28 ม.ค. 2021 เวลา 04:37 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ตัดกระดาษมาทำเป็นหนัง ก็ยังได้!
เราขอพูดถึงการทำหนังสั้นในลักษณะที่ไม่มีทีมงานอีกสักเรื่อง เพราะเราว่าหลายๆ คนอาจจะประสบปัญหานี้ มีเรื่องที่อยากเล่าในใจมากมาย แต่ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นหนังได้เพราะติดอยู่ที่ไม่มีคนช่วยทำ เราก็เช่นกัน!
อีกวิธีหนึ่ง ที่สามารถผลิตคนเดียวได้ ก็คือทำหนังสั้นรูปแบบของแอนิเมชัน อย่าตกใจกับคำนี้ มันไม่ใช่ว่าคุณจะต้องใช้โปรแกรมที่ยากกว่าโปรแกรมตัดต่อ เราจะแนะนำให้คุณทำหนังสั้นประเภท Stop Motion ด้วยการตัดกระดาษเป็นตัวละคร
คุณเคยเล่นหรือเคยเห็นตุ๊กตากระดาษกันบ้างมั้ย? ถ้าบทหนังของคุณมันอลังการงานสร้าง จนไม่สามารถให้คนมาแสดง หรือว่าสร้างฉากด้วยงบประมาณที่สูงได้ การตัดกระดาษเป็นรูปตุ๊กตาก็ช่วยคุณได้เยอะเลย เราทำมาแล้ว ลองอ่านบทหนังเรื่องว่า “วันที่รอคอย” ของเราสิ บทเวอร์วัง แต่กลายเป็นหนังทุนต่ำที่สุดในชีวิตก็ว่าได้
ตัวอย่างบทหนังเรื่อง “วันที่รอคอย”
ท่ามกลางแดดที่ฮ้อนอ้าวของเดือนพฤษภาคมก่อนที่สิเข้าหน้าฝน ข้อยกับอีพ่อกะซ่อยกันหว่านเม็ดเข่า ปีนี้เฮามีควมหวังว่าเข่าในนาของเฮาสิได่ผลผลิตดี เพราะเซื่อคำทำนายของพระโคตอนวันแรกนาขวัญที่ผ่านมา ทำนายว่าปีนี่น้ำสิหลาย อีพ่อกะเลยมีควมหวังว่าสิได่มีกำไรจากการขายเข่าแน่
อีพ่อเฮ็ดงานหนักเลี้ยงเฮาสองคนพี่น้องเพราะอีแม่ตายไปโดนแล้วอ้ายข้อยเรียนมหาวิทยาลัยมีซื่อเสียง โดยขายบักดำกับอีแตนควยสองผัวเมียที่อีพ่อเลี้ยงมาตั้งแต่น้อยๆเพื่อส่งอ้ายเรียน อีพ่อจ่มว่าค่าเรียนของอ้ายแพงหลายเติบ แม้สิได่เงินกู้ยืมจากรัฐบาล แต่ไสสิต้องมีคอมพิวเตอร์เอาไว้เฮ็ดรายงาน มีโทรศัพท์มือถือไว้เว้าติดต่อกับอาจารย์ แล้วกะต้องจ่ายค่าหอพักอีกต่างหาก อีพ่อบอกให้อ้ายเรียนให้จบก่อนแล้วข้อยจังคอยเรียนต่อ อีพ่อสิได่บ่เมื่อยหลาย ข้อกะคิดจั่งซั่นหละ
(เสียงมือถือ)
อ้าย : “บักหำ บอกพ่อโอนเงินให้ข้อยแน่ แล้วบ่ต้องมาหาอ้ายดอก อ้ายบ่ว่าง ต้องไปออกค่ายอาสา ถ้าบ่ไป อาจารย์สิหักคะแนน”
อีพ่อ : “บักโต โทรมาบ่ บอกมันบ่ว่าข้อยสิไปหา”
น้องซ่าย : “แม่น อ้ายโตเว้าว่า บ่ว่าง ให้โอนเงินให้อ้ายนำ”
หน้าฝนปีนี้มีฝนหลายกัวปีที่แล้วอิหลีตามคำทำนาย ต้นกล้าอ่อนๆ ใหญ่มื้อใหญ่คืน จนเริ่มเป็นริ้วเขียวเต็มท่ง
อีพ่อ : “บักเปี๊ยก กูอยากให้บักโตมันกลับมาเบิ่งท่งนาของเฮาอีหลี มึงโทรไปหามันแน่ เผื่อมันสิอยากเบิ่ง ถ้าเกี่ยวข้าวได้มื่อใด๋ กูสิเอาข้าวไปฝากมันนำ เพราะมันบ่ได้กินข้าวในนาเฮามาโดนแล้ว”
น้องซ่าย : “มันเฮ็ดกิจกรรมที่มหาลัยหลายโพด บ่ว่างรับโทรศัพท์เฮาดอก”
ดนตรีหน้าหนาว เสียงลม
เข้าหน้าหนาวแล้วยังบ่มีวี่แววการกลับมาของอ้ายเลย อีพ่อจ่มคิดฮอดตามเคย และรำพึงขึ้นมาด้วยความน้อยใจ
อีพ่อ : “ฮอดมื่อรับปริญญา มันสิให้เฮาไปร่วมงานนำบ่น้อ”
น้องซ่าย: “อย่าไปคึดหยังหลายพ่อ อ้ายมันคงเรียนหนัก ฮอดเวลานั้นมันคือสิบ่ลืมพ่อดอก”
ดนตรีเศร้า
ข้อยฮู้ว่าในใจอีพ่อกะเสียใจอยู่ดอก ข้อยเองยังฮู้สึกน้อยใจแทนอีพ่อว่าอ้ายใจดำเกินไป อย่างน้อยน่าสิกลับมาเยี่ยมกันแน่ ปีละเทื่อสองเทื่อกะหยังดี ทั้งที่เฮากะอยู่ห่างกันบ่ท่อได๋
เสียงลม
หน้าหนาวปีนี้ เฮาสองพ่อลูกได่เสื้อกันหนาวโตใหม่ แต่เป็นโตเก่าของผู้อื่น
อีพ่อ : “กูสิใส่เสื้อโตนี่ไปงานรับปริญญาบักโต”
ปกติหน้าหนาวท้องฟ้าสิมืดเร็วอยู่แล้ว แต่มื้อนั่นฟ้ามืดครึ้มตั้งแต่สี่โมงแลง เมฆฝนดำทะมึนเป็นตาย่าน
อีพ่อ : “อู้ยยย เป็นตาย่านแท้”
บ่ท่อได๋ฝนกะเทลงมาอย่างบ่ลืมหูลืมตา
อีพ่อ : “หน้าหนาวอีหยัง คือฝนตกจังซี่”(ตะโกนเว้า)
น้องซ่าย : “น่าสิเป็นพายุหลายกว่านะพ่อ บ่แม่นแค่ฝนธรรมดา” (ตะโกนเว้า)
คืนนั้นไฟดับ เฮานอนฟังเสียงฝนกระทบหลังคาสังกะสีเมิ่ดคืน ข้อยแทบสินอนบ่หลับ เพราะเป็นห่วงบักขวานลูกของบักดำกับอีแตนที่ข้อยผูกไว้หลังบ้าน ย่านมันบ่สบาย แต่ข้อยบ่ฮู้โตว่าหลับไปอีกเทื่อตอนได๋
อีพ่อ : “บักหำตื่นๆๆ น้ำท่วมเมิ่ดแล้ว”(เสียงสะอื้น)
น้องชาย : “บักขวานละพ่อ บักขวานล่ะพ่อ บักขวานอยู่ไส (เสียงคร่ำครวญ สิฮ้องไห่)
อีพ่อ : “ฮือๆๆๆๆ ไปเบิ่ดแล้วเปี๊ยกเอ้ย” (เสียงฮ้องไห่)
แนมไปทางได๋กะเห็นแต่น้ำล้อมรอบบ้าน ส่วนบักขวานป่านนี่มันคงสิเคียดข้อยที่บ่ยอมลงไปซ่อยมันตั้งแต่เมื่อคืน
ดนตรีผ่อนคลาย
มื้อนี่บุรุษไปรษณีย์เอาจดหมายฉบับหนึ่งจ่าหน้าถึงอีพ่อ
น้องซ่าย : “จดหมายจากมหาลัยของอ้ายโตน่ะอีพ่อ”
อีพ่อตื่นเต้นดีใจคิดว่าเป็นจดหมายเชิญไปร่วมงานรับปริญญาของอ้ายแท้ๆเลย แต่อีพ่ออ่านหนังสือ
บ่ออก เลยให้ข้อยอ่านให้ฟัง
“นายสุรศักดิ์ แก้วดำเนินพ้นสภาพนิสิตแล้ว”(ภาษาอีสาน)
ดนตรีเศร้า....
จะเห็นได้ว่าบทอลังการมาก นักแสดงต้องถึงบทบาทจริงๆ เพราะ ดราม่าสุดๆ แล้วฉากในเรื่องมีทั้งทุ่งนา ฝนตก น้ำท่วม น้ำแห้ง ถ้าจะใช้นักแสดงที่เป็นคนจริงๆ มีหวังต้องถ่ายกันเป็นปี เพราะต้องพึ่งพิงฤดูกาลและสถานที่จริงเป็นหลัก ยิ่งกว่าหนังใหญ่อีกกระมัง นี่ยังไม่ได้ใส่รายละเอียดของฉากหรือภาพที่ต้องการเลยนะ ในบทมีแค่เสียงบรรยาย เสียงเอฟเฟ็กต์และดนตรีประกอบเท่านั้น
เราตัดปัญหานี้โดยใช้การตัดกระดาษเป็นตัวละครและฉาก เรียกเทคนิคนี้ว่า Paper Cut-out ตอนนั้นเรานึกถึงตุ๊กตากระดาษสมัยเด็กๆ ที่ถือมาเล่นสมมติกัน วาดกันเอง อยากให้ใส่ชุดไหนก็วาดชุดเพิ่ม เทคนิคก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นถ่ายทีละช็อต คล้ายๆ กับทำ Stop motion แต่ช็อตไม่ละเอียดเท่า เราลงมือวาดด้วยตนเองทุกฉาก ไม่ได้สวยงามนักหรอก แต่สื่อได้ว่าหมายถึงอะไร ตัวละครมีบุคลิกลักษณะเป็นอย่างไร
จากนั้นเราค่อยๆ ถ่ายเรียงตามลำดับบท เพราะจะได้ง่ายต่อการตัดต่อ เราสามารถจัดฉากได้ตามต้องการ งานนี้ทั้งวาดรูปเอง ถ่ายเอง กำกับเอง เปลี่ยนจากกล้อง Handy Cam เป็นกล้อง DSLR แล้ว มันดีตรงที่ Shift Focus ได้ เราชอบมาก สร้างความหมายใหม่ในฉากได้เยอะขึ้น
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนทำแอนิเมชันแนวนี้มาแล้ว โดยเฉพาะฝรั่ง แต่เป็นลักษณะหนังที่ไม่มีบทพูด แต่เราลองเอามาทำร่วมกับการพากย์เสียง เพื่อสร้างเป็นเรื่องราวที่เข้าใจง่ายมากขึ้น โดยมีความยาว 7.41 นาที
ข้อดีของเทคนิคนี้คือ เหมาะสมกับผู้ผลิตที่มีข้อจำกัดด้านต้นทุนการผลิต หรือบทที่ต้องอาศัยฉากที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ภัยธรรมชาติต่างๆ เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือการถ่ายทำที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่หรือสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงสามารถถ่ายทำในห้องที่จัดแสงได้เอง นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ผลิตที่มีข้อจำกัดของจำนวนผู้ร่วมงาน ก็สามารถใช้เทคนิคดังกล่าวได้เพียงคนเดียว ซึ่งสามารถเขียนบท วาดภาพ ถ่ายทำ ตัดต่อ และบันทึกเสียงเอง ยกเว้นการพากย์ที่ต้องไปขอช่วยผู้ชาย 2 คนพากย์เป็นพ่อลูก แต่หากต้องการความสมบูรณ์ของหนังสั้นยิ่งขึ้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลาการผลิตที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นงานละเอียด และพิถีพิถัน
ส่วนข้อด้อยก็มี เนื่องจากเทคนิค Paper Cut-out เป็นลักษณะงาน 2 มิติ ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของการจัดแสงที่ยากเมื่อเทียบกับงาน 3 มิติ เช่น การปั้นดินน้ำมัน (Clay Animation) แต่หากจะทำให้สมบูรณ์จริงๆ ก็สามารถทำได้โดยเพิ่มต้นทุนการผลิต เช่น การถ่ายทำตัวละครที่เป็นกระดาษผสมผสานกับฉากจริง หรือฉากจำลองจากวัสดุเลียนแบบ ทำให้เกิดเป็นเงาในลักษณะ 3 มิติได้ แต่จะต้องวางแผนการจัดแสง และมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
งานของเราชิ้นนี้เป็นเพียงหนังทดลอง ยังไม่ได้สมบูรณ์แบบเท่าใดนัก เพราะมีการขยับน้อยเกินไป อาศัยแค่การ Pan การ Zoom in Zoom out การ Shift Focus และการตัดต่อโดยใช้ Dissolve ที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวนิดหน่อยเท่านั้นเอง
หากจะให้ดีจริงๆ ต้องวาดจำนวนภาพให้มากกว่านี้ แบ่งจำนวนช็อตให้ละเอียดกว่านี้ จะได้แอนิเมชันที่ให้อารมณ์สมจริงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หนังสั้น Paper Cut-out นี้ก็สามารถทำให้คนดูเข้าใจเรื่องได้พอสมควร เนื่องจากเสียงพากย์ที่น่าสนใจ สมจริง Sound effect อย่างเสียงโทรศัพท์ เสียงฟ้าร้อง เสียงนก เสียงฝนตก เสียงรถมอเตอร์ไซค์ เสียงลม ฯลฯ รวมทั้งเสียงดนตรีประกอบก็ทำให้หนังมีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้น
ขอเล่าเสริมอีกหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่าเทคนิค Paper Cut-out ได้รับการยอมรับจริงๆ โดยเราส่งบทความจากงานสร้างสรรค์หนังสั้นเรื่องนี้ไปนำเสนอที่งาน Thailand Research Symposium 2015 ปรากฏว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้คัดเลือกงานสร้างสรรค์ของเราชิ้นนี้ให้ร่วมนำเสนอในภาคโปสเตอร์เป็น 1 ใน 6 ชิ้นของปีนั้น และได้รับการชื่นชมจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติว่า ผลงานชิ้นนี้มีความชัดเจนในผลการศึกษา ถือเป็นงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ สามารถต่อยอดได้ ทำให้เรามั่นใจว่า การทำผลิตหนังสั้นด้วยเทคนิคการตัดกระดาษ ทำได้แน่นอน คนเดียวก็ทำได้ ฉะนั้น เขียนบทยังไงก็เขียนมาเถอะ อลังการขนาดไหน ถ้าวาดรูปและตัดกระดาษได้ ก็เป็นหนังได้ เชื่อเรา!
โฆษณา