29 ม.ค. 2021 เวลา 17:13 • การเมือง
[ ศัตรูตัวจริงของประเทศไทย คือ รัฐราชการรวมศูนย์ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฉบับใหม่ คือ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ]
.
เมื่อเช้านี้ผมได้เสนอญัตติเรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง
.
เหตุผลที่ผมเน้นย้ำ “ศัตรูตัวจริงของประเทศไทย คือ รัฐราชการรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ” เพราะเมื่อนำงบประมาณทั้งหมดมากาง จะพบว่า 70% ของงบประเทศไทยอำนาจของคนตัดสินใจนั่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด
.
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนมีอำนาจตัดสินใจที่อยู่กรุงเทพฯ จะรู้ความต้องการและแก้ไขปัญหาให้กับคนทั้งประเทศได้ คนที่เข้าใจปัญหาของคนที่เชียงใหม่ จะไม่มีวันเข้าใจปัญหาของคนที่ยะลา
.
นี่คือปัญหาที่ทำให้ ไม่ว่าจะมีกี่รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความต้องการ ความเดือดร้อน ของประชาชนในทุกพื้นที่ได้
.
แต่ประสบการณ์การมาทำการเมือง ผมก็พบว่า มันยังมีวิธีแก้ไขได้ นั่นคือ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ผมขอเสนอการแนวทางแก้ไขเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
.
1.เรื่องงบประมาณ : คนท้องถิ่นทุกคนทราบดีครับว่า มีแต่การถ่ายโอนภารกิจไปยังท้องถิ่น แต่งบประมาณไม่ได้โอนไปด้วย เพราะถ้าหากดูจากรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้ส่วนกลาง พบชัดเจนเลยว่าตัวเลขงบค้างอยู่ที่ 29% ตั้งแต่รัฐบาล คสช. เป็นต้นมา
.
ดังนั้น ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฉบับใหม่ กำหนดชัดเจนในรายได้ท้องถิ่นต่อส่วนกลาง ระบุให้สัดส่วนนี้ต้องเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างน้อย 3% ต่อปี โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ 50% ระยะภายใน 7 ปี งบประมาณจะถูกถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น
.
2.เรื่องภารกิจ : ดั้งเดิม ภารกิจที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องให้บริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น การกำหนดแบบนี้ทำให้ท้องถิ่นกลัวที่จะถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบ ถูก สตง.เรียกเงินคืน ซึ่งมันควรจะกลับหลักกันว่า บริการสาธารณะทั้งหมด ท้องถิ่นควรจะมีอำนาจทำได้ ยกเว้นแต่ที่กฎหมายกำหนดหรือยกเว้นที่ ก.ก.ถ. กำหนด
.
ทั้งนี้ เพื่อให้ท้องถิ่นมีความมั่นใจ สามารถให้บริการสาธารณะ ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้ เช่น ภารกิจอย่างน้ำ ถนน ป่า จริง ๆ แล้วบริบทเหล่านี้ควรจะให้อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชุมนุม
.
3.เรื่องบุคลากร : แน่นอนว่าเมื่อโอนงบไปแล้ว โอนภารกิจไปแล้ว สิ่งสำคัญต่อมา คือ บุคลากร ถ้าอยากให้บุคลากรมีความรู้สึกถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องทำให้ศักดิ์และสิทธิ์ของข้าราชการท้องถิ่นเท่ากับข้าราชการส่วนกลาง ให้ข้าราชการท้องถิ่นสามารถมีความก้าวหน้า โอนย้ายข้ามไปต่างท้องถิ่นหรือข้ามมายังส่วนกลางได้
.
ดังนั้น ให้บุคลากรทางด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือตำรวจ ควรจะมาอยู่ท้องถิ่น และต้องมีศักดิ์และสิทธิ์ให้เท่ากับข้าราชการส่วนกลาง เพื่อให้ข้าราชการเหล่านี้สามารถบริการประชาชนให้ตอบสนองกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
.
4.เรื่องของอำนาจ : ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาคุยกันในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้งโดยคนท้องถิ่น กล่าวคือ ควรให้นายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนควรเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด และเปลี่ยนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกลายเป็นผู้ตรวจราชการแทน มีอำนาจกำกับดูแลท้องถิ่นตามเจตนาของรัฐธรรมนูญ
.
หรือแม้แต่การปกครองในรูปแบบพิเศษอย่างจังหวัดจัดการตนเอง ผมเสนอให้ควบรวมราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น และให้มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งเหมือนรูปแบบ กทม. การตั้งคณะกรรมาธิการครั้งนี้ก็เพื่อได้ ศึกษา พิจารณาประเด็นดังกล่าว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอำนาจทับซ้อนกันระหว่างราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น
.
นั่นคือ เหตุผลทั้งหมดที่ผมอยากจะขอสรุปว่าให้มีการตั้งญัตติพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการกระจายอำนาจให้แกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง
.
เพื่อปลดล็อคศักยภาพของท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่ได้
#การกระจายอำนาจ #รัฐรวมศูนย์ #ก้าวไกล #สสเติ้ล
โฆษณา