแรกของโลก Peny Black (พ.ศ.2383) เป็นเวลา 15 ปี
* สีของตู้ไปรษณีย์ในเครือจักรภพอังกฤษจะใช้สีแดงและดำเป็นหลัก สหรัฐอเมริกาใช้สีฟ้า ส่วนประเทศไทยซึ่งเริ่มมีตู้ไปรษณีย์พร้อมกับบริการไปรษณีย์นั้นก็ใช้สีแดงและดำ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากอังกฤษเป็นหลัก
* ประเทศไทยมีตู้ไปรษณีย์ประมาณ 36,756 ตู้ (ข้อมูลปีพ.ศ. 2548)
* อดีตตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย (ซึ่งอดีตก็เคยเป็นที่สุดในโลก) ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีส่วนฐานและส่วนตู้ ฐานมีความสูง 1.30 เมตร เส้นรอบวง 1.60 เมตร ส่วนตู้สูง 2.90 เมตร เส้นรอบวง 1.40 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนายสงวน จิระจินดา นายกเทศมนตรีอำเภอเบตง ในขณะนั้นเคยเป็นนายไปรษณีย์อำเภอเบตงมาก่อน จุดประสงค์ที่สร้างไว้ในตอนแรกก็เพื่อใช้เป็นที่กระจายข่าวสารบ้านเมืองให้ชาวเมืองเบตงได้รับฟัง จากวิทยุที่ฝังอยู่ส่วนบนของตู้ และใช้เป็นตู้ไปรษณีย์มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันมีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 3.5 เท่าในบริเวณเดียวกัน
ตู้ไปรษณีย์ที่เบตง
* ปัจจุบันสามารถดูตู้ไปรษณีย์แบบต่าง ๆ ของไทยในอดีต (สร้างจำลองขึ้นใหม่) ได้ที่บริเวณสำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ ด้านหลัง ปณจ สามเสนใน ข้างสถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย
แสตมป์ชุด งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ 2532 แบบใช้แล้วและยังไม่ใช้
แสตมป์ชุด งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ 2532
วันแรกจำหน่าย 4 สิงหาคม 2532
พิมพ์ที่ Harrison & Sons (High Wycombe) Ltd., England
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคา (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
2 บาท 3,000,000 ดวง 5 บาท 3 บาท
3 บาท 1,000,000 ดวง 9 บาท 4 บาท
4 บาท 1,000,000 ดวง 10 บาท 6 บาท
5 บาท 1,000,000 ดวง 16 บาท 8 บาท
6 บาท 1,000,000 ดวง 20 บาท 9 บาท
ขอบคุณที่ติดตามครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา