Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค
•
ติดตาม
25 ม.ค. 2021 เวลา 11:52 • การศึกษา
“ผู้รู้” คือใคร... repost
ใครคือ “ผู้รู้”.. ผู้เขียนเองก็เพิ่งเจอเขาตอนไปบวชเมื่อ 10 กว่าปีก่อน.
อ่านตำรามามากครับ เกี่ยวกับวิธีการฝึกกรรมฐาน.. การฝึกสมถะ.. การฝึกวิปัสสนา..
ทราบจากการอ่านตำราต่างๆว่า ต้องทำสมาธิให้จิตนิ่ง (สมถะ) จนเกิดพลังก่อน.. จึงค่อยพิจารณาธรรมะ (วิปัสสนา) ให้เกิดปัญญา..
เช่น กำหนดลมหายใจจนจิตสงบนิ่ง (เป็นสมถะสมาธิ).. แล้วจึงหยุดกำหนดลมหายใจ.. หันมาพิจารณาสภาวะธรรมแทน (เป็นวิปัสสนาสมาธิ)..
เคยทำตามตำราหลายครั้งแล้วครับ.. สมถะสมาธิให้จิตนิ่งนั้น พอทำได้อยู่ครับ..
ชีวิตนี้ “ปิติ” ก็เคยเจอกันมาแล้ว.. รู้ว่าอาการเป็นอย่างไร ความรู้สึกเป็นอย่างไร..
ใครเคยเจอ คงเข้าใจเป็นอย่างดี..
ตั้งแต่อ่านตำรามาค่อนข้างมาก.. แต่ไม่เคยเห็นตำราไหนกล่าวถึง หรืออธิบายเรื่อง.. “ผู้รู้”เลย..
จนกระทั่งได้มาบวชในปี 2549..
ผู้เขียนบวชที่วัดบวรฯได้ 1 วันกับ 1 คืน.. รุ่งเช้า ก็ขอลาพระอาจารย์ไปปฎิบัติที่จังหวัดสกลนคร..
อยากลองดูว่า.. เราจะใช้ชีวิตแบบพระป่าได้มั้ย.. เพราะกว่าจะได้บวชก็ยากเต็มที..
วัดนี้ ทุกๆวันจะมีคนมากมายเดินทางมากราบรูปปั้นหลวงปู่มั่นที่กุฎิที่หลวงปู่มั่นท่านเคยมาพัก..
ส่วนกุฎิผู้เขียน เป็นกุฎิรับรองอยู่ติดกับกุฎิหลวงปู่มั่นเลย..
พื้นที่วัด ประมาณ 50 ไร่.. มีกุฎิราว 50 หลัง ทั้งแบบ 2 ชั้น.. แบบชั้นเดียว.. แบบกระต๊อบ.. และแบบเพิงหมาแหงน..
มีต้นไม้ใหญ่มากหลายต้น.. เวลากลางคืน แสงจันทร์จะส่องไม่ถึงพื้นดิน.. ถ้าอยู่ในกุฎิ ยกมือขึ้น ก็ยังมองไม่เห็น..
แต่พระในวัดมีไม่มากครับ.. ..
ถ้าไม่นับ กลุ่มพระนักศึกษาที่มาบวชให้ในหลวงซึ่งลาสิกขาไปหมดเมื่อบวชครบ 15 วันแล้ว..
ทั้งวัด เหลือเพียง.. หลวงปู่.. พระอาจารย์.. หลวงตา.. แล้วก็ผู้เขียนเท่านั้น..
การปฎิบัติสมาธิที่นี่.. ผลของสมาธิ (สมถะ) ก้าวหน้าดีในระดับหนึ่ง.. รู้สึกได้ว่า.. การบริกรรม “พุทโธ” เพียงอย่างเดียว.. โดยไม่สนใจลมหายใจ.. ก็ทำให้จิตสงบเป็นสมถะได้เหมือนกับการกำหนดลมหายใจ..
แต่การฝึกสมาธิโดยพิจารณาธรรมแบบวิปัสสนานั้น.. ไม่เกิดผลอะไรเท่าไหร่.. จิตมีความสงบและชอบสันโดษมากขึ้น..พิจารณาธรรมในเวลาอื่นได้บ้าง..
แต่ที่ชอบใจมากคือ.. ทุกกุฎิ มีทางจงกรมให้เดินครับ..
วันหนึ่ง หลวงปู่เทศน์อบรมพระว่า..
“เจอผู้รู้.. ให้ถามเขานะ.. เขาบอกอะไร ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อเขา.. ให้ซักถามให้ชัด.. จึงค่อยเชื่อ..”
ผู้เขียนได้แต่จำและก้มหน้าจดบันทึกไว้.. แต่ไม่เข้าใจ..
ไม่เข้าใจว่า “ผู้รู้” ที่หลวงปู่พูด หมายถึงอะไร.. ที่แน่ๆ คงไม่ใช่คนแน่ๆ..55
เมื่อพยายามทำความเข้าใจ.. ก็คิดว่า .. ท่านคงพูดแบบเปรียบเปรย..
ผู้รู้ไม่ได้มีอยู่ เป็นตัวเป็นตนอะไร.. แต่น่าจะหมายถึง ตัวเรานี่แหละ.. มีอะไร ก็ให้ถามตัวเองคิดตอบเองในปัญหาแบบนั้น..
ต่อมา พอได้มาเจอ “ผู้รู้” ตัวจริงแล้ว.. ถึงรู้ว่า เราโง่ไปเอง..
เพราะที่คิดว่า “ผู้รู้” คือตัวเรา คือความคิดนั้น.. มันเป็นความเข้าใจผิด..
“ผู้รู้” นั่น มีอยู่จริงๆ.. ไม่ใช่ตัวเราอย่างที่เข้าใจ.. แต่ก็ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน..
หลังจากปฎิบัติธรรมได้ราว 1 เดือน แต่ธรรมมะ ก็ยังไม่ก้าวหน้าตามที่หวังไว้ตั้งแต่ก่อนบวช..
ในใจคิดอยากจะย้ายไปลองปฎิบัติที่วัดอื่น.. ลองดูสิว่า ครูบาอาจารย์องค์ไหน จะช่วยให้กรรมฐานเราดีขึ้นได้..
เหมือนหลวงปู่ท่านรับรู้ครับ..
วันหนึ่ง ขณะนั่งฟังท่านอบรม ท่านก็เอ่ยขึ้นว่า..
“ลองไปปฎิบัติที่วัดดอยธรรมเจดีย์ กับหลวงปู่แบนดูมั้ย..”
“.. อ่อ.. วัดดอยฯ.. หรอขอรับ?”
ผู้เขียน รู้สึกดีใจ.. ที่ท่านทักแบบนั้น เพราะได้ยินมาว่า ที่วัดดอยธรรมเจดีย์นี้ คือวัดที่หลวงตาบัว เคยมาปฎิบัติธรรมจนกระทั่งบรรลุธรรมที่นี่..
รวมทั้ง หลวงปู่เองก็ด้วย..
“ต้องดีแน่ๆ.. ธรรมะเราคงก้าวหน้ากว่าเดิมแน่..อิอิ”
ผู้เขียนยิ้มย่องในใจ..
“ไปวัดดอยฯน่ะ.. มีแต่ก้อนหินนะ.. มีพลาญหินใหญ่ๆเยอะ.. เหมาะกับนั่งสมาธิ..
หลวงปู่ขยายความ..
“อ่อ.. งู ก็เยอะด้วยนะ.. ต้องมีสติ.. เห็นอะไร ก็ให้พิจารณาเป็นธรรมให้หมดนะ.. “
“เห็นก้อนหินใหญ่โต.. ก็ให้พิจารณาเป็นธรรม.. ให้นึกว่า..
เปรียบเหมือนกองกระดูกของเรา.. ที่ทับถมเกิดตายมาแล้วหลายร้อยหลายพันชาติ.. ให้รู้จักเบื่อหน่ายการเกิดนะ..”
“ขอรับ.. หลวงปู่”
ผู้เขียนตอบรับ แต่ไม่ได้บอกว่า จะไปหรือไม่ไป..
