ทีนี้ คําว่า สังขาร มันคืออะไรบ้าง ก็ลองคิดดู ยกเว้นพระนิพพานเสียอย่างเดียวแล้วก็ไม่มีอะไรที่มิใช่สังขาร : มีชีวิตก็ดี ไม่มีชีวิตก็ดี อยู่ภายในตัวเราก็ดี, อยู่ภายนอกตัวเราก็ดี สิ่งที่เป็นเหตุก็ดี สิ่งที่เป็นผลก็ดี, สิ่งที่เป็นกรรมก็ดี เป็นผลกรรมก็ดี, จะไม่ยกเว้นอะไรเลย ก็ล้วนแต่เรียกว่า สังขาร
.
ทีนี้การกล่าวไว้ในที่ต่างๆนั้น ทําให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เช่น คําใน ปฏิจจสมุปบาท มีถึง ๑๒ คํา มีคําว่าสังขารรวมอยู่ด้วยคําหนึ่ง คือคู่แรกว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร, สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ, วิญญาณให้เกิดนามรูป เป็นถึง ๑๒ อาการ แต่มีคําว่าสังขารอยู่คําเดียวใน ๑๒ อาการนั้น. แต่โดยที่แท้แล้วทั้ง ๑๒ อาการนั้นก็เป็นสังขาร; ปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๒ อาการนั้นก็เป็นสังขาร คือสิ่งปรุงและถูกปรุง สิ่งซึ่งเป็นผู้ปรุง และสิ่งที่ถูกปรุง ทั้ง ๑๒ อาการเป็นอย่างนั้น. อวิชชาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี นามรูปก็ดี อายตนะก็ดี ผัสสะก็ดี เวทนาก็ดี ตัณหาก็ดี อุปาทานก็ดี ภพก็ดี ชาติก็ดี ความทุกข์ทั้งปวงก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นสังขารทุกอย่างเลย แต่ มีการเอ่ยถึงคําว่าสังขารเพียงคําเดียว คือคําที่สอง
.
คนที่เรียนไม่ดี หรือว่าไม่รู้ ก็จะคิดไปว่า สังขารมีแต่อย่างเดียวคือข้อที่ ๒, ที่จริงทั้งหมดนั้นเรียกว่าสังขาร; แต่ท่านไปใช้คําว่าสังขารแก่อาการที่ ๒ คือ “อํานาจการปรุงแต่ง” อวิชชาทําให้เกิดอํานาจการปรุงแต่ง คือสังขาร สังขารอํานาจการปรุงแต่งก็ทําให้วิญญาณทําหน้าที่เป็นจิต, จิตก็ปรุงแต่งนามรูป เกิดนามรูป เกิดอายตนะ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ไปตามลําดับ นี่ขอเตือนให้ทราบว่า มีคําว่าสังขารเพียงคําเดียว เรียกชื่อว่าสังขารเพียงคําเดียว ในหมู่สังขารคือ ๑๒ ชนิด
.
ทีนี้ จะมาดูที่เบญจขันธ์ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, มีสังขารอยู่คําเดียว คือคําที่ ๔ : แต่ว่าทั้ง ๕ ขันธ์ ขันธ์ทั้งห้านั้นเป็นสังขาร ทั้งนั้น : รูปก็เป็นสังขาร คือการถูกปรุงแต่ง, คือสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง, เวทนาก็คือสังขารถูกปรุงแต่ง, สัญญาเป็นสังขารถูกปรุงแต่ง, สังขารก็คือตัวสังขาร เป็นความคิด คิดปรุงแต่ง, วิญญาณก็เป็นตัวสังขาร เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง. นี่ ขอให้เข้าใจว่า ทั้ง ๕ ขันธ์นั่นแหละเป็นสังขาร แต่มีคําๆเดียวเรียกชื่อว่าสังขาร เป็นคําที่ ๔ อยู่ในขันธ์ห้า , อย่างนี้ก็ทําให้คนเข้าใจผิดได้แล้วว่า สังขารมีอยู่อย่างเดียวในขันธ์ทั้งห้า, โดยไม่ได้เฉลียวว่าทั้งห้านั้นมันก็เป็นสังขารเสมอกันหมด. คํากล่าวในภาษาบาลี มีความยุ่งยากอย่างนี้ ถ้าศึกษาไม่ดีก็ฉงน หรืองง หรือเข้าใจไม่ได้ หรือเข้าใจผิดเอาที่เดียว
.
ทีนี้ก็จะมาดูให้ละเอียดลงไปถึงคําว่าสังขาร, สังขาร โดยพยัญชนะ โดยคําพูดในภาษาบาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งพุทธกาล. คําว่าสังขารนั้นเป็นภาษาบาลี ถ้าแปลเป็นภาษาไทยเราอย่างถูกต้องที่สุดแล้ว ก็ต้องแปลว่าปรุง สังขารคืออะไร ? สังขารคือสิ่งที่ปรุง สิ่งที่ถูกปรุง การปรุง อํานาจแห่งการปรุง สิ่งกระตุ้นให้เกิดการปรุง; เหล่านี้มันเป็นการปรุง. คําว่าปรุงคือทําอย่างไร? นี้เอาภาษาธรรมดาชาวบ้านก็ได้ ปรุงคือเอาของหลายๆอย่างมารวมกันเข้า แล้วให้เกิดของใหม่ขึ้นมา; เช่นปรุงอาหารเป็นต้น ในครัวปรุงอาหารจะเป็นแกงสักอย่างหนึ่ง มันก็มีหลายอย่างมา รวมกันเข้าด้วยวิธีปรุงก็เกิดเป็นแกงขึ้นมา, คําว่าปรุงนั่นน่ะคือสังขาร คําว่าสังขารคือปรุง จะเล็งถึงการปรุงก็ได้ สิ่งที่ถูกปรุงก็ได้ สิ่งที่ปรุงสิ่งอื่นก็ได้ มันทําหน้าที่พร้อมๆกันไป
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคมาฆบูชา ครั้งที่ ๑๑ หัวข้อเรื่อง “ สังขาร และ วิสังขาร ” เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมะเล่มน้อย” หน้า ๓๔๐,๓๔๑ - ๓๔๔
## ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม. ##
.
.