27 ม.ค. 2021 เวลา 09:49 • กีฬา
เชลซีปิดฉากกับตำนานอย่างแฟรงค์ แลมพาร์ดไปแล้ว ด้วยความอาลัยของแฟนๆ เกิดอะไรขึ้นทำไมการไล่ออกถึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนัก วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง
การตัดสินใจย้ายมาคุมเชลซี ของแฟรงค์ แลมพาร์ด ถือเป็น "ความกล้าหาญ" อย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง
1
กล่าวคือ เขาทำผลงานได้ดีมากกับดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในซีซั่น 2018-19 พาทีมเข้าเพลย์ออฟได้ เกือบเลื่อนชั้นมาเล่นในพรีเมียรลีกได้สำเร็จ นั่นทำให้คนที่ดาร์บี้รักแลมพาร์ดมาก และอยากให้อยู่ต่อไปนานๆ
1
แต่สุดท้าย แลมพาร์ดเลือกปฏิเสธข้อเสนอของดาร์บี้ แล้วตัดสินใจย้ายมาคุมสโมสรที่เขาผูกพันมากกว่านั่นคือเชลซี
1
ตั้งแต่เชลซี แยกทางกับเมาริซิโอ ซาร์รี่ พวกเขาพยายามหาผู้จัดการทีมเก่งๆ เข้ามามากมาย แต่การเจรจาล้มเหลวไปหลายคน ปัญหาหลักคือสโมสรโดนแบนจากการซื้อขาย 1 ปี แถมเพิ่งขายเอแด็น อาซาร์ให้เรอัล มาดริด คือเจอสถานการณ์แบบนี้ โค้ชดังๆ ก็ไม่อยากเจ็บตัว ย้ายมาก็ต้องใช้แค่นักเตะที่มี ถ้าหากทำทีมจบท็อปโฟร์ไม่ได้ ก็เสียเครดิตอีก
ด้วยการที่โดนปฏิเสธหลายคน ทำให้เชลซียื่นข้อเสนอให้แลมพาร์ดพิจารณาในสัญญารายได้ 4 ล้านปอนด์ต่อปี โดยจะเซ็นสัญญากัน 2 ปี โดยมีอ็อปชั่นขยายสัญญาปีที่ 3 ถ้าทำผลงานได้ดี
1
ค่าเหนื่อยที่แลมพาร์ดได้รับไม่ติดท็อปเท็นของผู้จัดการทีมในพรีเมียร์ลีกด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่แปลกเพราะเขาเป็นโค้ชมือใหม่สุดๆ เพิ่งมีประสบการณ์คุมทีมได้แค่ 1 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตามสโมสรมองว่า ความเป็นตำนาน และความเข้าใจในระบบอะคาเดมี่ของแลมพาร์ด น่าจะประคองทีมให้ผ่านช่วงวิกฤติ ห้ามซื้อตัวผู้เล่นไปได้
เมื่อเชลซียื่นมาแบบนั้น แลมพาร์ดไม่เสียเวลาคิด เขาตอบตกลงทันที แม้จะได้รับข้อเสนอจากสโมสรอื่นๆด้วยก็ตาม ซึ่งแลมพาร์ดยอมรับว่า ถ้าเขาย้ายไปที่นั่น จะได้เงินมากกว่าการเลือกเชลซีอีก
"ผมปฏิเสธข้อเสนอไม่ได้จริงๆ เพราะนี่คือสโมสรของผม ผมไม่กลัวหรอก ว่าถ้าอะไรมันจะผิดพลาดในอนาคต" แลมพาร์ดให้สัมภาษณ์ในรายการทอล์กโชว์ของริโอ เฟอร์ดินานด์ ซึ่งแลมพาร์ดรู้ดีว่าเขาประสบการณ์น้อย แต่เขามีความตั้งใจที่จะประคองเชลซี ให้อย่างน้อยที่สุดจบท็อปโฟร์ก็ยังดี
5
จริงๆมีหลายคนเตือนแลมพาร์ด เช่นเจมี่ คาร์ราเกอร์ แนะนำว่าก่อนจะมาคุมเชลซี คุณควรมีประสบการณ์ที่สโมสรอื่นสัก 10 ปีก่อน เอาให้วิชาแก่กล้ากว่านี้ ได้คุมเร็วก็อาจโดนไล่ออกเร็ว เพราะแลมพาร์ดอาจเป็นตำนานของสโมสรก็จริง แต่นั่นคือฐานะนักเตะ เขานึกภาพไม่ออกหรอก ว่าในระดับ management แล้ว มันมีการเมืองเยอะกว่ากันแค่ไหน
2
อย่างไรก็ตาม แลมพาร์ดขอสู้สุดใจ และในฤดูกาล 2019-20 เขาใช้กลยุทธ์ดันดาวรุ่งขึ้นมาทั้ง รีซ เจมส์, แทมมี่ อบราฮัม, เมสัน เมาท์, ฟิกาโย่ โทโมริ และบิลลี่ กิลมอร์ ก้าวขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ คือแฟนๆเชลซีเองเอาจริงๆ ก็ดีใจ ที่เห็นเด็กจากอะคาเดมี่ได้แจ้งเกิดแบบนี้
1
ปัญหาของแลมพาร์ดตั้งแต่แรก คือขาดการสนับสนุนที่ดี จากผู้บริหาร โดยเฉพาะมาริน่า กรานอฟสกาย่า ผู้กุมอำนาจสูงสุดอันดับ 2 รองจากโรมัน อบราโมวิช ที่เชลซีเธอมีพาวเวอร์มากกว่าบรูซ บัค ซึ่งเป็นซีอีโอของทีมด้วยซ้ำ
1
มาริน่า ไม่คิดว่าแลมพาร์ดเป็นตัวเลือกที่ดีนัก แต่ก็ต้องดึงตัวเอามาไว้ก่อน เพราะสถานการณ์บังคับ ดูจากข้อเสนอที่เซ็นสั้นๆแค่ 2 ปี กับค่าจ้าง 4 ล้านปอนด์ ก็พอจะเห็นภาพได้อยู่
นอกจากนั้นมาริน่า ยังแทรกแซงเรื่องการแต่งตั้ง backroom staff ของแลมพาร์ด อย่างกรณีของเชย์ กีฟเว่น โค้ชผู้รักษาประตู ที่แลมพาร์ดต้องการดึงมาจากดาร์บี้ เคาน์ตี้ ก็ถูกปฏิเสธ คือมุมของมาริน่า คุณจะเอาคนมาเยอะๆทำไม ถ้าหากโดนปลด สโมสรก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้สตาฟฟ์เหล่านี้ด้วย
ในช่วงแรก ดราม่ายังไม่เกิด เพราะเชลซีผลงานดี สำหรับอบราโมวิชเขาเองจะแปรผันอารมณ์ตามแต่ผลงานในสนาม และเมื่อทีมยังชนะ แลมพาร์ดก็ยังได้รับความไว้ใจอยู่
ผลงานในซีซั่น 2019-20 ถือว่าน่าประทับใจ ทีมจบอันดับ 4 คว้าสิทธิ์ไปแชมเปี้ยนส์ลีก แถมยังได้เข้าชิงเอฟเอคัพอีกต่างหาก แม้จะแพ้อาร์เซน่อลในรอบชิงก็เถอะ แต่โดยรวมก็ถือว่าโอเค อย่าลืมว่าเชลซีเล่นในเงื่อนไขที่ซื้อใครไม่ได้ด้วยนะ
1
เข้าสู่ช่วงซัมเมอร์ปี 2020 เชลซีกลับมาลงตลาดนักเตะอีกครั้ง จริงๆพวกเขาพ้นโทษแบนตั้งแต่มกราคม 2020 แล้ว แต่ ณ เวลานั้น มันคือกลางซีซั่น เป็นเรื่องยากที่สโมสรอื่นจะยอมปล่อยนักเตะดีๆออกจากทีมกลางคัน เชลซีจึงจะมาทุ่มซื้อเอาในช่วงซัมเมอร์แทน
2
เมื่อตลาดเปิด ความขัดแย้งของแลมพาร์ด กับมาริน่าเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะตัวที่แลมพาร์ดอยากได้ สโมสรไม่สนับสนุน
3
เป้าหมายที่เป็นเบอร์แรกของแลมพาร์ด คือดีแคลน ไรซ์ จากเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซึ่งไรซ์คือกองกลางตัวรับเบอร์ 1 ของทีมชาติอังกฤษในเวลานี้ แลมพาร์ดมองว่านี่จะเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่ทำให้ทีมสมดุลขึ้น ถ้ามีไรซ์ ก็องเต้ก็เล่นง่าย ตัวรุกก็ไม่ต้องพะวงเกมรับ มันเป็นตัวเลือกที่ดีมาก
2
แต่ปัญหาคือไรซ์เป็นเด็กฝึกของเชลซีมายาวนาน 9 ปี แต่สุดท้ายเชลซีไม่เซ็นสัญญาอาชีพ นักเตะเลยย้ายไปอยู่อะคาเดมี่ของเวสต์แฮมแทน ก่อนจะแจ้งเกิดได้ที่นั่น ในมุมของผู้บริหารคือถ้าจ่ายเงินซื้อกลับมา สโมสรจะโดนวิจารณ์หนักแน่ๆ ว่าเสียค่าโง่ ที่ไม่สามารถรั้งนักเตะเยาวชนของตัวเองได้ แล้วต้องควักจ่ายเงินกลับมาในราคาแพงๆ คล้ายๆกับกรณีของ เชส ฟาเบรกาส กับบาร์เซโลน่า หรือ พอล ป็อกบา กับแมนฯยูไนเต็ด ตัวเลือกดีแคลน ไรซ์จึงโดนบอกปัดตกไปอย่างรวดเร็ว
3
จากนั้นแลมพาร์ดขอสโมสรซื้อผู้รักษาประตูคนใหม่ เอามาแทนที่เคป้า อาร์ริซาบาลาก้า ที่เขาคิดว่าไม่ดีพอจริงๆ สังเกตได้จากช่วงปลายซีซั่น แลมพาร์ดเลือกใช้วิลลี่ กาบาเยโร่ ยังสบายใจซะกว่า
1
แต่มาริน่าไม่เห็นด้วย คุณจะเอานายทวารคนอื่นมาเป็นตัวจริง แล้วเอานายทวารค่าตัวแพงที่สุดในโลกเป็นตัวสำรองอย่างนั้นหรือ ทำไมแลมพาร์ดไม่ยกระดับเคป้าขึ้นมาให้เป็นแกนหลักของทีมล่ะ สโมสรจะได้ไม่ต้องซื้อโกล์คนใหม่
เช่นเดียวกับตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ก ที่แลมพาร์ดอยากได้ เจมส์ ทาร์คอฟสกี้ กองหลังทีมชาติอังกฤษจากเบิร์นลีย์ ที่มีอายุ 27 ปี กำลังสมบูรณ์สุดๆ สามารถใช้งานได้อีก 5 ปี สบายๆ แต่มาริน่าปฏิเสธ แล้วไปเซ็นฟรี ติอาโก้ ซิลวามาจากปารีสแซงต์แชร์กแมง เพราะ ซิลวา มีประสบการณ์เยอะกว่า ไม่ต้องเสียค่าตัว ที่สำคัญชื่อเสียงโด่งดัง สามารถทำการตลาดได้ง่ายกว่าทาร์คอฟสกี้เยอะ
4
ตัวที่แลมพาร์ดต้องการ ไม่เคยได้มาครอบครอง แต่นี่คือแนวทางการซื้อของเชลซีอยู่แล้ว อำนาจจะไม่ได้อยู่กับเฮดโค้ช มันเป็นแบบนี้เสมอมา โค้ชจะลิสต์รายชื่อนักเตะที่ต้องการ แต่สโมสรจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะเอาหรือไม่ และถ้าสโมสรซื้อคนอื่นมาแล้ว โค้ชก็ต้องใช้งานนักเตะที่มี ให้ระเบิดฟอร์มออกมาให้ได้ แค่นั้น
ซีซั่น 2020-21 ปีที่สองของแลมพาร์ดกับเชลซีกำลังจะเริ่มขึ้น ซีซั่นนี้ มาริน่าจัดเต็ม ซื้อนักเตะมาเสริมทัพมหาศาล เชลซีเป็นทีมที่จ่ายเงินมากที่สุดในการซื้อขายของปีนี้ ซึ่งในขณะที่ทีมอื่น ระวังการใช้เงินเพราะโควิด-19 แต่เชลซีซื้อรัวๆ เป็นสโมสรเดียวในโลกที่ใช้เงินซื้อนักเตะ มากกว่า 200 ล้านปอนด์ ในตลาดซื้อขายรอบนี้
1
- ติโม แวร์เนอร์ 47.7 ล้านปอนด์
- ฮาคิม ซิเย็ค 36 ล้านปอนด์
- เบน ชิลเวลล์ 50 ล้านปอนด์
- ไค ฮาร์แวตซ์ 72 ล้านปอนด์
- เอดูอาร์ เมนดี้ 21.6 ล้านปอนด์
6
แต่ละคนที่กล่าวมา คือนักเตะดีกรีระดับแนวหน้าของยุโรป ซึ่งในมุมของมาริน่า และรวมถึงอบราโมวิชด้วย มองว่าแลมพาร์ดจะอยากได้หรือไม่อยากได้ นั่นไม่สำคัญ แต่เขาต้องคอนโทรลผู้เล่นเหล่านี้ ให้ปล่อยของที่มีออกมาให้ได้
4
แต่เมื่อเข้าซีซั่น 2020-21 ปัญหา 3 อย่าง ประเดประดังเข้ามาหาแลมพาร์ดจนเขารับมือไม่ไหว
2
ปัญหาแรกคือเขาไม่สามารถใช้งานนักเตะดังๆอย่าง ติโม แวร์เนอร์ และ ไค ฮาร์แวตซ์ได้ ทีมอุตส่าห์ซื้อมาโดยแย่งชิงกับทีมอื่นได้สำเร็จ แต่แลมพาร์ดทำให้แวร์เนอร์ ที่เป็นรองดาวซัลโวบุนเดสลีกา กลายเป็นนักเตะปืนฝืดที่โดนแฟนทีมอื่นๆล้อเลียนเฉยเลย
1
จุดนี้ทำให้ผู้บริหารอย่างมาริน่าไม่สบายใจ เพราะถ้าคุณไม่มีฝีมือในการดึงพลังของนักเตะซูเปอร์สตาร์ออกมา แล้วอนาคตตัวดังๆที่ไหน จะอยากย้ายมาเชลซีล่ะ ถ้าย้ายมาแล้วดับแบบนี้
คือแลมพาร์ดก็โอเคถ้ามองกว้างๆแบบไม่คิดมาก แต่เชลซีเป็นทีมที่เน้นการซื้อนักเตะระดับโลกตลอดเวลา ดังนั้นผู้จัดการทีมก็ควรเป็นคนที่ใช้งานนักเตะระดับโลกได้ดี ไม่ใช่ว่าซื้อตัวท็อปคลาสมา แต่ไปๆมาๆ ตัวท็อปเหล่านั้นเล่นได้แย่กว่านักเตะอะคาเดมี่อีก มันก็ไม่ใช่
2
ปัญหาข้อที่สองคือ แลมพาร์ดไม่สามารถคอนโทรลห้องแต่งตัวของตัวเองได้ มีแหล่งข่าวหลุดข้อมูลออกมาว่า แลมพาร์ดมีความห่างเหินกับกลุ่มนักเตะพอสมควร "ปัญหาคือผู้จัดการทีมไม่ค่อยคุยกับนักเตะ เขาจะเลือกคุยแค่กับคนที่เขาสนิทเท่านั้น มีนักเตะตัวสำรองบางคนไม่ได้คุยกับแลมพาร์ดมาแล้ว 2 เดือนก็มี ซึ่งพวกเขาเหล่านั้น ก็เลยไม่รู้ว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะพัฒนาตัวเองได้" แหล่งข่าวใกล้ชิดกับสโมสรเผย
2
นักเตะหลายๆคน เริ่มไม่ให้เกียรติแลมพาร์ด ตัวอย่างเช่นมาร์กอส อลอนโซ่ ที่โดนเปลี่ยนตัวในช่วงพักครึ่งของเกม ปะทะเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน แทนที่จะนั่งดูบนสแตนด์ดูเพื่อนเล่นจนจบเกม เขาเดินเข้าห้องแต่งตัวไปเลย
1
ถ้าหากขัดแย้งกับผู้บริหารแล้วนักเตะทั้งทีม ยังพร้อมใจหนุนหลัง 100% สโมสรคงไม่ง่ายนักที่จะปลด แต่เมื่อตอนนี้ แลมพาร์ด "Lost the dressing room" เขาสูญเสียห้องแต่งตัวไปเรียบร้อยแล้ว เขาก็ไม่มีอะไรไว้รองรับแรงกระแทกจากผู้บริหารอีก
และปัญหาข้อที่ 3 คือเรื่องผลงานในสนาม ตั้งแต่เดือนธันวาคม เชลซีเล่นได้อย่างน่าอึดอัด พวกเขาแพ้เอฟเวอร์ตัน , แพ้วูล์ฟแฮมป์ตัน, แพ้อาร์เซน่อล และเสมอแอสตัน วิลล่า จากนั้นพอเข้าปีใหม่ เปิดหัวมาก็แพ้แมนฯซิตี้คาบ้าน
อันดับในตารางหล่นลงไปเรื่อยๆ จากกลุ่มลุ้นแชมป์ กลายเป็นกลุ่มกลางตาราง และด้วยฟอร์มแบบนี้ นึกภาพไม่ออกเลยว่า การเจอกับแอตเลติโก้ มาดริด ที่เป็นจ่าฝูงลาลีกาในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก สกอร์จะขาดลอยแบบเละเทะแค่ไหน
ความพ่ายแพ้รัวๆแบบนี้ ทำให้แฟนบอลก็เริ่มสนับสนุนเขาน้อยลง คือแฟนบอลก็รักแลมพาร์ดนะ แต่หลายคนก็รู้สึกว่า แลมพาร์ดอาจมือไม่ถึงในการคุมทีมใหญ่ขนาดนี้ คือเชลซีภายใต้แลมพาร์ดอาจมีลุ้นท็อปโฟร์ได้ แต่จะยกระดับไปไล่บี้แชมป์กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้หรือเปล่า มันก็นึกภาพยากเหมือนกัน
เมื่อองค์ประกอบ 3 อย่างมันคลิกลงตัวกัน ผู้บริหาร นักเตะ แฟนบอล ทุกคนต่างไม่พอใจแลมพาร์ด นั่นทำให้สโมสรเดินหน้าเต็มที่ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีม
หลังแพ้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คาบ้าน ในวันที่ 3 มกราคม 2021 มาริน่าตัดสินใจแล้วว่าจะปลดแลมพาร์ดออกจากตำแหน่ง แต่ก็จำเป็นต้องหาคนที่มีคุณภาพสูงกว่ามาทดแทน
เป้าหมายหลักของเชลซี คือโค้ชที่ใช้ภาษาเยอรมัน และอังกฤษได้ดี สาเหตุเพราะนักเตะแกนหลักของทีมในอนาคต แวร์เนอร์ (24 ปี), ฮาร์แวตซ์ (21 ปี) และ รูดิเกอร์ (27 ปี) ล้วนเป็นคนเยอรมันทั้งหมด ยังไม่นับคริสเตียน พูลิซิช ที่แจ้งเกิดจากลีกเยอรมันมาก่อนอีก
คนแรกที่เชลซีไปทาบทามคือราล์ฟ รังนิค อดีตเฮดโค้ชของชาลเก้, สตุ๊ตการ์ต, ฮอฟเฟ่นไฮม์ และ ไลป์ซิก แต่รังนิคปฏิเสธ จากนั้นเชลซีติดต่อไปที่ยูเลียน นาเกลส์มันน์ โค้ชคนปัจจุบันของไลป์ซิก แต่ก็โดนปฏิเสธเช่นกัน คือโค้ชระดับท็อปที่กำลังทำงานอยู่ ไม่มีใครสละเรือกลางคัน เพื่อย้ายมาที่เชลซีหรอก
2
จากนั้นเชลซี จึงไปหาโค้ชเยอรมันคนที่ 3 ซึ่งเป็นคนที่ว่างงานอยู่พอดี นั่นคือโทมัส ทูเคิล ที่เพิ่งโดนปารีส แซงต์ แชร์กแมงปลด ในช่วงปลายปี 2020
2
ทูเคิลเป็นชอยส์ที่อบราโมวิชชอบ นั่นเพราะมีประสบการณ์ในการดีลกับสตาร์ดังๆมาแล้ว เขาสามารถคอนโทรลทั้งเนย์มาร์ และคีลียัน เอ็มบัปเป้ ให้เล่นด้วยกันได้โดยไม่เกิดดราม่า นั่นก็นับว่ายอดเยี่ยมแล้ว อีกอย่างซีซั่นที่แล้ว ก็เพิ่งพาเปแอสเชเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีก ดังนั้นว่ากันแฟร์ๆ คือประสบการณ์เหนือกว่าแลมพาร์ดเยอะ
ในระหว่างที่เจรจากันนั้น เชลซีออกไปเยือนฟูแล่ม ที่คราเวน ค็อตเทจ และเอาชนะได้ 1-0 แต่นั่นไม่ทำให้ผู้บริหารเปลี่ยนใจ พวกเขาตัดสินใจไปแล้วว่ายังไงก็ต้องปลดแลมพาร์ดแน่ๆ แค่ต้องหาโค้ชใหม่ให้ได้ก่อนเท่านั้น
บรรยากาศในห้องแต่งตัว เหมือนแลมพาร์ดเองก็จะพอรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เขาก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป เชลซีแพ้เลสเตอร์ 2-0 ในเกมพรีเมียร์ลีก ตามด้วยชนะลูตัน ทาวน์ 3-1 ในเกมเอฟเอคัพ
2
ที่เชลซีไม่ปลดแลมพาร์ดเสียที ไม่ใช่เพราะอยากจะให้โอกาสอีกสักตั้ง แต่เพราะการเจรจากับทูเคิลใช้เวลานานกว่าที่คิด สาเหตุเพราะทูเคิลไม่อยากรับงานกลางฤดูกาล เพราะมีโอกาสเจ็บตัวง่ายกว่า แต่เขาเองก็กังวลใจว่าถ้าปล่อยโอกาสนี้หลุดไป ในช่วงซัมเมอร์ เชลซีอาจมีตัวเลือกเยอะกว่านี้ และไม่กลับมาสนใจเขาอีก ดังนั้นทูเคิลจึงตอบตกลงในช่วงกลางดึกของคืนวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม
3
เมื่อทูเคิลโอเคแล้ว กระบวนการทุกอย่างก็เริ่มทันที 8.00 น. ของวันจันทร์ที่ 25 มกราคม มาริน่า เชิญแลมพาร์ดมาประชุมที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ซึ่งมันเดาไม่ยากหรอก ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
4
มาริน่า และบรูซ บัค บอกข่าวร้ายกับแลมพาร์ด และทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันถึงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงโดนปลด ก่อนที่แลมพาร์ดจะยอมรับความจริงอย่างรวดเร็ว
4
เชลซียื่นข้อเสนอให้แลมพาร์ด บอกลากับนักเตะในทีมตัวเองที่สนามซ้อมในช่วงสายวันจันทร์ แต่แลมพาร์ดปฏิเสธ ออกแล้วก็คือออก เขาไปเลยน่าจะเหมาะสมกว่า แลมพาร์ดรับเงินค่าจ้างฉีกสัญญาที่เหลือ ก่อนจะเก็บของเดินออกจากสแตมฟอร์ด บริดจ์ไปแต่โดยดี
4
ปีเตอร์ เช็ก ผู้อำนวยการเทคนิคของทีม จะรับหน้าที่อธิบายสถานการณ์กับกลุ่มนักเตะ โดยเบื้องต้นทำการเลื่อนซ้อม จาก 10.00 น. เป็น 14.00 น. เพื่อให้สโมสรเคลียร์ทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน
3
11.30 น. เมื่อแลมพาร์ดเก็บของทุกอย่างเสร็จแล้ว สโมสรจึงปล่อยแถลงการณ์ออกมา โดยความยากของการแถลงครั้งนี้ คือต้องโน้มน้าวให้แฟนๆเข้าใจถึงเหตุผลด้วย จะดีจะร้ายแลมพาร์ดคือตำนานของสโมสร และผลงานเอาจริงๆก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ปีที่แล้วจบท็อปโฟร์ ปีนี้ก็คว้าแชมป์กลุ่มในแชมเปี้ยนส์ลีก ส่วนในลีก ทุกทีมมันก็มีช่วงเวลาแย่ๆกันทั้งนั้น
กลยุทธ์ที่เชลซีใช้ คือการตบหัวแล้วลูบหลัง ใช้แข็งผสมอ่อน ในจดหมายแถลงการณ์
1
เชลซีเริ่มจากการใช้ความแข็งกร้าวในการอธิบายก่อนว่า "เราขอขอบคุณแฟรงค์กับสิ่งที่เขาทำให้เราในฐานะเฮดโค้ช อย่างไรก็ตามปัญหาคือผลงานและฟอร์มที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา ปล่อยให้ทีมอยู่กลางตาราง และยังไม่มีเส้นทางที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร"
1
ทำให้เห็นว่าสโมสรคิดมาเป็นอย่างดีแล้ว ว่าที่ปลด ไม่ใช่เพราะฟอร์มแย่ 2-3 นัด แต่ในระยะยาวแลมพาร์ดคงยากที่จะพาทีมยกระดับขึ้นได้ หลังจากตบหัวไปแล้ว เชลซีก็ใช้การลูบหลัง ด้วยการให้โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรออกมาแถลงต่อท้าย
ที่ผ่านมา จะปลดใครก็แล้วแต่ อบราโมวิชไม่จำเป็นต้องมาแถลงเอง แต่เขาเข้าใจสถานการณ์นี้ดี อบราโมวิชตั้งใจออกหน้าด้วยตัวเอง เพื่อให้เกียรติตำนานของทีม
3
"ผมอยากขอขอบคุณแฟรงค์กับการทำงานในฐานะเฮดโค้ช และขออวยพรให้เขาประสบความสำเร็จในอนาคต เขาคือไอคอนสำคัญของสโมสรเชลซี และเรื่องราวของเขาจะยังคงยิ่งใหญ่ที่นี่ตลอดไป เราจะต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นเสมอ ทุกๆครั้งที่กลับมาที่สแตมฟอร์ด บริดจ์"
6
ในการแถลงข่าวของเชลซี มีการนับคำ ว่าสโมสรใช้ความพยายามแค่ไหน ในการร่างแถลงการณ์ ซึ่งในกรณีของแลมพาร์ด เชลซีเขียนแถลงการณ์ยาว 246 คำ
ซึ่งถ้าเทียบกับโค้ชคนอื่นที่โดนไล่ออก น้อยมากที่สโมสรจะระมัดระวังการใช้คำขนาดนี้ คือไล่ก็ไล่ออกเลย ไม่ต้องมีอวยพรอะไรมากมาย
3
การปลดมูรินโญ่รอบแรก เชลซีเขียนแถลงการณ์แค่ 16 คำ เท่านั้น
1
"Chelsea Football Club and Jose Mourinho have agreed to part company today (Thursday) by mutual consent"
แค่นี้ จบ เรียบง่ายมาก ไม่มีการแสดงท่าทีลำบากใจอะไร ไม่เหมือนกรณีของแลมพาร์ดในครั้งนี้
นอกจากนั้นแลมพาร์ด ยังเป็นโค้ชคนแรกในประวัติศาสตร์ของเชลซี ที่ในแถลงการณ์ มีเขียน 3 ประโยคเหล่านี้ครบทั้งหมด
- ขอบคุณสำหรับความพยายาม (Thanks for effort)
- เราขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในอนาคต (Wish well for future)
- ยินดีต้อนรับสู่สแตมฟอร์ดบริดจ์เสมอ (Welcome back to Stamford Bridge)
ไม่เคยมีโค้ชเชลซีคนไหน ได้ 3 ประโยคเหล่านี้ครบ ในการแถลงการณ์ อย่างเช่นตอนอันโตนิโอ คอนเต้โดนไล่ออก สโมสรอวยพร แต่ไม่ขอบคุณ และไม่ยินดีต้อนรับกลับ
