Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลับคมคิด
•
ติดตาม
30 ม.ค. 2021 เวลา 00:24 • การเกษตร
อนาคต-ปัจจุบัน-อดีต เกษตรกิจิทัล
การกลับมาสู่จุดตั้งต้น...อาหาร แหล่งผลิตตั้งต้น"การเกษตร"
จากยุคเกษตรในอดีต สู่อุตสาหกรรม สู่เทคโนโลยีการสื่อสาร และสารสนเทศ แบบคลื่นลูกที่สาม กำลัง"ตลบกลับ"ย้อนไปแบบ"สูงสุดคืนสู่สามัญ"
โลกปัจจุบัน ในยุคที่ประชากรกำลังล้นและเข้าสู่โลกของ"ผู้สูงอายุ"ที่การพัฒนาทางเทคโนโลยีตอบสนองต่อมนุษย์ มี"นวัตกรรม"เครื่องทุ่นแรง อำนวยความสะดวก ทั้งด้านการใช้กำลัง และ การใช้ปัญญาประมวลผล เกิดขึ้นมารองรับมากมาย ที่คอนโทรลผ่าน"โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน"
บริษัทที่อยู่แถวหน้าของโลกที่มีมูลค่ารายได้กำไรมหาศาลคิดเป็นวินาที ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์ อเมซอน เฟซบุ๊ก ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กูเกิ้ล ยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาข้อมูลและแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศ อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ของจีน
น่าสนใจว่ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านดิจิทัล เหล่านี้ กำลังมีทิศทางที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในกิจการภาค"การเกษตรต้นทางและอาหาร" โดยจากข้อมูลของ"ไบโอไทย"รายงานถึงความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะสำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลเหล่านี้ เช่น
ไมโครซอฟท์ พัฒนาโครงการที่ชื่อว่า FarmBeats นำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่ควบคุมผ่านระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์ เพื่อการทำฟาร์มที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพของดินน้ำ ข้อมูลพื้นฐานของพืชผลการเกษตร และข้อมูลภูมิอากาศที่ทันสมัย บริษัทนี้ยังจัดทำโครงการ Microsoft4Afrika โดยร่วมกับ AGRA เพื่อให้คำแนะนำและชุดเทคโนโลยีสำหรับการเกษตรใน เคนยา ไนจีเรีย รวันดา กานา แทนซาเนียยู กันดา มาลาวี และเอธิโอเปีย
1
แอปเปิ้ล ร่วมมือกับ Agworld พัฒนา “การเกษตรแม่นยำ” ใช้ Apple Watch เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม เช่น ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพืชไร่ ประวัติการเพาะปลูกในแปลงเกษตรกร การเงิน/บัญชีฟาร์ม การแจ้งเตือน พร้อมคำแนะนำของนักปฐพีวิทยาเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน ข้อมูลภาคสนามเพื่อใช้ในการตัดสินใจสำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว ตอนนี้ Apple watch ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจำหน่ายแล้วในสหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และชิลี แอปเปิ้ลยังได้ออก Resolution app ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์การจัดการฟาร์มบนคลาวด์ มีแผนที่ฟาร์มเพื่อบันทึกและจัดเก็บเหตุการณ์ และรายละเอียดการทำงานแต่ละวันในฟาร์ม
อเมซอน ที่มีฐานข้อมูลบนคลาวด์ใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่งซื้อกิจการ WholeFood ในราคา 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐและลงทุนมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐในกิจการรวบรวมผลิตทางการเกษตรทั้งในอินเดียและออสเตรเลีย อเมซอนยังมี Amazon Web Service (AWS) นำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่แม่นยำจากการบริหารและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการเกษตรจากทั่วโลก ตอนนี้ผู้ที่ใช้ AWS ได้แก่ Indian Farmers Fertiliser Cooperative Limited (IFFCO) โครงการ WeFarm และร่วมกับบริษัทยันมาร์ของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินในเรือนกระจก ทั้งในญี่ปุ่นเอง และเวียดนาม อเมซอนยังมีบริการ Farmobile เพื่อช่วยเกษตรกรให้สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการทำเกษตรสำหรับการขายผลิตผลในราคาที่ดีและช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งการสร้างรายได้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
เฟซบุ๊ก ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ลงทุน 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน Reliance Jio ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย Jio เปิดตัวแอปบนมือถือที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายย่อยเกี่ยวกับเทคนิคการทำฟาร์มที่แม่นยำ และช่วยเหลือพวกเขาในการตัดสินใจ โดยใช้ด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืช การให้น้ำ และการควบคุมศัตรูพืช
กูเกิ้ล ยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาข้อมูลและแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศกำลังร่วมมือกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับข้อมูลสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและการเกษตร ความสำเร็จของพวกเขาที่ได้พิสูจน์แล้วเกี่ยวกับแอพด้านแผนที่ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าจะทำให้กูเกิ้ลกลายเป็นเพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่เกี่ยวกับการทำฟาร์มได้ไม่ยาก
อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ของจีนกำลังเดินหน้าไปสู่การบุกเบิกค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกับ พวกเขาลงทุนไปแล้วกว่า 12.7 พันล้านเหรียญสหรัฐเกี่ยวกับร้านค้าปลีก และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการซื้อกิจการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ Auchan ของฝรั่งเศสอีก 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทนี้ยังเข้าไปซื้อหุ้น 57% ในบริษัท Milk New Zealand Dairy เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งนมมากกว่า 9,500 ลิตรต่อสัปดาห์เพื่อลูกค้าชาวจีน
ขณะที่หันมาดูภาคการเกษตรของบ้านเรา ยังพบปัญหาการบริหารจัดการมากมายตั้งแต่"ต้นน้ำ"ยัน"ปลายน้ำ"แม้กระทั่งในระบบกลไกรัฐไปจนถึงภาคเอกชน..
โดยจากตัวเลขปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานในภาคเกษตรมากถึง 13.5 ล้านคน
หรือ คิดเป็นถึง 35% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
ปี 2010 ภาคเกษตรกรรมของไทยมีสัดส่วนประมาณ 7.3% ของ GDP ประเทศไทย
ปี 2019 ภาคเกษตรกรรมของไทยมีสัดส่วนประมาณ 5.7% ของ GDP ประเทศไทย
แม้ภาคเกษตรกรรมยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งจากจำนวนแรงงานในภาคนี้ และความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร โดยปัจจุบัน สินค้าเกษตรที่ประเทศไทยเราปลูกกันมาก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน
โดยพบว่า เกษตรกรไทยมีการปลูกพืชที่กระจุกตัวไม่กี่ชนิด ทำให้เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ราคาจึงตกต่ำ ขณะที่บางปีพอสินค้าเกษตรชนิดไหนมีราคาดี เกษตรกรจำนวนมากก็จะหันมาปลูกสินค้านั้น จึงทำให้ปีต่อมาราคาสินค้านั้นลดลง เกษตรกรจำนวนมากจึงขาดทุน วนเวียนกันไปอย่างนี้เสมอ
นอกจากนี้ การที่ภาคเกษตรกรรมต้องอาศัยภูมิอากาศและน้ำ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของไทย มักได้รับผลกระทบเมื่อสภาพอากาศแปรปรวน เหมือนเช่นปัจจุบัน
(อดีต)ย้อนกลับไป หากใครจำประโยคสัจธรรมที่ว่า"เงินทองของมายา...ข้าวปลาสิของจริง"ที่ถือเป็น วรรคทอง ของ "หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร" ผู้บุกเบิกตำนาน "แตงโมบางเบิด" และเกษตรกรรมสมัยใหม่ จนได้รับขนานนามว่า "บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่"ได้ และลองไปศึกษาวิชากสิกรรมจากท่าน ที่นอกจากนักกสิกรรม ยังเป็น นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ผลงานของท่านสามารถสอนผู้สนใจวิชาเศรษฐศาสตร์ และเตือนใจนักเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องหลักความเป็นจริงในสังคมได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะกับการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของข้าวปลามังสาหารและพืชพรรณธัญญาหาร กล่าวคือ แม้จะมีเงินทองอยู่ในมือก็ไม่สามารถหาซื้ออาหารมาบริโภคได้ หากเกิดสถานการณ์คับขันภัยพิบัติหรือสงครามขึ้น เพราะนอกจากจะไม่มีสินค้าอยู่ในชั้นวางของตามร้านสะดวกซื้อขนาดต่างๆแล้ว การคมนาคมเพื่อนำส่งอาหารไปสู่แหล่งจัดวางขายก็ยังล้มเหลวอีกด้วย
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงเคยเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการทำกสิกรรมให้มากขึ้น โดยให้ตั้งสถานีทดลองเพื่อค้นคว้าหาความรู้ สำหรับใช้ให้เป็นประโยชน์แก่พลเมืองทั่วไป เพราะถ้าผลของการกสิกรรมดีขึ้นฐานะของพลเมืองก็ดีขึ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะกสิกร เพราะประเทศเราเป็นประเทศกสิกรรม ผลของการกสิกรรมจึงเป็นวัตถุสินค้าใหญ่ ฉะนั้นการบำรุงกสิกรควรเป็นงานอันดับแรกของรัฐบาล เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำใน พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่าการบำรุงกสิกรรมโดยวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็น
ที่เมื่อตัดภาพจาก"อดีต"มา"ปัจจบัน"ทั้งที่ประเทศไทยเราบุกเบิกด้านการเกษตรมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว แต่ความก้าวหน้าดูเหมือนจะยังไม่ไปถึงไหน จนให้ใครต่อใครแซง และกำลังจะเจอคลื่นลูกใหญ่จาก"ยุคดิจิทัล"ของ"ยักษ์ใหญ่โลก"ที่กำลังลงมาลุยเรื่องนี้ ผ่านกระบวนการที่ ทุกอย่างเป็น"ข้อมูล"แบบ"เป๊ะๆ"ทั้งการคำนวณสภาพดินฟ้าอาการผลผลิต ที่เมื่อถึงวันนั้น ยังไม่รู้สภาพเลยว่าจะส่งผลกระทบกับเราขนาดไหน.
3 บันทึก
3
4
16
3
3
4
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย