Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายมหาชนในชีวิตประจำวัน
•
ติดตาม
28 ม.ค. 2021 เวลา 00:15 • การศึกษา
#พุทธศาสนากับการเมืองไทย
" ชนใดประพฤติธรรม ในธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวดีแล้ว ชนเหล่านั้นจักข้ามแดนมฤตยูที่ข้ามได้ยาก" (พุทธภาษิต)
พุทธศาสนาถูกสถาปนาเป็นศาสนาแห่งรัฐ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีพ่อขุนรามคำเเหงเป็นพระธรรมราชา เเละคตินี้ยังถูกนำมาใช้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อตอบโต้ทัศนะประชาธิปไตยเเบบสังคมตะวันตกว่ายังใช้ไม่ได้กับสังคมไทย เรื่องศาสนากับการเมืองที่น่าตื่นเต้นก็ตรงที่ว่า ผ่านมา 2,000 กว่าปีแล้วแนวคิดเรื่องสถาบันการปกครองยังต่อสู้กับศาสนาผีนั้น ยังคงสามารถนำมาใช้อธิบายการเมืองไทย และชนชั้นปกครองของไทยในปัจจุบันได้
อุดมการณ์ที่เอาความเชื่อ คติพุทธมาอธิบายอาณาจักรก็เรียกว่า "จักรวาลทัศน์แบบพุทธ" หรือ "Buddhist Cosmology" สรุปสั้นๆ ว่าจักรวาลทัศน์ของพุทธ จะเห็นว่ามีการนำเสนอเหนือกว่าศาสนาผี คือนำเสนอแบบมองเอกภาพและเชื่อมโยงกันระหว่างโลกมนุษย์ที่เป็นจุลภาค กับจักรวาลที่เป็นมหภาค แสดงออกจุดหมายของมนุษย์ ที่อยู่ภาวะเหนือโลกได้ นี่คือความฝันใหม่ของชนชั้นนำที่กุมทรัพยากร ที่ว่าต้องตั้งจุดหมายใหญ่กว่าทำมาหากิน ต้องไปสู่อะไรที่ลึกซึ้งขึ้น
ประการต่อมาจักรวาลทัศน์แบบพุทธ ไม่ได้แยกออกจากเทคนิควิทยาของท้องถิ่น ทำไมเขาสามารถแทนศาสนาผีได้ ศาสนาผีก็คือบรรดาลักษณะเฉพาะของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ตอนพุทธเข้ามาก็สามารถผนวกกลืนและซึมซับศาสนาท้องถิ่นเข้ามาได้ เพียงแต่ศาสนาพุทธมีวิธีคิดวิเคราะห์ที่ซับซ้อนกว่า สามารถจำแนก แบ่งขั้นตอน มีฐานะ ทำให้เรื่องราวในสังคมมีลักษณะหลากหลาย
ประการต่อมาไม่มีการแบ่งแยกกฎศีลธรรม และกฎแห่งโลกวัตถุ คือไม่มีการแบ่งแยกระหว่างโลกทางศาสนากับอาณาจักร คือ คำอธิบายสามารถผนวกเรื่องทางโลกกับทางธรรมให้ไปด้วยกันได้ คือทุกศาสนาหลักแต่ละศาสนาก็ทำหน้าที่นี้ คือศาสนาพูดถึงการหลุดพ้นเรื่องทางโลก แต่ถ้าไม่เป็นทางโลกนี้ สานุศิษย์ก็เข้าถึงไม่ได้
ในแง่ของการอธิบายการเมือง ให้ดูที่การอธิบายเรื่องอำนาจ เพราะเป็นหัวใจของอำนาจรัฐและผู้ปกครอง โดยในพระไตรปิฏกบท "อัคคัญญสูตร" กล่าวถึงกำเนิดของชนชั้นปกครอง ที่เรียกว่า "กษัตริย์" โดยในอัคคัญญสูตรพูดถึงกำเนิดของวรรณะต่างๆ แสดงให้เห็นว่าวรรณะกษัตริย์ได้เกิดขึ้นพร้อมวรรณะอื่นๆ ในสังคมด้วย การที่ชนชั้นปกครองต้องนำศาสนาเข้ามาอยู่ในระบบการปกครอง เพราะว่าต้องการควบคุมความคิดและสร้างความเป็นเหตุเป็นผล เเละยังต้องการให้ประชาชนนับถือและทำลายความเชื่อเรื่องผีซึ่งมีอยู่เดิมด้วย
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าผู้ปกครองในยุคนั้นคือ ต้องเป็นผู้ปกครองที่ดูดี งดงาม น่าเชื่อถือและน่าเกรงขาม อีกทั้งยังจะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน มีความมั่งคั่งเเละเป็นที่รักของชุมชน เพราะได้เปลี่ยนสถานะการปกครองจากชุมชนเล็กๆ กลายมาเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการปกครองอย่างเป็นระบบ ส่วนการตัดสินใจเลือกผู้นำนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อำนาจการตัดสินใจนั้นยังจำกัดอยู่ในวงของชนชั้นสูงเท่านั้น
นอกจากนี้สิ่งที่มีการตีความและใช้กันต่อมา คือการให้คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ปกครองในคติจักรวาลทัศน์แบบพุทธ คือ "การมีธรรม" และต่อมาแปลออกว่าเป็นการ "มีบุญ" หรือ "มีบารมี" ของผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นการมีบุญบารมี หรือธรรมที่พูดง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งสมบูรณ์ในตัวมันเอง ทำให้ผู้ที่เป็นกษัตริย์ในจักรวาลทัศน์นี้ ดำรงอยู่เหนือกฎเกณฑ์และภาวะต่างๆ ในสังคมนั้น
โดยข้อความในพระไตรปิฏก อัคคัญญสูตร ระบุว่า " ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งในเวลาเห็นอยู่ทั้งในเวลาภายหน้าฯ" และทิ้งท้ายว่า "กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้มีความรังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์"
พัฒนาที่สำคัญในความคิดทางการเมืองแบบพุทธ คือการโยงบุญอำนาจเข้าสู่อำนาจการเมือง แนวคิดเรื่องบุญในอัคคัญญสูตรพูดถึง "จักรพรรดิราช" ว่าเป็นผู้มีบุญสูงมาก อยู่ในกลุ่มเดียวกับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก พระโพธิสัตว์อันจะได้ตรัสรู้เป็นพะพุทธเจ้า โดยที่พระจักรพรรดิราชอยู่ในลำดับสุดท้ายของผู้มีบุญเหล่านั้น ก็คือปัจจัยที่สำคัญของจักรพรรดิราชคือต้องมีบุญสูง แล้วถึงขั้นที่ว่าเป็นบุญสูงที่สุดถึงขั้นพระจักรพรรดิราช ผมก็มองว่า ถ้าจะมองแบบรัฐศาสตร์ก็คือกฎที่ทำให้ผู้ปกครองหรือรัฐ สามารถแยกแยะระหว่างรัฐที่ชอบธรรม กับชุมชนโจร แล้วทำให้อำนาจที่เป็นธรรม กับอำนาจอธรรม สามารถที่จะแยกจากกันได้
ที่น่าสนใจก็คือแนวคิดเรื่องบุญนี้ ต้องไปแสดงปรากฏในคนที่จะมีอำนาจหรือคนมีบุญ ผมตั้งข้อสังเกตในพระไตรปิฏก หรือไตรภูมิ เขาพูดเรื่องคนดีไหม พระไตรปิฏกไม่ได้พูดเรื่องคนดีเลย แปลกมาก แต่ที่จริงก็ไม่น่าแปลก เพราะถ้าฟังต่อไปจะรู้ว่า คำตอบอยู่ที่คนมีบุญคือคนดี ที่สำคัญคือต้องมีการแสดงออก ปรากฏว่าลักษณะของผู้มีบุญ เห็นได้จากประการหนึ่งที่ระบุว่า ผิวพรรณวรรณะอันงดงาม ถ้าอยู่ในธรรมเนียมไทยต้องมีการติชมกันเรื่องผิว ผิวดี ผิวงามอะไรต่างๆ อย่าแปลกใจเพราะนี่คือทฤษฎีดั้งเดิมของสังคมมาเป็นพันปี ว่าคนที่มีบุญ คือผิวพรรณงดงาม จึงมีคนตั้งข้อสังเกตว่ายาขัดผิวขายดีมากในสังคมเหล่านี้ ทีนี้พระจักรพรรดิราชต้องปฏิบัติธรรมถึงผิวพรรณจะดี ถือศีล 8 เข้าโบสถ์ทุกวันพระ ทำทาน สรงน้ำชำระร่างกาย ห่มผ้าขาวนั่งทำสมาธิกลางแผ่นดินทอง แล้วจะรุ่งเรืองงามดั่งแสงพระอาทิตย์ คือกษัตริย์ผู้ปกครองต้องเป็นผู้มีบุญบารมี เเละจะต้องเป็นผู้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงศาสนาด้วย
และในบางกรณีผู้ปกครองอาจจะอ้างบุญในการเข้ายึดอำนาจ หรือใช้การ"อ้างบุญ" เพื่อหาความชอบธรรมทางการเมืองได้ เช่น สมัยพระมหาจักรพรรดิของอยุธยา หรือพระเทียรราชา จะยึดจากขุนวรวงศาธิราช พระเทียรราชาใช้เหตุผลว่า ประกอบด้วยบุญบารมี จะได้เป็นที่ศาสนูปถัมภก ปกป้องอาณาประชาราษฎร์ต่อไป คือไม่ได้มีแค่บารมี แต่ต้องปกป้องพระพุทธศาสนาด้วย คือเป็นการขยายบทบาท อย่างไรก็ตามก่อนยึดอำนาจมีการปรึกษากันเพื่อเช็คดุลอำนาจ แต่ยังไม่แน่จึงลองเสี่ยงเทียน โดยพระเทียรราชาจุดเทียนแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า หากคิดไม่สำเร็จขอให้เทียนของพระองค์แสงหรี่ลง ถ้าการที่คิดไว้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ก็ขอให้เทียนของพระองค์โชติช่วง และขอให้เทียนของขุนวรวงศาธิราชมืดมิดไป แต่มีขุนพิเรนทรเทพ คายชานหมากที่เคี้ยวอยู่ทิ้ง เผอิญชานหมากไปถูกเทียนขุนวรวงศาธิราชริบหรี่ลงและดับไป ฝ่ายพระเทียรราชาเลยเดินหน้ายึดอำนาจ เลยได้อำนาจกลับมา
เมื่อกลับไปดูคำอธิบายแบบพุทธ ที่ให้ผู้ปกครองมีอำนาจเหนือคนอื่น ไม่ใช่การให้ความชอบธรรม แต่เป็นการสร้างความเป็นเหตุเป็นผล หรือคำอธิบายชุดหนึ่งเพื่ออธิบายว่า ทำไมคนที่มีอำนาจ ถึงมีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่นี้ ซึ่งสิ่งนี้แสดงว่าวาทกรรมการเมืองที่เราพูดถึง คือคำอธิบายเช่นนี้พูดจากมุมของผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นความสำคัญของคนที่จะเป็นกษัตริย์ เขาไม่ต้องขอความชอบธรรมจากชาวบ้าน ไม่จำเป็นเลย เพราะว่าคุณจะยึดอำนาจ ต้องยึดจากคนข้างใน จากนั้นจึงค่อยปกครอง เพราะฉะนั้นการพูดถึงความชอบธรรมต่างๆ จึงยังไม่มีความหมาย แค่มี "ความชอบ" ก็ใช้ได้
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือคติที่โยงเรื่องบุญและอำนาจ เข้ากับผู้ปกครองหรือคนที่มีฐานะสูงกว่า อำนาจนี้เป็นอำนาจที่มาจากการปฏิบัติเฉพาะตัว ดังนั้นจึงมอบให้ไม่ได้ ส่งมอบให้ไม่ได้ คติธรรมนี้ปรากฏในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในเทศนาจุลยุทธการวงศ์ซึ่งกล่าวว่า "สิ่งอันเป็นแก่นสารจะถือว่าเป็นของตนมิได้ แม้กษัตริย์ที่ทรงสุรศักดิ์เดชามหันต์บุญญานุภาพ ก็ไม่อาจพ้นจากความตายได้ ด้วยตามวิสัยโลกธรรมดา แม้ราชสมบัติก็จัดเป็นภูมิอศุภสาธารณะ แปลว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ" แปลศัพท์สมัยใหม่ก็คือ อำนาจเป็นของส่วนรวม
ด้วยคติบุญอำนาจ ทำให้มีการแบ่งหน้าที่ทางการเมืองเด็ดขาด หน้าที่การเมืองในอาณาจักรมีการแบ่งอัตโนมัติคือ คนที่อยู่ในฐานะชนชั้นนำของสังคม เมื่อขึ้นมาแล้ว มีความชอบในหน้าที่ และมีความเหนือกว่า ทั้งหมดเป็นความชอบธรรม ที่ไม่ใช่ "Legitimacy" แต่เป็น "ความถูกต้อง" ต้องทำให้คนที่มีอำนาจอยู่ต่อไป ไม่ทำให้ขุนนางมาตั้งคำถามหรือต่อรอง
"อีกด้านหนึ่งระดับชาวบ้านหรืออาณาประชาราษฎร์ ก็กลายเป็นกลุ่มคนหรือองคาพยพของระบบการเมืองที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองการปกครอง การเมืองเป็นเรื่องของอีลิต ไม่ใช่เรื่องของแก พอไม่มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ทำให้มีปัญหาว่าคุณจะเอาตัวรอดอย่างไร คุณก็ต้องไปหาผู้มีอำนาจ คติที่ว่าผู้น้อยต้องหาผู้ใหญ่ หรือหาเส้นสาย ต้องหาหลังหา มันก็เป็นสองด้านของคติ "อำนาจ" กับ "บุญ" คนมีอำนาจคือคนมีบุญมีความชอบธรรม คนไม่มีอำนาจก็ไหว้เข้า ขอเขาลูกเดียว แล้วก็รับการสงเคราะห์ต่อไป"
"การเข้าใจที่มาของคติแบบนี้ ทำให้มองพฤติกรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ได้ว่า หลายเรื่องไม่ได้เกิดตอนที่เพิ่งมีนักการเมืองหรือรัฐธรรมนูญ แต่หลายเรื่องเกิดตั้งแต่เริ่มมีอาณาจักรไทย"
ในส่วนของสังคมไทยในปัจจุบัน มีการนำเอาศาสนาเข้ามาเป็นอัตลักษณ์ของชาติเพื่อต่อสู้กับความเชื่อและอุดมการณ์สมัยใหม่อื่นๆ การเมืองกลายเป็นเรื่องของอำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ รัฐสมัยใหม่ต้องมีความหลากหลายเกิดเป็นศีลธรรมแบบใหม่พลเมืองมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองแต่ทว่าในปัจจุบันก็ยังพบการใช้เรื่องศาสนาในการเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ สถาบันสงฆ์เข้ามารับใช้นโยบายการเมืองรวมถึงมีการเสนอให้ใช้หลักศาสนาเข้ามาอยู่ในหลักการปกครองอีกด้วย
ที่มา : ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ประชาไทออนไลน์ เผยแพร่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558.
เรียบเรียงโดย เศรษฐวัฒน์ โชควรกุล. 2564.
https://www.blockdit.com/dr.settawat
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.เศรษฐวัฒน์ โชควรกุล ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้รับจากการเผยแพร่บทความวิชาการทุกบทความอันเป็นวิทยาทานและธรรมทานให้แด่ดวงจิตคุณพ่อศักดา โชควรกุล (บิดาผู้ล่วงลับของผู้เรียบเรียง)
https://www.facebook.com/profile.php?id=100003743725944
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย