Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดาราศาสตร์หลังบ้าน
•
ติดตาม
29 ม.ค. 2021 เวลา 05:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
>>> วันนี้ในอดีตเมื่อ 55 ปีก่อน <<<
The Great Comet of 1965
ดาวหางใหญ่แห่งปี 1965 (พ.ศ.2508)
- 21 ตุลาคม เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันที่ดาวหางดวงหนึ่งที่มีชื่อว่า อิเคยะ-เซกิ (Ikeya-Seki) หรือ ชื่อในระบบอย่างเป็นทางการ C/1965 S1 โคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวหางอิเคยะ-เซกิ นั้นถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กันยายน 1965 (พ.ศ.2508) โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น 2 คน คือ อิเคยะ คาโอรุ และ เซกิ สึโทะมุ ทั้ง 2 ค้นพบดาวหางในเวลาที่ไล่เลี่ยกันแต่ต่างสถานที่กัน ในช่วงเวลาที่ค้นพบนั้นดาวหางมีค่า โชติมาตร (Magnitude) ที่ 8 ในบริเวณกลุ่มดาว งูไฮดรา (Hydra) หลังจากการค้นพบเพียง 3 สัปดาห์ ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ เริ่มสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในช่วงต้นเดือนตุลาคม หลังจากนั้นในวันที่ 18 ตุลาคม ค่าความสว่างของดาวหางเพิ่มขึ้นมาอีกโดยมีค่า โชติมาตร ที่ 0 และ ปรากฏหางยาว 10 องศา ต่อมา ในวันที่ 21 ตุลาคม 1965 (พ.ศ.2508) เป็นวันที่ ดาวหาง เข้าใกล้จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (Perihelion) ในระยะ 0.0078 AU หรือ ประมาณ 1,166,864 กม. จากพื้นผิวดวงอาทิตย์ซึ่งนับว่าใกล้มากในทางดาราศาสตร์ นักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ทำการสังเกตการดาวหางในขณะนั้นพบว่าดาวหางมีความสว่างอย่างมาก และ ประเมินว่ามันมีความสว่างมากกว่า ดวงจันทร์เต็มดวง ถึง 10 เท่า!!! โดยสามารถคิดเป็นค่า โชติมาตร ที่ -15 ซึ่งในขณะที่ ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีค่าความสว่างสูงสุดที่ โชติมาตร -12.6 เท่านั้น แน่นอนว่าความสว่างที่มากขนาดนี้จึงมีรายงานว่าสามารถมองเห็น ดาวหางอิเคยะ-เซกิ ได้แม้แต่ ในช่วง "เวลากลางวัน" ที่มีแสงแดดจัดที่สุด โดยที่ตำแหน่งบนท้องฟ้าของดาวหางในขณะนั้นห่างจากดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อย แต่ผู้คนก็สามารถมองเห็นดาวหางได้ "ด้วยตาเปล่า" อย่างง่ายดาย โดยที่ดาวหางปรากฏเป็นจุดสว่างอยู่ข้างๆ ดวงอาทิตย์ นั้นเอง การสังเกตการยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องจนมาถึง วันที่ 22 ตุลาคม นักดาราศาสตร์สังเกตเห็นความผิดปกติของนิวเคลียสดาวหาง และ พบว่านิวเคลียสของดาวหางนั้นได้แตกออกเป็น 3 ส่วน ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม ตำแหน่งของดาวหางเริ่มถอยห่างออกมาจากดวงอาทิตย์ และ ผู้สังเกตการณ์ธรรมดาสามารถมองเห็นดาวหางก่อนรุ่งสางได้ทางทิศตะวันออก โดยมีรายงานคำบอกเล่าของผู้คนว่า ดาวหางมีความสว่าง และ หางที่ยาวเป็นอย่างมาก โดยความยาวของหางอยู่ระหว่างที่ 30 ถึง 45 องศา "คิดเป็นความยาวที่ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งนึงของท้องฟ้าทั้งหมด" และ ความสว่างของ ดาวหางอิเคยะ-เซกิ ซึ่งมีเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่ง คือ ความสว่างที่มีความสม่ำเสมอตั้งแต่หัวดาวหางจนไปถึงปลายหาง จะมีความสว่างเท่าๆ กัน (โดยปกติแล้วหัวดาวหางจะเป็นส่วนที่สว่างที่สุดและความสว่างจะไล่ลงไปเรื่อยๆซึ่งปลายหางจะสว่างน้อยที่สุด) ดาวหางอิเคยะ-เซกิ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าจนถึงช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน หลังจากนั้นความสว่างของดาวหางลดลงเหลือ โชติมาตร 7 ในช่วงเดือน ธันวาคม และ มีรายงานการสังเกตเห็นดาวหางครั้งสุดท้ายได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ในวันที่ 31 มกราคม 1966 (พ.ศ.2509)
>>> เกร็ดเล็กน้อยจาก ดาวหางอิเคยะ-เซกิ <<<
- ดาวหางอิเคยะ-เซกิ เป็นหนึ่งในสมาชิกของ ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์วงศ์คร็อยทซ์ (Kreutz sungrazers) ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดมาจากดาวหางยักษ์ดวงหนึ่งที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อหลายพันปีก่อน และ นิวเคลียสแตกออกมาเป็นหลายชิ้นส่วนจนกลายมาเป็นต้นกำเนิดของ ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์วงศ์คร็อยทซ์
- ดาวหางอิเคยะ-เซกิ เป็นหนึ่งในดาวหางที่มีความสว่างมากที่สุดดวงหนึ่งในรอบ 1,000 ปี
- ดาวหางอิเคยะ-เซกิ ได้รับขนานนามให้เป็น "ดาวหางใหญ่แห่งปี 1965" (The Great Comet of 1965)
1
- นิวเคลียสของดาวหางได้แตกออกเป็น 3 ชิ้นส่วน แต่มีอยู่ 2 ชิ้นส่วน ที่มีขนาดใหญ่ นักดาราศาสตร์เฝ้าติดตามมันและสามารถระบุค่าวงโคจรออกมาได้ ดังนี้
* C/1965 S1-A มีคาบวงโคจรอยู่ที่ 876 ปี จะกลับเข้ามาสู่ระบบสุริยะชั้นในอีกครั้งในช่วง ค.ศ. 2841 (พ.ศ.3384)
* C/1965 S1-B มีคาบวงโคจรอยู่ที่ 1,056 ปี จะกลับเข้ามาสู่ระบบสุริยะชั้นในอีกครั้งในช่วง ค.ศ. 3021 (พ.ศ.3564)
- ดาวหางอิเคยะ-เซกิ เป็น ดาวหางที่สว่างที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดยมีค่า โชติมาตร (Magnitude) สูงสุดอยู่ที่ -15 คิดเป็นความสว่างที่มากกว่าดวงจันทร์เต็มดวงถึง 10 เท่า
* โชติมาตร หรือ Magnitude คือ ค่าความสว่างของวัตถุบนท้องฟ้า ตาของ มนุษย์เราสามารถมองเห็นวัตถุที่มีค่า โชติมาตร ตั้งแต่ 6 ขึ้นไป ยิ่งวัตถุนั้นมี ค่าติดลบ มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสว่างมากเท่านั้น ตัวอย่างคือ ดาวศุกร์ ที่มี โชติมาตร อยู่ที่ - 4 เราจึงเห็นมันง่าย และ ดวงจันทร์เต็มดวงมีค่า โชติมาตร อยู่ที่ -12.6
>>> คำบอกเล่าจากคนไทยที่มีโอกาสได้เห็น ดาวหางอิเคยะ-เซกิ <<<
คำบอกเล่าจาก คุณ บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ
- "ตอนนั้นผมยังเรียนชั้นประถมปีที่ 7 อยู่ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี จำได้ว่าพ่อปลุกผมกับน้องชายลุกไปดูด้วยกันที่สนามฟุตบอลของโรงเรียน พวกเรายืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ที่ตรงขอบฟ้า ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นได้เห็นดาวดวงหนึ่งสว่างสดใสมีหางยาวเฟื้อยชัดเจน ส่วนหางชี้ไปทางทิศใต้ ผมกับน้องชายชวนกันลุกขึ้นไปดูจนมันจากไปนั่นแหละ เป็นการดูดาวหางที่ได้อารมณ์ เพราะยืนประจันหน้ากับมันด้วยตาเปล่า เห็นหางที่ชี้เฉียงขึ้นอย่างชัดเจน จำภาพติดตามาจนถึงนาทีที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ ดาวหางดังๆ ระยะหลังก็ ไม่มีสง่าราศรีสมกับที่จะเป็นดาวหางเหมือน “อิเคยะ-เซกิ” แต่อย่างใดเลย"
คำบอกเล่าจาก คุณ ภูมิภาค เส็งสาย
- "คืนนั้นอากาศร้อนผมออกมานอนที่ระเบียงบ้านทางทิศตะวันออก แม่ผมปลุกให้ตื่นมาดูดาวเห็นว่ามันสวยดี เป็นครั้งแรกที่รู้จักดาวหาง สว่างมาก หัวดาวหางอยู่ใกล้ขอบฟ้า หางยาวชี้ขึ้นไปบนฟ้าเกือบ 45 องศา ด้านบนส่วนปลายโค้งไปทางทิศเหนือหน่อยๆ มองเห็นอยู่เป็นเดือนๆด้วยตาเปล่าเห็นจากขอบฟ้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น"
คำบอกเล่าจาก คุณ Songpone Siriwanlert Sam Pattaya
- "เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2508 ตอนนั้นผมกำลังเรียนอยู่ประถม 5 อายุ 10 ขวบพอดี ผมต้องตื่นแต่เช้ามืดราวตี่ 4ครึ่ง ถึง ตี 5 มารอดู ไม่ผิดหวังเลย ดาวหางอิเคยะ-เซกิ ขึ้นทางทิศตะวันออก มีสีขาว หางยาวชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า มองเห็นได้จนฟ้าสางราว 6 โมงเช้า พอแสงอาทิตย์แรงขึ้นราว 7 โมง ดาวหางก็ค่อยๆจางหายไป ด้วยแสงอาทิตย์กลบ ผมได้ดูดาวหางดวงนี้นานเกือบเดือน นับว่าเป็นบุญตาจริงๆ เพราะหลังจากนั้นจนวันนี้ ก็ไม่มีโอกาสได้เห็นดาวหางที่ใหญ่และสว่างแบบนี้อีกเลย"
1
ภาพถ่าย : ดาวหางอิเคยะ-เซกิ โดย : Mike Jewell (ไมค์ จูเอ็ล) ว/ด/ป : 30 ตุลาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508)
ภาพถ่าย : ดาวหางอิเคยะ-เซกิ โดย : Roger Lynds (โรเจอร์ ลินด์) ว/ด/ป : 29 ตุลาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508)
ภาพถ่าย : ดาวหางอิเคยะ-เซกิ โดย : John Laborde (จอห์น ลาบอร์กด์) ว/ด/ป : 29 ตุลาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508)
ภาพถ่าย : ดาวหางอิเคยะ-เซกิ ช่วงเข้าใกล้จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (Perihelion) โดย : Moriyama และ Hirayama (โมริยามะ และ ฮิรายามะ) ว/ด/ป : 21 ตุลาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508)
ภาพกราฟฟิก : แสดงลักษณะวงโจรของ ดาวหางอิเคยะ-เซกิ (เส้นสีขาว)
ภาพถ่าย : คุณอิเคยะ คาโอรุ (池谷 薫 ) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น หนึ่งในผู้ค้นพบ ดาวหางอิเคยะ-เซกิ
ภาพถ่าย : คุณเซกิ สึโทะมุ (関 勉 ) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น หนึ่งในผู้ค้นพบ ดาวหางอิเคยะ-เซกิ
1 บันทึก
5
3
8
1
5
3
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย