Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นึกภาพตามกูนะ
•
ติดตาม
31 ธ.ค. 2021 เวลา 05:22 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้หรือไม่: การนับถอยหลัง (Countdown) เข้าสู่ปีใหม่ ที่ถูกต้องตามหลักภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานครฯ ต้องนับถอยหลังเข้าหาเวลา 0 นาฬิกา 18 นาที... ไม่ใช่การนับถอยหลังเข้าหาเวลา 0 นาฬิกาตรง
ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:%22Wishing_You_a_Prosperous_and_Happy_New_Year.%22.jpg
ทุกปีที่ผ่านมาเราทุกคนมักจะมีการฉลองขึ้นปีใหม่ นับถอยหลังเข้าสู่เวลาเที่ยงคืนตรง ของคืนวันที่ 31 ธันวาคม เข้าสู่วันที่ 1 มกราคม แม้ว่าปีนี้คงไม่มีการฉลองกันอย่างเอิกเริกนักตามสภาพโรคระบาด
แต่ทราบไหมว่า นาฬิกาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คลาดเคลื่อน เร็วไปจากความเป็นจริงอยู่ 18 นาที ดังนั้นเที่ยงคืนที่แท้จริงจะเกิดขึ้นที่เวลา 0 นาฬิกา 18 นาที
ท้าวความวิชาภูมิศาสตร์กันเล็กน้อยถึงเส้นสมมติ 2 อย่าง ที่ใช้บอกตำแหน่งบนผิวโลก คือ เส้นรุ้ง (ละติจูด) และเส้นแวง (ลองจิจูด)
เส้นรุ้ง (ละติจูด) คือเส้นที่วงรอบโลกในแนวนอน
เส้นแวง (ลองจิจูด) คือเส้นที่ลากครึ่งโลกในแนวตั้ง จากขั้วโลกเหนือ ไปยังขั้วโลกใต้
ปัจจุบันคุณสามารถใช้เครื่องมือระบุได้ว่าตำแหน่งที่คุณอยู่นั้นอยู่ที่เส้นละติจูด (รุ้ง) ที่เท่าใด และเส้นลองจิจูด (แวง) ที่เท่าใด เมื่อคุณบอกค่าดังกล่าวให้ผู้ใด ผู้นั้นสามารถหาคุณได้ทันทีจากการลากหาเส้นรุ้งและเส้นแวงในแผนที่หรือ GPS
โลกมีลักษณะเป็นทรงกลม หนึ่งวงรอบของโลกแบ่งตามแกนละติจูด (เส้นวง-นอน) และ ลองจิจูด (เส้นครึ่งวง-ตั้ง) ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Division_of_the_Earth_into_Gauss-Krueger_zones_-_Globe.svg
ตัวอย่างการค้นหาตำแหน่ง ละติจูด ลองจิจูด ของตำแหน่งใดๆ บนโลก ด้วย Google Maps หากใช้งานด้วยเครื่อง PC ให้คลิกขวาที่ตำแหน่งที่ต้องการ ค่าละติจูด และลองจิจูดจะแสดงในบรรทัดแรก
สำหรับการใช้งานด้วยโทรศัพท์ ให้แตะปักหมุดไว้ในจุดที่ไม่ซ้ำกับจุดที่มีหมุดอยู่แล้ว จากนั้นให้เลื่อนแถบข้อมูลขึ้นมา จะพบค่าละติจูด ลองจิจูด ในวงเล็บ
ตัวอย่างการหาค่าพิกัดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดย Google Maps PC
ตัวอย่างการหาค่าพิกัดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดย Google Maps Smartphone
ซึ่งจุดสนใจของเราในบทความนี้คือ ลองจิจูด (แวง) โลกเรามีสัณฐานเป็นวงกลม จึงมีเส้นลองจิจูดลากอยู่ 360 เส้นองศา (เริ่มตั้งแต่เส้นองศาที่ -180 ไล่มาทางตะวันออก จนครบรอบทรงกลมที่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่เดิมในเส้นองศาที่ +180)
เมื่อโลกเรา 1 วงรอบ มี 360 เส้นองศา และหมุนรอบตัวเอง 1 วงรอบ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้น 360 องศา เท่ากับ 24 ชั่วโมง, เมื่อเรานำ 360 / 24 = 15 ดังนั้นทุกๆ ลองจิจูดที่ต่างกันทุกๆ 15 เส้นองศา จะเทียบเท่าเวลาที่ต่างกัน 1 ชั่วโมง
หากต้องการทราบว่าเวลาที่แท้จริงที่จุดไหนก็ตาม วิธีคำนวณนั้นง่ายมาก เพียงทราบว่าลองจิจูดที่ตรงนั้นเป็นเท่าใด นำมาหารด้วย 15 ก็จะได้เวลาที่แท้จริงของจุดนั้นออกมาได้ทันที
เช่นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน จะมีลองจิจูดอยู่ที่ประมาณเส้นที่ +100.5 (ดูได้จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) เมื่อนำมาหารด้วย 15 จะได้ว่า เวลาที่แท้จริงของพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ +100.5 / 15 = +6.70 หรือ +6 ชั่วโมง 42 นาที
ในขณะที่ประเทศไทย ใช้เวลามาตรฐานเป็น +7.00 ชั่วโมงถ้วน ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่แท้จริงของกรุงเทพฯ ที่คำนวณได้เมื่อย่อหน้าก่อนอยู่ 18 นาที นั่นหมายความว่า หากคุณเห็นบนนาฬิกาว่าขณะนี้เป็นเวลา 8 นาฬิกาตรง แต่ในความเป็นจริงแล้วคือ 7 นาฬิกา 42 นาที
หากคุณไม่ได้อยู่ในกรุงเทพมหานครฯ คุณสามารถใช้ Google Maps หรือแผนที่อื่นๆ ในการคำนวณหาเวลาที่แท้จริงของพื้นที่ของคุณได้ ด้วยการหาค่าพิกัดลองจิจูด หารด้วย 15 เช่น
ตัวเมืองเชียงใหม่ จะมีลองจิจูดประมาณ +99 เมื่อหารด้วย 15 แล้วจะพบว่าเวลาที่แท้จริงของตัวเมืองเชียงใหม่จะอยู่ที่ประมาณ +6.60 ชั่วโมง หรือ +6 ชั่วโมง 36 นาที ซึ่งเมื่อเทียบกับนาฬิกาที่ประเทศไทยใช้อยู่ที่ +7.00 ชั่วโมง จะพบว่านาฬิกาที่ใช้อยู่นั้นเร็วกว่าความเป็นจริงของเชียงใหม่ 24 นาที
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
คำตอบแบบลัด คือ "เพื่อให้เป็นเลขลงตัว สะดวกในการติดต่อและเดินทางในประเทศ และเมื่อปรับเวลาตอนไปต่างประเทศ จะได้ไม่ต้องบวกลบเวลากันในหลักนาที"
แต่ถ้าคำตอบนี้สั้นเกินไป อยากได้อะไรยาวๆ เชิญอ่านเนื้อความต่อจากนี้ครับ
หากย้อนกลับไป 200 ปีก่อนขึ้นไป การเดินทางและการสื่อสารยังไม่รวดเร็วนัก ยังไม่มีรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน
ธุรกิจ การติดต่อซื้อขายในแต่ละเมืองค่อนข้างจะแยกออกจากกันเป็นเอกเทศ ยกเว้นกลุ่มพ่อค้า/แม่ค้าคาราวาน หรือกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการต่างๆ ที่จะเดินทางข้ามเมือง
ดังนั้น แต่ละเมืองจึงคำนวณเวลาของตนเอง เมื่อมีการเดินทางข้ามเมือง (เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก) ผู้เดินทางต้องปรับเวลาทุกครั้งที่เดินทางผ่านมายังแต่ละเมือง ซึ่งจะเป็นการปรับเวลาเพียงไม่กี่นาที
เหตุการณ์สมมติเช่น หากเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังนครปฐม จะต้องปรับเวลาให้ช้าลง 2 นาที และหากเดินทางต่อไปยังกาญจนบุรี ก็ต้องปรับถอยลงไปอีก 2 นาที เช่นนี้เป็นต้น
เมื่อมีการประดิษฐ์รถไฟขึ้น การสื่อสารข้ามเมืองเริ่มรวดเร็ว การที่เวลาในแต่ละเมืองต่างกันหลักนาทีก็เริ่มเป็นปัญหา
โดยเฉพาะกับกิจการรถไฟ ที่เดินทางข้ามเมืองหลายเมืองวันละหลายครั้ง เกิดความสับสนงุนงงอย่างมากเกี่ยวกับเวลา วางแผนการเดินทางไม่ได้ ต้องปรับนาฬิกาทุกเมือง เมืองละไม่กี่นาที ดังนั้นการระบุว่ารถไฟจะออกเมื่อใด ถึงเมื่อใด ใช้เวลาเดินทางนานเท่าใด ล้วนสื่อสารเพี้ยนไปกันคนละทิศละทาง
เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจการรถไฟในประเทศต่างๆ จึง "ดื้อ" กำหนดเวลามาตรฐานของตนเองขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น รถไฟในสหราชอาณาจักร ที่ไม่สนอีกต่อไปว่าเวลาจริงๆ ของแต่ละเมืองจะเป็นเท่าใด แต่ตารางการเดินรถไฟ และเวลาที่ปรากฎในสถานีรถไฟต่างๆ จะยึดตาม "เวลามาตรฐานกรีนิช" หรือเวลากรุงลอนดอน เท่านั้น
นั่นทำให้กิจการรถไฟทำงานได้ง่ายขึ้นมาก แต่ประชาชนทั่วไปจะยิ่งสับสนหนักกว่าเดิม เพราะคนที่ไม่ได้อยู่ในลอนดอน นาฬิกาในชีวิตประจำวันเป็นคนละนาฬิกากับของรถไฟ
หน่วยงานของแต่ละเมืองพยายามแก้ไขปัญหานี้ให้ประชาชนใช้ชีวิตง่ายขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีแก้ปัญหายอดนิยมในยุคนั้น คือ
การติดเข็มยาว (เข็มนาที) อันที่สองบนนาฬิกา...
ภาพ Google Streetview ของนาฬิกาบนอาคาร The Corn Exchange ในเมือง Bristol สหราชอาณาจักร พิกัด ละติจูด +51.45457 ลองจิจูด -2.59361
ตัวอย่างอาคารที่ยังคงแสดงเข็มนาฬิกาแบบมีเข็มยาว 2 เข็มมาถึงปัจจุบัน คืออาคาร The Corn Exchange ในเมือง Bristol สหราชอาณาจักร ซึ่งตัวเมืองอยู่ในลองจิจูดเส้นที่ประมาณ -2.6 ซึ่งเมื่อคำนวณตามหลักภูมิศาสตร์ เมื่อนำ -2.6 หารด้วย 15 จะได้ว่าเวลาที่แท้จริงของเมืองคือ -0.17 ชั่วโมง หรือ -0 ชั่วโมง 10 นาที ช้ากว่าเวลากรีนิช (ลอนดอน) ซึ่งสมัยก่อนเมืองนี้ ก็จะใช้เวลาที่ช้ากว่าลอนดอน 10 นาทีจริงๆ
แต่ในเมื่อศูนย์กลางการเดินทางอย่างรถไฟ ประกาศใช้เวลากรีนิช (ลอนดอน) ทั่วประเทศ ทำให้นาฬิกาในเมือง ติดเข็มยาว (เข็มนาที) ไว้สองเข็ม ดังในรูปนี้ จะมีเข็มยาวสีแดง และเข็มยาวสีดำ
หากอ่านเข็มสีแดง จะได้เป็นการอ่านเวลาของกรีนิช (ลอนดอน) และเวลาอ้างอิงของรถไฟ
หากอ่านเข็มสีดำ จะเป็นการอ่านเวลาที่แท้จริงของเมือง Bristol ซึ่งจะตามหลังลอนดอนอยู่ 10 นาที
ซึ่งในกรณีตามภาพนี้ คือ 11:09 และ 10:59 นาฬิกา ตามลำดับ ซึ่งจะต้องใช้เวลาตัวแรก (11:09) ในการอ้างอิงการเดินทางด้วยรถไฟ แต่ใช้เวลาตัวหลัง (10:59) ในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งที่มันก็แตกต่างกันเพียง 10 นาที
เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในทุกเมือง ลองนึกภาพตาม ถึงการใช้ชีวิตลักษณะนี้ดูครับ...
ในช่วงพ.ศ. 2460 - 2500 แต่ละประเทศจึงปรับเวลากัน โดยจะประเทศและเมืองที่อยู่ใกล้ๆ กัน จะยุบมาใช้เวลาเดียวกัน ส่วนประเทศที่ใหญ่ๆ หรือประเทศที่อยู่ห่างกันมากๆ ก็จะตั้งเป็นเขตของเวลา โดยแต่ละเขตเวลาจะต่างกันหนึ่งชั่วโมงถ้วนๆ (บางประเทศอาจมีเศษแบบครึ่งชั่วโมง) เพื่อให้การติดต่อข้ามประเทศง่ายขึ้น ไม่ต้องคำนวณเวลาในหลักนาที
การกำหนดเขตเวลาแบบ "ชั่วโมงลงตัว" ที่พบเห็นในปัจจุบัน (ข้อมูล พ.ศ. 2563) ที่มาของภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:World_Time_Zones_Map.png
ในประเทศไทย รัฐบาลในยุครัชกาลที่ 6 ออกประกาศให้ใช้เวลา "เร็วกว่ากรีนิช 7 ชั่วโมงถ้วน" พร้อมกันนี้ยังประกาศให้ทุกพื้นที่ของประเทศใช้เวลาให้เท่ากันทั้งหมด โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2463 นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศสยาม-ไทย จึงใช้เวลาเดียวกันทั่วประเทศที่ +7 ชั่วโมงมาจนถึงปัจจุบัน
เนื้อหาส่วนหนึ่งในพระราชกฤษฎีกา ปรับเวลาประเทศไทย อ่านฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2462/A/273.PDF
เวลาที่เร็วกว่ากรีนิช 7 ชั่วโมง เหมาะกับประเทศไทยหรือไม่?
เมื่อคำนวณตามหลักภูมิศาสตร์ด้วย Google Map อาณาเขตประเทศไทยปัจจุบัน จุดตะวันตกที่สุดของไทย (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) อยู่ในเส้นลองจิจูดที่ +97.344 และจุดจะวันออกที่สุด (อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี) อยู่ในเส้นลองจิจูดที่ +105.635
เมื่อหารด้วย 15 แล้วจะได้ว่าเวลาที่แท้จริงของอาณาเขตประเทศไทย จะอยู่ระหว่าง +6 ชั่วโมง 29 นาที จนถึง +7 ชั่วโมง 3 นาที เร็วกว่าเวลากรีนิช ดังนั้น ความคลาดเคลื่อนระหว่างนาฬิกาที่เราใช้ กับความเป็นจริงตามตำแหน่งเส้นลองจิจูด สูงสุดไม่เกิน 31 นาที เรียกได้เวลาการกำหนดเวลาที่ +7 ชั่วโมงนั้นเหมาะสมกับประเทศแล้ว
ในพื้นที่กรุงเทพฯ นาฬิกาจะเร็วกว่าความเป็นจริง 18 นาที แต่สำหรับพื้นที่จังหวัดอื่นๆ สามารถใช้ Google Maps หาค่าลองจิจูดตามวิธีที่กล่าวไปข้างต้น หรืออาจตรวจสอบได้คร่าวๆ ตามแผนที่ด้านล่างนี้ ทางเพจได้นำแผนที่จากกรมทรัพยากรธรณี มาดัดแปลงให้ทุกท่านพิจารณาส่วนต่างของเวลา ดังนี้
ส่วนต่างของเวลา ตามจุดต่างๆ ของประเทศไทย
00:00 บนนาฬิกาที่เราเห็นนั้น แท้จริงจึงเป็นเพียงเวลา 23:42 นาฬิกาเท่านั้น (ในกรุงเทพฯ) หากจะฉลองปีใหม่อย่างถูกต้อง Countdown สู่เที่ยงคืนจริงๆ คนกรุงเทพฯ ต้องนับถอยหลังเข้าหา 0 นาฬิกา 18 นาที จึงจะเป็นเวลาเที่ยงคืนจริงๆ ปีใหม่จริงๆ ตามหลักภูมิศาสตร์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะใช้เวลาที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักภูมิศาสตร์เสมอไป หลายประเทศในโลกจงใจเลือกเวลาที่เพี้ยนไปจากความเป็นจริงหลายชั่วโมงด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจบ้าง การเมืองบ้าง ซึ่งหากมีโอกาสจะได้เขียนเป็นบทความในโอกาสถัดไป
สุขสันต์วันปีใหม่ครับทุกคน
บันทึก
9
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย