26 ม.ค. 2021 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อีกหนึ่งด้านของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในช่วงปีที่ผ่านมา ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนทั่วโลกมากที่สุด คำตอบก็คงเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเรื่องของ COVID-19 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากพิษของโรคระบาดนี้มากที่สุดก็หนีไม่พ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องออกมาตรการต่างๆเพื่อมากระตุ้นระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบิรโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนเม็ดเงินจากต่างประเทศที่หดหายไป แต่ก็ใีหลายคนที่มองว่ามาตรการเหล่านี้ของรัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือนายทุนเป็นหลัก วันนี้นายมิ้นท์เลยอยากจะพาทุกคนมาดูอีกแง่มุมหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันครับ
สำหรับประเทศไทยแล้วอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วน 17.64% ของ GDP ซึ่งหากคำนวณมูลค่าแล้วคิดเป็นเงินถึง 2,976,402 ล้านบาท ที่สำคัญคือจำนวนแรงงานที่ถูกจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี้มีมากถึงกว่า 4,400,000 คนเลยทีเดียว
เมื่อการท่องเที่ยวเป็นอัมพาต หมายความว่าคนไทยกว่า 6% จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อย่างแน่นอน นี่ยังไม่นับรวมกับพ่อค้าแม่ค้า หรืออุตสาหกรรมอื่นเช่นระบบขนส่งมวลชนที่มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวอีก นี่จึงนับเป็นความท้าทายและตัวเร่งให้รัฐบาลของเราต้องรีบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
โดยสำหรับประเทศไทย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในปี 2563 ที่เราเห็นกันนั้นแบ่งได้เป็น
-โครงการ เราเที่ยวด้วยกัน งบประมาณ 22,400 ล้านบาท
-โครงการคนละครึ่ง งบประมาณ​ 30,000 ล้านบาท
-เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 21,000 ล้านบาท
และมาตรการช็อปดีมีคืนที่ช่วยลดภาษีของคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนช็อปดีมีคืน
ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงบประมาณสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ 9•8แสนล้านบาทเท่านั้น
จุดประสงค์หลักที่เรามองกันก็คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้นั้นมีขึ้นเพื่อช่วยต่อลมหายใจของไพร่ฟ้าหน้ามืด(เพราะพิษเศรษฐกิจ)อย่างเราๆท่านๆที่ได้รับผลกระทบจากพิษของโรคระบาดนี้ แต่ถ้าเราลองมองให้กว้างขึ้น เราจะเห็นว่า ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้มีเงินถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท โดยที่เม็ดเงินเหล่านี้ถูกส่งผ่านจากรัฐบาลรวมกับเงินในกระเป๋าของพวกเราไปถึงมือของผู้ประกอบการมากมาย
แต่เรื่องที่น่าสนใจคือ GDP นั้นมาจาก “มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ” นั่นหมายความว่า เม็ดเงินที่ไปถึงมือประชาชนและถูกส่งต่อไปในการใช้สินค้าและบริการเหล่านั้นถูกคำนวณเข้าไปใน GDP ด้วย
และถ้าเราไปดูที่ตัวเลข GDPที่ประกาศจากสานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เราจะเห็นว่าในไตรมาสที่ 3 นี้นั้น มูลค่า GDP จากการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนถึงแม้จะยังลดลง 0.6% YoYแต่ถ้าปรับตามฤดูกาลจะขยายตัวถึง 7.3% QoQ เลยทีเดียว ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของ GDP นี้มีผลต่อมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศของเราเช่นกัน
จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เรามีการ Lock down ประเทศกันไปในช่วง ไตรมาสที่ 2 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นแทบจะหยุดชะงัก แต่ถ้าเราลองมาพิจารณากันดีๆแล้ว เงินที่หมุนเข้ามาในระบบส่วนหนึ่งก็มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้นั่นเอง
เพราะมีเราเที่ยวด้วยกัน หลายคนถึงอยากจะแพ็คกระเป๋าออกไปเที่ยวทั้งที่รู้ดีว่าเสี่ยง COVID ทำให้โรมแรมมากมายพอได้มีลมหายใจต่อไป
เพราะมีคนละครึ่ง ที่ช่วยต่อลมหายใจของใครหลายๆคนออกไปอีกหน่อย ให้เงินเท่าเดิมใช้จ่ายได้หลากหลายขึ้นทำให้อยากจะเอาเงินในกระเป๋าตัวเองอีกครึ่งหนึ่งไปซื้อของ
ในวันนี้ ถ้าจะถามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมีขึ้นมาแล้วดีอย่างไร คำตอบก็คงจะเป็น นอกจากช่วยให้คนในประเทศได้อิ่มท้องแล้ว การที่มีการใช้จ่ายภายในประเทศนั้นก็ทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ GDP ดูดีขึ้น และทำให้ประเทศของเราดูดีขึ้นในสายตาต่างชาตินั่นเอง
มีเรื่องราวไหนอยากจะรู้ มีเรื่องเล่าไหนอยากจะอ่าน ลองแนะนำให้นายมิ้นท์ไปขุดมาเล่าให้ฟังกันได้นะครับ
ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านสำหรับทุกความคิดเห็นและกำลังใจนะครับ
ที่สำคัญต้องขอขอบคุณพื้นที่แห่งปัญญาจาก Blockdit
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ
โฆษณา