Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค
•
ติดตาม
27 ม.ค. 2021 เวลา 11:48 • การศึกษา
“หมายจับ.. กับ 19 ข้อคิด”
ช่วงนี้มีข่าวว่า คนร้ายโทรมาหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สอบถามข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัญชีธนาคารหรือบัตรประจำตัวประชาชน .. มีการข่มขู่ว่ามีหมายจับ.. พร้อมส่งรูปหมายจับให้ดู. ท้ายสุด ก็หลอกล่อให้โอนเงินให้..
อย่าหลงเชื่อนะครับ...เพราะเจ้าหน้าที่ศาล จะไม่โทรศัพท์ไปขอข้อมูลส่วนบุคคลจากประชาชน หรือให้โอนเงินให้เด็ดขาด
หมายจับที่ส่งภาพให้ดู ก็มักจะเป็นหมายจับปลอม.. แต่คนส่วนใหญ่ ไม่เคยเห็นว่าหน้าตาหมายจับที่แท้จริงนั้น เป็นอย่างไร..
เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนว่าหมายจับคืออะไร.. จึงเอาตัวอย่างหมายจับของจริง ทั้งด้านหน้า และด้านหลังมาให้ดู.. น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงข่มขู่ได้..
.. ไม่ใช่เป็นการชี้โพรงให้กระรอกนะครับ.. เพราะผมเชื่อว่า... อย่างไรเสีย..
กระรอกที่ตกเป็นเหยื่อ.. มักจะมีจำนวนมากกว่า กระรอกที่มีเจตนาชั่วร้ายเสมอ .. รู้ไว้ เพื่อป้องกันครับ..
สรุปเป็นข้อคิดคร่าวๆได้ 19 ข้อ
1. หมายจับ คือหนังสือระบุคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมบุคคลที่มีชื่อในหมาย
2. คนที่จะถูกจับ อาจเป็นผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา จำเลย ผู้หลบหนีหมายเรียกของศาล หรือจำเลยที่ศาลตัดสินให้ขับไล่ แต่ไม่ยอมออกจากที่พิพาท
3. อำนาจจับเป็นของเจ้าพนักงานตำรวจ.. แต่อำนาจอนุมัติให้จับได้เป็นอำนาจของศาล
กฎหมายกำหนดให้ ตำรวจต้องมาขอศาลออกหมายจับเพื่อให้ศาลช่วยตรวจสอบว่า มีเหตุสมควรที่จะจับบุคคลใดหรือไม่ (due process of law)
4. ในความผิดไม่ร้ายแรง จะต้องมีพฤติการณ์ว่า เขาหลบหนี ตำรวจจึงขอศาลออกหมายจับได้..
ในความผิดร้ายแรง ตำรวจมาขอศาลออกหมายจับได้เลย
5. การจับคนต้องมีหมายจับ.. แต่ถ้ากระทำผิดซึ่งหน้า หรือเพิ่งทำผิดมาสดๆ .. ตำรวจจับได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมายจับ
6. ก่อนศาลออกหมายจับ ศาลจะต้องไต่สวนสอบถามตำรวจโดยละเอียด.. ถ้าไม่มีหลักฐานว่า เขาทำผิด.. ศาลจะไม่ออกหมายจับให้
หลักเกณฑ์ในการใช้อำนาจของตำรวจและศาล
มีหลักฐานหรือพฤติการณ์น่าสงสัยว่าเขาทำผิด..เป็นมาตรฐานที่ตำรวจต้องดำเนินคดี
มีหลักฐานน่าเชื่อว่าเขาทำผิด.. เป็นมาตรฐานของศาลที่จะออกหมายจับ หรือหมายค้น
มีหลักฐานน่าเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่าเขาทำผิด .. เป็นมาตรฐานของศาลในการพิพากษาว่า เขามีความผิดจริง
7. ถ้าศาลเชื่อพยานหลักฐานที่ตำรวจนำมาแสดงว่า เขาน่าจะทำผิด ศาลจะออกหมายจับให้ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน
ตำรวจจะทำสำเนาหมายจับส่งไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ
8. หมายจับ ต้องมีสาระสำคัญ ได้แก่ ชื่อศาลที่ออกหมาย ชื่อบุคคลที่จะถูกจับ อายุความสิ้นสุด และลายเซ็นต์ผู้พิพากษา พร้อมตราประทับ
9. การจับบุคคลตามหมาย ต้องแจ้งว่าเขาถูกจับ แจ้งข้อหาตามหมาย และแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับ
10. ผู้ถูกจับ มีสิทธิขอให้ตำรวจแสดงตน และแสดงหมายจับให้ดู รวมทั้ง ขอสำเนาหมายจับเก็บไว้ได้ 1 ชุด
11. การจับ ต้องแจ้งสิทธิผู้ถูกจับให้เขาเข้าใจด้วยวาจาว่า เขามีสิทธิที่จะหาทนายความเพื่อขอคำปรึกษา แต่ถ้าไม่มีทนาย จะให้ตำรวจจัดหาให้ฟรีก็ได้
และเมื่อถูกถามเรื่องการทำผิด เขามีสิทธิที่จะไม่ให้การ หรือจะให้การก็ได้ เช่น จะขอพบทนายความก่อน จึงจะให้การ หรือไม่ต้องการทนายความและไม่ขอให้การเลย เป็นต้น
เขามีสิทธิที่จะแจ้งให้ญาติทราบ และมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล เมื่อบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย
12. การจับ ตำรวจต้องใช้ดุลพินิจเลือกวิธีการจับอย่างเหมาะสม
13. การใช้กำลัง จะทำได้เมื่อมีการขัดขืน หรือต่อสู้.. จะใช้กำลังมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขัดขืน. เช่น ถ้าเขายอมให้จับกุม จะใช้กำลังไม่ได้
14. การใช้อาวุธ ต้องเป็นไปตามหลัก Rule of Engagement จะใช้อาวุธได้เพื่อป้องกันเฉพาะกรณีเกิด หรือน่าจะเกิดภัยอันตรายต่อชีวิตร่างกายเท่านั้น
15. การใช้กุญแจมือ.. ใช้ได้กรณีจำเป็น เมื่อเขาขัดขืน หรือน่าเชื่อว่าจะหลบหนีเท่านั้น
กรณีตำรวจจับใส่กุญแจมือ พาเดินผ่านตลาด เพื่อให้อับอายมิใช่ป้องกันการหลบหนี แม้จะไม่มีเจตนากลั่นแกล้งส่วนตัว แต่ต้องการให้คนอื่นกลัว ไม่กล้าทำผิด ตำรวจก็มีความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
16. ถ้าผู้ถูกจับสงสัยว่า เป็นหมายจับปลอม หรือลายเซ็นต์ผู้พิพากษาปลอม.. อาจโทรศัพท์ หรือไปสอบถาม ณ ศาลที่ระบุในหมายจับได้
17. หมายจับ อาจไม่ระบุชื่อผู้ถูกจับ เพราะยังไม่ทราบชื่อสกุล หรือที่อยู่ของเขา. .
แต่ศาลก็ออกหมายจับ บุคคลนิรนาม ตามรูปพรรณสัณฐานที่ระบุมาท้ายหมายจับได้ เช่น สีผิว ความสูง ทรงผม ตำหนิ ไฝ แผลเป็น หรือภาพวาด เป็นต้น
ในต่างเทศจะเรียกหมายจับที่ไม่ทราบชื่อผู้ถูกจับว่า John Doe Warrant
18. ผู้ถูกจับ อาจขอให้ศาลชั้นต้นที่ออกหมาย ทบทวนคำสั่งใหม่ได้.. แต่จะยื่นอุทธรณ์ให้ศาลสูงเพิกถอนหมายจับหรือกลับคำสั่งศาลที่ออกหมายไม่ได้
เพราะการออกหมายจับ ในขณะที่ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลนั้น เป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน..
เพียงแต่กฎหมายกำหนดให้องค์กรศาลเข้ามาช่วยดูแลก่อนการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้น ..
เมื่อยังไม่มีการฟ้องคดี.. การออกหมายจับนั้น จึงไม่ใช่การใช้อำนาจพิจารณาคดีในชั้นศาล ..ศาลอุทธรณ์ฎีกา จึงรับอุทธรณ์ไว้ไม่ได้..
19. หากเป็นหมายจับจริง มีข้อผิดพลาดอื่นๆ เช่น ชื่อสกุลในหมายจับตรงกับเรา แต่เราไม่ใช่คนทำผิด
เราทำผิดจริง แต่คนละข้อหากับที่ระบุในหมาย หรือ
หมายจับหมดอายุความแล้ว เป็นต้น
เราควรโต้แย้งไว้เพื่อให้ตำรวจตรวจสอบยืนยันก่อน.. และหากต้องลงชื่อรับทราบด้านหลังหมาย หรือเอกสารใดๆ ก็ควรระบุข้อโต้แย้งของเราไว้เป็นหลักฐาน..
แต่หากโต้แย้งแล้ว.. เจ้าพนักงานตำรวจไม่รับฟัง.. ก็ต้องเตรียมเงินหรือหลักทรัพย์ประกันตัว.. แล้วปรึกษาทนายความเพื่อหาทางต่อสู้คดีต่อไป
สุดท้าย ขออนุญาตฝากข้อคิดให้ท่านผู้เกี่ยวข้องครับ
โดยทฤษฎี.. หมายจับที่จับตัวได้แล้ว ย่อมสิ้นผลโดยอัตโนมัติ .. ไม่ต้องสั่งยกเลิกเพิกถอนอีก..
แต่มีหลายคดีนะครับ.. ที่ตำรวจเอาหมายจับเก่ามาจับจำเลยอีก เพราะไม่ทราบว่า จำเลยคนนี้เคยถูกจับมาแล้ว
ในทางปฎิบัติ จึงควรมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับเดิมนั้นด้วย..เพื่อเจ้าหน้าที่ศาลจะได้ทำหนังสือแจ้งให้ตำรวจทราบ..
.. จะได้ไม่มีข่าว..จับแพะจากหมายเก่า ..ให้สังคมเอาไปเล่าให้เป็นกระแสอีก.. เขาเดือดร้อนกันครับ..
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย