โตโยต้า ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง
ทวงบัลลังก์ยานยนต์ที่ขายดีที่สุดในโลกจาก โฟล์คสวาเกน
ปีที่แล้ว เป็นปีที่ผู้ผลิตยานยนต์ต้องเผชิญกับการปิดล็อคดาวน์เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ทำให้ผู้คนไม่สามารถไปโชว์รูมรถยนต์ ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ต้องลดกำลังการผลิตหรือหยุดผลิตกันไปเลยทีเดียว และส่งผลกระทบมายังยอดขายไปทั่วอุตสาหกรรมยานยนต์
อย่างไรก็ตาม โตโยต้า เหมือนจะรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้ดีกว่า หากมองในแง่ตลาดของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยกว่าการแพร่ระบาดในยุโรปและสหรัฐฯ
หากมาดูถึงอันดับของแต่ละค่าย ย้อนไปในปี 2546 โตโยต้า ได้กลายเป็นค่ายรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด หลังจากที่เอาชนะ เจเนอร์รัล มอร์เตอร์ส (General Motors) ในด้านยอดขาย สองปีต่อมา โฟล์คสวาเกน ก็มาเป็นอันดับหนึ่งแทนที่ค่ายรถจากญี่ปุ่น แต่ก็รั้งตำแหน่งที่หนึ่งได้แค่สามเดือน แถมยังมีประเด็นอื้อฉาว ทำให้ต้องหยุดการขายรถยนต์รุ่นที่ใช้ดีเซลในบางตลาดหลังจากถูกจับได้ว่าโกงการทดสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ในปี 2560 โฟล์คสวาเกนก็ชิงตำแหน่งที่หนึ่งจากโตโยต้าอีกครั้ง อย่างเป็นทางการ
สำหรับปี 2563 แม้ผลประกอบการปี 2563 ของโตโยต้ายังออกมาไม่ครบ แต่ก็มีรายงานว่า ยอดการส่งมอบรถในปีที่แล้วของบริษัท ลดลง 11.3% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ โฟล์คสวาเกน นั้น ลดลงไปถึง 15.6%
ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (28 ม.ค.) โตโยต้านั้น ได้เปิดเผยถึงจำนวนยอดขายยานยนต์ทั่วโลก 9.5 ล้านคันในปี 2563 ซึ่งยอดขายดังกล่าวได้รวมยอดขาย Daihatsu รถยนต์เอนกประสงค์ขนาดเล็ก และ Hino รถบรรทุก หากเปรียบเทียบกับจำนวนรถที่ขายในปีที่แล้วของ โฟล์คสวาเกน ทำได้ 9.3 ล้านคัน โดยรวมยอดขายรถแบรนด์ Audi, Skoda และ Porsche
ดังนั้น ค่ายรถจากญี่ปุ่น จึงกลับมาทวงตำแหน่งในฐานะผู้ผลิตยานยนต์ที่ขายดีที่สุดในโลกอีกครั้ง
ส่วน เจเนอร์รัล มอร์เตอร์ส รั้งอันดับที่ 5 โดยมียอดขาย 6.26 ล้านคัน ลดลงไป 13.2% จากปีก่อนหน้า
อันดับที่ 3 เป็นของ Renault Nissan Mitsubishi Alliance ด้วยยอดขาย 7.95 ล้านคัน ลดลงไป 20.5% จากปีก่อน และอันดับที่สี่ เป็นของ Hyundai-Kia ด้วยยอดขาย 6.52 ล้านคัน หรือลดลง 10.4% จากปีก่อน
สำหรับปีนี้ นักวิเคราะห์จาก UBS มองว่า โฟล์คสวาเกน อาจจะสูญเสียการผลิตไปราวๆ 100,000 คันในช่วงสามเดือนแรกของปี 2564 หรือราวๆ 4% ของการผลิตรายไตรมาสทั่วโลก จากการที่เผชิญภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์
แต่บริษัทก็ยังทำเงินได้อยู่นะคะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฟล์คสวาเกน กล่าวว่าในปี 2563 บริษัททำกำไรเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมชี้ให้เห็นว่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยมองว่าน่าจะมาจากส่วนแบ่งการตลาดในรถยนต์โดยสารทั่วโลกและยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่ขยับสูงขึ้นมาก
การกลับมาเติบโตของตลาดยานยนต์อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ทำให้ โตโยต้า (Toyota) โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) และค่ายรถยนต์อื่นๆต่างก็พยายามแย่งกันเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ความต้องการสูงขึ้น
โตโยต้า กล่าวว่า สัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทขายได้ในปีที่แล้ว มีสัดส่วนถึง 23% ของยอดขายทั้งหมด จาก 20% ในปี 2562
สำหรับโตโยต้า ประเทศไทย รายงานว่าในปี 2563 ปริมาณขายรถในประเทศลดลง 21.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 โดยมียอดขาย 792,146 คัน และคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมียอดขายระหว่าง 850,000 ถึง 900,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7-14% จากปีที่แล้ว
ที่มาและภาพ