29 ม.ค. 2021 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
เมื่อโชคชะตาพลิกผัน จากชีวิตนักเรียนนอกสู่บ้านธุรกิจล้มละลาย ถ้าเป็นคุณจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร?
1
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของสาวแกร่ง ‘คุณป๊อม’ มนัญญา พันธุมโกมล หญิงสาวกตัญญูผู้เอาชนะโชคชะตาที่ไม่เข้าข้างเธอด้วยแพชชั่นในการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่าง ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของร้าน Cases From The Star และ The Local Collective แบรนด์เคสโทรศัพท์ที่เชื่อในไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่
จุดเริ่มต้นธุรกิจของเธอมาจากไหน? เธอผ่านพ้นมรสุมชีวิตได้อย่างไร ประสบการณ์การปรับตัวธุรกิจออนไลน์จะดุเดือดแค่ไหน หาคำตอบได้ที่นี่
#จุดเปลี่ยนของชีวิต
คุณป๊อม เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะจัดว่าดี เธอเติบโตมาในบ้านหลังเก่าย่านสาธรที่เป็นมรดกตกทอดของตระกูล แม้ว่าเธอจะไม่เคยต้องกังวลเรื่องเงิน แต่ก็มีนิสัยชอบหาเงินตั้งแต่เด็ก ช่วงที่ทางบ้านส่งเธอไปเรียนไกลถึงออสเตรเลียตอนมัธยมปลาย เธอก็หาเงินค่าขนมเองด้วยการทำงานพาร์ทไทม์เป็นพนักเงินเสิร์ฟในร้านอาหารไทย เธอบอกว่าพอเป็นเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ก็ทำให้กล้าใช้จ่ายอย่างสบายใจยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่หมดไปกับกระเป๋า เครื่องสำอาง และการร้องคาราโอเกะในไชน่าทาวน์
2
แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลก เมื่อคุณป๊อมที่กำลังศึกษามัธยมปลายอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียต้องเดินทางกลับไทยถาวร เนื่องจากธุรกิจคุณแม่ของเธอล้มละลาย ทำให้ไม่สามารถส่งเสียค่าเล่าเรียนที่นั่นได้อีก คุณป๊อมเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ โดยโชคดีที่มีญาติผู้ใหญ่ช่วยเหลือเรื่องค่าเทอม แต่คุณป๊อมเองก็ยังคงต้องหาเงินให้พอกับค่าเดินทางและค่ากินอยู่ของตัวเอง ซึ่งทางออกของเธอในตอนนั้นก็คือการเป็นแม่ค้าออนไลน์ เธอตัดสินใจเปิดร้านเคสโทรศัพท์ทำมือ (Hand-made) บนอินสตาแกรม
3
#casesfromthestar
เธอชอบเคสโทรศัพท์อยู่แล้ว บางคนอาจซื้อเคสอันหนึ่งแล้วใช้นานหลายเดือน แต่เธอเปลี่ยนเคสค่อนข้างบ่อยและมีหลายอันมากเพราะมองว่าเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่ง เหมือนกับพวกกระเป๋าและนาฬิกา แถมเธอเองก็เป็นคนหัวครีเอทีฟ ชอบถ่ายรูปมุมสวยๆ ลงอินสตาแกรม ชอบทำงานศิลปะสร้างเอกลักษณ์ให้กับของใช้ต่างๆ เพื่อบ่งบอกถึงตัวตนของเธอ คุณป๊อมจึงเริ่มศึกษาวิธีการทำเคสโทรศัพท์บนอินเทอร์เน็ตและเริ่มสั่งเรซิ่นกับกากเพชรมาเริ่มลองทำดู ปรากฏว่าพอถ่ายรูปผลงานลงอินสตาแกรม เพื่อนๆ ก็เริ่มทักมาสั่งบ้างและลงรีวิวให้ ทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเกิดเป็นแบรนด์ Cases From The Star ในวันนี้
3
เนื่องจากเปิดร้านพร้อมกับเรียนไปด้วย คุณป๊อมต้องยอมเสียสละเวลาส่วนตัวที่ควรจะได้พักผ่อนหรืออยู่กับเพื่อนๆ เพื่อกลับบ้านไปทำเคสตามออเดอร์ให้ทัน บางครั้งก็ทำถึงฟ้าสว่าง เธอบอกว่า เมื่อรับปากไว้แล้วว่าจะส่งให้ตามรอบออเดอร์ก็ไม่อยากทำให้ลูกค้าผิดหวัง เธอภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองออกมา อีกทั้งยังได้คลายความเครียดและความกดดัน ผ่านการประดิษฐ์ผลงานชิ้นต่างๆ ซึ่งแม้ว่าบางครั้งเธอจะรู้สึกน้อยใจชีวิต แต่คำว่า “ต้องหาเงิน” ก็ทำให้เธอกัดฟันสู้ต่อมาได้อย่างมั่นคง
1
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ก็ทำให้มุมมองในการใช้เงินของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล เธอรู้จักคุณค่าของเงินมากขึ้น มีวินัยในการใช้จ่าย รู้จักตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ถึงแม้ทางบ้านจะไม่ได้ขอให้คุณป๊อมมาช่วยใช้หนี้ แต่เธอก็อดที่จะช่วยเหลือไม่ได้ เธอมักแบ่งเงินบางส่วนจากการขายเคสให้กับแม่เพื่อให้นำไปชดใช้หนี้บางส่วน แม้จะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ แต่มันก็ทำให้เธอรู้สึกสบายใจ อย่างไรก็ตาม ความทุกข์และความกังวลไม่เคยห่างหายไป คนที่เธอรักยังคงมีเงาเป็นหนี้ก้อนโตตามตัว เธอไม่สามารถปล่อยวางจากมันได้ ความฝันสูงสุดของเธอจึงเป็นการปลดหนี้ให้คุณแม่
#ค้าขายออนไลน์และความไม่มั่นคง
ขณะเธอใกล้เรียนจบปริญญาตรี Cases From The Star กำลังไปได้ดี มีกำไรสูงสุดหลายแสนบาทต่อเดือน แรกเริ่มเธอไม่ได้คาดหวังว่าจะขายดีขนาดนี้ แต่เมื่อเห็นตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีความคิดที่จะไม่สมัครงานประจำและเดินหน้าการเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว แน่นอนว่าเมื่อพูดความคิดนี้ออกไปก็ย่อมมีเสียงคัดค้านจากญาติผู้ใหญ่ ยิ่งคุณแม่ที่เป็นนักธุรกิจพึ่งล้มละลายแล้วด้วย พวกเขาไม่เชื่อว่าการเปิดร้านขายของออนไลน์จะมั่นคงเท่ากับงานออฟฟิศ แต่คุณป๊อมก็ยังคงเชื่อมั่นในร้านของตัวเองและมั่นใจว่าร้านจะสามารถเป็นรายได้หลักของเธอ
1
แม้ว่าเธอจะเริ่มจากการขายสินค้าออนไลน์ แต่ก็ยังมีการปรับแผนการขายให้ครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ที่ทั่วถึงมากกว่าเดิม เธอเริ่มออกบูธออฟไลน์ตามงานตลาดนัดต่างๆ จนภายหลังได้รับการติดต่อจากร้านค้าแฟชั่นชั้นนำใจกลางสยามให้นำสินค้าไปจัดวางจำหน่าย นั่นก็ทำให้แบรนด์ของเธอเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ทุกอย่างก็มีจุดอิ่มตัว นอกจากเทรนด์ของแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว เทรนด์การเลือกเข้าร้านของกลุ่มเป้าหมายเดิมก็เปลี่ยนไปด้วย ส่งผลให้ยอดขายออฟไลน์น้อยลง ขณะเดียวกันก็โดนลอยแพจาก E-commerce เจ้าใหญ่ที่ใช้ลูกเล่นในสัญญายกเลิกสต๊อคล็อตใหญ่ที่เธอสั่งทำแล้วกระทันหัน
เธอเองต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด เมื่อเห็นว่ายอดเริ่มตกก็จะต้องรีบทำ Product ใหม่ๆ ออกมาตลอด ลูกค้าเก่าจะได้ไม่เบื่อและยังสามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์อีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะต้องตามเทรนด์ในตลาดให้ทัน ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ออกมาทีปีละหลายรุ่น เธอจึงพยายามเป็นเจ้าแรกๆ ที่มีเคสรองรับมือถือรุ่นใหม่ๆ (SKU) เพราะถ้าลูกค้าเห็นว่าไม่มีรุ่นตัวเองก็จะหันไปหาร้านอื่นหมด
1
#ความคิดสร้างสรรค์คืออาวุธชั้นเยี่ยม
“ที่เจ็บใจคือบางคนทำเหมือนเราก็อปแล้วเอามาขายแพงกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ เราเป็นเจ้าของไอเดียหมดเลย” คุณป๊อมระบายความในใจให้ฟัง
อีกหนึ่งอุปสรรคที่คุณป๊อมต้องฝ่าฟันคือ Disruption จากโลกทุนนิยม เธอเคยโดนฝั่งจีนเลียนแบบลายเคสที่ออกแบบเอง และกดราคาจาก 400 บาทจนเหลือเพียง 40 บาท พอเห็นต้นทุนที่ถูกมากขนาดนี้ ก็เริ่มมีร้านขายเคสในไทยนำเข้ามา เมื่อเจอการตัดราคาจากอำนาจทุนและเครื่องจักรเช่นนี้ ยอดขายก็ย่อมลดลงอย่างช่วยไม่ได้ คุณป๊อมยอมรับว่าไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้กับตัวเอง เธอไม่เคยคิดว่าร้านดังจนถึงขั้นจะมีของเลียนแบบ จึงไม่ได้จดลิขสิทธิ์เอาไว้ และด้วยความที่กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ในไทยไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เท่าไหร่นัก จะฟ้องก็เสียทั้งเงินและเวลา เธอตัดสินใจเอาความสร้างสรรค์ของตนที่เป็นหัวใจหลักของแบรนด์ออกมาสู้ เธอแก้ปัญหาด้วยการออกแบบลายใหม่มาเรื่อยๆ
“คุณกล้าก็อป ได้ เราก็จะทำใหม่” เธอกล่าวไว้
#thelocal.collective
หลังจากทำ Cases From The Star มาได้ระยะหนึ่ง คุณป๊อมก็เริ่มเห็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำแบรนด์แฮนด์เมด เวลามีออเดอร์เข้าเยอะๆ เข้าก็เริ่มทำไม่ไหวเพราะทำคนเดียวมาตลอด ตอนนั้นเธอวิ่งเข้าออกร้านนวดเป็นว่าเล่น ความเหนื่อยล้าก็ยิ่งทำให้เธออยากเริ่มธุรกิจใหม่ แต่ยังคงต้องเกี่ยวกับเคสโทรศัพท์สไตล์เฉพาะของเธอ โดยมีโจทย์ว่าทำยังไงถึงจะไม่ต้องนั่งทำมือแล้ว เธอใช้เวลาวางแผนโปรเจกต์ใหม่นี้อยู่ระยะหนึ่ง จนสุดท้ายตัดสินใจนำเงินเก็บ 1 ล้านบาทมาลงทุนสั่งทำเคสหุ้มหนังภายใต้ชื่อแบรนด์ The Local Collective
1
เหตุผลที่เลือกทำเคสหนังก็มาจากความชอบของตัวเองอีกเช่นเคย เธอบอกว่าเมื่ออายุมากขึ้น คุณค่าความสวยงามก็เปลี่ยนไป จากเคสที่มีลวดลายเยอะๆ ก็อยากเปลี่ยนไปใช้เคสดีไซน์เรียบๆ แต่เธอยังไม่ถูกใจกับเคสหนังที่มีอยู่ในตลาดนัก ไม่ว่าจะเพราะหนังไม่คลุมรอบเครื่องบ้าง ดีไซน์ไม่ใช่บ้าง หนังไม่โดนบ้าง เธอจึงอยากทำสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ และเริ่มติดต่อโรงงานเพื่อออกแบบดีไซน์ให้ตอบโจทย์ โดยเป้าหมายของ The Local Collective คือเป็นแบรนด์เคสหนังที่ทุกคนนึกถึง
แน่นอนว่าตอนนำเงินไปลงทุนก็มีเสียงทักท้วงอีกเช่นเคย เพราะ 1 ล้านบาทก็ไม่ใช่เงินจำนวนน้อยสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเธอ มากกว่านั้น เธอก็พึ่งจะมีอายุเพียง 25 ปี แต่เนื่องจากเป็นสิ่งที่คุณป๊อมชอบทำมาตลอดจึงอยากเสี่ยงดู ทว่าเมื่อเสี่ยงแล้วก็ต้องใส่ใจกับทุกรายละเอียด ตั้งแต่ตัวเคสไปจนถึงแพคเกจ รวมถึงความหลากหลายของสินค้า เพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงความตั้งใจของเธอ ใครที่สนใจเคสหนังสามารถติดตามได้ที่ @thelocal.collective บนอินสตาแกรม
7
#จงอดทน
ปัจจุบันแม่ของเธอยังคงติดหนี้อยู่หลายล้าน คุณป๊อมรับหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัว คอยดูแลคุณพ่อและพี่เลี้ยงช่วยเหลืองานระบบธุรกิจร้านโชว์ห่วยเล็กๆ ที่บ้าน เธอมองว่าอย่างน้อยก็จะทำให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สำหรับธุรกิจเคสโทรศัพท์ ยังมีหลายคนคิดว่าการขายของออนไลน์ไม่มั่นคง แต่สุดท้ายคำดูถูกเหล่านั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้คุณป๊อมมีวันนี้ ยอดขายในปัจจุบันเป็นบทพิสูจน์แล้วว่าความต้องการในโลกออนไลน์นั้นมีอยู่จริง และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
1
แต่กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอจึงอยากแนะนำให้ทุกคนที่อยากจะเริ่มทำอะไรของตัวเองให้อดทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ที่ต้องมีการลองผิดลองถูกกันจนกว่าจะลงตัว ความท้อแท้และการตั้งคำถามจะเกิดขึ้นระหว่างทางอยู่แล้ว แต่ถ้าทุกคนรักในสิ่งที่ทำ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะทำอะไร? และจะทำเพื่อใคร? ความพยายามและการไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เข้ามาจะทำให้ทุกคนเดินทางไปถึงจุดที่ใฝ่ฝันได้อย่างแน่นอน
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
โฆษณา