ท่านบอกหลายครั้งให้ย้ายวัด.. แต่ผู้เขียนทำเฉยไม่ตอบอะไร.. อยากจะลองใจดูสิว่า หลวงปู่ท่านอยากให้เราไปจริงรึเปล่า..
พูดอีกแบบคือ.. ท่านอยากไล่เราไปอยู่วัดอื่นมั้ยนั่นเอง 55
ในที่สุด.. ผู้เขียนก็เดินทางออกจากวัด คิดว่าจะไปปฎิบัติที่วัดดอยธรรมเจดีย์ซึ่งอยู่ห่างไปไม่มาก..
แต่ไม่รู้ว่า บุญนำพา.. ธรรมะจัดสรร.. หรืออะไร..
ท่านผู้พิพากษาที่กรุณารับเป็นโยมอุปัฏฐาก..
“โยมอุปัฏฐาก” คือ คนที่ให้สัญญากับพระว่า ต้องการอะไร.. ขาดเหลืออะไร ก็ให้บอกได้ ยินยอมให้พระขอได้โดยไม่ผิดศีล .. เพราะปกติ พระจะขออะไรจากโยมไม่ได้..
ท่านขับรถมารับตามที่นัดว่า จะพาไปวัดดอยธรรมฯ..
แต่ระหว่างทาง ท่านไม่เลี้ยวเข้าวัดดอยธรรมเจดีย์ครับ.. ท่านขับรถพาไปไกล หลายสิบกิโล เส้นทางขึ้นภูเขา..คดเคี้ยว..
“โยมสุมิตร.. จะพาอาตมาไปไหน.. มาซะไกล.. อาตมาจะไปวัดดอยธรรมฯนะ..”
ท่านสุมิตร ยิ้มรอดแว่น.. แล้วบอกว่า..
“หลวงพี่ครับ.. ผมพาท่านไปวัดดอยธรรมเจดีย์แน่ครับ..
แต่ก่อนจะไปอยู่วัดดอยธรรมฯ.. ผมอยากให้ท่านลองไปอยู่ปฎิบัติกับหลวงปู่อ้ม ที่วัดถ้ำผาผึ้งดูก่อน.. อยู่ในเทือกเขาภูพาน จ. มุกดาหารติดกับสกลนครครับ...
สักอาทิตย์หนึ่งก็ยังดี.. เพราะวัดนี้สงบเงียบ เป็นสัปปายะมากๆ..”
“สัปปายะ” แปลว่า สถานที่สงบ ไม่วุ่นวาย.. เหมาะแก่การปฎิบัติธรรม..
ในที่สุด ผู้เขียนเลยได้ไปฝึกปฎิบัติที่วัดภูผาผึ้ง หรือถ้ำผาผึ้ง.. โดยไม่ทันตั้งตัว..
ต้องอนุโมทนาบุญกับท่านสุมิตรอย่างจริงใจ และขอบพระคุณในความเป็นกัลยมิตรของท่าน..
เพราะผู้พิพากษาท่านนี้แหละครับ ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า..
“ชีวิตนี้ เกิดมาแล้ว.. จะตายเมื่อไหร่ ก็ไม่เสียดายชีวิตอีกแล้ว..”
เพราะวัดนี้เองครับที่ทำให้ผู้เขียนได้เจอและรู้จักกับ “ผู้รู้”...
วัดนี้มีพระมากกว่า วัดแรกหลายเท่าครับ..
วัดอยู่ในเขตป่าภูพาน.. มีคนลอบมายิงสัตว์ป่า.. ตัดไม้.. เผาป่าบ่อยๆ.. จนทางการต้องนิมนต์หลวงปู่มาสร้างวัด เพื่อให้พระช่วยดูแลธรรมขาติให้ด้วย..
หลวงปู่อ้มท่านก็เมตตาครับ ท่านเข้ามาปลูกป่า.. จัดพระเฝ้าเวรยาม.. มีหอเฝ้าดูไฟป่า.. มีรถดับเพลิง.. ซึ่งพระเล่าให้ฟังว่า ถูกไฟไหม้ระเบิดเสียหายหลายคันแล้ว..
ผู้เขียนมีเวลาแค่ 1 อาทิตย์.. ใช้ระเบียงกุฎิที่ติดกับแนวป่า เป็นทางจงกรม..
หลวงปู่อ้ม ในสมัยนั้น ท่านพูดน้อย เทศน์สั้นๆ.. เน้นอบรมวินัยพระมากกว่า..
เวลาปฎิบัติธรรม ผู้เขียนจึงนึกเอาคำที่หลวงปู่เคยเทศน์สั่งสอน มาเป็นแนวปฎิบัติภาวนา..
วันหนึ่ง ขณะฝนตก ฝนฟ้าคะนอง.. ขณะผู้เขียนเดินจงกรมบนระเบียงกุฎิ..
เมื่อจิตรวมตัวเป็นสมถะสมาธิ..
ขณะเดินจงกรม พร้อมบริกรรมคำว่า “พุทโธ”ในใจ..
ก็ปรากฎคำถามขึ้นในใจขึ้นมาเองโดยไม่แน่ใจว่าเราคิดตั้งคำถามเองรึเปล่า..
คำถาม.. “การเดินอยู่นี่.. กับคำบริกรรมพุทโธ.. อะไรสำคัญกว่า?”
คิดอยู่ 2-3 วินาที ก็ปรากฎคำตอบขึ้นมาว่า..
“คำบริกรรม พุทโธสิ.. สำคัญกว่า”
มีคำถามซักขึ้นมาว่า..
“ทำไม คำบริกรรมพุทโธจึงสำคัญกว่าการเดิน?”
ไม่ถึง 1 วินาที คำตอบก็ออกมาว่า..
“เพราะการเดินนั้น.. จะเดิน ช้า เดินเร็ว ก็ได้.. แต่คำบริกรรมมีเพียง 1 เดียว..
การเดินเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.. ไม่เที่ยง.. แต่คำบริกรรม.. เที่ยงกว่า..”
เกิดความคิดขึ้นว่า..
“ให้ละความสนใจในอากัปกิริยาการเดินเสีย.. ปล่อยวางลง.. แล้วเอาสติ เอาใจมาจดจ่อกับคำบริกรรมพุทโธเท่านั้น..”
ผู้เขียนทำใจตามความคิดที่เกิดทันที
พอกำหนดคำบริกรรม “พุทโธ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจการเดินว่า จะซ้าย ขวา เย็น ร้อน อ่อน แข็งอย่างไร
เดินจงกรมได้สักพักหนึ่ง.. จิตรวมตัวเป็นสมถะมากขึ้น.. รู้สึกถึงความแน่วแน่มั่นคงของใจมากขึ้น..
คำถาม มาอีกแล้วครับ.. คราวนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้คิดจริงๆ.. ไม่เคยคิดคำถามแบบนี้เลย.. แต่มันผุดขึ้นมาเองในใจว่า..
“ในพุทโธ.. มีอะไร?..”
ขณะที่ผู้เขียนยังตกใจกับคำถามที่เกิดขึ้น.. คำตอบก็ผุดตามขึ้นมาเองทันทีว่า..
“ในพุทโธ.. มีผู้รู้พุทโธ..กับผู้ถูกรู้..!”
วินาทีนั้นเองครับ.. ที่ผู้รู้ กับผู้ถูกรู้ แยกออกจากกันจนชัดเจน..
ที่เคยคิดตลอดมาว่า “เรา”.. เราหิว.. เราเจ็บ.. เราโกรธ.. เราชอบ.. เราดีใจ.. เราเสียใจ.. มีแค่ 1 เรา...
มาบัดนี้ เห็นชัดว่า มันมี 2 ไม่ใช่ 1..
ความจริง ก็คือ..
“ตัวเรา”นั้น.. ไม่มี..
มีแต่ “ผู้รู้” และ “ผู้ถูกรู้”..
คำตอบยังคงพรั่งพรูออกมา ไม่หยุด..
“ระหว่าง ผู้รู้ กับผู้ถูกรู้.. ควรยึดอะไรเป็นหลัก?”
คำตอบก็ออกมาในทันทีที่คำถามจบ..
“สิ่งที่ถูกรู้ จะเป็นอะไรก็ได้.. มันไม่เที่ยง.. จึงควรยึดเอาแต่ “ผู้รู้”
ผู้เขียน ปล่อยวางคำบริกรรมพุทโธลง ไม่บริกรรม.. แต่ขณะเดินจงกรมไป... ใจก็ให้วางไว้ที่ “ผู้รู้”..เท่านั้น
ผู้เขียนเริ่มเกิดความสงสัย ลองตั้งกับคำถาม “ผู้รู้”ว่า..
“แล้วใน ผู้รู้ มีอะไร?”
ในวินาทีนั้น คำตอบก็ผุดขึ้นมาทันที..โดยไม่ทันได้นึกคิดหาคำตอบ..
“ผู้รู้” อยู่ที่ไหน?..”
คำตอบก็ผุดมา..
“แล้ว ใครควบคุมใคร..?”
คำตอบก็ผุดขึ้นมา..
หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ตั้งใจโยนคำถามเข้าใส่ “ผู้รู้”..ทุกเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับธรรมะ...
เช่น. อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ตัวไหนเกิดก่อน.. เวลาจะดับ ต้องดับตัวไหนก่อน..
ทุกคำถาม.. เขามีคำตอบให้ แบบฉับพลันทันที..
บอกได้คำเดียวว่า.. สนุกมากครับ.. ได้ความรู้ ได้คำตอบทางธรรมมากมาย..
ยังมีอะไรอีกเยอะ.. แต่พื้นที่นี้ คงไม่พอให้เล่า เกรงจะเสียเวลาท่านที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้. .
ผู้เขียนบันทึกไว้หมดแล้ว.. เอาไว้โอกาสดี คงได้เผยแพร่ครับ..
.. ผู้เขียนจึงเพิ่งเข้าใจว่า..
“อ่อ.. คำว่า “ผู้รู้” ที่หลวงปู่เอ่ยถึงนั้น.. มันคืออย่างนี้นี่เอง..
โอกาสต่อมา ได้เรียนสิ่งที่เกิดขึ้นให้หลวงปู่รับทราบ..
ท่านเรียก.. สิ่งนั้นว่า.. “พระธรรม”
หลังจากที่ ได้เจอผู้รู้แล้ว.. ได้ยินผู้ปฎิบัติคนอื่นกล่าวถึง ผู้รู้.. ได้เห็นข้อเขียนเกี่ยวกับ ผู้รู้..
ล้วนแล้วแต่ไม่ตรงกับ “ผู้รู้” ที่ผู้เขียนเคยเจอมา..
แม้หลวงปู่จะยืนยันว่า.. สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่ ผู้เขียน “มโน” ไปเอง..
แต่ก็ยังต้องการหาคำรับรองจากครูบาอาจารย์กรรมฐานสายพุทโธองค์อื่นๆตลอดมา.. แต่ก็ไม่พบ..
จนกระทั่งได้พบ.. ถามตอบของหลวงปู่เทศก์ เทสรังสีซึ่งที่มีผู้บันทึกไว้..
ผู้เขียนขออนุญาตคัดมาลงบางส่วน ดังนี้..
“ผู้ถาม: เคยภาวนากำหนดอารมณ์ เช่น กำหนดกระดูก แล้วท่านอาจารย์ให้จับผู้รู้ เมื่อกำหนดกระดูก กระดูกที่เพ่งอยู่ก็หายไป ว่างเฉย ๆ บางทีก็มีแยบคาย ..
ใครไปรู้จักความว่าง ใครไปรู้จักความสงบ ใครเป็นผู้รู้ ..
ถ้าคิดอย่างนี้.. ถ้าใจมันอยู่กับกระดูกยัง ไม่ปล่อยวางกระดูก... แต่เวลาพิจารณาใครเป็นผู้รู้ ใจมักจะส่ายไปหาอารมณ์ อื่น ๆ ดังนั้นจะแก้ไขอย่างไร
ท่านอาจารย์: ให้ใจมันอยู่ที่กระดูกเสียก่อน จะนานเท่าไรก็ช่างมัน นับเป็นปี ๆ อย่างน้อย ๕ ปี จึงจะชำนาญ..
