ภาพรวมของอัลบั้มนี้จัดว่ามีแนวเพลง อารมณ์ และเฉดสีที่หลากหลายมากขึ้น ลดดีกรีความFolkลง คงความเป็น Alternative Rock และย้อนกลับมามีกลิ่น Country/CountryPop และงานเพลงสไตล์ Old Taylor มากขึ้นในบางสัดบางส่วนของอัลบั้ม ภาพฉากของแต่ละเพลงนั้นฉายให้เห็นความสมจริง มีความเรียลมากขึ้นเมื่อเทียบกับงานชิ้นก่อนที่มีเสน่ห์ในความลึกลับ ปรัมปรา และความซับซ้อนของเนื้อหา โดยการบรรยายของ evermore ที่ฉีกเบนออกไปเล็กน้อยทำให้เราสามารถเห็นความชัดเจนของเหตุการณ์ที่เล่ากันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้นผ่านปลายปากกาการประพันธ์บทเพลงที่มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆตามลำดับวัยวุฒิของเธอ หลายเพลงมีการใช้คำศัพท์ที่ยากขึ้น การซ่อนความหมายแฝง แต่ยังคงเสน่ห์ของการเล่าเรื่องพร้อมขมวดปมให้จบภายในเพลงที่ทำได้อย่างเฉียบขาดน่าชื่นชมและเฉียบคมชวนติดตาม
สำหรับ evermore ได้รับสัดส่วนการ Produced หลักๆ จากหนุ่ม Aaron Dessner จาก The National ที่ก้าวมาเป็นตัวยืนหลักเป็นครั้งแรกหลังจากที่เธอนั้นผ่านยุคการกุมบังเหียนอัลบั้มโดย Jack Antonoff มาเนิ่นนานในช่วงหกปีก่อนหน้านี้ที่เป็นผู้ร่วมผ่านร้อนผ่านหนาวและเป็นส่วนสำคัญในแกนความสำเร็จของสาวเทย์เลอร์อย่างปฏิเสธไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ส่งผลเล็กน้อยให้ภาคดนตรีและดีไซน์ต่างๆมีการเปลี่ยนเฉดไปบ้าง แต่ไม่ได้พลิกไปเสียทีเดียว เพราะงานชิ้นนี้ยังทำให้เราเชื่อได้ว่ายังคงความเป็นเทย์เลอร์ไว้สูงมากรวมถึงกลิ่นของอัลบั้มที่แล้วที่ยังมีความกรุ่นแซมแทรกอยู่ไม่เลือนราง แม้จะมีการลองสิ่งใหม่ๆ ใส่แนวทดลองมาบ้างก็ตาม อาจทำให้แปลกหูบ้าง แต่ไม่แปลกใจ
Track By Track
“willow” (4.5/5)
หลิวลู่ลม Lead single จากอัลบั้ม ที่ในครั้งนี้ถูกมอบหมายให้อยู่ในแทร็คแรกสุด เป็นเพลงที่เป็นตัวเลือกที่ลงตัวมากๆในการนำมาตัดเป็นเพลงโปรโมท เพลงยังคงความ Folk และมีกลิ่นความเป็น folklore สูงมาก เปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่ออัลบั้มที่ 8 และ 9 เข้าด้วยกันอย่างแนบสนิท โทนเพลงยังคงความลึกลับแต่เป็นสีที่สว่างขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ความติดหูผสมกับความวาบหวามอ่อนๆ ทำให้เพลงมีเสน่ห์ยั่วยวนชายหนุ่มให้หลงใหลในตัวเธอ รวมถึงเชื้อเชิญให้บุคคลที่ผ่านไปมาได้ให้ความสนใจเข้ามาฟังเพื่อนๆแทร็คอื่นๆ อีก 14 เพลงได้ไม่ยากเย็นนัก สำหรับตัวมิวสิควิดีโอที่ถูกปล่อยมาพร้อมกันนั้นมีฉากหลังที่ต่อจากเพลงเปิดตัวจากอัลบั้มก่อนหน้า ‘Cardigan’ โดยเปรียบเป็นเหรียญคนละด้านในห้วงเวลาเชื่อมเนื่องกัน และมีการอ้างถึงเนื้อหาจากอัลบั้ม folklore อยู่พอสมควร ที่เห็นชัดที่สุดคือความหมายของรักแท้กับเส้นด้ายสีทองประกายที่อิงได้จากเนื้อหาเพลง ‘Invisible Strings’ รวมถึงฉากที่ย้อนกลับไปในช่วงชีวิตวัยเด็กที่เล่นกับเพื่อนชายสัมพันธ์กับเพลง ‘Seven’ เป็นต้น ราวกับว่าเป็นการ tribute ปิดอัลบั้มก่อนหน้าไปอย่างสมบูรณ์แบบใน era อันแสนสั้น เพียงสี่เดือนเศษ รวมถึงการเลือกใช้โทนสี คอสตูม รวมถึงฉากของนักแสดงร่วมที่ล้อกันไปตามไทม์ไลน์อัลบั้มก่อนหน้าทั้ง 8 ของเธอ (ที่สังเกตได้จะเห็นเพลงตัวแทนจากแต่ละอัลบั้มได้แก่ Tim McGraw, Love Story, Mean, I Knew You Were Trouble, Out Of The Woods, ...Ready For It ในเบื้องต้น) แสดงถึงความใส่ใจรายละเอียดที่เธอแอบซ่อนไว้ให้ค้นหาไม่เพียงแต่ตัวเพลงแต่ละเพลงแต่ควบรวมถึงมิวสิควิดีโอแต่ละชิ้นที่เธอปล่อยออกมาด้วย
“champagne problems” (4/5)
ย้อนกลับมาในแทร็คที่มีความเป็น Old Taylor สูงปรี๊ด กับเสียงร้องกังวานโดดเด่นคลอกับเปียโนชิ้นเดี่ยว กับเพลงที่มีเนื้อหาการจบลงของงานเลี้ยงความรักของสองเรา ความสัมพันธ์ที่ได้สร้างมาเมื่อถึงจุดหนึ่งที่คนรักทั้งสองต่างมีเป้าประสงค์อนาคตระยะยาวที่ต่างกันไป การจบความสัมพันธ์ย่อมทำให้เกิดความเจ็บปวดให้แก่อย่างน้อยหนึ่งฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะแชมเปญหรือไวน์ชั้นเลิศเพียงใดก็ไม่ทำให้บรรยากาศสนุกขึ้นมาแม้แต่น้อย มีหลากวิธีที่ถูกงัดมาใช้ในการเลิกราแต่ในเพลงนี้ฝ่ายหญิง'เลือก'ให้เป็นการจากอย่างประนีประนอม แม้จะมีการกล่าวอวยพรหรือฝ่ายชายในช่วงจบ แต่ผลลัพธ์คือตัวเธอเองพร้อมที่จะจากไปอยู่ดี แผลในใจที่คั่งค้างจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่ามันจะเป็นแค่แผลสดหรือจะแปรเป็นแผลเป็นก็ตาม เพลงที่เรียบง่ายแต่สื่อความหมายและสามารถสะท้อนสถานการณ์นั้นได้ดียิ่ง