26 ม.ค. 2021 เวลา 13:26 • ไลฟ์สไตล์
เหตุผลหนึ่งเดียว ที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ
บิลล์ กรอส ก่อตั้ง Idealab ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1996
โดยบิลล์ อยากให้ Idealab เป็นแหล่งฟูมฟักธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็คล้ายๆ กับ “Sandbox” ในซีรีส์ START-UP ที่เพื่อนๆ น่าจะได้ดูกันแล้วทาง Netflix
ผ่านมา กว่า 25 ปี บิลล์ ได้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ กว่า 150 บริษัท โดยมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ สามารถ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) หรือถูกซื้อกิจการ รวมกันมากกว่า 45 บริษัท
แต่ก็มีอีกมากกว่า 40 บริษัท ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า…
บิลล์ เชื่อว่าธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” เป็นการวิธีการที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ในการทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น
“ถ้าคุณนำคนมารวมกัน แล้วให้ผลตอบแทนเป็นหุ้น ในสัดส่วนที่เหมาะสม และจัดการในรูปแบบสตาร์ทอัพ”
“คุณจะสามารถปลดปล่อยศักยภาพของคนเหล่านั้น ในมิติที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
แต่เราก็เห็นว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจสตาร์ทอัพ มากกว่า 95% เจ๊ง...
และบิลล์ กรอส เอง ก็มีส่วนร่วมทำธุรกิจเจ๊ง มามากกว่า 40 บริษัท เขาจึงรวบรวมข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำสตาร์ทอัพ และพยายามหาคำตอบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทั้งนักลงทุนและทีมสตาร์ทอัพ ควรตอบตัวเองให้ได้ ปัจจัยนั้น คือ อะไร?
บิลล์ คัดเลือก ปัจจัย 5 ข้อ ที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ความสำเร็จของสตาร์ทอัพ
หนึ่ง “ไอเดีย” มันจะมีอะไรดีไปกว่า แนวทางแก้ปัญหาที่สุดยอด ไม่เคยมีคนคิดได้มาก่อน
สอง “ทีม” หลายคนคงบอกว่าไอเดียก็เหมือนความฝัน ถ้าไม่ตื่นจากฝันมา “ลงมือทำ” ฝันนั้นก็คงไม่มีทางเป็นจริง และทีมที่สามารถลงมือทำ และปรับตัวตามสถานการณ์ได้ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ
สาม “โมเดลธุรกิจ” หรือ Business model บริษัทมีวิธีในการหารายได้ที่ชัดเจน แจ่มแจ้งขนาดไหน
สี่ “เงิน” คือ บริษัทมีเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ หรือไม่
และห้า “Timing” คือ อยู่ในจังหวะเวลา หรืออยู่ใน “ยุค” ที่เหมาะสม บางทีมาเร็วเกินไป ธุรกิจ ก็ไม่เกิด หรือมาช้าเกินไป คิดจะเป็น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก คนที่สอง ก็คงเกิดยาก
บิลล์ วิเคราะห์โดยดูข้อมูล และสัมภาษณ์บริษัทสตาร์ทอัพใน Idealab 100 บริษัท และนอก Idealab อีก 100 บริษัท
เพื่อนๆ คิดว่า หากเลือกได้เพียงหนึ่งเดียว ปัจจัยไหน คือ ปัจจัยที่สำคัญที่สุด???
บิลล์ พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อ ความแตกต่างระหว่างบริษัทที่สำเร็จ และล้มเหลว จากข้อมูล 200 บริษัท ก็คือ
42% Timing
32% ทีม/การลงมือทำ
28% ไอเดีย
24% Business model
14% เงินลงทุน
อันดับหนึ่ง ก็คือ Timing ซึ่งมีผลกระทบมากกว่า ไอเดียเสียอีก...
Airbnb และ Uber เริ่มธุรกิจในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 ในยุคที่คนกำลังมองหารายได้เสริมจากสินทรัพย์ที่มีอยู่
หรือ Netflix เริ่มต้นธุรกิจในยุคที่ internet กำลังแพร่หลาย เริ่มจากการขายแผ่น DVD และเปลี่ยนผ่านไปสู่การให้บริการ Subscription ดูหนังออนไลน์ ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ที่เป็นที่นิยมสุดๆ ในปัจจุบัน
บิลล์ กรอส เอง เล่าถึง Z.com ที่ฝันอยากเป็นแพลตฟอร์มบันเทิงออนไลน์ สามารถระดมทุนได้อย่างมากมาย และเซ็นต์สัญญาจ้างนักแสดงฮอลลีวูดมาทำงานได้ด้วย
ในยุคปี ค.ศ.1999-2000 ที่อัตราการเข้าอินเตอร์เนตบรอดแบรนด์ตามบ้านในสหรัฐฯ ยังต่ำมากๆ และการเข้ารหัสของวิดิโอ ทำให้การดูหนังออนไลน์ มันโหลดช้าไปทั้งหมด สุดท้ายบริษัท Z.com ต้องปิดตัวลง ไปในปี ค.ศ.2003
แต่ผ่านไปเพียง 2 ปี เมื่อ 2 ปัญหาดังกล่าวมีการแก้ไข ก็ได้มีธุรกิจให้บริการ โหลดไฟล์วิดิโอผ่านอินเตอร์เนตอีกบริษัทถือกำเนิดขึ้น บริษัทนั้นก็คือ “YouTube” มาถูกจังหวะจริงๆ
โดย YouTube ในช่วงแรกก็ไม่ได้คิดด้วยซ้ำ ว่าจะเก็บเงินลูกค้ายังไง
ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่า ปัจจัยอื่น “ไม่สำคัญ” เพียงแต่ Timing เป็นปัจจัยที่ชี้ว่าบริษัทสตาร์ทอัพที่เราทุ่มเทแรงกายแรงใจ จะรุ่ง หรือ ร่วง
บิลล์ แนะนำ วิธีการเช็คเรื่อง Timing ก็คือ ถามตัวเองหลายๆ รอบ ว่า
“ผู้บริโภค หรือ ลูกค้า พร้อมที่จะใช้สินค้าหรือบริการของเราแล้วจริงๆ หรือยัง”
โดยพยายามแยกอคติ คิดเข้าข้างตัวเอง ออกไป ว่ามันต้องถึงเวลาแล้วแน่ๆ
ส่วนตัวแอดมินมองว่า สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ ที่เน้น ล้มเร็ว เรียนรู้เร็ว ก็คงมีอีกวิธีเช็คง่ายๆ
ก็คือ การ pitch หรือนำเสนอไอเดีย ให้นักลงทุนฟัง หรือหากไม่มีใครฟัง แต่อยากทำจริงๆ ก็ทดลองลงสนามจริง แบบไม่เจ็บตัวมากดู...
อาจเริ่มจากการทดลองตลาด ในช่วงเวลาว่าง จากงานประจำดูก่อน
ซึ่งจะว่าไปแล้ว ทีมแอดมินเองก็กำลังทำสตาร์ทอัพกันอยู่ โดยโชคดีที่บริษัทที่ทำงาน ให้โอกาส ช่วงเวลา 20% ของงาน มาทำโปรเจคพิเศษ
พอทดสอบอะไรหลายๆ อย่างได้ บริษัทก็ให้เงินทุน มาทดลองตลาดจริง ซึ่งตอนนี้ทีมแอดเอง ก็ยังไม่ใกล้เคียงกับจุดที่สำเร็จ แต่ก็ยังมุ่งมั่น ลุ้นกันอยู่ ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง
ปิดท้าย ด้วยประโยคหนึ่งของ ไมค์ ไทสัน นักมวยชื่อดังที่ว่า
“ทุกคนมีแผนอยู่ในหัว...”
“…จนถึงจังหวะที่โดนต่อยเข้าหน้าเท่านั้นแหล่ะ”
เมื่อลงสนามจริง โดยต่อยจริง เจ็บจริง แผนที่เตรียมไว้อาจเป็นอดีต
ชีวิตจริงก็ต้องสู้ต่อไป
และที่สำคัญอย่าลืมถามตัวเอง ว่า ช่วงเวลานี้ คือ “Timing” ของธุรกิจเราหรือไม่...
ไม่แน่ว่า วิกฤต โควิด-19 อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ก็เป็นได้
หาให้เจอ...
เพื่อนๆ สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการ อยากมาแชร์เรื่องราว หรือมีปัญหาอยากปรึกษาแอด ก็ Inbox กันมาได้เลยนะ ยินดีแลกเปลี่ยนกันได้เต็มที่เลย ^^
และก็ช่วยกดติดตาม Add Favorites เพจ "The Sandbox ล้มไม่น็อค ช็อคไม่ตาย" กันเอาไว้ เพื่อไม่ให้พลาดเรื่องราวดีๆ
#TheSandboxTH x #นำเข้าส่งออกสุดขอบฟ้า
โฆษณา