ต่อนั้นไปถ้ามันไม่ไปไม่มาจริง ๆ คืออยู่เฉย ๆ จึงพิจารณา คือพิจารณาอันนั้นแหละ ..
พิจารณาผู้รู้สึกว่าเฉย ๆ อยู่ที่ไหน แล้วจับตัวผู้รู้นั้นให้ได้ ..
อย่าไปพิจารณามันเร็วนัก ไม่ชำนาญแล้วจะเสียไป การภาวนาต้องทำกันจริง ๆ เป็นปี ๆ พอภาวนาเป็นอะไรนิด ๆ หน่อยๆ อยากให้เกิด ความนั้นนี้ เดี๋ยวก็เสื่อมเสีย เก่าก็ไม่ได้ใหม่ก็ไม่ดี...”
ที่ผู้เขียนโพสต์เรื่องนี้.. เพราะเห็นว่า จะเป็นประโยชน์บ้างแก้ผู้สนใจใฝ่รู้เรื่อง การปฎิบัติ..
บางท่าน ไม่ทราบว่า จะพิจารณาธรรมอย่างไร.. จะฝึกวิปัสสนาสมาธิอย่างไร.. ทำไปเท่าที่สมาธิพอมี..
ผลที่ได้ ไม่รู้สึกถึงน้ำถึงเนื้ออะไร.. เลยพาลเลิกปฎิบัติไปเสีย.. ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก..
เขียนมาสำหรับท่านที่ยังไม่รู้ เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นแนวทางครับ..
การปฎิบัติธรรมนั้น.. แค่คิดว่าจะทำ ก็เกิดกุศลแล้ว..
ถ้าได้ลงมือทำ.. ก็เกิดบุญ..
ถ้าลงมือทำแล้ว ไม่ว่าแนวไหน สายไหน.. ให้สังเกตจิตใจเรานะครับ.. ในเวลาปกติที่ไม่ได้นั่งสมาธิ.. ถ้าปล่อยวางทางโลกได้..เข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นธรรมดา..
ถือว่า มาถูกทางแล้ว.. ให้ทำต่อไป ให้ละเอียดขึ้นๆ..
ถ้าตอนนั่งจิตสงบ ปล่อยวางได้ทุกเรื่อง มีความสุข.. เข้าใจโลกเข้าใจธรรม เข้าใจสรรพสิ่ง..
แต่เวลาใช้ชีวิตทางโลก.. ยังคุมตัวคุมใจไม่ได้.. ปล่อยวางไม่ได้.. ไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น.. ต้องการควบคุม คาดหวังในทุกเรื่อง..
ถือว่า เสียเวลาที่ปฎิบัติมา.. ทำต่อไปก็อาจจะเสียเวลาไปอีก..
ขอให้พิจารณาปรับแนวทางใหม่นะครับ.. ชอบแนวไหน ลองทำแนวนั้น..
จำไว้ว่า ระหว่างทางไปเชียงใหม่..
บางคนสังเกตเห็น ต้นไม้ริมทาง.. ได้ความเพลิน..
บางคนเห็นแต่สิ่งก่อสร้างที่ผ่านมา....ได้ความรู้..
บางคนแวะลงมาซื้อ ไก่ย่างข้างทางกิน.. ได้ความอิ่ม
แต่ถ้าเขาเดินทางขึ้นทิศเหนือ และในเส้นทางที่ถูกต้อง..
เขาเหล่านั้น ต้องไปถึงเชียงใหม่เหมือนกันหมดครับ..
แม้บางคนจะไม่ได้เห็นอะไรเลย.. ไม่ได้ความเพลิน.. ไม่มีความรู้เพิ่ม.. และไม่ได้กินอะไรเลย..
เพราะเขาหลับ ตลอดเส้นทาง.. แต่เขาก็ไปตื่นที่จุดหมายปลายทาง เชียงใหม่เหมือนกันนะ..
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย