26 ม.ค. 2021 เวลา 12:41 • หนังสือ
A Little Life - Hanya Yanagihara
บีบคั้นจนอยากอาเจียน กับชะตากรรมของชีวิต จะมีนิยายสักกี่เรื่องที่อ่านแล้วเหมือนโดนจิ๊กโก่รุมกระทืบมา รู้สึกเหมือนหมาตาย บ้านล้มละลาย โดนไล่ออกจากงานพร้อมกันหมดในวันเดียว สิ้นหวังพังทลายกับความล่มสลายทางอารมณ์ ตาสว่างกับโลกแห่งความจริงที่ทุกอย่างก็ประดังประเดเข้ามารุมทึ้งเราอย่างไร้เหตุผล ถ้าฟังดูแล้วคิดว่า 'นี่แหละ คือสิ่งที่ชั้นชอบอ่าน' ก็คิดว่าเลือกได้ถูกเล่มแล้ว
A Little Life ของ Hanya Yanagihara หนึ่งใน Longlist รางวัล Man Booker Prize ปี 2015 คือทุกนิยามของคำว่าพัง ความศุขคืออะไรสะกดไม่เป็นแล้ว หนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของจู๊ด วิลเลม เจบี และมัลคอล์ม เพื่อนสี่คนในนิวยอร์ค และช่วงเวลาตลอดยี่สิบปีแห่งความผิดหวัง สับสน เดียวดาย ในโลกอันเปลี่ยวว้างที่ทุกอย่างนอกจากจะแย่ลงแล้ว ยังไม่มีอะไรดีขึ้นอีกด้วย ชีวิตของทั้งสี่เริ่มต้นในมหาลัยเล็กๆแห่งหนึ่งในแมสซาชูเซ็ต ก่อนจะย้ายมาอยู่นิวยอร์คด้วยกันเพื่อสร้างชีวิตของตัวเองทั้งๆที่ยังถังแตกและหลักลอย สิ่งเดียวที่นับเป็นความสุขคือมิตรภาพที่มีให้กัน และความฝันอันหลากหลายที่เป็นกำลังให้เดินหน้าต่อไป ทั้งวิลเล็ม ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง, เจบี ศิลปินปากกล้าผู้แสนทะเยอทะยานจากบรู๊คลิน, และมัลคอล์ม สถาปนิกหนุ่มไฟแรงผู้เงียบขรึม ในศูนย์กลางของทั้งสามชีวิตคือ จู๊ด ที่หลอมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน จู๊ดผู้มีอดีตอันดำมืดซึ่งตามหลอกหลอนเขาในทุกๆจังหวะชีวิตที่ก้าวเดิน ความชั่วร้ายเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เขาเป็นนักกฏหมาย ยึดเหนี่ยวหัวใจไว้กับความยุติธรรมที่ชีวิตไม่สามารถมอบให้เขาได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
เหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต ดูเหมือนว่าอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกลุ่มเพื่อนทั้งสี่อาจจะเป็นจู๊ดเอง ที่จมอยู่กับความมืดมิดและความกลัวที่เขาไม่มีทางหนีพ้น ตลอด 734 หน้าคือความหดหู่สัสหมาที่ถูกคัดสรรมาเพื่อผู้อ่านที่เสพติดความบัดซบของชีวิตคนอื่น มันอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวดำมืด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก และการทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆทางร่างกายและจิตใจ บางช่วงมันทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนนอกที่ดันต้องไปรับรู้เรื่องบางอย่างที่ไม่ควรรู้เกี่ยวกับชีวิตคนอื่น บางช่วงรู้สึกได้ว่าอะไรบางอย่างที่เลวร้ายมากๆกำลังจะเกิดขึ้นแต่เรากลับหยุดมันไม่ได้ ณ จุดนึงเรารู้สึกเวทนาตัวละครมากๆ และคอยเป็นกำลังใจให้เขาพบกับความสงบในชีวิต และความสุขเสียที (แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น) ลีลาการเขียนของ ยานากิฮาระ ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับเป็นพวกถ้ำมองด้วยซ้ำ ราวกับถูกบังคับให้มองความลับสุดดำมืดในชีวิตคนอื่นอยู่วงนอก โดยไม่สามารถละสายตาจากมันได้ มีความโดนความบัดซบยีหน้าอยู่ตลอดเวลา พูดง่ายๆคือ รู้สึกเหี้ย
ยานากิฮาระ เล่าว่า แรงบันดาลใจของเธอมาจากคอลเลคชั่นศิลปะ และภาพถ่ายที่เธอไล่สะสมไว้ตลอดระยะเวลาหลายปี อาทิ ชุดภาพถ่ายสุดพิลึกพิลั่นของ Diane Arbus (Grotesque) ไปจนถึงงานของ Ryan McGinley ที่บันทึกภาพชายหนุ่มที่หลงระเริงไปกับเซ๊กซ์และยาเสพติด หนึ่งในชุดภาพถ่ายที่ทรงอิทธิพลมากสำหรับเธอคืองานชุด Interior/Motels (2005) ของ Todd Hido ยานากิฮาระบอกว่า บางครั้งเธอจินตนาการสหรัฐเป็นดินแดนนที่ปราศจากพื้นที่ นอกจากถนนอันไม่มีที่สิ้นสุดที่มาร์คจุดด้วยโมเต็ลเล็กๆตลอดทาง โมเต็ลเหล่านี้มีความเหมือนและต่างกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยความลับและมีความเป็นอเมริกันอย่างที่สุด ในแง่หนึ่ง ตัวละครของเธอก็มีพื้นฐานไม่ต่างจากโมเต็ลเหล่านั้น ซึ่งเต็มไปด้วยความลับแต่ก็ว่างเปล่าไร้ซึ่งชีวิตและจิตวิญญาณ เธอใช้เวลาหลายปีเก็บข้อมูลทางศิลปะ เพื่อทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนผู้ชาย (เพราะเธอเรียนเรียนโรงเรียนหญิงล้วนมาตลอดจนจบมหาวิทยาลัย)
ตลอดการเขียนหนังสือเล่มนี้ ยานากิฮาระ ไม่ลังเลแม้แต่เสี้ยววินาทีที่จะท้าทายกับขีดจำกัดของผู้อ่านในการรับความกดดันอย่างบ้าคลั่ง เธอพยายามสรรสร้างความขัดแย้งจากสื่อหลักของฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ และความสำคัญของการมีตอนจบที่ดี (happy ending) เรื่องราวของเธอตั้งอยู่บนความตั้งใจแน่วแน่ในการแสดงใหเห็นถึงความเป็นจริงในชีวิต ที่บางครั้งก็อ้างว้าง เปลี่ยวดาย และไม่มีใครที่สามารถขุดใครออกจากความทุกข์ตรมหรือความเศร้าได้ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่ากับเธอเอง หรือผู้คนรอบข้าง
ความตลกร้ายอย่างหนึ่งที่ชวนคลื่นเหียนคือรูปบนหน้าปก กับเรื่องราวที่โฟกัสกับอดีตเรื่องการทารุณกรรมทางเพศ ยานากิฮาระกลับใช้รูป Orgasmic Man ผลงานของ Peter Hoja สำหรับเธอ นี่คือช่วงเวลาที่ชายหนุ่มอยู่ในสภาวะที่เปราะบางที่สุด ความเจ็บปวดและความสุขสมขมวดรวมเป็นความรู้สึกในช่วงเสี้ยววินาที ล้อกับชื่อ A Little Life ที่ความจริง ชีวิตช่างเหราะบาง และอาจดับสลายไป เพียงเท่านี้
จุดที่เราชอบที่สุดน่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนทั้งสี่นี่แหละ ที่มันชวนให้อบอุ่นระคนใจสลาย ในทั้งสี่คนเรารู้สึกอินกับเจบีมากที่สุด เจบีที่มีเพื่อนมากมายแต่ยังรู้สึกเดียวดายตลอดเวลา เจบีที่ยังไม่พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงจากชีวิตมหาลัยไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีภาระความรับผิดชอบและความทุกข์ของชีวิตจริงมากมายรออยู่เบื้องหน้า โคตรเข้าใจความรู้สึกเปลี่ยวว้างยามที่เห็นคนรอบข้างใช้ชีวิตก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่และทิ้งวันเวลาดีๆไว้เบื้องหลัง ทุกคนต่างแยกย้ายไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง และไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน เราไม่มีทางมีความสุขได้เท่ากับช่วงสมัยเรียนมหาลัย(หรือตอนที่อยู่เพื่อนพร้อมหน้า)ได้อีกแล้ว เขาเป็นคนที่กระทำการบางอย่างอันเป็นการทำลายสายใยของเพื่อนทั้งสี่ น่าเสียดายทีพอเรื่องราวเข้มข้นขึ้น เขาก็กลายเป็นเพียงตัวประกอบที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังชีวิตของจู๊ดและวิลเล็ม แบบนั้นเลย
สรุปคือเราชอบและเกลียดเรื่องนี้ไปพร้อมๆกับ เป็น love-hate relationship คือชอบแต่มันทำร้ายจิตใจมากจนคิดว่าคงจะไม่อ่านซ้ำอีก ในแง่ของภาษาคือสวยงามมาก อ่านแล้ว มันหลอกหลอนเรา มันกระทืบเรา มันทำเราช้ำใจจนลืมไม่ลง ยานากิฮาระเคี่ยวความเศร้าจนข้นคลั่ก จนกล้ายเป็นก้อนแข็งจุกอยู่ในลำคอ มันหนักหน่วงจนโมโหไปกับความยัดเยียด เกิดเป็นความรู้สึกอัดอั้นระคนเคียดแค้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยการยอมจำนานอย่างสิ้นหวัง (despair) แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราก็ประมวลออกมาได้เป็นความสวยงามที่สอนให้เราเข้าอกเข้าใจชีวิตมากขึ้นอีกขั้น ณ ที่ใดที่หนึ่งมีคนที่กำลังทนทุกข์ทรมาณและรอคอยที่จะกลับมาเชื่อมั่นในความเอื้ออาทรของเพื่อนมนุษย์อีกครั้ง เช่นเดียวกับจู๊ด วิลเล็ม มัลคอล์ม และเจบี
บันทึกไว้เมื่อ 18 กรกฎาคม 2017
แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2020
โฆษณา