หรือตอนวิลลาช-โบอาช สโมสรขอบคุณเฉยๆ แต่ไม่อวยพรให้โชคดี และไม่ยินดีต้อนรับกลับสู่สแตมฟอร์ด บริดจ์
1
แต่ในเคสของแลมพาร์ด สโมสรเลือกใช้คำอย่างพิถีพิถันที่สุด ให้เกียรติเต็มที่เท่าที่ทำได้ เพื่อให้การแยกทางจากกัน ไม่เกิดผลกระทบที่รุนแรงจนเกินไปนัก
1
หลังเชลซีแถลง อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แฟรงค์ แลมพาร์ด ก็กล่าวขอบคุณในอินสตาแกรม แม้จะโดนไล่ออกฉับพลัน แต่เขาไม่สร้างดราม่าใดๆ แลมพาร์ดกล่าวว่าผิดหวังอย่างเดียว คือน่าจะได้เวลามากกว่านี้ แต่โดยรวมเข้าใจการตัดสินใจของเชลซี
จากนี้ไปทุกคนก็ต้องมูฟออน แล้วเดินต่อไป เชลซีภายใต้ยุคของทูเคิล ก็ต้องมาดูกันว่าจะเรียกศักยภาพของนักเตะค่าตัวแพงทั้งหลายให้เปล่งประกายได้หรือไม่ และอนาคตของบรรดาดาวรุ่งชาวอังกฤษจะยังคงมีอยู่หรือเปล่า เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
ขณะที่แลมพาร์ดนั้น เขาจะหลบไปเลียแผลใจสักพัก แต่แน่นอนว่าด้วยดีกรีของแลมพาร์ด เขาจะหาสโมสรใหม่ได้เร็วมาก ซึ่งคราวนี้ไม่จำเป็นต้องไปนับหนึ่งทีมแชมเปี้ยนชิพอีกแล้ว เพราะถ้ามีจังหวะที่เหมาะสม จะมีสโมสรในพรีเมียร์ลีก ยื่นข้อเสนอเข้ามาให้แน่ๆ
แลมพาร์ดเป็นคนฉลาด และมีความกล้าหาญ แต่สิ่งที่เขาขาดไปคือประสบการณ์ในการคุมทีมระดับท็อปเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นต้องไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากที่อื่นก่อน และในอนาคตใครจะรู้ เขาอาจได้คุมเชลซีรอบสอง เหมือนโชเซ่ มูรินโญ่ก็ได้
การโดนปลดครั้งนี้ แม้จะฉับพลัน แต่ไม่ได้โหดร้ายเหมือนอีกหลายๆเคสที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการแยกทางที่เข้าใจได้
และสำหรับแฟนๆเชลซี เชื่อว่าแม้แลมพาร์ดจะไม่ได้เป็นเฮดโค้ชแล้ว แต่เขาก็ยังเป็นฮีโร่ในใจเสมอ ทุกคนรู้ดีว่าแลมพาร์ดรักสโมสรไม่แพ้ใครทั้งนั้น การมาช่วยคุมทีมในยามที่โดนแบนจากการซื้อขาย และพาทีมไปแชมเปี้ยนส์ลีกได้ จะให้ขอบคุณเท่าไหร่ก็คงไม่พอ
1
แน่นอน การแยกทางกับคนที่ห่วงใยทีม และรักในความเป็นเชลซีขนาดนี้ ว่ากันตรงๆ มันก็น่าเศร้าเช่นกัน
ในเกมชนะลูตัน ทาวน์ มีแฟนบอลที่รู้สัญญาณว่า แลมพาร์ดคงโดนไล่ออกแน่ๆ ได้ทำแบนเนอร์ป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความแทนใจว่า
In Frank we trust. Then. Now. Forever.
เราเชื่อมั่นในแฟรงค์เสมอ ทั้งในอดีต ตอนนี้ และตลอดไป
3
#Lampard
โฆษณา